xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจ (ไม่) พิการรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซาโนะและอรุณี
ความซุกซนของ Eros ปั่นป่วนทั้งบนสวรรค์และโลกมนุษย์ เทพอพอลโล่ในยุคบรรพกาล ถึงมนุษย์ในยุคแชทหารัก มีใครกล้าพูดว่าไม่เคยอยู่ใต้อุ้งปีกของ Eros เมื่อลูกธนูถูกปล่อย ย่อมหมายถึงใครสักคนพลันติดอยู่ในกรงสีชมพูของเด็กน้อยมีปีก ...หากสมหวังกรงสีชมพูคือแหล่งพักพิงสุดท้ายที่หอมหวาน แต่ถ้าไม่ น้ำตาและความเจ็บร้าวก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อออกจากกรง

ความรักเปลี่ยนมนุษย์ที่ฉลาดและมีเหตุผลที่สุดในโลกให้โง่และไร้เหตุผล ลูกธนูของ Eros ปักที่หัวใจไม่ใช่สมอง เหตุผลจึงทำงานอย่างเฉื่อยชา ดังนั้น ต่อให้ไม่มีดวงตามองใบหน้าคนรัก ไม่มีแขนเพื่อโอบกอด หรือไร้เสียงเอ่ยคำหวาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความรักไม่ได้

วันวาเลนไทน์สำหรับคู่รักหลายล้านคู่อาจหมายถึงดินเนอร์ใต้แสงเทียน วางแผนอนาคตร่วมกัน ขณะที่บางคนกำลังเจ็บปวด เปล่า, มันไม่ใช่ผลของการถูกทอดทิ้งหรือผิดหวัง แต่เพราะถูกห้ามปรามไม่ให้ล่วงล้ำเข้าสู่อาณาเขตของความรัก

‘ห้ามมีความรัก’ คือข้อห้ามที่ไม่มีวันเป็นจริง โหดร้าย และป่าเถื่อน แม้ว่าผู้ที่ถูกห้ามจะไม่มีแขน ไม่มีขา ไม่มีดวงตา ฯลฯ แต่แล้วยังไงล่ะ

ในเมื่อส่วนผสมสำคัญของความรักคือหัวใจ

รักไร้เสียงและน้ำหนักของฝ่ามือ

“@!$^*&%%&*$)(:”@+”

ชาย-หญิงตรงหน้าผม เราต่างไม่เข้าใจภาษาของกันและกัน จึงต้องมีคนที่ 4-จุฑามาศ สุธนวัฒนาเจริญ ล่ามภาษามือจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เป็นคนส่งผ่านถ้อยคำ

เกียรติศักดิ์ แพ้วมานะกุล พิการทางหูตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ส่วน ปรียานุช ศศิธรวัฒนกุล พิการทางหูตั้งแต่เกิด และแม้ไม่เอ่ยปาก แต่เราทั้ง 4 คนต่างเอาใจช่วยให้ชีวิตน้อยๆ ในกายของปรียานุชลืมตาดูโลกอย่างแข็งแรงปลอดภัย

(‘คนปกติ’ เป็นคำที่ผมไม่อยากใช้ ดังนั้น จึงขออนุญาตใช้คำว่า ‘ผู้ไม่พิการ’ แทน)

ผู้ไม่พิการเป็นคนส่วนใหญ่ ผู้พิการเป็นเพียงคนส่วนน้อย อีกทั้งความพิการยังถูกให้ความหมายผ่านคำอธิบายทางการแพทย์ แล้วรวบรัดตัดความเสียว่าความพิการเป็นเรื่องของคนแต่ละคน แต่รู้ได้อย่างไรว่า ‘เรา’ ไม่มีส่วนในการสร้างความพิการ

ปรียานุชจบปริญญาตรีด้านการจัดการทั่วไป เธอยอมรับว่าเวลาไปสมัครงาน โอกาสเธอมีน้อยกว่าคนที่ไม่พิการ

ใช่หรือไม่ว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เราอยู่กินกับมัน ให้คุณค่ากับ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ที่สามารถเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไหนจะการให้คุณค่าแก่ความสวยงามของเนื้อตัวร่างกาย ตั้งแต่ผิวหน้าถึงผิวใต้วงแขนต้องขาวเป็นไข่ปอก คนพิการจึงถูกทำให้เชื่อว่าพวกเขาไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตและไม่ใช่ภาพต้นแบบของร่างกายที่สังคมต้องการ สุดท้ายจึงเกิดการแบ่งแยกระหว่างความปกติกับความผิดปกติ และร่างกายที่มีความสามารถกับร่างกายที่ไม่มีความสามารถ

และมันลุกลามไปถึงแม้แต่การมีความรักและการสร้างครอบครัว

พ่อแม่ของเกียรติศักดิ์เคยบอกกับเขาว่าถ้าจะมีแฟนก็อยากให้มีแฟนหูไม่พิการ และเขาก็เคยมี แต่คบหาได้ไม่นานเพราะสื่อสารกันลำบาก หลังจากเขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์และครูสอนภาษามือให้กับสมาคมคนหูหนวกฯ ความคิดของพ่อแม่ของเขาจึงเริ่มเปลี่ยน และลดเงื่อนไขลงเหลือแค่ขอให้ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนดี

เกียรติศักดิ์และปรียานุชจีบกันด้วยการส่งข้อความและคลิปภาษามือ ทั้งสองไปเที่ยว ไปกินข้าวด้วยกันไม่ต่างจากคู่รักอื่นๆ คบหาอยู่ 4 ปีจึงตัดสินใจแต่งงาน ทั้งคู่โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ

ผมถามปรียานุชผ่านจุฑามาศว่าเกียรติศักดิ์เป็นคนโรแมนติกหรือเปล่า

ทั้งสองไม่เข้าใจคำว่า ‘โรแมนติก’ ส่วนใหญ่คำที่เป็นนามธรรมจะค่อนข้างมีปัญหาในการสื่อสารผ่านภาษามือ ผู้พิการทางหูจึงมีข้อจำกัดอยู่บ้างเวลาต้องการบอกอารมณ์ความรู้สึก

“เคยไปดูหนังเรื่องจดหมายรักที่แอน ทองประสมเล่น กลับมาเล่าให้เขาฟัง เขาร้องไห้เลย” ปรียานุชเล่าให้ฟัง เธอใช้วิธีหาเรื่องย่อมาอ่านก่อนแล้วจึงค่อยไปดูในโรงภาพยนตร์

ทั้งสองไม่รู้ว่าโรแมนติกคืออะไร รู้แต่ว่า “เราต่างดีกันทุกวันอยู่แล้ว”

“ละ...” เกียรติศักดิ์พูดคำว่า ‘รัก’

ผมอยากรู้ว่า คำว่า รัก ในภาษามือของไทยต้องทำท่ายังไง?-ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างวางประทับไปที่หน้าอกของตัวเอง-แต่เกียรติศักดิ์บอกว่าถ้าทำแค่นั้นก็เหมือนท่องหนังสือ คุณต้องแสดงออกทางสีหน้า มองเข้าไปในดวงตาของอีกฝ่าย และน้ำหนักของฝ่ามือที่กดประทับบนหน้าอกนั่นต่างหากจะเป็นตัวบอกว่า คุณรักคนที่อยู่ข้างหน้าคุณมากแค่ไหน

“เราจะเลือกที่ที่เราสามารถอยู่ด้วยกันได้...เราจะเดินด้วยกัน”

“คนพิการก็สามารถรักได้ ถ้าความรักนั้นอยู่กับตัวผู้พิการเองก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าคิดจะมีเพศสัมพันธ์หรือแต่งงาน สังคมจะตั้งคำถามว่าทำได้หรือเปล่า” ดร.เพ็ญจันทร์ เชอร์เรอร์ หลักสูตรสังคมศาสตร์สุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกกับผม

คำว่า ‘Disable’ แปลว่าไร้ความสามารถ ความเข้าใจผิดชนิดเข้มข้นพานให้เราเชื่อว่าคนพิการไม่มีความสามารถใดๆ เลย แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ การมีลูก หรือการเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อสังคมตอกย้ำหนักๆ เข้า สุดท้าย คนพิการจึงกลายเป็นคน ‘ไม่มีเพศ’ (Sexless) เมื่อไม่มีเพศจึงไม่จำเป็นต้องมีความรัก ไม่ต้องมีครอบครัว และควรอยู่เฉยๆ เพื่อรอคอยความเห็นใจ

ผมเดินทางสู่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อรุณี ลิ้มมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ รอเราอยู่บริเวณชั้นล่างของคอนโดมิเนียมที่เธออาศัยอยู่กับสามี-ริวเฮ ซาโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านคนพิการของ JICA

ตอนอรุณีอายุ 3 ขวบ 8 เดือน โปลิโอเล่นงานเธอจนทำให้ขาทั้งสองข้างพิการ เธอเคยร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนหลังจากถูกเด็กคนอื่นๆ รุมมองเหมือนเธอเป็นคนประหลาด โชคดีที่พ่อแม่ของเธอคอยค้ำยันให้เธอรู้จักเคารพนับถือตนเอง

“ที่เรานับถือตัวเองเพราะพ่อแม่ ตอนเด็กๆ เวลาเราไปโรงเรียนคนจะมอง เด็กจะมารุมล้อมว่าเป็นตัวประหลาด ร้องไห้ ไม่อยากไป คุณพ่อก็บอกว่าไม่เป็นไร ครั้งแรกเขามอง ครั้งที่ 2 เขามอง ถ้าเราไปทุกวันๆ ร้อยครั้ง เดี๋ยวเขาก็เลิกมองไปเอง”

หน้าที่การงานทำให้อรุณีรู้จักกับซาโนะ ผ่านเวลา 4 ปี ทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงาน

ผู้ชายไม่พิการที่แต่งงานกับผู้หญิงพิการ ไม่ว่าจะในญี่ปุ่นหรือในไทยก็นับเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อย ถ้ามี ฝ่ายชายก็มักจะหวังผลประโยชน์บางอย่างดังที่เป็นข่าวคราวให้เห็น แต่ไม่ใช่กับคู่นี้ ซาโนะตัดสินใจทิ้งงานเงินเดือนมโหฬารที่อเมริกา กลับเมืองไทยมาบวชให้แม่ของอรุณีที่เสียไป

“ผมไม่รู้สึกอะไรที่เขาเป็นคนพิการ คนพิการมีความสามารถบางอย่างที่คนอื่นทำไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีข้อจำกัด ในทางกายภาพเราอาจมีข้อแตกต่างจากคนอื่น เช่น เวลาขึ้นบันไดผมต้องอุ้มอรุณีขึ้น เพราะบ้านเรายังไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ”

“อาจารย์อรุณีตัวหนักมั้ยครับ?”

“หนัก” ซาโนะตอบยิ้มๆ และเปื้อนอากาศด้วยเสียงหัวเราะของอีกฝ่าย

ผู้หญิง+ความพิการ=อุปสรรคซ้อนทับอุปสรรค คือความเห็นของ มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้หญิงพิการจำนวนหนึ่งจึงเลือกที่จะเก็บตัวและไม่ศรัทธาความรัก ...ก็ใครล่ะจะรักผู้หญิงพิการจริง

จากงานวิจัยของ ดร.เพ็ญจันทร์ เรื่อง ‘เพศวิถีและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงพิการ’ อธิบายว่า

‘ผู้หญิงพิการมักได้รับการเลือกปฏิบัติที่รุนแรงกว่าด้วยอคติที่ซ้อนทับ 2 ชั้น คือเพราะเป็นคนพิการและเพราะเป็นผู้หญิง ...อัตลักษณ์ของความเป็นหญิงถูกกำหนดด้วยการมีลูก การเป็นเมียที่ดูแลบ้าน และภาพลักษณ์ร่างกายที่สวยงาม ...นอกจากนั้นยังถูกคาดหวังให้เป็นผู้ดูแล ปรนนิบัติ มีลูก และดูแลลูกตามบทบาทและหน้าที่ที่ได้รับในสังคม ...ผู้หญิงพิการจึงอาจถูกทำให้กลายเป็นว่าไม่สามารถทำบทบาทดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ จนไปถึงการมองว่าเป็นคนไร้บทบาท ไร้ความรู้สึกทางเพศ ไม่ควรเป็นแม่ เพราะแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือถ้าเป็นแม่ก็ไม่สามารถเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบได้ นอกจากนั้น คนพิการหญิงไม่ควรจะมีความสัมพันธ์ทางเพศหรือบอบบางเกินไปสำหรับการมีกิจกรรมทางเพศ และรวมไปไกลถึงว่าถูกเอาเปรียบทางเพศได้เพราะไม่มีความรู้สึก’

อรุณีและซาโนะกำลังวางแผนจะมีชีวิตน้อยๆ ไว้คอยทะนุถนอม ทั้งสองคนไม่รู้สึกว่าความพิการของอรุณีจะเป็นอุปสรรคต่อหน้าที่ความเป็นแม่ และซาโนะก็พร้อมที่จะสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์

“ความผิดพลาดหรือความไม่สะดวกอะไรก็ตามที่เกิดจากความพิการของเรา เขาจะไม่ว่า เช่น เราเดินช้า เขาจะไม่เคยบ่นที่ต้องรอ หรือที่ไหนที่เราไม่สามารถไปได้ เช่น ชายหาดเพราะทรายมันนุ่ม ใช้รถเข็นไม่ได้ เขาก็จะไม่ไป เราจะเลือกที่ที่เราสามารถอยู่ด้วยกันได้ เวลาไปไหนเราจะเดินด้วยกัน แต่ถ้าคนเยอะๆ เขาก็จะไปแหวกทางให้ก่อน”

เคยคิดหรือเปล่าว่าคงไม่มีผู้ชายที่ไหนจะมาจริงใจกับผู้หญิงพิการอย่างเราหรอก

“ไม่แน่ใจ ก่อนเจอเขาก็ไม่เคยมีใครมาจีบ เราก็คิดว่า เอ๊ะ เป็นเพราะเราพิการหรือเปล่า แต่เพื่อนๆ หลายคนก็ไม่มีใครมาจีบนะ (หัวเราะ) มันหลายปัจจัย ไม่เกี่ยวหรอก มีหลายคนมาปรึกษาเหมือนกันว่ามีแฟน แต่ที่บ้านเป็นห่วง กลัวฝ่ายชายจะไม่จริงใจ จะผิดหวัง ก็บอกเขาไปว่าความผิดหวังมันห้ามกันไม่ได้ ทุกคนที่มีความรักก็ไม่มีใครการันตีว่าจะไม่ผิดหวัง มันไม่ได้เกี่ยวกับความพิการ ถ้าเรากลัวผิดหวัง เราก็ไม่ต้องมีความรัก ถ้าเรากลัวผิดพลาด เราก็ไม่ต้องทำอะไรเลย”

Disable is differently able

เกียรติศักดิ์กับปรียานุชกำลังใช้เวลาส่วนหนึ่งต่อเติมข้อมูลความรู้เพื่อลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา หมอบอกทั้งสองว่าถ้าคุยกับลูกหรือเปิดเพลงให้ลูกฟังไม่ได้ก็ให้ลูบท้อง ให้เขาได้สัมผัสกับเรา และไม่ว่าลูกที่เกิดมาจะพิการทางหูหรือไม่ เกียรติศักดิ์สื่อสารกับผมว่าเขาจะสอนภาษามือให้กับลูกด้วยตัวของเขาเอง

อรุณีกับซาโนะบอกว่าช่วงเวลาที่ทั้งสองอยู่ด้วยกันคือช่วงเวลาพิเศษ ไม่ต้องมีอะไรมาก เกินกว่านั้นถือว่าฟุ่มเฟือย เขาฝากบอกว่าอยากให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ อรุณีจะได้ไปทำงานสะดวก ระหว่างสนทนา ซาโนะยื่นมือข้างขวาให้ผมจับ เขาบอกว่าตอนเด็กๆ เขาประสบอุบัติเหตุทำให้มือข้างขวาไม่สามารถกำได้เต็มที่

“ผมเองก็มีข้อจำกัด Disable is differently able-ความพิการคือความสามารถที่แตกต่าง”

พอได้ยินเข้า ผมนึกถึงการสนทนาไร้เสียงกับเกียรติศักดิ์และปรียานุช ผ่านจุฑามาศ ไปๆ มาๆ ผมต่างหากที่ ‘ไร้ความสามารถ’ ที่สุดที่จะสื่อสารกับเขาและเธอ

คำเตือน-นี่เป็นแค่ภาพด้านเดียวของความรัก ทุกคู่ ไม่ว่าจะพิการหรือไม่ ล้วนต้องมีอุปสรรค การทะเลาะเบาะแว้ง ฯลฯ ไม่ต่างกัน เรื่องราวของคนสองคู่นี้เป็นสุขนาฏกรรม แต่ความรักของคนพิการชายขอบอีกมากเป็นโศกนาฏกรรม บางคู่ต้องหนีตามกันไปเพราะฝ่ายหนึ่งพิการ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ และครอบครัวของฝ่ายหลังยอมรับไม่ได้ บางคู่พิการทั้งสองฝ่ายหนำซ้ำฐานะทางเศรษฐกิจยังต่ำ การศึกษาก็น้อย บางคนถูกปอกลอกจนหมดตัว

……………

พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์ เกียรติศักดิ์อยากให้มันมาถึงเร็วกว่านี้ เพราะเขาวางแผนจะไปกินข้าวนอกบ้านกับปรียานุช เหมือนกับคู่อรุณี-ซาโนะ

พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์ ชายขาพิการคนหนึ่งเล่าเรื่องให้ฟังว่า-เด็กน้อยคนหนึ่งเดินเข้าไปในร้านขายลูกหมา เขาเห็นหมาตัวหนึ่งเดินโซไปเซมา เจ้าของร้านบอกว่ากระดูกสะโพกมันเสีย เด็กน้อยตาเป็นประกายบอกว่าตัวนี้แหละที่ผมอยากได้ เจ้าของร้านบอกว่าเธอไม่อยากได้หรอก และบอกว่าจะยกลูกหมาให้ฟรีๆ เด็กน้อยบอกเสียงแข็ง “ไม่” ลูกหมาตัวนี้มีค่าเท่ากับลูกหมาตัวอื่นๆ เจ้าของร้านบอกว่ามันกระโดด มันวิ่งเล่นกับเด็กน้อยไม่ได้ ท้ายที่สุด เด็กน้อยก้มลงดึงขากางเกงข้างหนึ่งขึ้น เปิดให้เห็นขาที่ลีบเล็กและดามด้วยเหล็ก และบอกว่า “ผมก็วิ่งกับกระโดดไม่ได้ และผมคิดว่าลูกหมาก็คงต้องการใครสักคนที่เข้าใจมัน”

พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์ ถ้าเกิด Eros ปีกหักทั้งสองข้าง คุณคิดว่าโลกนี้จะยังมีความรักอยู่หรือเปล่า?

************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-ธัชกร กิจไชยภน, วรวิทย์ พาณิชนันท์


ความพิการ เพศวิถี และเวทนานิยม

ผู้หญิงพิการถูกกดทับซ้ำซ้อน แต่ผู้ชายพิการใช่จะไม่มีปัญหา

“กรณีของผู้ชายที่พิการภายหลัง ปัญหาจะเกิดขึ้นเพราะคนเหล่านี้มีอัตลักษณ์ในการเป็นเพศอยู่แล้ว เขาจะเกิดความรู้สึกว่าไร้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำครอบครัว ถ้าในเรื่องเพศก็ยิ่งมีความละเอียดอ่อนขึ้นไปอีก เพราะพอบอกว่าไม่มีสมรรถภาพก็ทำให้ความเป็นมนุษย์หายไปเลย บางคนอาจรับไม่ได้ที่ถูกบอกว่าเป็นคนเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ” ดร.เพ็ญจันทร์ อธิบาย

คนส่วนใหญ่มักมองเรื่องเพศวิถีของมนุษย์คือการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์ก็คือการสอดใส่เท่านั้น ทั้งที่ในโลกแห่งความเป็นจริง เพศสัมพันธ์อาจกินความกว้างกว่าและไม่ได้มีแบบแผนทางเพศแบบเดียวตายตัว ดร.เพ็ญจันทร์ บอกกับผมว่า

“คำว่าเพศวิถีไม่ใช่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียว ไม่ใช่แค่เรื่องการกระทำ แต่มันยังมีความสุขด้านอื่นๆ อาจเป็นเรื่องความพึงพอใจ รสนิยม ถ้าเรายังยึดว่าเรื่องของเพศเป็นเรื่องของการกระทำเพียงอย่างเดียว ผู้พิการจึงถูกมองเป็นคนไร้ความสามารถ แต่ถ้าเรามองเรื่องเพศทั้งหมด ทุกคนก็ต้องการความสุขจากทุกประสาทสัมผัส”

หมายความว่าต่อให้เป็นผู้พิการอัมพาต ไม่ว่าชายหรือหญิงต่างก็สามารถมีความสุขทางเพศได้ แล้วคำถามล้นอคติก็จะตามมาทันทีทันใด-พิการแล้วยังจะมีเพศสัมพันธ์ไปทำไม ทำไมไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ และบลา บลา บลา-เป็นคำถามวนรอบวงเวียนใหญ่เพื่อกลับมาสู่คำถามหลักของเรื่องนี้ว่า ก็แล้วทำไมคนพิการถึงจะมีความรู้สึกและความต้องการทางเพศไม่ได้

ข้อน่ากังวลของมายาคติตัวเอ้นี้มีอยู่ว่า เมื่อสังคมคิดไปเองว่าคนพิการไม่มีเพศ เราจึงไม่เคยตระเตรียมข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจแก่คนพิการเลย คนพิการจึงไม่รู้วิธีปฏิสัมพันธ์และแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม (‘ความเหมาะสม’ นี่ก็เป็นอีกกรอบที่สังคมสร้างขึ้น) โดยเฉพาะผู้พิการหญิง การไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรอาจฉกรรจ์จนนำไปสู่การถูกกระทำรุนแรงทางเพศ เพราะผู้พิการหญิงมีแนวโน้มจะถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากกว่าผู้หญิงปกติถึง 1.5-10 เท่าอยู่แล้ว

โซ่ข้อต่อมา-ผู้หญิงพิการไม่ควรมีลูก ไม่ควรมีครอบครัว เสี่ยงต่อการถูกข่มขืน-ในชนบท ผู้หญิงพิการจึงมักถูกทำหมันโดยไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจของตัวเอง เช่น บุคลากรสาธารณสุขโน้มน้าว ผู้ปกครองตัดสินใจให้ สิทธิในการเจริญพันธุ์ สิทธิที่จะเป็นแม่ของลูก เป็นอันจบชั่วชีวิต ผู้หญิงพิการที่ตั้งครรภ์บางคนก็มักถูกบุคลากรสาธารณสุขมองด้วยสายตา ‘จะมีลูกทำไม แค่ตัวเองยังเอาไม่รอดเลย’


“ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่ถูกทำหมันจะมีความบกพร่องทางสติปัญญา เพราะเขาไม่รู้ตัว ผู้ปกครองตัดสินใจให้ หรือผู้ให้คำปรึกษาบางคนก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา แต่ตามหลักสิทธิมนุษยชนถือเป็นการละเมิด คุณจะปรารถนาดียังไงก็ตาม แต่การเจริญพันธุ์เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่มิอาจตัดสินใจแทนกันได้ แล้วมันก็เป็นคนละปัญหา เราต้องป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่ป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไปละเมิดสิทธิในการมีบุตร ถามว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่

“ความพิการบ้านเรามีรากฐานแนวคิดแบบเวทนานิยม เรามีความรู้สึกว่าคนที่มีลักษณะทางกายภาพแบบนี้ จะมีชั้นความเป็นมนุษย์แค่นี้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ควรจะได้รับสิทธิหรืออานิสงส์จากความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ เขาควรจะได้รับส่วนหนึ่งแต่เป็นส่วนที่ได้รับจากความเอื้ออาทร ความพิการจึงไปอยู่กับปัจเจกบุคคล แต่ถ้าเป็นสังคมฐานสิทธิจะมองว่าความพิการไม่ใช่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่เป็นเงื่อนไขทางสังคมที่เอาไปใส่ปัจเจกบุคคล เช่น คนตาบอดบวกสื่อสิ่งพิมพ์ก็เกิดความพิการ” มณเฑียรแสดงความคิดเห็น


เกียรติศักดิ์และปรียานุช

กำลังโหลดความคิดเห็น