ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของ จ.สิงห์บุรี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลก เมื่อได้ไปเยือนจังหวัดนี้จะพบว่ามีขนมเปี๊ยะหลากหลายยี่ห้อให้เลือกสรร ถึงกับทำให้กลุ่มชาวบ้านเริ่มหันมามองธุรกิจนี้บ้าง และหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มแม่บ้านคลองใหม่ ที่เปลี่ยนจากการผลิตน้ำลูกยอ มาผลิตขนมเปี๊ยะตำรับชาววัง อบเทียนหอม ชวนน่ารับประทาน โดยหวังเกาะกระแสความดังของขนมเปี๊ยะสิงห์บุรี
รัตนาพร โนนวิเศษ ประธานกลุ่มแม่บ้านคลองใหม่ เล่าว่า เดิมในชุมชนบ้านคลองใหม่ จ.สิงห์บุรี จะมีกลุ่มแม่บ้านที่ทำน้ำลูกยอตามกระแสที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจในโรคมะเร็ง แต่เมื่อเกิดกระแสข่าวว่ามีคนที่ดื่มน้ำลูกยอแล้วเกิดเสียชีวิต เนื่องจากน้ำลูกยอไม่สะอาด และกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อผู้บริโภคเมื่ออ่านข่าวว่าดื่มแล้วตาย โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาข่าวนั้นอย่างถ่องแท้ ก็เกิดกลัวและเลิกดื่มน้ำลูกยอไปทำให้กลุ่มชาวบ้านที่ผลิตน้ำลูกยอ ต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย จนต้องเลิกกิจการ
ดังนั้นเมื่อกลุ่มชาวบ้านตกงาน ในฐานะ ที่รัตนาพร เป็นประธานกลุ่มแม่บ้านคลองใหม่ จึงต้องพยายามหาอาชีพให้กับชาวบ้านทำ แต่ยังคงไม่ทิ้งในเรื่องของกิน สุดท้ายจึงประเดิมด้วยขนมเปี๊ยะ ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อของ จ.สิงห์บุรี หวังนำเอาความโด่งดัง พ่วงไปกับขนมเปี๊ยะของกลุ่มฯ ไปด้วย
“แม้ว่าในช่วงแรก เราถือว่ายังเป็นมือใหม่ในวงการขนมเปี๊ยะ แต่เราก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาฝีมือ โดยมีความหวังอยู่ลึกๆ ว่าสักวันหนึ่งสินค้าของกลุ่มชาวบ้าน จะเป็นที่รู้จักในจ.สิงห์บุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยเริ่มไปเรียนการทำขนมเปี๊ยะขั้นพื้นฐาน แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน แต่คิดว่าความรู้ตรงนี้ยังไม่เพียงพอ จึงได้ไปปรึกษากับทาง อบต.ท่ายาง ให้ช่วยเหลือในการหาที่อบรม และให้ความรู้กับตนมากขึ้น ซึ่งทาง อบต.ก็ได้ส่งเราไปฝึกที่วังรี รีสอร์ท โดยได้อาจารย์ที่เก่ง และที่ความเชี่ยวชาญในการทำขนมเปี๊ยะช่วยฝึกสอนทั้งกรรมวิธีการผลิต และเทคนิคต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงรสชาติขนมพร้อมแข่งขันกับตลาด”
ถือเป็นโอกาสและโชคชะตาที่รัตนาพรได้เจออาจารย์ที่มีความสามารถ เพราะไม่เพียงแต่จะสอนเทคนิคการทำขนมให้สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ใส่สารกันเสีย และขั้นตอนการอบขนมให้มีความหอม ยังสอนการทำการตลาดอีกด้วย จากเดิมที่ในช่วงแรกขนมยังไม่ติดตลาด และยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อผู้บริโภคได้ทดลองชิมติดใจ ก็อาศัยการบอกปากต่อปาก จนแบรนด์ “ขนมเปี๊ยะอบเทียนชาววัง แม่สำราญ” ได้กลายเป็นหนึ่งในของฝากประจำจังหวัดสิงห์บุรี
ทั้งนี้จุดเด่นของขนมเปี๊ยะแม่สำราญ อยู่ที่วัตถุดิบที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี คือ การใช้เนย แทนการใช้น้ำมันหมู ซึ่งจะทำให้ลดความหอมของขนมลงไป แต่จะไปเพิ่มความกระด้างให้กับเนื้อขนม แม้จะทำให้ต้นทุนในเรื่องวัตถุดิบจะสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งจากวัตถุดิบดังกล่าวทำให้ขนมสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น เช่น ในช่วงที่อากาศเย็นจะเก็บไว้ได้ประมาณ 1 เดือน โดยไม่ต้องแช่เย็น ในขณะที่อากาศร้อนจะเก็บได้ 2 สัปดาห์ แต่หากนำไปแช่เย็นจะเก็บได้นาน 1 เดือน เช่นกัน
นอกจากนี้ความรู้ที่รัตนาพร ได้มาจากที่วังรี รีสอร์ท อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการทำตลาดให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นนั้น คือ การทำให้สินค้ามีความหลากหลาย และสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่มและทุกระดับ ทำให้ขนมเปี๊ยะชาววัง แม่สำราญ จึงเปลี่ยนแป้งที่นำมาทำขนมอีกเกรดหนึ่ง เพื่อทำให้ราคาลดลง ส่งขายตามร้านขายของชำทั่วไป มีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ซึ่งราคาของขนมจะถูกกว่า แต่ยังคงความอร่อยเหมือนเดิม โดยจะแพคขนมจำนวน 3 ชิ้น/ถึง ขายส่งแพคละ 3.50 บาท ส่วนขนมแบบกล่องคุณภาพพรีเมียมขายในราคากล่องละ 50 บาท เน้นขายเป็นสินค้าของฝาก ตามแหล่งท่องเที่ยว และกรุงเทพฯ โดยส่งขายไปยังยี่ปั๊วเพื่อให้กระจายสินค้าในกทม.ให้ โดยล่าสุดได้ผลิตขนมหอย (กระหรี่พัฟไส้ถั่ว) เพิ่มด้วย
“ธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจที่เกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านและคนในชุมชนอย่างแท้จริง ที่ทำให้เด็ก และแม่บ้านมีงานทำ เมื่อถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีเด็กนักเรียนมาช่วยทำขนม หารายได้พิเศษ ทำให้ในปัจจุบันเด็กๆ เหล่านี้ไม่ต้องขอเงินจากผู้ปกครองเพื่อไปโรงเรียนอีกแล้ว”
เมื่อสินค้าเริ่มติดตลาดและยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทางกลุ่มจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องจักรในการกวนถั่วเหลือง และเตาอบขนม จึงได้ขอกู้เงินจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) จำนวน 300,000 บาท โดยได้นำไปขยายกลุ่มแม่บ้านฯ และซื้อเครื่องจักรใหม่ หลังจากที่โดนน้ำท่วมไปเมื่อพ.ศ.2549 ทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็ทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวขึ้น และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่
***สนใจติดต่อ 036-587-185, 08-9537-1797***