xs
xsm
sm
md
lg

คนล้มแล้วลุก บทเรียนวิกฤตปี 40 สู่ 52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
11 ปี แห่งความหลัง...
หลายคนคงจำรสชาติอันขมขื่นของต้มยำกุ้งในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 40 ได้เป็นอย่างดี วิกฤตครั้งนั้นเป็นวิกฤตทางการเงินการคลังครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ส่งผลให้หลายคนตกงาน โดนยึดบ้าน ยึดรถ หมดตัว ล้มละลาย กระทั่งฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา และอีกหลายคนหันหน้าไปเป็นโจรปล้นชิง แต่อีกหลายคนที่ตั้งสติได้ก็เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ หาทางออกให้ตัวเองและครอบครัวอย่างสุจริตชน ฝ่าฟันวิกฤตอย่างสร้างสรรค์ กระทั่งไอเดียบรรเจิดหลายอย่างก็เกิดจากการพลิกวิกฤต (ต้มยำกุ้ง) ให้เป็นโอกาสมาจนถึงทุกวันนี้...


11 ปีผ่านไป... และแล้วความโลภของมนุษย์บางจำพวกที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็สร้างหายนะที่เรียกว่า 'วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์' ขึ้นมา และเชื้อโรคที่เกิดจากความมักมากทางการเงินนี้ก็แพร่ระบาดติดต่อกันไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้ประเทศเล็กๆ ที่กำลังน่ารักน่าชังอย่างประเทศไทย และไม่เว้นแม้กระทั่งแม่ค้าตัวเล็กๆ อย่างเจ๊ขวัญ - เจ้าของร้านส้มตำริมถนนกรุงเทพกรีฑา แต่ถึงจะเจอกับวิกฤตชนิดไหน คู่มือสำหรับรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจฉบับเจ๊ขวัญก็คือความอดทน อดออม และขยันหมั่นเพียร...

"พี่เข็นรถเข็นขายส้มตำมาตั้งแต่ปี 37 จนถึงวันนี้ก็ 15 ปีแล้ว ตอนแรกลำบากมาก ไหนจะโดนรถชน ไหนจะแดดร้อน เหนื่อยมาก แล้วก็ไม่ค่อยมีคนซื้อ มะละกอก็ได้ตำวันละลูก หลังๆ ขึ้นมาวันละสองลูกสามลูก ก็เข็นรถขายเรื่อยไป ชีวิตพี่ก็เหมือนละครนี่แหละ (หัวเราะ) รถชนก็ไม่ท้อ ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ขาย และเก็บออมมาเรื่อยๆ จนมาเปิดร้านตรงนี้ และหลังจากนั้นก็มาเจอกับวิกฤตปี 40 ที่เขาบอกว่าฟองสบู่แตกนั่นแหละ"

เจ๊ขวัญบอกว่าตอนนั้นลูกค้ารู้ ลูกค้าเข้าใจ เขาช่วยเรา เราก็ช่วยเขา ต่างคนต่างเข้าใจกัน เพราะลูกค้าต้องกินอาหาร และส้มตำก็เป็นอาหารที่ขาดไม่ได้สำหรับลูกค้าหลายคน...

"พอเศรษฐกิจไม่ดี เราก็ให้น้อยลงหน่อย เศรษฐกิจดีเราก็ค่อยให้เยอะขึ้น ใช้สูตรง่ายๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ บางคนเขาก็เข้าใจ แต่บางคน... อย่างช่วงที่พ่อใหญ่บรรหาร (ศิลปอาชา) เป็นนายกฯ มะนาวลูกละ 10 บาท แต่บางคนก็ไม่เห็นใจเรานะ มาสั่งส้มตำ เขาบอก พี่เอามะนาวใส่สองลูก แต่ก่อนส้มตำเราขาย 15 บาท เอามะนาวใส่สองลูกมันก็ 20 บาทแล้ว (หัวเราะ) แต่บางคนเห็นใจเขาก็บอก ไม่ใส่มะนาวก็ได้นะพี่ มะนาวมันแพง ใส่น้ำมะขามแทนก็ได้ แต่เราก็เข้าใจว่าลูกค้ามีหลายแบบ คนมีหลายประเภท เราต้องประคับประคองกันไป

"พี่เจอวิกฤตมาหลายครั้ง อย่างช่วงไข้หวัดนก ที่เนื้อเป็นโรค แล้วก็มาไก่เป็นโรค ตาย...! ขายของไม่ออก แฟนพี่ก็บอกสู้ไปเรื่อยๆ เราก็ทำของเราไป ค่อยๆ อดๆ ออมๆ กันไป กินมื้ออดมื้อ บางครั้งไม่มีเงินสักบาท บางครั้งเหลือแต่เงินลงทุน แต่ยังไงก็ต้องทำ จะมามัวรอแต่วาสนาไม่ได้หรอก"

นี่คือการหาทางออกอย่างสุจริตชนอย่างเจ๊ขวัญจนนำพาส้มตำและครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตปี 40 มาได้จนถึงวันนี้...

การมาเยือนของวิกฤตที่มิอาจปฏิเสธ!
"วิกฤตครั้งนี้พี่โดนผลกระทบมาก เพราะของแพงขึ้น พี่แก้ปัญหาโดยเขยิบราคาขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ขึ้นมาก จาก 20 ก็เป็น 25 บาท แล้วก็เพิ่มปริมาณอาหารขึ้นอีกหน่อย ก็ช่วยกันไป ลูกค้าก็เข้าใจ แล้วพี่ก็พยายามประหยัดทุกอย่าง กินให้น้อย ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย เพราะลูกยังเรียนหนังสืออยู่ เราก็บอกให้เขาประหยัดช่วยแม่นะ เพราะว่าเศรษฐกิจมันแย่ แม่ก็แย่ ถ้าไม่ช่วยกันประหยัดเดี๋ยวเราจะได้ม้วนเสื่อกลับบ้านนะลูก" (หัวเราะ)

เจ๊ขวัญบอกว่าช่วงนี้คนมากินส้มตำน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่ก่อนหน้านี้ ช่วงเที่ยงลูกค้าจะเต็มหมดทุกโต๊ะ แต่เดี๋ยวนี้บางวันมีลูกค้าอยู่โต๊ะเดียว บางวันไม่มีสักโต๊ะ แต่ดีหน่อยที่ยังมีคนมาซื้อแบบใส่ถุงกลับไปกินบ้าน

"ช่วงนี้ของเหลือเต็มร้านเลย ปลาดุกย่างก็เหลือ ไก่ย่างก็เหลือ ก็เอาไปแจกเพื่อนบ้านเขากิน (หัวเราะ) ก็รู้นะว่าช่วงนี้เขาประหยัดกัน หลายคนก็กลับต่างจังหวัด เขาตกงาน นั่นดูสิ (ชี้ให้ดูครอบครัวหนึ่งกำลังขนของขึ้นรถ) เขากำลังขนของกลับบ้าน หลายครอบครัวแล้วที่พี่เห็นเขากลับต่างจังหวัดกัน พอคนน้อยเราก็ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม คือขายไม่หยุด ขายทุกวัน กำไรไม่ได้ก็ช่างมันไปก่อน (หัวเราะ) แต่เราได้กินอยู่ในร้าน เราไม่ต้องเอาเงินไปซื้อกิน ลูกเต้าก็กินอยู่ด้วยกันในร้านนี่แหละ เราก็เพิ่มเวลาขายขึ้นไปอีก เปิดแต่เช้า เลิกดึกหน่อย เหนื่อยก็ทนเอา วันหยุดที่เราเคยหยุดวันพฤหัสฯ เราก็ไม่ต้องหยุด ขายมันไปเรื่อยๆ วิกฤตครั้งนี้พี่ก็กลัวเหมือนกันนะ เพราะว่าไหนจะค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ไหนลูกคนเล็กยังเรียนอยู่ ต้องทำให้ได้เดือนละสองหมื่นกว่าถึงจะอยู่ได้"

คติประจำใจของเจ๊ขวัญก็คือ ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นต่อไป คนเราอย่าไปท้อ หรือท้อแต่อย่าถอย และก้าวต่อไป!...
"ถ้าถอยกลับบ้านเขาจะดูถูกเรา ต้องก้าวไปเรื่อยๆ ใครล้มก็รวบรวมสติกำลังลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้ง ฝ่าฟันมันไปให้ได้ เรามีบทเรียนจากวิกฤตปี 40 มาแล้ว แต่วิกฤตครั้งใหม่นี้น่าจะหนัก! เราต้องขยันขึ้นอีกเป็นร้อยเท่า แต่ว่าพี่ก็แก่ขึ้นทุกวัน โอ้ย, ชีวิต!" (หัวเราะ)

วิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
ทางด้าน ป้าพร - เจ้าของร้านขายของชำย่านประเวศบอกว่าขายของไม่ดีมาสองปีแล้ว ตอนวิกฤตปี 40 ป้าพรก็โดนผลกระทบมากเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ายังดีกว่าครั้งนี้ เพราะหลังจากปี 40 ก็พอจะประคับประคองร้านค้ามาได้เรื่อยๆ ป้าพรบอกว่าเพิ่งจะมาแย่เอาเมื่อสองปีที่ผ่านมานี้แหละ...
"มันเหมือนของไม่หมุนเลย แล้วช่วงนี้ก็ไม่ค่อยมีคนมาซื้อ เขาก็คงประหยัดเหมือนเรานั่นแหละ จะให้เขามานั่งซื้อนั่งกินเหมือนเดิมคงไม่ได้ เขาก็ซื้อแต่ของที่จำเป็น แม่ค้าขายผักก็เหมือนกัน มาถึงก็บ่นกันหมด แม้แต่คนขายเกลือก็ยังบ่นเลย (หัวเราะ) เขาบ่นกันว่าทำไมช่วงนี้เงียบจังเลย เราก็บอกกับข้าวป้ายังขายไม่ได้เลย เกลือน้องใครจะไปซื้อ (หัวเราะ) เราก็แซวกันไป ขำกันไปแก้กลุ้ม ก็ไม่รู้จะทำยังไงนี่"

ป้าพรบอกว่าตอนนี้รายจ่ายเยอะกว่ารายได้ ลูกก็กำลังเรียนหนังสือ ตื่นเช้าขึ้นมาป้าต้องจ่ายไปแล้ว 100 กว่าบาท...

"ของที่ซื้อมาขายก็ต้นทุนสูง แต่กำไรให้เท่าเดิม เป็นอย่างนี้หมดทุกอย่างเลย กาแฟทรีอินวัน เมื่อก่อนถุงละ 70 กว่าบาท ต่อมา 85 บาท ขึ้นมาเป็น 95 บาท กำไรก็ลดลงๆ เราก็ยังแกะออกมาขายซองละห้าบาทเหมือนเดิม เพราะเราขายห้าบาทมาแต่ไหนแต่ไร แต่ตรงนี้ยังได้กำไรอยู่ แต่อย่างโค้ก RJ บิ๊กโคล่า เขาให้ขายขวดละสิบบาท แต่ให้กำไรเราน้อย ค่าตู้แช่กับหลอดก็ไม่คุ้มแล้ว ร้านขายของชำเขาก็ขึ้นราคากันเองทั้งนั้น ส่งสิบบาท เราขายสิบสอง ได้กำไรสองบาท แต่บางที่เขาขายกันสิบสามสิบสี่บาทเลยนะ แต่เราบวกแค่สองบาท ให้คุ้มกับราคามาตรฐานของเขา ขายมากคนก็ซื้อไม่ได้ ขายน้อยเราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเราขายตามที่บริษัทตั้งมาเราก็อยู่ไม่ได้ ค่าไฟก็แพง ขึ้นค่าอะไรต่อค่าอะไรก็ไม่รู้ เดือนหนึ่งพันห้าพันหก ขนาดใช้แค่ตู้แช่สองตู้เองนะ"

ป้าพรวางแผนรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ด้วยการใช้จ่ายอย่างประหยัดเท่าที่จะประหยัดได้ และหันมาขายอาหารตามสั่งเพื่อหวังเพิ่มรายได้เข้ามา ต้นทุนวันหนึ่ง 400-500 บาท ถ้าขายได้วันหนึ่ง 40 จาน ก็ได้ถึง 500 บาท แต่บังเอิญว่าตั้งแต่ขายมาป้าพรยังไม่ได้ตามเป้าที่ว่านั้นเลย...

ชะตากรรมของผู้ส่งออกรายเล็ก
จากชีวิตแม่ค้า เรามาดูชะตากรรมของผู้ส่งออกรายเล็กกันบ้างว่าพวกเขามีบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมาอย่างไร และพวกเขาวางแผนรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่นี้อย่างไรกันบ้าง เริ่มจาก นาวา ศุภกรชัย เจ้าของธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าเด็กสำเร็จรูป บริษัท DC Embroidery Co.,ltd. ธุรกิจครอบครัวที่ทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว

"วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ส่งผลกระทบต่อกิจการครอบครัวของผมไม่มากนัก เนื่องจากกิจการของผมเกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ไม่มีธุรกรรมอันใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงินในตอนนั้น รวมทั้งตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดส่งออกไปยังลูกค้าต่างประเทศ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นก็เลยกระทบกับกิจการของครอบครัวเพียงเล็กน้อย แต่เพิ่งมาเริ่มส่งผลกระทบเอาเมื่อปี 2008 จนถึงปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่ตลาดลูกค้าจะเป็นทางด้านสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่เคยมีแรงซื้อมาก การสั่งซื้อของลูกค้าบางรายแทบจะหายไปเลย และโดยภาพรวมมีการลดยอดการสั่งซื้อถึง 50 เปอร์เซ็นต์จากยอดเดิม ทำให้ผมต้องขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงลูกค้าในประเทศ"

ส่วนแผนรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ นาวาบอกว่าต้องควบคุมคุณภาพในการผลิต รักษามาตรฐาน เนื่องจากคู่แข่งเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพยายามหาวิธีลดต้นทุนไปในตัว ทำอย่างไรให้สินค้าคุณภาพไม่ต่างจากเดิมแต่ราคาถูกลง...
"กับวิกฤตครั้งนี้ก็กังวลอยู่เหมือนกัน แต่ว่าก็ต้องหาทาง หากลยุทธ์ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจของครอบครัวเสียหาย หรือพังทลายเพราะวิกฤตครั้งนี้"

ถึงแม้จะเป็นธุรกิจส่งออกรายเล็กขนาดไหนก็ไม่สามารถรอดพ้นบ่วงแหแห่งวิกฤตครั้งนี้ไปได้ อย่างร้านขายเครื่องตกแต่งบ้านส่งออกของ รชตวรรณ ผาชาติ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เธอบอกว่าตอนเจอกับวิกฤตปี 40 ครั้งนั้น ร้านของเธอถึงกับปิดกิจการไปเลย...

"เรามาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในช่วงสี่ปีให้หลังนี้ที่มีถนนคนเดินที่เชียงใหม่ ก็ค่อยๆ เริ่มกันไป เริ่มจากทำในครอบครัวกันเอง และจ้างเด็กแค่ไม่กี่คน คือจากเมื่อก่อนที่สินค้าเราขายราคาสูง ราคาเกือบพัน ตอนนี้เราก็ลดต้นทุนการผลิต ก็คือหาของที่คุณภาพใกล้เคียงกันมาทดแทน แล้วก็ลดราคาสินค้าลง ลูกค้าที่สั่งซื้อจะเป็นอเมริกา ฝรั่งเศส สวีเดน พอมาเจอวิกฤตครั้งนี้ลูกค้าก็สั่งซื้อน้อยลง เมื่อก่อนสินค้าของเราเน้นขายต่างชาติอย่างเดียว แต่ตอนนี้เรามาเน้นทำให้คนไทยต้องชอบด้วย ไม่ขยายธุรกิจมาก ทำกันในครอบครัว ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ประคับประคองแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก่อน เพราะช่วงนี้นักท่องเที่ยวก็ลดลง และยิ่งย้ายการประชุมอาเซียนซัมมิตไปจัดที่จังหวัดอื่นยิ่งลดลงเลย (หัวเราะ) เพราะเราก็คาดหวังตรงนี้ไว้พอสมควร พ่อค้าแม่ค้าก็คาดหวังว่าจะมีคนมาเที่ยวมาซื้อสินค้ากันเยอะ พอย้ายไปจัดที่อื่นก็เซ็งเลย (หัวเราะ) ส่วนการวางแผนรับมือกับวิกฤตครั้งนี้อันดับแรกก็ต้องประหยัด ระมัดระวังในการใช้จ่าย และหารายได้เพิ่มขึ้น ก็คือต้องขยันเพิ่มขึ้นอีกมากค่ะ"

ธุรกิจขาขึ้น (ก่ายหน้าผาก)
จากผู้ส่งออกรายเล็ก เรามาคุยกับคนทำธุรกิจขนาดย่อมกันดูบ้าง ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เจ้าของกิจการ ศิริวัฒน์แซนด์วิช บอกว่าวิธีประคับประคองธุรกิจของเขาตั้งแต่วิกฤตปี 40 มาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ไม่ไปกู้เงินใคร ธุรกิจที่เขาทำเป็นเงินสด ได้น้อย แต่ว่าไปได้เรื่อยๆ ...
"มันก็เหนื่อยครับ แต่ว่าเราก็ทำเรื่อยๆ ส่วนวิกฤตครั้งนี้กระทบกับธุรกิจแซนด์วิชของผมแน่นอน แต่ว่าเนื่องจากธุรกิจของเรามันเล็ก พายุลูกนี้มาเราก็โดน แต่โดนไม่หนัก คนที่โดนหนักคือพวกใหญ่ๆ วิกฤตเที่ยวนี้มันกระทบส่งออก และการท่องเที่ยว พอดีธุรกิจเรามันเป็นธุรกิจในประเทศ เราขายเล็กๆ น้อยๆ ถามว่ากระทบไหม ถูกกระทบ ลูกค้ามักจะบอกว่าช่วงนี้ซื้อน้อยนะ เพราะว่าค่าใช้จ่ายอย่างอื่นมันสูง เราก็บอกว่าเข้าใจครับ นานๆ อุดหนุนผมสักชิ้นก็พอ มันกระทบครับ เพราะว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างต้องประหยัด"

ศิริวัฒน์ให้ความเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากปี 40 และมันจะหนักกว่าและยืดเยื้อกว่า...
"ผมว่าวันนี้คนไทยต้องพยายามหาให้เยอะ ใช้ให้น้อย ถามว่าทำยังไง ผมว่าต้องพยายามหาอาชีพเสริม หรือไม่ก็พยายามคิดเป็นเถ้าแก่ เพราะเป็นลูกจ้างอย่างเดียวมันคงไม่พอ แต่คำว่าเป็นเถ้าแก่ผมอยากแนะนำให้ไปรับของดีๆ ที่คนต้องใช้ต้องกินมาขายก่อน หรือจะไปทำอาชีพอิสระ อย่างขายประกันก็ได้ ถ้าถามผมก็คงเป็นของกินล่ะครับ..."

จากศิริวัฒน์แซนด์วิช เรามาต่อกันที่ ขนมแม่เอย ไม่รู้ว่าเจอกับวิกฤตครั้งนี้ ขนมแม่เอยจะยังคงความอร่อยอยู่หรือเปล่า...
"ขนมแม่เอยเป็นขนมที่อร่อยที่สุดในเมืองมนุษย์ (หัวเราะ) เราก็ประคับประคองกิจการจากศูนย์เข้าสู่เส้นกราฟว่าเรามีจุดที่มันขึ้น มันขึ้นยังไง แล้วเวลามันลง มันลงเพราะสาเหตุอะไร เพราะธุรกิจบ้านเรามันโตจริงๆ ก็คือเดือนพฤศจิกาฯ - ธันวาฯ แต่พอมกราฯ เข้ากุมภาฯ จะเป็นธุรกิจขาขึ้น คือขาขึ้นมาก่ายหน้าผาก" (หัวเราะ) ดิศรณ์ มาริษชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทขนมแม่เอย - เปี๊ยะแอนด์พาย (2003) จำกัด กล่าวถึงธุรกิจขนมแม่เอยของเขาอย่างอารมณ์ดี

"มันไม่ต้องเกี่ยวกับโลกภายนอกหรอก เพราะเรามีภูมิป้องกันเรื่องธุรกิจอยู่แล้วสมัยปี 40 คือตอนปี 40 เรามีสองประเด็นให้เลือก คือเป็นคน กับเป็นขยะสังคม อ้าว, ถ้าเป็นคนก็ต้องมีการทำงาน แต่จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราเป็นมนุษย์สังคมก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ก็ต้องมีงานทำ แต่จะเป็นกรรมกร หรือเป็นผู้จัดการก็แล้วแต่, แต่ถ้าเป็นขยะสังคมคุณก็เหลวแหลก ไม่งั้นสู้ตายไปเป็นปุ๋ยให้ดินดีกว่า ใช่ไหม ดังนั้นเราจึงคิดว่าเราจะเป็นมนุษย์ ก็เลยไม่เป็นขยะสังคม ก็เลยต้องมีอาชีพ ก็เลยเริ่มทำขนมเปี๊ยะแม่เอย ใช้เวลาศึกษาอยู่ เป็นคนตกงานอยู่ แล้วก็เป็นคนยุคเปิดท้ายขายของอยู่พอสมควร กว่าจะมีวันนี้"

ดิศรณ์บอกว่าที่ขนมแม่เอยอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาคิดแตกต่างจากขนมเปี๊ยะเจ้าอื่นๆ ที่พยายามลดคอร์สเพื่อให้ได้ผลกำไร... "แต่เราไม่ลดคอร์ส เราเพิ่มคุณภาพเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่า เพราะถ้าผู้บริโภคได้ประโยชน์เราก็อยู่ได้ โดยที่เรากำไรน้อยหน่อยก็ได้ ถึงแม้เราจะขาดทุนบ้าง แต่เรามีข้าวกิน ถึงแม้เราจะเป็นหนี้ เราก็มีโอกาสที่จะจ่ายบ้าง แต่ถ้าหากว่าเราไม่คิดที่จะทำอะไรเลย เราก็ไม่มีโอกาสที่จะปลดหนี้ เราก็กลายเป็นขยะสังคมเท่านั้นเอง"

อยู่เมืองไทยไม่ต้องห่วง!
ก่อนปี 40 ณัฐพงษ์เป็นหนุ่มออฟฟิศเงินเดือนสูง ดูดี มีอนาคต กำลังผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และมองไปถึงเรื่องแต่งงาน แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ราวกับโดนสึนามิถล่ม บริษัทที่เขาทำงานอยู่ล้มละลาย เขาตกงาน ทั้งบ้านทั้งรถหายวับไปกับตา และที่สำคัญหญิงสาวผู้เป็นที่รักก็มาจากไป... หลังจากยอมรับความจริงและทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้ว ณัฐพงษ์ก็เข้ามารับช่วงดูแลกิจการร้านอาหารแทนพ่อแม่ที่แก่มากแล้ว และตั้งใจทำงานเรื่อยมาจนถึงวันนี้...

"ผมว่าในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ทำสิ่งที่เรารู้จริงดีกว่า อย่างเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ก๋วยเตี๋ยวของเราอร่อย อย่าไปคิดเลยว่าทองจะขึ้นเท่าไหร่ หุ้นจะขึ้นเท่าไหร่ ค่าเงินจะลอยไปถึงไหน ถ้าคุณสามารถทำก๋วยเตี๋ยวให้อร่อย ตำส้มตำให้อร่อย แล้วฝีมือสม่ำเสมอ เทกแคร์ลูกค้าอย่างดี สถานที่สะอาด ยังไงคุณก็อยู่ได้ คือขอให้เชี่ยวชาญในสิ่งที่เราทำ ทุกอย่างมันมีช่องว่าง มันเอาตัวรอดได้
"อย่างผมเรียนจบปี 34 ทำงานสองปีก็เข้าปี 36 ตอนนั้นก็เริ่มผ่อนดาวน์บ้าน พอปี 39 ก็เริ่มฟองสบู่แตก ลอยค่าเงินบาท ปิด 56 ไฟแนนซ์ พวกเพื่อนๆ ผมผ่อนดาวน์บ้านเสร็จ ไม่ได้รับโอนบ้าน รุ่นนี้เรียกได้ว่าประสบการณ์สูง (หัวเราะ) ทำงานเก็บเงินซื้อบ้าน บ้านก็ไม่ได้ แล้วเงินที่ผ่อนไฟแนนซ์ไปก็ไม่ได้คืน เพราะฉะนั้นเราอย่าประมาท ครองสติให้ดี เก็บเงิน ดูแลสภาพคล่องตัวเองให้ดี แล้วต่อไปมันจะดีเอง ไม่ต้องห่วงหรอก เมืองไทยเรามีทรัพยากรที่ดีเยอะ แล้วคนดีในประเทศไทยเราก็มีเยอะด้วย

"อย่างตอนที่ผมล้ม ผมก็เริ่มต้นใหม่ ไม่รื้อฟื้นอดีตที่เจ็บปวดขึ้นมาคิด และไม่โทษใคร โลกมันก็เป็นเช่นนี้ เริ่มต้นใหม่ สร้างกำลังใจให้ตัวเอง เศรษฐกิจพอเพียงในเมืองคือ เราทำเต็มกำลัง ใส่ความตั้งใจให้เต็มที่ แล้วมันจะดีเอง การค้าเกิดเมื่อไหร่มันเกิดต่อเนื่อง ไม่ต้องไปกังวล ผมว่าปี 40 หนักกว่านี้ มันเป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยเจอ แต่ปีนี้เราเคยเจอแล้ว แม้ว่ากำลังซื้อจะน้อย แต่ว่าเราน่าจะรับมือไหว อยู่เมืองไทยไม่ต้องเป็นห่วงครับ!"

แล้วคุณล่ะ เตรียมตัว และวางแผนรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไว้อย่างดีแล้วใช่ไหม ?

***********************

เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน






กำลังโหลดความคิดเห็น