หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ - ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาชวน “ผู้หญิง”ไทยเชื้อสายจีนยุคใหม่จัดโต๊ะไหว้พระจันทร์แบบจีน 14 กันยายนนี้ เพื่อสืบทอดประเพณีที่นับวันใกล้สูญหายไป และรับพลังหยิน พลังแห่งความเย็นของดวงจันทร์ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์-ความสวยงาม พร้อมจัดโต๊ะพิธีแบบง่ายๆ เน้นผลไม้-ขนมไหว้พระจันทร์-อาหารเจแห้ง 5 ชนิด
ตามปกติแล้ว คนจีนจะให้ความสำคัญกับผู้ชายให้เป็นผู้นำครอบครัว และผู้นำในเรื่องต่างๆ เกือบทุกเรื่อง จนเป็นที่รู้กันดีว่า คนจีนนั้นจะให้ความสำคัญกับ “ผู้ชาย” มากกว่า “ผู้หญิง” แต่ก็ใช่ว่าจะละเลยความสำคัญของเพศหญิงไป เพราะคนจีนนั้นมีเทศกาลที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงโดยเฉพาะเช่นกัน ได้แก่ เทศกาลไหว้พระจันทร์
ชวนไหว้พระจันทร์ 14 ก.ย.
เศรษฐพงษ์ จงสงวน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา และพุทธศาสนานิกายมหายาน กล่าวว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ของคนจีนนั้น จะยึดเอาวันเพ็ญเดือนแปด ซึ่งอยู่ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงเป็นวันทำพิธี โดยคนจีนนั้นจะมีฤดูที่นับกันเป็นสากลอยู่ 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว แต่ละฤดูนั้นจะมีเทศกาลต่างกันออกไปตามฤดู เช่น ฤดูใบไม้ผลิ จะมีเทศกาลตรุษจีน ฤดูร้อนมีเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ฤดูใบไม้ร่วงมีเทศกาลสาร์ทจีนและเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งในปีนี้เทศกาลไหว้พระจันทร์จะตรงกับวันที่ 14 กันยายน
ความหมายของเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่จัดกันในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงนั้น เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวพืชผลเกษตรกรรมของชาวจีน จึงจะมีการนำพืชผลมาเส้นไหว้บรรพบุรุษในวันสาร์ทจีน จากนั้นก็จะมีการเส้นไหว้ขอบคุณธรรมชาติโดยเฉพาะดวงจันทร์ที่ถือว่ามีพลังทำให้พืชพันธุ์ต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์
“คนจีนยังเชื่อกันว่า ดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของพลังเย็น หรือหยิน เป็นธาตุน้ำ ที่เชื่อกันว่าเป็นพลังของฝ่ายหญิง ในการทำพิธีเส้นไหว้ดวงจันทร์ จะให้แม่บ้านของแต่ละครอบครัวเป็นคนทำพิธีเส้นไหว้ดวงจันทร์ ตั้งแต่สมัยโบราณจึงมีคำกล่าวกันว่า ผู้หญิงไม่เป็นประธานไหว้เจ้าเตา ผู้ชายไม่เป็นประธานไหว้พระจันทร์”
งานรื่นเริง-รวมญาติสำคัญของชาวจีน
นอกจากจะให้ความสำคัญกับเพศหญิงแล้ว เทศกาลไหว้พระจันทร์ยังถือว่าเป็นงานรื่นเริงที่สำคัญงานหนึ่งของจีนด้วยตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา ประเพณีที่นิยมกันในวันไหว้พระจันทร์คือจะมีการประกวดโคมไฟสวยงาม และมีการละเล่นทายปัญหาจากโคมไฟกันด้วย ถือเป็นวันที่สนุกสนานอย่างมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวของจีน ที่จะมีโอกาสได้พบปะกัน เหมือนกับหนุ่มสาวชาวไทยที่ในอดีตจะมีการพบปะกันในการไปเที่ยวงานวัด งานบุญต่างๆ
อีกทั้งวันไหว้พระจันทร์ถือเป็นวันรวมญาติที่สำคัญของจีนวันหนึ่งนอกจากวันตรุษจีน ที่คนในครอบครัวจะมีโอกาสพบปะพูดคุยกันระหว่างที่ทำพิธีเส้นไหว้ดวงจันทร์ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงดึกดื่นด้วย
ขณะเดียวกันวันไหว้พระจันทร์ ถือเป็นโอกาสให้กลุ่มแม่บ้านต่างๆ ทำการแชร์ไหว้พระจันทร์ร่วมกัน โดยมีการจัดโต๊ะไหว้ร่วมกันโดยการลงหุ้นกัน สุดท้ายจะนำของต่างๆที่นำมาใช้แจกสมาชิกในกลุ่ม เช่น ถ้วยชามกระเบื้องอย่างดี เครื่องครัว เครื่องใช้สวยงามต่างๆ
คนไหว้ลดฮวบ-หวั่นประเพณีสูญ
ปัจจุบันการไหว้พระจันทร์ในเมืองไทยมีน้อยลงทุกที เนื่องจากฝ่ายหญิงซึ่งถือว่าเป็นประธานในการไหว้พระจันทร์ได้ออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น ทำให้ไม่ได้จัดเตรียมการไหว้พระจันทร์เหมือนในอดีต รวมทั้งมีการแชร์ไหว้พระจันทร์ลดน้อยลง ดังนั้นการจัดพิธีไหว้พระจันทร์ซึ่งน้อยมาก จึงน่าเป็นห่วงว่าประเพณีนี้จะสูญหายไป เว้นแต่ในเยาวราช และตลาดพลู ที่ยังพบเห็นอยู่ทั่วไป
จึงอยากชักชวนคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของวันไหว้พระจันทร์ ที่ให้ความสำคัญกับพลังของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงทำงานให้หันมาทำพิธีไหว้พระจันทร์กันมากขึ้น
โดยตามปกติแล้ว วันไหว้พระจันทร์ในช่วงบ่ายจะมีการไหว้บรรพบุรุษของแต่ละครอบครัวก่อน ด้วยข้าวปลาอาหารคาวหวานตามปกติ ซึ่งการไหว้บรรพบุรุษนั้นคนจีนจะนิยมทำพิธีในช่วงวันสำคัญๆ เนื่องจากเป็นการแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณ
โต๊ะพิธีไหว้ดวงจันทร์จัดเองได้ง่ายๆ
พอถึงช่วงค่ำที่ดวงจันทร์เริ่มปรากฏสู่ท้องฟ้าแล้ว ก็จะเริ่มตั้งโต๊ะพิธีไหว้ดวงจันทร์กัน โดยมักจะหันโต๊ะพิธีเข้าหาดวงจันทร์ บนโต๊ะพิธีที่นิยมกันนั้นจะประกอบด้วย อาหารเจ(ไม่มีเนื้อสัตว์ทุกชนิด) เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายมหายานที่เชื่อกันว่าพระจันทร์มีพระโพธิสัตว์ “จันทรประภาโพธิสัตว์” ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่สถิตอยู่บนดวงจันทร์
อาหารเจที่นิยมนำมาไหว้นั้น นิยมนำมาไหว้เป็นอาหารเจแห้ง 5 ชนิดได้แก่ วุ้นเส้น เห็ดหูหนู (ขาวหรือดำก็ได้) ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ และเห็ดหอม นอกจากนี้ก็จะมีการนำผลไม้และขนมมาไหว้ ส่วนใหญ่นิยมใช้ขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือขนมไหว้พระจันทร์ของคนกวางตุ้ง ที่มีไส้เยอะ ชิ้นใหญ่ บางอันมีไข่เค็ม ซึ่งมีรสชาติอร่อย ภายหลังได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศจีน ซึ่งในสมัยก่อนนั้นขนมไหว้พระจันทร์จะทำขึ้นมาจากผลิตผลทางการเกษตรของครอบครัว เช่น แป้งข้าวเหนียว ถั่ว งา ฯลฯ
ส่วนผลไม้ นิยมใช้ ส้มโอ ซึ่งเป็นผลผลิตในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และนิยมใช้เผือกทั้งหัวมาไหว้ มีเรื่องเล่าว่าการใช้เผือกทั้งหัวนั้น เกิดขึ้นภายหลังราชวงศ์หยวนที่เป็นคนเผ่ามองโกล ปกครองชาวฮั่น ซึ่งราชวงศ์หยวนนั้นเกรงว่าชาวฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของจีนจะคิดต่อต้านมองโกล จึงติดประกาศห้ามชุมนุม แต่ในโอกาสเส้นไหว้พระจันทร์นี้ ชาวฮั่นได้ใช้วิธีนัดหมายโดยสอดกระดาษไว้ข้างในขนมไหว้พระจันทร์มีข้อความทำนองว่า ให้นำหัวทหารมองโกลเซ่นไหว้ดวงวิญญาณวีรชน ซึ่งคำว่าเผือกนั้นในภาษาจีนจะออกเสียงคล้ายคำว่าหู ซึ่งแปลว่าชนเผ่าเร่ร่อนหรือชาวมองโกลนั่นเอง จึงมีความนิยมนำเผือกมาไหว้ทั้งหัวแทนศรีษะของทหารชาวมองโกลด้วย
นอกจากผลไม้แล้ว ก็จะมีเครื่องไหว้ต่างๆ ได้แก่ ธูป เทียน กระถางธูป กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง ซึ่งบางบ้านนำมาทำเป็นโคมไฟกระดาษเงินกระดาษทอง และมักนิยมใช้แผ่นป้ายที่เขียนตัวหนังสือจีนว่า “ตงชิว”ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ “จงชิว” ในภาษาจีนกลาง แปลว่าไหว้พระจันทร์ด้วย ปัจจุบันนี้ในเมืองไทยมีขายเครื่องไหว้ และเครื่องไหว้ต่างๆ ที่เยาวราช ซึ่งในช่วงนี้เริ่มมีวางขาย และมีการจับจ่ายซื้อเครื่องไหว้พระจันทร์กันมากที่สุด
ส่วนคนไม่มีเวลา หรือไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ สามารถจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์อย่างง่ายๆ ได้ โดยใช้ขนมและผลไม้เป็นหลัก โดยฝ่ายหญิงนั้น นิยมนำแป้ง และเครื่องประทินโฉมต่างๆ มาวางบนโต๊ะพิธี เพื่อขอพลังแห่งดวงจันทร์ซึ่งถือว่าเป็นพลังที่จะช่วยให้สวยงามด้วย