อากาศเชียงคานต้นเดือนมีนาคมร้อนระอุอ้าว แม่น้ำโขงไหลเอื่อยๆ อย่างเกียจคร้าน มองเห็นหาดทรายสีขาวของประเทศลาว และทิวเขาไกลลิบๆ อยู่ฝั่งตรงข้าม นักท่องเที่ยวมีให้เห็นบางตา ด้วยไม่ใช่ช่วงเวลาที่ตรงกับวันหยุดเทศกาล มีเพียงฝรั่งและคนไทยไม่กี่คนที่หนีความวุ่นวายมาพักผ่อนเงียบๆ ที่เมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้
เมืองที่ว่ากันว่า จะกลายเป็น “ปาย” แห่งที่สองในอีกไม่ช้าไม่นาน…
สงบนิ่ง สงัด : ก่อนพายุการท่องเที่ยวโหมกระหน่ำ
ปรอทสีแดงในเทอร์โมมิเตอร์บนผนังบอกตัวเลขอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส
อากาศร้อนเหมือนจะสตาฟเมืองแห่งนี้ไว้ให้นิ่งสนิท เปลวแดดเต้นเร่าอยู่บนผิวถนนคอนกรีตไอระอุ ถนนเส้นเลียบริมโขงแทบว่างเปล่า นานๆ จะมีรถวิ่งผ่านสักคันหนึ่ง บ้านเรือนที่เป็นห้องแถวไม้ส่วนใหญ่ปิดประตูเงียบเชียบ ราวกับร้างไร้ผู้คนอยู่อาศัย…แต่ที่จริงแล้วมีวิถีชีวิตดำเนินอยู่ภายใต้ความเงียบสงัดเหล่านั้น
แม้จะไม่คึกคักเท่ากับถนนเส้นบนที่เป็นฝั่งตลาดเศรษฐกิจของเมือง แต่บ้านเรือนฝั่งติดริมแม่น้ำโขงนี้เคยเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของเชียงคานในยุคหนึ่ง ยุคที่ผู้คนสองฝั่งโขงข้ามฟากไปมาหาสู่กันได้โดยอิสระ เชียงคานเคยเป็นเมืองท่าสำคัญที่เป็นแหล่งซื้อขายฝ้ายขนาดใหญ่ รวมทั้งสินค้าจำเป็นอย่างเช่นน้ำมันเชื้อเพลิงในอดีตระหว่างลาวกับไทย
ความรุ่งเรืองนั้นยังหลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน ตึกแถวไม้ใหญ่น้อยที่เรียงรายตลอดสองฟากถนน แสดงให้เห็นว่ายุคหนึ่ง เศรษฐกิจที่นี่เคยรุ่งเรืองปานใด… แม้ทุกวันนี้เรือนแถวไม้เหล่านั้นจะถูกปิดไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำการค้าคึกคักอย่างสมัยก่อน แต่บางห้องเริ่มมีการปรับปรุงเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงคานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะปีหลังมานี้ ที่ชื่อของเชียงคานเริ่มหอมหวนขึ้นมาในหมู่นักเดินทางคนไทย
หอม…จนน่าหวั่นใจว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงและถูกกลืนหายไป เช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ของไทยก่อนหน้านี้
“ที่มันจะเปลี่ยนก็เพราะพวกคุณนี่แหละ” คำพูดตรงๆ จากใจของหญิงสาว ที่แม้ไม่ใช่คนเชียงคานแต่กำเนิดแท้ๆ แต่ เบญจมาภรณ์ ชุมแสง ณ อยุธยา หรือพี่เบญ เจ้าของเกสต์เฮาส์บ้านต้นโขง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เปิดบ้านเป็นทั้งที่พักและร้านอาหารริมแม่น้ำโขง ก็ตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว
“เพราะว่าตราบใดที่พวกคุณมากันเยอะๆ เนี่ย กระแสมันก็จะแรง พอแรงมันปุ๊บ เมืองมันก็จะเริ่มเปลี่ยน” พี่เบญยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำเกสต์เฮาส์ที่นี่มา 15 ปีว่า ความที่ 15 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีใครคิดอยากจะทำอะไรกับเมืองนี้เลย เอาแค่เฉพาะชาวบ้านก่อน ยังไม่ต้องคิดถึงคนต่างถิ่น พวกเขาไม่เคยคิดจะทำอะไรให้เมืองนี้เป็นเมืองน่าเที่ยว แต่เพราะความที่ชาวเชียงคานอยู่กันอย่างเรียบง่ายเหมือนวิถีชีวิตดั้งเดิมในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน กลับทำให้เมืองเล็กๆ เงียบๆ แห่งนี้กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ขึ้นมาในสายตาคนนอก
“พอมาถึงวันหนึ่งที่มันมีกระแสเที่ยวเมืองไทยแบบแบ็คแพ็ค หรือเที่ยวตามรอยฝรั่ง ยิ่งเดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตโลกแคบ ทุกคนก็จะเอาไปโพสต์ นั่นล่ะมันคือจุดเปลี่ยน ทุกคนจะบอกว่าที่นี่เงียบสงบ เหมือนปาย เหมือนหลวงพระบางอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกคนก็มา…ถามว่ามันสวยไหม? ขึ้นอยู่ที่คนที่สกรีนตัวเองมาแล้วนะ ถ้าเป็นคนที่ชอบหวือหวา มาเชียงคานก็จะบอกว่ามันไม่มีอะไร เพราะฉะนั้น มาเชียงคานคุณไม่ต้องมาทำอะไร คุณอย่าคาดหวัง” เจ้าของบ้านต้นโขงแนะสำหรับใครที่คิดกำลังคิดอยากจะมาเชียงคาน ไม่ว่าจะอยากมาเพราะกระแส อยากพิสูจน์ด้วยตาตนเอง หรือเหตุผลใดก็ตาม"
แต่ข้อแนะนำที่สำคัญของพี่เบญคือ ‘อย่ามาหน้าเทศกาล’
“ปีใหม่ที่ผ่านมาคนเยอะมาก เยอะชนิดที่แบบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเชียงคาน เชียงคานจะแตก เชียงคานจะถล่ม เพราะบ้านทุกหลังเต็มหมด ทุกหลังที่เป็นเกสต์เฮาส์จะเพิ่งเปิดใหม่ หรือว่าเปิดมานานมีชื่อเสียงอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะที่นอนดีไม่ดีขนาดไหน ก็เต็ม…เต็มชนิดว่าล้น ตามบ้านคุณยายคุณตานี่ก็มีคนไปขอนอนได้ไหมๆ มันก็เลยเป็นการจุดประกายคนที่มีบ้านอยู่แถวนี้ หรือแม้กระทั่งคนต่างถิ่นเองที่จะเข้ามาแล้วหวังว่ามันจะดีไปอย่างนี้ตลอด ตอนนี้จะเห็นว่าภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว ที่พักเท่าที่นับได้เฉพาะที่ผุดขึ้นมาใหม่ ตั้ง 4 ที่โดยประมาณในแค่ระยะเวลา 3-4 เดือน บางที่ก็เปิดหลังปีใหม่ที่ผ่านมาเพราะคิดว่าหลังจากนี้มันจะดี
ตอนนี้เชียงคานเหมือนกับว่าจะคึกคักเฉพาะเสาร์อาทิตย์ แต่ก่อนเราไม่เคยเตรียมตัวเลยว่าเสาร์อาทิตย์เราจะต้องทำอะไร เพราะว่านักท่องเที่ยวฝรั่งเขาไม่ได้มาเสาร์อาทิตย์ เขามาเป็นฮอลิเดย์ของเขา แล้วลูกค้าเดิมส่วนใหญ่ของเราเป็นนักท่องเที่ยวฝรั่งเยอะ เชียงคานมีชื่ออยู่ใน Lonely Planet นานเกินกว่า 15 ปีแล้ว ที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวน้อย ไม่มีคนไทยเลย สมัยนั้นคนไทยโผล่มาครั้งหนึ่งต่อเดือนก็เรียกว่าหรูแล้ว เดี๋ยวนี้เมืองมันเปลี่ยน มีคนซ่อมบ้านเยอะขึ้น ซ่อมบ้านเตรียมเปิดเป็นเกสต์เฮาส์ สร้างบ้านเตรียมเปิดเป็นร้านขายของที่ระลึก นี่แหละที่ว่าทำไมเมืองมันจะเปลี่ยนไปเหมือนปาย มันจะเหมือนก็ตรงนี้ล่ะ ถ้าไม่มีอะไรมาควบคุม”
คำว่า “ควบคุม” ของพี่เบญคือ น่าจะมีอะไรสักอย่างที่จำกัดกรอบว่า ทิศทางการเติบโตของเมืองควรจะมีแค่นี้ ควรจะปรับปรุงไปในแนวทางนี้ ไม่ใช่บ้านหลังนี้ทาสีหวาน อีกบ้านทาสีหนึ่ง
“เพราะตอนนี้ก็ต่างคนต่างทำ ข้างนอกอาจจะจับจุดนักท่องเที่ยวถูกว่าอนุรักษ์ให้มันเก่าๆ ไว้ ข้างในก็ให้มันสว่างไสวให้มีสีสันตกแต่ง พอเดินไปเราก็จะไม่ได้อารมณ์บ้านที่เคยปิดอยู่ เดินไปแล้วมันมีเสน่ห์ว่า เมืองนี้คนไปอยู่ไหนหมด กลางวันก็ปิด กลางคืนก็ปิด ถ้ากลางวันปิด กลางคืนเปิดก็ยังว่าน่าจะมีคนอยู่บ้าน ทุกคนจะมาถามว่าบ้านที่ปิดๆ อยู่นี่เป็นบ้านร้างหรือเปล่า มีคนอยู่ไหม แล้วถ้าเขาอยู่ทำไมไม่เปิดบ้าน แต่เดี๋ยวนี้มันเริ่มเปลี่ยนไป”
จากเดิมที่ร้านของเธอเคยเป็นร้านที่ปิดดึกที่สุดของเชียงคาน หากวันไหนแขกเยอะก็เปิดถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง ลูกค้าสามารถนั่งคุยอยู่ได้เรื่อยๆ เพราะพี่เบญอาศัยอยู่ที่ร้านอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีแขกเธอก็จะปิดร้านเข้านอนแต่หัวค่ำ จะไม่มีการเปิดร้านรอลูกค้า แต่เดี๋ยวนี้กลางคืนที่นี่เริ่มเปลี่ยนไป มีร้านทำนองผับเกิดขึ้นในบางซอยที่จะคึกคักเกือบตลอดคืน
“พอเมืองมันเปลี่ยน รูปลักษณ์มันก็เปลี่ยน ถ้าคนมาแต่ก่อนนี้จะโชคดี จะยังเห็นบ้านที่ปิดไว้ ดูได้ธรรมชาติ แต่พอเดี๋ยวนี้ก็เห็นบ้านนี้ซ่อมแล้ว เดี๋ยวจะต้องเปิดเป็นอะไรสักอย่าง เราก็รู้สึกว่าเพราะพวกคุณที่มากันเยอะๆ นี่แหละ มาทำให้เปลี่ยน แต่เราทำอะไรไม่ได้ พูดตรงๆ เราทำอะไรไม่ได้จริงๆ”
เสียงของพี่เบญจากเครื่องบันทึกเทปช่วงนี้จางไปเพราะเสียงลมพัดอื้ออึง จากพายุฤดูร้อนที่พัดเข้ามาสู่เชียงคานในบ่ายวันนั้น
เที่ยวตามเทรนด์ : เมื่อการท่องเที่ยวกลายเป็นแฟชั่น
หลังจากชื่อของ 'ปาย' กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิตติดลมบนไปเมื่อหลายปีก่อน เชียงคานกำลังเจริญรอยตามปายมาติดๆ ทั้งจุดเริ่มจากเป็นเมืองฮิตของ Lonely Planet และบรรดาเหล่าแบ็คแพคเกอร์ จากนั้นก็ตามมาด้วยนักเดินทางชาวไทยที่รักความสงบ ช่างภาพ ศิลปิน นักเขียน และคนทำงานศิลปะแขนงต่างๆ เป็นหัวหอกที่เข้ามาท่องเที่ยว เปลี่ยนบรรยากาศกลุ่มแรกๆ ไปจนถึงอยู่ตั้งรกรากที่นั่น
สุวัฒน์ธนะ ฉัตรทอง มัคคุเทศก์หนุ่ม หรือเป็นที่รู้จักในนาม “นายปุย” แห่งเว็บ Thaitrekking.com เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดใจเสน่ห์ความเงียบสงบของเชียงคาน จากการขี่จักรยานเลาะเลียบริมโขงจนกระทั่งตัดสินใจลงหลักปักฐานเปิดเกสต์เฮาส์ที่นี่ จากเดิมที่ตั้งใจจะอยู่แค่เพียงหนึ่งคืน กลายเป็นว่าเขาอยู่เชียงคานมาหนึ่งปีแล้ว
“คอนเซ็ปต์แรกของผมตั้งแต่เปิดร้านวันแรกจนถึงวันนี้ก็คือว่า ผมไม่ขายเหล้าไม่ขายเบียร์ ไม่ให้สูบบุหรี่ในบ้าน มันก็จะเป็นฟิลเตอร์ที่กรองคนว่า เขาควรจะคุยกับเราหรือไม่ เพราะที่สำคัญก็คือ ผมไม่รู้จะเอาสุขภาพจิตของเราไปแลกกับเศษเงินของเขาทำไม”
สำหรับกระแสการมาเที่ยวเชียงคานของคนไทยที่เริ่มบูมในช่วงปีที่ผ่านมานั้น สุวัฒน์ธนะมองว่าเป็นธรรมดาที่คนจะเห่อมาเที่ยวเชียงคานในระยะแรกๆ
“จริงๆ เชียงคานมันไม่มีอะไรให้เที่ยว ไม่มีอะไรให้ศึกษาเพราะว่าเป็นชุมชนตั้งใหม่ แต่ถ้าถามว่าคุณมาแล้วคุณมานั่งให้เวลากับตัวคุณเองแล้วมันจะมีคุณค่ามากกว่า มาแล้วไม่ต้องไปแย่งกันกินกันใช้” เจ้าของ “บ้านดอกฝ้าย” เกสต์เฮาส์กล่าว
“เชียงคานถ่ายรูปมุมไหนก็สวย มิติของการถ่ายภาพ มันมีความลงตัวทางธรรมชาติ ซึ่งไอน้ำจากลำน้ำโขงทำให้แสง มุมของการถ่ายภาพมันมีระดับใกล้เคียงกับธรรมชาติ วิถีของคนที่นี่ก็มีความลงตัว เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราพอใจในสิ่งที่นำเสนอ มีบ้านเก่าๆ มีแม่น้ำ มีจักรยาน” นพดล กรมหมื่น ชายหนุ่มจากเชียงใหม่ที่มาอาศัยอยู่เชียงคานเอ่ยถึงเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ในมุมมองของเขา นับตั้งแต่ย้ายตามเพื่อนรุ่นน้องที่สนิทอย่างนายปุยมาเปิดเกสต์เฮาส์ที่เป็นทั้งร้านขายกาแฟ และโปสการ์ดเล็กๆ ซึ่งหากย้อนไปก่อนหน้านี้สักหนึ่งปีก่อนหน้า เชียงคานไม่ได้พลุกพล่านไปด้วยตากล้องที่ถืออุปกรณ์ถ่ายภาพแบบมืออาชีพ เดินขวักไขว่เก็บภาพตามมุมต่างๆ ของเมืองเหมือนเช่นทุกวันนี้
แน่ล่ะ เราเคารพในสิทธิของสุภาพชนคนใดก็ตามที่มีกำลังทรัพย์และสติปัญญาพอจะใช้กล้องและเลนส์ราคาเหยียบหมื่นนั้นได้ แต่ในสายตาของคนที่อยู่เชียงคานเล่า พวกเขาคิดอย่างไรกับการเห็นและ (ถูก) ถ่ายภาพ?
“ชุมชนของปายกับที่นี่ดูคล้ายๆ กัน แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนเชียงคานเป็นคนรวย แต่ยังไม่มีบทเรียน เมื่อก่อนเดิมทีเขาทำการค้า ติดต่อกับคนไม่กี่คนก็คุยกันง่ายๆ แค่คนหรือสองคน แต่อย่างตอนนี้เขายังสนุกอยู่เหมือนกับมีนักเรียนใหม่เข้ามาในห้องเขา แล้วเขาก็ยังตื่นตาตื่นใจ แต่ก็จะมีบางคนเขาเริ่มรู้สึกแล้วว่า ฉันอยู่ในสวนสัตว์เหรอ ออกไปหน้าบ้านฉันก็ถูกถ่ายรูป ออกไปหลังบ้านก็ถูกถ่ายรูป นี่เป็นสิ่งที่คนที่นี่บางส่วนสะท้อนให้ฟัง มันก็เป็นเรื่องปกติ คือตอนนี้ต้องการทั้งบทเรียนและประสบการณ์ที่จะมาชั่งน้ำหนักให้เขาว่า เขาจะไปทางไหน ไม่ใช่ปีนี้ไม่ใช่ปีหน้า ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะรู้ตัวเร็วเมื่อไหร่”
ซึ่งในความเห็นของคนทำธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างพี่เบญแล้ว การท่องเที่ยวของคนไทยกับต่างชาตินั้นมองเผินๆ นั้นก็เหมือนกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด
“มีหลายคนถามว่า พี่ชอบลูกค้าคนไทยไหม? ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะทุกคนที่มาก็น่ารัก แต่วิธีการเที่ยวทั้งสองชาติ เที่ยวไม่เหมือนกัน ฝรั่งเที่ยวละเอียด เที่ยวเนียน เที่ยวแบบไม่เปลี่ยนแปลงอะไร พยายามที่จะเข้ามาหาเรา แต่คนไทยเที่ยวตามกระแส เที่ยวตามเทรนด์ อะไรดีอะไรอร่อย อะไรเจ๋งอะไรสวย ขอให้ฉันได้ไป บ้านตรงนี้เขาไปถ่ายกันมา ฉันต้องถ่าย คือแบบบางทีเหมือนมันตลกนะ ถ้าคุณเป็นพี่แล้วคุณเห็นอะไรมันหลากหลาย คุณจะขำ นั่งอยู่หน้าบ้าน สมมติกลุ่มนี้มากันเจ็ดคน บ้านหลังนี้ฉันถ่าย เจ็ดคนนั้นก็ต้องถ่ายทั้งเจ็ดคน พี่ถามว่าทำไมเหรอ? แต่ฝรั่งมันไม่ใช่ เขาจะเป็นอีกสไตล์หนึ่งที่เที่ยวเพราะชอบธรรมชาติจริงๆ ซึมซับจริงๆ”
“เราไม่ใช่ไม่ชอบนักท่องเที่ยว ต้องบอกว่าคนเชียงคานชินกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ พอมาเห็นนักท่องเที่ยวไทยเขาจะเริ่มงง พระสงฆ์องค์เจ้านี่ช็อกมาก พอวันเสาร์อาทิตย์คนใส่บาตรเยอะมาก แต่ก่อนพระไม่ถือย่าม เดี๋ยวนี้พระที่นี่เริ่มถือย่าม บางทีมีน้องๆ นักท่องเที่ยวมากันกลุ่มใหญ่ๆ เขาจะใส่บาตรกันหมดทุกคน แล้วให้พี่จัดอาหารให้ พี่บอกว่าจริงๆ แล้วใจพี่ไม่อยากจัดเครื่องใส่บาตรให้ เพราะว่าตื่นเช้าสักนิดหนึ่งไปเดินตลาด เผื่อรู้ว่าญาติศรีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วชอบกินอะไร พี่คิดอย่างนั้นไง พี่มองว่าหนึ่ง คุณไม่ได้แค่ซื้อของใส่บาตร แต่คุณได้เห็นวิถีชีวิตตอนเช้าด้วย
"พี่จะแนะนำแต่บางคนเขาก็จะไม่ค่อยอยากตื่นหน้าหนาว แต่ก็อยากใส่บาตรตามเทรนด์ พี่ก็บอกว่ากระจายๆ กันไปใส่นะ เพราะถ้าน้องใส่อยู่แถวๆ นี้ พระท่านก็ได้อยู่วัดสองวัดเท่านั้น ไม่ใช่แบบว่าไปสุมอยู่ที่เดียว แล้วทีนี้พระวัดไหนมาก่อนจะได้ของไปหมดเลย เพราะว่านิสัยคนกรุงเทพฯ ถ้าใส่บาตรจะใส่ข้าว กับข้าว ขนมทั้งหมด แต่พี่จะแนะนำว่าใส่ข้าวเหนียวแล้วก็อะไรก็ได้ชิ้นหนึ่ง เพราะว่าเดี๋ยวพระท่านก็ไปฉันแล้ว ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง” พี่เบญสะท้อนถึงปรากฏการณ์ “ล้น” ทางวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุงบางส่วนให้ฟัง
จากปายถึงเชียงคาน : สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง
“คนเชียงคานเป็นคนที่รับฟังทุกเรื่องแต่ไม่เชื่อทุกเรื่อง…” คำพูดจากสายตา “คนนอก” ที่มาตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นี่สรุปให้ฟังถึงลักษณะนิสัยของผู้คนเมืองนี้
เห็นบ้านเรือนความเป็นอยู่ง่ายๆ อย่าคิดว่าคนเฒ่าคนแก่ที่นี่เป็นตาสีตาสาทั่วไป นึกจะพูดให้คนเชียงคานโน้มน้าวเชื่ออะไร เห็นทีจะชักแม่น้ำโขงทั้งสายคงยังไม่พอ เพราะหากพวกเขาไม่เชื่อมั่นในตัวเอง รักและหวงแหนสมบัติของแผ่นดินอย่างยิ่งยวดแล้ว บ้านเมืองเก่าแก่ริมแม่น้ำโขงคงไม่ได้ตั้งคงอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้
เมื่อเริ่มมีกระแสคนไทยมาเที่ยวเชียงคาน ทำให้เมืองเล็กๆ ชายโขงแห่งนี้มีชื่อเสียงมากขึ้น ทางด้านคนเชียงคานเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการรวมกลุ่มพูดคุยกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เรื่องการออกกฎควบคุมอาคารสูง การทาสีอาคารบ้านเรือน และการใช้พื้นที่ถนนริมเขื่อนสาธารณะที่ติดแม่น้ำโขง เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวมาทำให้บ้านเกิดของพวกเขาเปลี่ยนไปจนไม่หลงเหลือเสน่ห์แบบธรรมชาติบริสุทธิ์ เช่นที่เมืองท่องเที่ยวอย่างปายประสบมาก่อน
ดังโครงการบ้านมั่นคงริมโขง ที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนมาปรับปรุงซ่อมแซมและอนุรักษ์บ้านเรือนที่เป็นห้องแถวไม้เก่าริมโขงจำนวน 222 ครัวเรือน โดยใช้แรงงานชาวบ้านมาช่วยกันซ่อมแซม โดยมีกับข้าวเลี้ยงเหมือนสมัยก่อน
ชิโนรส พันทวี นักศึกษาปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่เชียงคานเพื่อทำวิจัยกล่าวว่า ที่นี่มีเรื่องราวยาวนาน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายยุคสมัย ทั้งการตั้งเมือง หรือการขยับขยาย การย้ายที่ขายของจากฝั่งข้างล่างมาข้างบน และการซบเซาของพื้นที่ค้าขายเดิมบริเวณถนนฝั่งชายโขง ซึ่งจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ต่างบอกว่า สาเหตุเกิดจากผลกระทบเรื่องเขตแดนไทยกับลาวเป็นหลัก ที่ทำให้การค้าแถบนี้ซบเซาลง
“เพราะแต่ก่อนคนที่นี่ไปมาหาสู่กันโดยไม่ต้องผ่านแดน ข้ามเรือหากันเลย บางคนญาติอยู่ฝั่งโน้นก็มี ก็เลยทำให้เมืองค่อยๆ เปลี่ยนไป คนก็เลยเริ่มขยับขึ้นมาข้างบนเส้นที่มีถนนใหญ่ มีช่วงหนึ่งเส้นล่างชายโขงมันซบเซามากจนคนคิดว่ามันทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่พอเริ่มมีคนมา เขาอาจจะเห็นเรื่องความสงบในความซบเซา มันดูน่าอยู่สงบดี ก็เริ่มพัฒนาการท่องเที่ยวจากเล็กๆ บอกต่อ เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตก็จะเร็วขึ้น”
แต่ถ้าถามถึงว่า คนเชียงคานทุกวันนี้คิดกับการท่องเที่ยวอย่างไร คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีเท่าคนที่อยู่เชียงคานมาตลอดชีวิตอย่างราตรี พรหมมหาราช ซึ่งตระกูลของเธอทำผ้านวมขายที่เชียงคานมากว่า 3 ชั่วอายุคนแล้ว บอกว่า
“อยากให้มาดูว่าบ้านเรามีวัฒนธรรมท้องถิ่นอะไรบ้าง อยากให้มาสัมผัสเยอะๆ เพราะคนมาเยอะเราก็มีรายได้ มีอะไรทำ ของก็ได้ขาย ก่อนหน้าเมืองนี้เงียบมาก บางเดือนไม่ได้ขายสักผืนก็มี อยู่บ้านหลังละคนก็มองหน้ากัน คนเฒ่าคนแก่ก็เอากับข้าวมาซุม (รวม) กันคนละถ้วย กินแล้วก็นอนคนละมุม ใกล้ๆ เย็นก็กลับบ้าน” ราตรีเล่าถึงชีวิตเรียบง่ายของคนเชียงคานสมัยก่อน
ขณะที่คนที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรงอย่างพี่เบญนั้น กลับบอกว่าไม่อยากให้เมืองเชียงคาน “โต” มากไปกว่านี้
“หวังว่าคนที่มาก็สกรีนตัวเองมาจากอินเทอร์เน็ตแล้วว่า เมืองนี้เป็นเมืองที่ฉันอยากมา เป็นเมืองที่มันไม่มีอะไร พี่จะบอกกับทุกๆ คนเลยว่า อย่ามาฤดูเดียวกัน อย่ามาพร้อมกัน ลางานสักวันให้มันติดกับเสาร์อาทิตย์ จะเป็นศุกร์ลาหรือจันทร์ลาก็เอาสักวันหนึ่ง แล้วคุณไม่ต้องมาเทศกาล มาหลังเทศกาล แล้วคุณจะได้อะไรที่มันมากกว่านี้”
เธอฝากคำแนะนำให้คนที่กำลังจะมาเชียงคานได้คิด
……………
สายฝนโปรยปรายลงมาบรรเทาความร้อนอบอ้าว ผู้คนแห่งเมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้ยังคงดำเนินวิถีชีวิตต่อไป แม้ทุกวันนี้ใครต่อใครจะพากันเป็นห่วงเชียงคาน กลัวความเปลี่ยนแปลงจะทำลายมนต์เสน่ห์เรียบง่าย แต่เท่าที่คะเนจากสายตา เชียงคานยังคงเป็นเชียงคาน ไม่ได้กลายเป็นปายแห่งที่สองอย่างที่ใครๆ ว่า
ไม่แน่-หากเชียงคานพูดได้ วันนี้มันคงอยากถามเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำอย่างปายว่า วันนี้…ปายสบายดีอยู่หรือเปล่า?
..........
เรื่อง/ภาพ : รัชตวดี จิตดี