xs
xsm
sm
md
lg

จากอัมพวาสู่ตำนานแม่กลอง วิถีไทยในรางวัลระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทางเดินหน้าห้องแถวไม้จำนวนกว่ายี่สิบห้อง ที่ทอดยาวเป็นแนวบนตลิ่งริมคลองอัมพวาวันนั้น แม้จะคึกคักด้วยผู้คนที่มาท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่กลับดูต่างออกไปจากที่เคยเป็นตามปกติ หลายคนมีสีหน้าตื่นเต้น สดชื่น รอคอย…

“สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จฯ”

เสียงกระซิบบอกเล่าต่อไปเป็นทอดๆ ทำให้หลายคนที่มาเที่ยวเปลี่ยนใจอยู่รั้งรอรับเสด็จฯ บ้างทรุดตัวจับจองที่นั่งบนพื้นซีเมนต์ริมท่าน้ำโดยไม่กลัวฝุ่นละอองบนพื้น บริเวณท่าน้ำฝั่งตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน ร้านค้าที่อยู่ไกลออกไปหน่อยต้องข้ามสะพานเดินไป เจ้าของร้านแขวนป้ายหยุดหนึ่งวัน เพื่อมารอรับเสด็จฯ ตั้งแต่เช้า

การเสด็จฯ มาเยือนอัมพวาของพระองค์ท่านครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก แต่ทว่าคราวนี้กลับมีความหมายยิ่งต่อชาวอัมพวาและคนแม่กลอง


ตำนานแม่กลอง..เวนิสตะวันออกแห่งสุดท้าย

เมืองแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงครามนั้น เป็นเมืองที่มีประชากรอยู่ไม่มากและเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของไทย แต่สำหรับความน่าอยู่อาศัยแล้ว เมืองเล็กๆ แห่งนี้กลับติดอันดับต้นๆ ของประเทศ

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสวนผลไม้อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำลำคลองหลายสายและอยู่ติดชายทะเล สภาพพื้นที่มีการทำสวนเป็นขนัด และมีลำประโดงล้อม ซึ่งก็คือโครงข่ายลำน้ำขนาดเล็กที่ซอยย่อยเข้าไปทุกสวน แสดงความฉลาดของบรรพบุรุษสมัยก่อนในการสร้างบ้านแปงเมือง ที่ทำให้เมืองแม่กลองถูกขนานนามว่าเป็น “เวนิสตะวันออกแห่งสุดท้าย”

ชุมชนอัมพวา ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางค่อนมาทางใต้ของ จ.สมุทรสงคราม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านทิศตะวันตกในแนวเหนือใต้ โดยคลองอัมพวาได้แยกจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านกลางชุมชน นอกจากนี้ยังมีคลองที่แยกมาจากแม่น้ำแม่กลองและเชื่อมกับคลองอัมพวาอีกหลายสาย ทำให้มีความสะดวกสบายในการคมนาคมทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัญจรทางเรือ

ตามตำนานเล่าว่า อัมพวาเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมน้ำ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาสืบทอดกันมาช้านาน ในอดีต อัมพวาเคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำที่คับคั่ง มีตลาดน้ำ เรือนแพ และบ้านเรือนปลูกขนานไปตามแนวคลอง ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นเรียกกันว่า "บางช้าง" เป็นชุมชนริมน้ำที่ทำสวนไม้ผลและพืชผักจนมีชื่อเสียง

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แขวงบางช้างเริ่มปรากฏมีสวนผลไม้และพืชผักที่อุดมสมบูรณ์มีความเจริญทางด้านเกษตรกรรมและการค้าขายจนมีตลาดเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” เป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนผลผลิตจากสวนแถบบางช้างและบริเวณใกล้เคียง แถบบางช้างเป็นที่รู้จักในนาม "สวนนอก" และเปรียบเทียบกับ "สวนใน" โดยมีคำเรียกที่ว่า "บางช้างสวนนอกบางกอกสวนใน" หมายถึงสวนบ้านนอก คือ สวนบางช้าง ส่วนสวนที่อยู่ในเมืองใกล้รั้ววังเจ้านาย คือ สวนใน

ปัจจุบันวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวาในอดีต ยังปรากฏให้เห็นและสัมผัสได้ในปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะผ่านเลยไปแต่ภาพความทรงจำในอดีตยังคงหลงเหลือให้เห็น แม้จะลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลาหากแต่ชุมชนแห่งนี้ก็ยังพยายามรักษาให้คงสภาพเหมือนเดิมให้ได้มากที่สุด... ภาพบ้านเรือนไม้ที่ขนานไปตามริมสองฝั่งคลอง ควบคู่ไปกับการค้าขาย และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พร้อมๆ ไปกับการรักษาวัฒนธรรมรวมถึงศิลปะต่างๆ ในชุมชน ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแวะเวียนมาเยือนอัมพวาอยู่เป็นนิจ

ย้อนเวลาเรือนห้องแถว

ประตูบานเฟี้ยมไม้สักบานใหญ่ ที่ผ่านการลงน้ำยารักษาเนื้อไม้อวดผิวจนขึ้นเงา คือ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมเรือนห้องแถวของชุมชนอัมพวา หากเราเดินลัดเลาะเลียบไปตามริมคลองอัมพวา เริ่มต้นจากตลาดน้ำอัมพวาขึ้นไปทางวัดจุฬามณี จะเห็นห้องแถวเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมเอาไว้ แล้วปรับปรุงใหม่จนสวยงามจำนวนหมดทั้งสิ้น 17 ห้องด้วยกัน

โดยจุดแรกฝั่งซ้ายมือจะเป็นพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา มีร้านกาแฟโบราณ “ชานชาลา” จำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารพื้นบ้าน ที่ได้มีการหมุนเวียนอาหารที่มีรสชาติดีและเป็นฝีมือของชาวอัมพวามาจำหน่าย บรรยากาศของร้านตกแต่งให้ความรู้สึกคล้ายชานชาลา “สถานีรถไฟสายแม่กลอง” ซึ่งเป็นเส้นทางเดินรถเก่าแก่ที่ยังคงวิ่งผ่านตลาดแม่กลองจนถึงทุกวันนี้

ด้านหลังเป็นลานวัฒนธรรม “นาคะวะรังค์” เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับการแสดงและกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมหมุนเวียนปีละ 3 ครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน สิงหาคม และธันวาคม เพื่อเล่าเรื่องราวความเป็นมา รูปแบบ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านของชุมชนอัมพวา

กิจกรรมต่างๆ มีตั้งแต่การเสวนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนวิถีชีวิต วัฒนธรรมชาวอัมพวาและชุมชนลุ่มแม่น้ำแม่กลอง การบรรเลงดนตรีไทย การฉายภาพยนตร์กลางคลอง และร้านค้าชุมชนจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นของอัมพวา เป็นต้น

โดยกิจกรรมเหล่านี้เป็นผลมาจากการพัฒนาชุมชนของ "โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์" ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำที่ดินที่คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ ชาวอัมพวา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายมาดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอัมพวา

ในห้องแถวถัดมา ยังมีห้องนิทรรศการชุมชน จัดแสดงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนแม่กลองและอัมพวา, พิพิธภัณฑ์บ้านของนักดนตรีชาวแม่กลองคนสำคัญอย่างครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่มีประวัติและผลงานของสุนทราภรณ์สำหรับผู้ที่สนใจเก็บเป็นที่ระลึกอีกด้วย

บางห้องนั้นเจ้าของใช้เป็นที่อยู่อาศัยทางด้านหลัง แต่ด้านหน้าก็เปิดค้าขายเล็กๆ น้อยๆ บ้างเป็นขนมไทยง่ายๆ (แต่หากินยาก) ที่ทำเอง บางครั้งก็เป็นผลไม้สดๆ จากสวนตามฤดูกาล บางบ้านก็เปิดเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาพัก หรือเปิดเป็นร้านขายของชำ ขายสินค้านานาชนิด ตั้งแต่น้ำมันก๊าด ถ่านหุงข่าว เตาอั้งโล่ ข้าวสารอาหารแห้ง ไปจนถึงขนมของเล่นโบราณยุคสมัยหลายสิบปีก่อน ซึ่งแทบไม่เห็นในท้องตลาดแล้ว แต่ที่นี่ยังมีขาย

โรงคั่วกาแฟโบราณ อย่างร้านอึ้งเซ่งฮวดและร้านสมานการค้า ยังมีร้านขนมเปี๊ยะเฮงกี่ ร้านขายขนมเปี๊ยะและจันอับเจ้าเก่าแก่ ต่างเป็นร้านที่อยู่คู่กับอัมพวามาไม่ต่ำกว่า 70 ปีทั้งสิ้น แต่หากจะเอ่ยถึงร้านที่เปิดมานานและมีอายุเก่าแก่ที่สุดของอัมพวา ต้องยกให้ “ร้านสวรรค์โอสถ” ร้านขายยาแผนโบราณทั้งไทยและจีน ที่สืบทอดมากว่า 100 ปี

วันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ของอัมพวา

ชุมชนอัมพวาเป็นชุมชนมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งโครงสร้างชุมชนเดิมมันก็ไม่ใช่บ้านเรือน เราอยู่กันอย่างผูกแพลูกบวบ พอไม่เคลื่อนย้ายก็มีการสร้างอาคาร มีการลงหลักปักฐาน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นกลุ่มอาคารในแต่ละยุค บางกลุ่มที่เป็นบานเฟี้ยมเรือนแถวก็อยู่เดิม บางอาคารก็อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 6
 
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจนอกจากอาคารก็คือชีวิตภายใน อย่างร้านสวรรค์โอสถ เขาขายกันมาสามรุ่น บางบ้านก็เป็นคล้ายๆ เรือนแพเพียงแต่ยกเสา ไม่ได้ผูกแพลอยบนน้ำ แต่ปัจจุบันโครงข่ายอาคารสมัยใหม่ไปเกาะอยู่กับถนน ซึ่งถ้าหากเราไม่เก็บรักษา อีกหน่อยเราก็จะไม่เห็นชุมชนที่มีกิจกรรมอยู่กับน้ำกับคลอง และไม่เห็นความเป็นมาของชุมชน”

ร้อยโท พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา เล่าย้อนอดีตอัมพวาเมื่อหลายทศวรรษก่อน พร้อมชี้แจงถึงที่มาของการพัฒนาและอนุรักษ์ชุมชนอัมพวาในปัจจุบัน

สืบเนื่องจากชุมชนอัมพวา เป็นชุมชนริมน้ำที่หลงเหลืออยู่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งสภาพตัวสถาปัตยกรรมริมน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมาในปี 2546-2547 จึงดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมร่วมกับเจ้าของอาคารรวม 17 ราย ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่จะให้ชุมชนอัมพวาเก็บรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้ไว้

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ที่ชุมชนชาวคลองอัมพวาได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ต่อมาทางรัฐบาลเดนมาร์กได้ให้งบประมาณสนับสนุนผ่านทางสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในโครงการ “อนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม” ซึ่งในขณะนั้นทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลือกพื้นที่อนุรักษ์ 3 ชุมชนทั่วประเทศเข้าโครงการคือ คลองอัมพวา, คลองอ้อมนนท์ และเกาะรัตนโกสินทร์บางส่วน เพื่อเป็นโครงการสาธิตให้ชาวบ้านเก็บรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม

“การเก็บรักษา ณ วันนั้น ก็ถูกถามจากชาวบ้านว่า ทำอย่างไรให้การเก็บรักษานั้นมันมีคุณค่าด้วย เพราะอย่าลืมว่าบ้านที่เป็นอาคารไม้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูงมาก บางหลังซ่อมกันเกือบล้าน และถ้ามันไม่สามารถมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การเก็บรักษาคงทำได้ยาก”

ทางเทศบาลอัมพวาจึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จากอาคารว่างที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ก็ปรับปรุงให้เป็นร้านอาหาร หรือที่พักแบบโฮมสเตย์

ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่มีคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรมของเทศบาลอัมพวานั้น นอกจากการสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและแผนฯ ยังมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้ามาศึกษาวิจัยการอนุรักษ์ และฟื้นฟูชุมชนอัมพวา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบันนี้

รศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าในการศึกษารายละเอียดสถาปัตยกรรมในพื้นที่ชุมชนอัมพวานั้น พบว่าอัมพวาจะมีสิ่งปลูกสร้างทั้งในรูปแบบเรือนไทย เรือนแพ เรือนพื้นถิ่นที่มีคุณค่า ในช่วงที่มาลงพื้นที่ระยะแรกนั้น อัมพวายังเงียบเหงา บ้านเรือนก็ทรุดโทรมเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในระยะแรกๆ ชาวบ้านก็ยังมีความกังวลอยู่ว่า หากเข้าร่วมโครงการแล้วจะถูกเวนคืนหรือยึดกรรมสิทธิ์อาคารไปหรือไม่ แต่หลังจากมีโครงการสาธิตเบื้องต้นไป เจ้าของบ้านหรืออาคารหลายๆ หลังก็เริ่มมีการปรับปรุงโดยใช้เงินตัวเอง ปรับเป็นร้านค้าหรือที่พักตามบ้านที่เข้าร่วมโครงการ

“ชาวบ้านบางคนเขาไม่รู้ว่าจะซ่อมไปทำไม เก็บเงินไว้ให้ลูกหลานหรือไว้ใช้ตอนแก่ดีกว่า ทางเราก็เข้าไปส่งเสริมแรงจูงใจให้ซ่อมแล้วเปิดเป็นโฮมสเตย์ บางบ้านก็ซ่อมเล็กซ่อมน้อยใช้เงินสามสี่หมื่น พอสักระยะก็เริ่มได้เงินคืน บางบ้านก็ตัดใจมีเงินเท่านี้ แต่ถ้าไม่ซ่อมสมบัติของพ่อแม่ก็จะหมดไป ยอมเอาทองที่เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตไปขายมาซ่อมบ้านก็มี โชคดีที่ปีนั้นมีหนังเรื่องโหมโรงซึ่งทำให้อัมพวาดังเป็นที่รู้จัก โหมโรงเป็นแบคกราวน์ทุกอย่างของอัมพวาเลย ทั้งสวน ท้องร่อง ดนตรีไทย นักท่องเที่ยวจึงเริ่มรู้จักและเข้ามามากขึ้น ทุกวันนี้หลายบ้านก็ได้เงินคืนฟื้นทุนครบหมดแล้ว”

ผลสำเร็จจากการโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม พื้นที่ชุมชนริมคลองอัมพวา ทำให้ชุมชนได้รับรางวัล "UNESCO Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation" ระดับ Honorable Mention จากองค์กร UNESCO ในปีค.ศ. 2008 ซึ่งมีการจัดพิธีมอบขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี ยังนำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่ชาวอัมพวา

นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์รางวัลที่ทางยูเนสโกจัดขึ้นนั้น กำหนดไว้ว่าอาคารที่เข้าประกวดจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี และหลังจากที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้วจะต้องมีการใช้งานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีภายหลังจากการซ่อมแซม

“อาจจะพูดได้ว่าเราเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตของคนไทยภาคกลางในอดีตที่มีโครงสร้างเหล่านี้อยู่ ผมเกิดที่นี่แต่ไม่ได้โตที่นี่ ก่อนที่จะออกจากเมืองนี้ กิจกรรมเศรษฐกิจของอัมพวาเคยรุ่งเรือง แต่มันมาล่มสลายเพราะโครงข่ายการคมนาคมทางบก คนเปลี่ยนจากเรือเป็นรถ บ้านที่เคยขายของ เรือที่ผ่านก็ไม่มีเรือผ่าน เขาก็ขายของไม่ได้ เราเป็นเทศบาลปี 2484 มีประชากรหนึ่งหมื่น ปัจจุบันเหลือห้าพัน นั่นหมายความว่าคนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่เหมือนเดิมได้อีก ย้ายถิ่นอพยพออกเพราะไม่สามารถค้าขายได้”

สิ่งสำคัญที่นายกเทศมนตรีเมืองอัมพวาอยากเห็นก็คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจพื้นฐานในระดับชุมชน สร้างรายได้ให้ชาวอัมพวาเหล่านี้สามารถยืนอยู่บนฐานรากเหง้าของตัวเอง อยู่บนความเป็นตัวตนและเก็บรักษาอัตลักษณ์ของคนอัมพวาไว้

“ในอดีตที่นี่คึกคัก มีเรือแล่นตั้งแต่ปากคลองยันท้ายคลอง แต่กิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้อยู่บนฐานของการท่องเที่ยว มันเป็นกิจกรรมที่ใช้อยู่ในชีวิตจริงๆ แล้วพอมีถนนสิ่งเหล่านี้มันหายไปหมดเลย เหลือแต่ห้องแถวร้าง ก่อนหน้าที่จะมีการปรับปรุง ห้องแถวห้องหนึ่งค่าเช่า 800 บาท แล้วถามว่าเจ้าของอาคารจะมีเงินซ่อมอาคารไหม เมื่อก่อนมาเดินในเมืองก่อนหน้าปี 47 วันเสาร์อาทิตย์จะไม่เจอคนเลย เมืองเงียบปิดร้าง และไม่ใช่แค่อัมพวาแต่เป็นอีกหลายเมืองโดยเฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก แล้ววันหนึ่งมันล่มสลายไป ถ้าเราเก็บไว้ได้ เราจะรู้ว่ารากเหง้าของเมืองอยู่ตรงไหน”

ชื่อของอัมพวา ถูกขนานนามคู่กับเมืองแม่กลองมาช้านาน ในฐานะอำเภอหนึ่งที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวชมตลาดน้ำและหิ่งห้อย แต่ ณ วันนี้อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของอัมพวาก็คือ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ของชุมชนริมน้ำแห่งนี้ที่ได้รับรางวัลและการยอมรับในระดับโลก








กำลังโหลดความคิดเห็น