ไม่มีใครบ่มเพาะความรู้ให้งอกงามยาวนานกว่า ซื่อตรงจงรักมากกว่า หรือมีประสิทธิผลมากไปกว่าเซอร์โจเฟซ แบงก์ส สุภาพบุรุษรูปงามและนักพฤกษศาสตร์ที่มีคุณูปการต่อโลกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากที่สุดคนหนึ่งอีกแล้ว นักสำรวจหนุ่ม ผู้เดินทางไปกับกัปตันเจมส์ คุก บนเรือหลวง เอ็นเดฟเวอร์ ระหว่างปี 1768 ถึง 1771 ผู้นี้ได้ขยายองค์ความรู้ของโลกตะวันตกเกี่ยวกับพรรณไม้ถึงเกือบร้อยละ 25 เขาคือผู้ให้กำเนิดเครือรัฐออสเตรเลีย เป็นพระสหายสนิทของพระเจ้าจอร์จ ที่สาม เป็นทั้งคนสวน รัฐบุรุษแห่งการพาณิชย์ทางชีววิทยา และผู้ขยายแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร อีกทั้งยังเป็นนายกราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society of London) ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด น้อยคนนักที่จะมีชื่อเสียงเทียบเท่าเซอร์โจเซฟ แบงก์ส ในสมัยนั้น
แบงก์สเป็นบุคคลสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เชิดชูกันว่าเป็นยุคแห่งเหตุผล การบ่มเพาะทางสติปัญญา การแสดงออกทางศิลปะและวรรณคดี รวมไปถึงการทดลองสิ่งใหม่ๆทางการเมืองและศาสนา อีกทั้งเป็นยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์กลายเป็นภาษาสากลที่ข้ามพรมแดนได้ทุกหนแห่ง
ระหว่างที่แบงก์สท่องโลกไปกับเรือเอ็นเดฟเวอร์ เขาสามารถรวบรวมพืชและสัตว์ได้ประมาณ 30,000 ชิ้น มีไม่ต่ำกว่า 3,600 ชนิดที่มีการระบุชื่อไว้ ในจำนวนนี้อาจมีพืชพรรณใหม่ๆที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เคยรู้จักมาก่อนมากกว่า 1,400 ชนิด นับเป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครเทียบเทียม กล่าวคือ ที่ตาฮิติเขาพบพรรณไม้แปลกตา ทั้งเฟิร์นต้นสูงใหญ่ร่วมสามเมตร ต้นกล้วยและสาเก ต้นเตยที่คล้ายต้นปาล์ม อีกทั้งต้นการ์ดิเนีย (พุดซ้อน) ที่ขึ้นแซมประปรายอยู่ตามพื้นดินที่แทบจะหาที่ว่างไม่ได้ อีกทั้งต้นเตียเรตาฮิติ ดอกไม้ประจำชาติของตาฮิติ และเมื่อไปถึงนิวซีแลนด์ แบงก์สกับคนของเขาก็เก็บรวบรวมตัวอย่างพืชและสัตว์ได้ร่วมพันชนิด
ส่วนที่ออสเตรเลีย พวกเขาเจอพืชหลายร้อยชนิดที่รอให้เก็บรวบรวม วาดภาพ จัดหมวดหมู่ ตากแห้ง และเก็บรักษาไว้ ในบรรดาตัวอย่างที่เก็บไปมีพืชชนิดใหม่กว่า 70 ชนิด รวมทั้งสี่ชนิดแรกในสกุลไม้พุ่มที่ดูแปลกตา ซึ่งได้ชื่อนับแต่นั้นมาว่า แบงก์เซีย (Banksia) แต่ละชนิดออกดอกเป็นกระจุกชูช่อจากก้านเหมือนรังต่อ
แต่ใช่ว่าแบงก์สจะกอบโกยเอาจากตาฮิติท่าเดียว เขายังนำสิ่งต่างๆ มามอบให้ด้วย แบงก์สเขียนบันทึกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปี 1769 ว่า “ผมใช้เวลาปลูกเมล็ดพืชจำนวนมาก เช่น แตงโม ส้ม มะนาว... ซึ่งนำมาจากรีอูดีจาเนรู” ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีส่วนกระตุ้นให้เกิดสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “การแลกเปลี่ยนข้ามซีกโลก” ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายพันธุ์พืช (และสัตว์ในเวลาต่อมา) ระหว่างชาติต่างๆ ในยุโรป ทวีปอเมริกาทั้งสอง และดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้ ทั้งหมดนี้ได้ช่วยเนรมิตโลกสีเขียวอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้
การเดินทางไปกับเรือเอ็นเดฟเวอร์ สร้างชื่อให้แบงก์สกลายเป็นชายหนุ่มวัย 29 ปีที่โด่งดังที่สุดในอังกฤษก็จริง แต่กลับเป็นผลงานที่ราชสมาคมแห่งลอนดอนที่เขาจะอุทิศชีวิตที่เหลือให้ และสิ่งนี้เองที่จะกลายเป็นคุณูปการที่ยั่งยืนที่สุด ที่แบงก์สมอบให้แก่วงการวิทยาศาสตร์
บ้านที่จัตุรัสโซโหของแบงก์ส (รื้อถอนไปนานแล้ว) เป็นจุดนับพบและศูนย์กลางแห่งสรรพวิทยาการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิและคนใหญ่คนโตเข้าออกไม่ขาดสาย โดยมีแบงก์สเป็นหลักชัยยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ มีนักวิชาการจาก ทั่วโลกมาวิเคราะห์ตัวอย่างพืชในหอพฤกษศาสตร์ และศึกษาค้นคว้าในห้องสมุดที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และที่นี่เองที่แบงก์สได้วางแผนส่งเสริมให้ส่งนักโทษอังกฤษไปตั้งอาณานิคมในออสเตรเลีย ภายหลังสงครามปฏิวัติอเมริกาทำให้อังกฤษไม่สามารถนำบุคคลไม่พึงประสงค์ไปทิ้งที่แมริแลนด์และจอร์เจียได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป พอถึงปี 1787 นักโทษเกือบ 800 คนก็ถูกลำเลียงลงเรือ 11 ลำ
โดยหนึ่งลำมุ่งหน้าสู่ออสเตรเลียเพื่อตั้งอาณานิคมแห่งแรกในรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่อ่าวซิดนีย์ และจากบ้านหลังนี้อีกเช่นกันที่แบงก์สคอยกำกับดูแลการล่าอาณานิคมทางชีววิทยาในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งยุ่งยากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการนำมนุษย์เข้าไปตั้งถิ่นฐาน เรือแต่ละลำที่มุ่งหน้าสู่ออสเตรเลียจะบรรทุกแกะและปศุสัตว์ รวมทั้งเมล็ดพืช กิ่งพันธุ์ และต้นไม้นานาชนิดจากอังกฤษ พีชและทับทิม มะนาวเทศและมะนาว มัสตาร์ดและกระเทียม แครอทและโคลเวอร์ และพืชปลูกอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมการเกษตรในออสเตรเลียที่รุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านที่จัตุรัสโซโหนี้ยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนพรรณไม้และสัตว์ข้ามซีกโลกที่แบงก์สริเริ่มไว้ในตาฮิตินอกจากนี้ แบงก์สยังพากเพียรที่จะบ่มเพาะสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanical Gardens at Kew) ซึ่งเขามุ่งมั่นจะสร้างให้เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ที่สำคัญที่สุดในโลก แบงก์สอาศัยสวนพฤกษศาสตร์ที่คิวเป็นค่ายอบรมนักสะสมพรรณไม้ทั่วโลกอยู่หลายปี ทูตพฤกษศาสตร์ของเขาเดินทางเสาะแสวงหาสมบัติล้ำค่าที่มีชีวิตจากสวนบริวารต่างๆในดินแดนอาณานิคมอย่างลังกาและเซนต์วินเซนต์ และส่งมาที่สวนคิว ผลก็คือจำนวนพืชพรรณของสวนคิวในช่วงที่แบงก์สกำกับดูแลอยู่นั้น เพิ่มจำนวนจาก 3,400 ชนิดเป็นกว่า 11,000 ชนิด
แบงก์สได้รังสรรค์จักรวรรดินิยมทางชีววิทยารูปแบบหนึ่งขึ้นมา และนักสะสมของเขาก็ได้รับคำสั่งให้คอยจับตาดูว่า พืชที่พบเห็นอาจมีคุณสมบัติทางการแพทย์หรือคุณค่าทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษอย่างไรบ้าง และเมื่อแบงก์สเคลื่อนย้ายพืชพรรณและส่ำสัตว์ไปรอบโลก เป็นต้นว่า ส่งสาเกไปเวสต์อินดีส ชาจีนไปอินเดีย เพลี้ยหอยโคชินีล (ใช้ย้อมผ้าให้มีสีแดง) จากเม็กซิโกไปอังกฤษ ทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อส่งเสริมความรุ่งเรืองของมาตุภูมิ หาใช่เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น
เซอร์โจเซฟ แบงก์สถึงแก่กรรมในวัยชรา พร้อมด้วยเกียรติยศชื่อเสียงและโรคเกาต์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ปี 1820 ขณะอายุได้ 77 ปี เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าเขาคิดว่าสิ่งใดเป็นอนุสรณ์ที่เขารักและหวงแหนที่สุด จะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เมืองคิว ป้ายที่มีภาพเหมือนของเขาที่อ่าวบอตตานี ต้นแบงก์เซียทั้ง 75 ชนิด หรือจะเป็นอนุสรณ์สถานที่เมืองทูมบ์สโตน รัฐแอริโซนา ซึ่งมีแปลงพื้นที่เล็กๆ จากอังกฤษงอกงามอยู่ท่ามกลางทะเลทรายโซโนรัน
ณ ที่แห่งนี้ ในสวนด้านหลังพิพิธภัณฑ์โรสทรี (Rose Tree Museum) มีต้นกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก งอกงามขึ้นจากลำต้นหนาและคดงอ แผ่กิ่งก้านสาขาคดเคี้ยวปกคลุมเนื้อที่กว่า 800 ตารางเมตรตามระแนงเหนือศีรษะ กุหลาบต้นนี้ปลูกไว้ตั้งแต่ปี 1885 จากกิ่งชำที่นำมาจากสายพันธุ์ซึ่งถูกนำเข้ามาสู่อังกฤษในปี 1807 นักสะสมคนหนึ่งของแบงก์สที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลก ค้นพบกุหลาบที่ยังไม่มีใครรู้จักมาก่อนบนชายฝั่งประเทศจีน และส่งมาให้ที่สวนคิว
กุหลาบนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า โรซาแบงก์ซีอี (Rosa banksiae) เพื่อเป็นเกียรติแก่ภริยาของแบงก์ส และไม่นานก็เป็นที่รู้จักในชื่อ กุหลาบเลดีแบงก์ส กุหลาบสายพันธุ์นี้แพร่กระจายจากสวนคิวไปทั่วทุกมุมโลก และกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นกุหลาบที่ทนทานที่สุดและนิยมปลูกกันมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง
กิ่งก้านสาขาที่แผ่กว้างจากแท่นชมวิวที่เจ้าของที่พักสร้างไว้ บ่งบอกถึงตัวตนของสุภาพบุรุษที่คาร์ล ลินเนียส นักนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนและบิดาแห่งอนุกรมวิธาน เรียกว่า “แบงก์สผู้เป็นอมตะ”ได้อย่างเที่ยงตรงเหลือเกิน
นี่คือทายาทผู้น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของ Rosa banksia กิ่งก้านสาขาของมันเลื้อยซอกซอนไปตามระแนงไม้อย่างไม่ยอมลดราวาศอก เหมือนอย่างที่แบงก์สแทรกกายเข้าสู่ทุกซอกมุมของโลกวิทยาศาสตร์ รวมถึงซอกเล็กซอกน้อยของอาณาจักรทางการเมืองและการพาณิชย์ ลินเนียสพูดถูกแล้ว ถ้ากุหลาบต้นนี้ดูราวกับว่าจะอยู่ยั้งยืนยงไปตลอดกาล มรดกทางปัญญาของเซอร์โจเซฟ แบงก์ส ก็คงดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านานดุจกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก