xs
xsm
sm
md
lg

ขนมเปี๊ยะ “เป็งกี่” เปิดประสบการณ์ขยายตลาดผ่าน 7-ELEVEN

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสบการณ์ขนมเปี๊ยะแบรนด์ “เป็งกี่” ของ “กรภัค สุวรรณพฤกษา” ที่สืบทอดกิจการจากบรรพบุรุษชาวจีนแผ่นดินใหญ่ จนกระทั่งลงหลักปักฐานในไทยยึดเป็นอาชีพมานานกว่า 80 ปี โดยปัจจุบัน อาศัยช่องทางตลาดในการส่งจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเจ้าดังอย่าง 7-ELEVEN

กรภัค สุวรรณพฤกษา เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเข้าสู่ช่องทางการตลาดของ 7-ELEVEN ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น ได้เปิดหน้าร้านของตัวเองอยู่ที่ท่าน้ำบางนา ซึ่งเป็นที่แรกและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ขายขนมทุกชนิดที่เป็นขนมหวานจีน อาทิ ขนมเปี๊ยะ, ขนมตุ้บตั้บ, ขนมจันอับ,ขนมถ้วยแดง, ขนมโก๋ ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ “เป็งกี่” ซึ่งมีความหมายว่า “สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง”

เป็งกี่เริ่มขยายตัวเองออกไปสู่สาธารณชนมากขึ้น ด้วยการเข้าไปจำหน่ายในศูนย์การค้ามาบุญครอง และสร้างการรับรู้ของคนทั่วไปด้วยกลยุทธ์การทำตลาดแบบไทยมุง โดยการสาธิตการทุบขนมตุ้บตั้บกันสดๆที่ชั้น 4 ของศูนย์ฯมาบุญครอง ทำให้มีคนสนใจมามุงดูเป็นจำนวนมาก จากนั้นคนก็เริ่มรู้จักเป็งกี่มากขึ้น

เมื่อความต้องการมีมากขึ้น เป็งกี่ได้ขยายพื้นที่การจำหน่ายไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อาทิ เดอะมอลล์, เซ็นทรัล, ซีคอนสแควร์, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, ตั้งฮั่วเส็ง ในรูปแบบการเปิดบูธจำหน่ายและรูปแบบคีออส รวมปัจจุบันมีอยู่ 12 สาขา

ต่อมาในปี 40 ยุคที่เศรษฐกิจกำลังร่อแร่ คนตกงานจำนวนมาก การเข้ามาส่งเสริมอาชีพของรัฐบาลทำให้มีคนทำขนมเปี๊ยะก้อนเล็กๆออกมาแย่งชิงพื้นที่ในตลาดเพิ่มมากขึ้น เป็งกี่เองก็ต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นขนมเปี๊ยะก้อนเล็กอบเทียนแบบไทยๆ พัฒนาสูตรและไส้ให้แตกต่างจากขนมหวานจีน พร้อมทั้งคลอดแบรนด์ใหม่เพื่อให้เข้ากับความเป็นไทยว่า “สิริน” ประกอบไปด้วยขนมเปี๊ยะไทย, คุ๊กกี้ และกลีบลำดวน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสินค้าโอทอป 4 ดาว

การทำให้ผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพของสินค้า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมงานแมวมองอย่าง 7-ELEVEN เห็นแววของเป็งกี่ขึ้นมาทันที

กรภัค เล่าว่า ขณะนั้นใน 7-ELEVEN เอง ยังไม่มีขนมเปี๊ยะวางบนชั้น ทำให้ตนซึ่งขณะนั้นกำลังออกบูธอยู่ที่งานแสดงสินค้าแห่งหนึ่ง ได้รับการทาบทามให้ร่วมพัฒนาสินค้าร่วมไปกับ 7-ELEVEN มีการเจรจากันอยู่พักหนึ่ง จากนั้นนำสินค้าไปให้ทาง 7-ELEVEN ทดสอบคุณภาพและมาตรฐาน จนได้รับคัดเลือก และเริ่มดำเนินธุรกิจร่วมกันมาตั้งแต่ปี 49

“พี่ส่งสินค้าให้กับ 7-ELEVEN มาได้ 2 ปีแล้ว ในปี 49 ตอนนั้น โชคดีที่เขามาติดต่อ ทางพี่ก็เลยไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย เพราะถ้าเสียคงต้องเป็นแสน แต่พี่โชคดีที่ไม่เสีย เพราะตอนนั้นใน 7- ELEVEN ก็ไม่มีขนมประเภทนี้ และคงเป็นเพราะว่า 1. พี่ยังเป็นสินค้าตัวอย่างของเขาในการแก้ระบบหลายอย่าง และพี่ให้ความร่วมมือด้วยดีตลอด”

ภรภัค เล่าว่า การทำธุรกิจร่วมกับร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง จะแบ่งกำไรกันจากยอดขายที่กระจายตามสาขา รวมถึงต้องมีค่าโสหุ้ยรายเดือน และอื่นๆ อีกหลายประการ ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการรายใดที่อยากจะเอาสินค้าของเข้า 7- ELEVEN จะต้องคำนวณต้นทุนต่างๆ และดูรายละเอียดเงื่อนไขให้หมดเสียก่อน จะได้กำหนดราคาของสินค้าของได้ ถ้าใครไม่รู้ ไม่น่าจะอยู่รอด

นอกจากนั้น ในแง่ระบบบัญชีของ 7- ELEVEN เอง เวลาไปวางบิลยุ่งยากมาก เพราะระบบบัญชียังไม่ลงตัว ส่วนตัวได้เครดิต 30 วัน แต่ของรายอื่น 60 วัน หรือแล้วแต่ตกลงกัน เพราะเราเป็นบริษัทเล็กๆ ต้องใช้เงินมาหมุน ทาง 7-ELEVEN จึงเข้าใจ

นอกจากนั้น ทาง 7-ELEVEN มีเป้าว่า ต้องขายได้ 1.5 ชิ้น/วัน/สาขา/ไอเท็ม/ประเภทสินค้า ซึ่งถ้าไม่ผ่านตามเกณฑ์นี้ จะพิจารณา 3 เดือนแรก เขาก็มีสิทธิ์จะยกเลิกสินค้าเราได้ ในสินค้าที่ไม่ตรงเป้า

“ต่างคนต่างก็ไม่คุ้มถ้ามันออกมาแบบนั้นนะ ไม่ใช่ว่าเราจะคุ้ม เขาก็รู้อยู่แล้วว่า ถ้าเราไม่คุ้ม เราก็ส่งขายให้เขาไม่ได้อยู่ดี ถึงเขาไม่ให้เราออก เราก็ต้องออกเพราะเราอยู่ไม่ได้ ที่ผ่านมาพี่ยังไม่เคยมีปัญหานี้เลย เกินเป้าด้วยนิดหน่อย ที่ต่ำก็มีนะ อย่างของพี่เราคุยกันได้ เรากับเขาก็มาหาจุดบกพร่องว่ามันเป็นยังไง เขาก็มีทีมที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ตลาด ช่วยปรับปรุงให้เราว่าในเรื่องของขนาด รสชาติของไส้เข้าไปลองตลาดใหม่ พี่เป็นรายเล็กมากเลยนะสำหรับเขา แต่เขาถือว่าพี่ให้ความร่วมมือดี มีอะไรแล้วเราก็กระตือรือล้นทำ คือเขาต้องการเร็ว เราก็ทำเร็วตามเขา”

กรภัค เผยว่า ตอนนี้สินค้าของเป็งกี่ที่จำหน่ายใน 7- ELEVEN มี 4 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นขนมเปี๊ยะ 3 รส มีไส้ถั่วหวาน, ถั่วเค็ม , ไส้ฟัก แล้วก็เป็นขนมคอหงส์ โดยส่งให้ 7- ELEVEN สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท ส่งต่อครั้งไม่แน่นอนแล้วแต่ยอดขาย

“เดือนหนึ่ง ส่ง 2 ครั้ง แค่ 4 แสนบาท ทำไมพี่ถึงตั้งแบบนี้ เพราะ 1. นโยบายพี่ พี่ไม่ได้ดีใจนะที่ขายกับ 7- ELEVEN อย่างนี้ แต่พี่อาศัยว่ากำลังการผลิตพี่มันเหลือ พี่มีงานให้ช่างพี่ทำเต็มวัน ค่าแรงพี่จ่ายเท่าเดิมอยู่แล้ว พี่จะได้กำไรน้อยกว่าที่พี่ขายเอง แต่เราก็ได้น้อยกว่าช่องทางขายเองที่เราจำหน่ายเอง เราก็ได้รายได้เพิ่ม กำลังการผลิตเต็มที่”

“พี่จะไม่ขายให้ 7- ELEVEN เกิน 1 ล้านบาท เดือนหนึ่งพี่ส่งเขาประมาณ 8 ครั้ง ก็ประมาณ 2 แสนกว่าบาท คือพี่สามารถผลิตส่ง 7- ELEVEN ได้เดือนหนึ่ง 1 ล้านบาทโดยที่พี่ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ลงทุนแต่กระบะ แต่ถ้าพี่ส่งมากกว่านี้ แปลว่าพี่จะต้องขยายพื้นที่ ขยายคน ขยายกำลังการผลิต วัตถุดิบ อุปกรณ์ ซึ่งมันเกินจุดคุ้มทุน ถ้ามันเป็นอย่างนั้น พี่ว่าพี่ไม่คุ้ม เราก็ต้องคุมตัวเราด้วยเหมือนกัน” เจ้าของธุรกิจ เผย

กรภัค กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ขนมแบนด์ “เป็งกี่” น่าจะเป็นเบอร์ 1 จากกำลังผลิต และมาตรฐาน GMP ควบคุมการผลิตทั้งหมด ได้โอทอป 4 ดาวของแบรนด์สิรินด้วย ที่สำคัญมีรางวัลเรื่องคุณภาพการผลิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ล่าสุดก็ได้รับพระกรุณาจากพระองค์เจ้าโสมสวลี ให้เป็นผู้ผลิตขนมไทยดีเด่น ที่อนุรักษ์ขนมหวานไทยจีนเอาไว้ ในปี 50 ด้วย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ กรภัค สุวรรณพฤกษา ผู้ประกอบการขนมหวานจีนที่ต่อสู้และอดทนในการเข้าสู่ระบบที่เคร่งครัดในเรื่องคุณภาพและระบบการบริหารจัดการของ 7- ELEVEN จนประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมียอดขายในปีที่แล้วประมาณกว่า 10 ล้านบาท

(ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2551)
กำลังโหลดความคิดเห็น