xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานขนมเปี๊ยะ “ตั้งเซ่งจั้ว” สูตรซัวเถาสู่เจ้าดังบางคล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จุดเริ่มต้นร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” จากการถ่ายทอดของ “ปิยะพร ตันคงคารัตน์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮก แอนด์ ซันส์ จำกัด ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ดูแลธุรกิจร้านขนมเปี๊ยะ “ตั้งเซ่งจั้ว” เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2475 หรือ 76 ปีที่แล้ว อากง (ฮก แซ่ตั้ง) อพยพหนีความแล้งแค้นมาจากเมืองเหยี่ยวเพ้ง ใกล้กับเมืองซัวเถา ประเทศจีน
นายฮก แซ่ตั้ง ผู้บุกเบิกร้าน ตั้งเซ่งจั้ว
นอกจากเสื่อผืนหมอกใบแล้ว อากงยังพกพาฝืมือทำขนมเปี๊ยะตั้งแต่สมัยเป็นลูกจ้างร้านขนมเปี๊ยะมาด้วย เมื่อมาอยู่เมืองไทยได้เปิดร้านอยู่ที่ตลาดบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตาม เวลานั้น บางคล้าเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ทำมาค้าขายกันแค่ในท้องถิ่น อีกทั้ง มีร้านขายขนมเปี๊ยะอยู่หลายเจ้า กิจการของร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” จึงอยู่ในระดับพอมี พอกิน เลี้ยงดูภรรยา และลูกๆ อีก7 คนได้เท่านั้น
ร้านต้นกำเนิดในชุมชนบางคล้า
ทว่า จุดเปลี่ยนครั้งแรกที่ส่งให้ธุรกิจของขนมเปี้ยะจากบางคล้ารายนี้ เริ่มลืมตาอ้าปากได้อย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ยุคทายาทรุ่น2 ราว พ.ศ.2518 เมื่อรัฐบาลไทยสร้างถนนเส้น 304 กรุงเทพฯ -อรัญประเทศ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านจากบางคล้าไปสู่ตลาดชายแดนอรัญประเทศได้สะดวก ซึ่งเวลานั้นชาวกัมพูชาอพยพจากปอยเปตมาอยู่จำนวนมาก เกิดตลาดการค้าที่คึกคักอย่างจริง ถือเป็นช่องทางให้ทายาทร้านตั้งเซ่งจั้วเห็นโอกาสบรรทุกขนมเปี๊ยะไปขาย ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้าไปในตัว

"การเดินทางไปอรัญประเทศในอดีตใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เราจะขนขนมเปี๊ยะจนเต็มรถยนต์เพื่อนำไปขายที่ชายแดนซึ่งขณะนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก พอเราไปถึงเขาก็กรูกันเข้ามาซื้อไม่ถึงชั่วโมงสินค้าก็หมด พ่อของผมก็จะโทรเลขมาว่าให้ผลิตด่วน เพื่อให้พวกเราที่บ้าน รีบทำขนมขึ้นมาทันทีเพื่อให้ทันในรอบหน้าเมื่อคุณพ่อมาถึง" ทายาทรุ่น 3 เผย
บรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน
ปิยะพร เสริมต่อว่า การไปเปิดตลาดที่ชายแดน ช่วยเพิ่มยอดขายจากเดิมถึง 3 เท่าตัว โดยลูกค้ากว่า 80% เป็นชาวเขมร นอกจากนั้น ยังสร้างชื่อให้ขนมเปี๊ยะจากบางคล้าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ไม่เพียงประสบความสำเร็จในตลาดชายแดนเท่านั้น จากการบุกเบิกของทายาทรุ่นที่ 2 ได้ขยายสาขาใหม่ภายในตัวเมืองแปดริ้ว เสริมให้ยอดขายของร้านดีขึ้นไปอีก
เมื่อปี 2524 ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์  เดินทางมาบางคล้าและได้ชิมรสชาติขนมเปี๊ยะของร้าน พร้อมมอบ “ตราเชลล์ชวนชิม”
นอกจากนั้น เมื่อปี 2524 ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เดินทางมาบางคล้าและได้ชิมรสชาติขนมเปี๊ยะของร้าน พร้อมมอบ “ตราเชลล์ชวนชิม” การันตีความอร่อย ทำให้แบรนด์ตั้งเซ่งจั้ว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นบ้าง แม้จะไม่ถึงขนาดติดปากเท่ากับขนมเปี๊ยะบางคล้า แต่เมื่อเห็นสัญลักษณ์ “เชลล์ชวนชิม” ก็จะเข้ามาซื้อสินค้าจากร้าน ส่งผลให้ยอดขายสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็วถึงขนาดต้องย้ายโรงงานเดิมที่เป็นห้องแถว 4 ห้องไปสู่ที่ดินผืนใหม่เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่

เมื่อสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นำมาสู่การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ พร้อมกับลบแนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่า ถ้าของดี และรสชาติอร่อย ก็เพียงพอต่อความสำเร็จ แล้ว
มุมนั่งเล่น ในสาขาเก๋งจีน
“สมัยรุ่นพ่อของผม (ชวลิต ตันคงคารันต์ – ลูกชายคนโต) และพวกอาเจ๊ก จะเชื่อตามคำสอนขององกงว่า ทำขนมให้อร่อยก็พอแล้ว ทำให้รุ่นพ่อของผม ไม่ค่อยจะให้ความสนใจในเรื่องแบรนด์หรือแพ็กเกจ โดยท่านจะเน้นการผลิต คุณภาพสินค้า และราคาที่ลูกค้ารับได้ ท่านมองว่า ถ้าเราขายขนมแพงก็จะขายยาก พอจะพัฒนาแพ็กเกจ ก็จะมีเสียงค้าน เพราะกลัวต้นทุนที่สูง ที่สำคัญขนมไหว้เจ้าไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างแพ็กเกจให้สวยงาม พอไหว้เสร็จลูกหลานในบ้านก็มากินกันไม่เห็นจะมีใครสนใจเรื่องบรรจุภัณฑ์”

“กระทั่ง เริ่มเข้าสู่ยุครุ่น 3 อย่างตัวผม และน้องๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลร้าน ก็มองว่า เวลาซื้อขนมญี่ปุ่นราคา 500 บาท พอแกะแพ็กเกจเหลือแต่ขนม ราคาของขนมยังไม่ถึง 100 บาทเลย แพ็กเกจจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเราอย่างมากมาย" ปิยะพร เผยและเล่าต่อว่า
เสื้อยืด อีกหนึ่งสินค้าที่ระลึก
จุดพลิกผัน ส่งให้สมาชิกครอบครัว “ตั้งเซ่งจั้ว” เห็นในจุดร่วมเดียวกันว่าต้องพัฒนาแพ็กเกจอย่างจริงจัง เกิดขึ้นเมื่อมีลูกค้ารายหนึ่งสั่งขนมเปี๊ยะเพื่อจะไป ใช้ในงานแต่งงานลูกสาว แต่เมื่อเห็นแพ็กเกจของร้าน ลูกค้าถึงกับพูดว่า "ฉันต้องการขนมที่นี่ไปเป็นขนมแต่งงาน แต่พอเห็นแพ็กเกจของคุณไม่ไหวเลย คุณควรจะไปหาคนออกแบบทำแพ็กเกจให้ดีก่อนแล้วจะมาซื้อ"

จากคำพูดดังกล่าว ส่งให้ร้านตั้งเซ่งจั้วตระหนักถึงความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ ผลตอบรับ หลังมีบรรจุภัณฑ์สวยงาม ประกอบกับผลิตขนมอื่นๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น บัวหิมะ ขนมโก๋ ขนมไหว้พระจันทร์ ฯลฯ ช่วยให้ยอดขายร้านสูงขึ้นไปอีก และสามารถขยายโรงงานจากเดิมที่มีเนื้อที่ 2 ไร่ สู่ 8 ไร่ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
ภายในสาขาเก๋งจีน
ส่วนการสร้างแบรนด์จนประสบความสำคัญในปัจจุบัน หัวใจสำคัญ คือ เปลี่ยนตำแหน่งสินค้าจากขนมใช้ในเทศกาล มาเป็นขนมของฝากชื่อดังประจำ จ.ฉะเชิงเทรา โดยขายผ่านร้านสาขาเก๋งจีน พร้อมกับตอกย้ำผ่านการสร้างโลโก้ให้ลูกค้าจดจำ โดยรูปโลโก้นี้ มีความหมายสอดคล้องกับชื่อร้าน “ตั้งเซ่งจั้ว” โดยคำว่า “ตั้ง” คือ แซ่ หรือนามสกุลของครอบครัว ส่วนคำว่า “เซ่ง” แปลว่าความสำเร็จ และคำว่า “จั้ว” แปลว่า สายน้ำ เมื่อรวมกัน มีความหมายว่า “สายน้ำแห่งความสำเร็จ “ ดังนั้น โลโก้จึงเป็นรูปคลื่นน้ำหมุนวนไม่รู้จบ มีหมายความถึงสายน้ำแห่งความสำเร็จจะไหลเวียนอยู่ในครอบครัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

************************************

คลิกเพื่ออ่าน‘ตั้งเซ่งจั้ว’ ที่สุดขนมเปี๊ยะบางคล้า ก่ออาณาจักรเบอร์หนึ่งแปดริ้ว

คลิกเพื่ออ่านแผนที่ร้าน "ตั้งเซ่งจั้ว"
กำลังโหลดความคิดเห็น