หากการมองประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างไทย ว่าล้วน “ด้อย” กว่าเรา หรือเป็น “ศัตรู” ของเรา นำไปสู่อคติที่เพาะบ่มความจงเกลียดเคียดแค้น กระทั่งนานวัน ความคิดดังกล่าวก่อตัวเป็นรอยแผลร้าวลึก กัดกร่อนความสัมพันธ์ของชนทุกชาติพันธุ์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแดนดินอุษาคเนย์อันรวมไว้ซึ่งความหลากหลายแห่งอัตลักษณ์ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะหันมามองปัญหา เปิดเปลือยแผลใจ ละวางความหวาดระแวงต่อกัน เพื่อนำไปสู่การมองเพื่อนมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ อย่างเสมอภาค เท่าเทียม
--
"ความคิดเรื่อง “ชาตินิยมไทย” นั้น คิดแต่จะยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่อย่างเดียว โดยไม่มี “โลก” รอบข้าง ทำให้เราหลงคิดว่าเราพิเศษกว่าคนอื่นเขา จะเอาเราไปเปรียบกับใครไม่ได้เลย เป็นเช่นนั้นเสมอมา ถ้าใครมาวิพากษ์วิจารณ์ เราก็จะบอกว่าเขาไม่เข้าใจความเป็นไทย เพราะว่ากูไม่เหมือนใครเลยในโลกนี้"
นอกเหนือไปจากประโยคที่หยิบยกมา ยังมีข้อสังเกตอีกไม่น้อย จาก ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ต่อรากความคิดที่บ่มเพาะก่อเกิดเป็น “ชาตินิยมแบบไทยๆ” อันนำไปสู่การปมแห่งความขัดแย้งต่อประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งชาติอื่นๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การวิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าว เกิดขึ้นบนเวทีสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๒ โดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “อุษาคเนย์ อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ” ซึ่งจัดขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาทางออกจากชนวนความขัดแย้งที่แอบแฝงไว้ด้วยอคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน
ด้วยความมุ่งหวังเดียวกัน เราขอร่วมถ่ายทอดถ้อยความบางส่วน บางบทตอน จากเวทีดังกล่าวไว้ในพื้นที่อันจำกัดนี้
….......
มีเพียงเรา เท่านั้นหรือ?
“สิ่งที่ประชาชนคนในชาติได้รับการปลูกฝังกันมาเนิ่นนาน ผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ในแง่มุมหนึ่งมุมเดียวโดย ตือ ขาดการเชื่อมต่อกับบริบทอื่นๆ” นิธิ เปิดประเด็น ก่อนสะท้อนมุมมองต่อเนื่อง โดยแจงเป็น 3 ประเด็นหลักๆ
ประเด็นแรกสุด หากพูดกันอย่างง่ายๆ นั้น นิธิ มองว่า “ชาติไทย” ที่ขาดการเชื่อมโยงกับบริบทอื่น ไม่ได้เป็นของคนทุกคนอย่างเสมอภาคกัน แต่ตรงกันข้าม ประชาชนทุกคนเป็นสมบัติของชาติอย่างเสมอภาคกัน ต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งพลเมืองย่อมรู้สึกว่า ตนเป็นเจ้าของชาติ
“แต่ของเราเกิดชาติขึ้นมา แล้วชาติก็เป็นนายเรา เป็นเจ้าของเรา ไม่ใช่ว่าเราเป็นเจ้าของชาติ สะท้อนได้จากแบบเรียนที่เน้นไปเรื่อง “หน้าที่พลเมือง” มากกว่าเรื่อง “สิทธิพลเมือง” แม้แต่ในรัฐธรรมนูญเองก็เช่นกัน หลายฉบับเน้นไปที่เรื่องหน้าที่มากกว่าเสรีภาพ”
ไม่ต่างอะไรกับรัฐโบราณของไทย ที่ล้วนมองว่าประชาชนเป็นข้าราษฎร เป็นสมบัติของชาติ
ประเด็นที่สอง นิธิเน้นไปที่ “ความพิกลพิการของชาตินิยมไทย” ที่ขาดการเชื่อมโยงตนเองกับอดีต
“ผมมองว่า “ชาติ” ต้องเชื่อมโยงตัวเองกับอดีตได้ มันต้องสามารถแสดงตนเองได้ว่ามันตั้งอยู่มานานแล้ว ไม่ได้ออกจากท้องพ่อท้องแม่เมื่อวานนี้ แต่ชาติไทยของเรา ในแบบที่เรารู้จักกันนั้น มันไม่สามารถเชื่อมต่อกับอดีตในทางใดได้เลย นอกจาก เชื่อมต่อกับ “ชนชั้นนำทางจารีต”
นิธิ เสนอว่า หากเราลองไม่ต้องเชื่อมต่ออดีตของเรากับชนชั้นนำเพียงกลุ่มเดียวเช่นที่ตำราประวัติศาสตร์ปลูกฝังมา แต่ลองเชื่อมต่อกับบริบทอื่น เช่น การค้า เกษตรกรรม ระบบนิเวศน์ เราย่อมมองเห็นสิ่งที่ต่างไปจากเดิม
“ไม่ว่าจะลองมองตั้งแต่ก่อนอาณาจักรสุโขทัยหรือสมัยไหนก็ตาม เช่น ถ้าลองเชื่อมเข้ากับเรื่องระบบนิเวศน์ ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มากน้อยแค่ไหน จากการเข้ามาของใครบ้าง ถ้าเราลองมองแบบนี้ มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งเลย ไม่ใช่แบบที่เราเคยเรียนมา”
และสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ เมื่อคุณเชื่อมต่อประวัติศาสตร์เข้ากับบริบทอื่นๆ คุณจะเห็นว่ามี “พระเอก” เกิดขึ้นมาอีกเพียบ
“พระเอกจะไม่ได้มีแค่ชนชั้นนำเพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว แต่จะมีใครต่อใครมากมาย ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ ก็อาจจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” มาตราบทุกวันนี้”
….......
พรมแดนใด
“ผมไม่มีสิ่งที่โดราเอมอนมี นั่นคือ 'ไทม์แมชชีน' ที่สามารถพาพวกท่านกลับไปสู่โลกแห่งอดีตได้”
แม้ไม่มียานพาหนะข้ามกาลเวลา กระนั้น บนเวทีสัมมนาครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ก็อาสาพาผู้ฟังในหอประชุม ร่วมย้อนอดีตผ่านการนำเสนอมุมมองอีกด้าน ที่”ตำราประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ไม่เคยเอ่ยถึง และเราคนไทยอีกไม่น้อย อาจไม่เคยทราบเลย ว่า
“ในยุคของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ประเทศของเราเคยส่งอาวุธให้โฮจิมินห์รบกับฝรั่งเศส รู้ไหมครับ ว่าโฮจิมินห์ตั้งกองพันขึ้นในเวียดนามเหนือเพื่อรบกับฝรั่งเศสและตั้งชื่อกองกำลังนั้นว่า “กองพันสยาม” เพื่อเป็นเกียรติแก่สยาม”
เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเพื่อนบ้านพรั่งพรูอีกหลากหลายเรื่อง ไม่ว่า การที่ สุรชาติ ได้พบปะกับอดีตเสรีไทยท่านหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เครื่องพยาบาลที่ทิ้งมาจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ถูกทิ้งมาให้กับเสรีไทย เราแกะเอายาออกแล้วใส่ปืนไรเฟิลกลับเข้าไปแทน จากนั้นจึงส่งไปให้กับซูการ์โนรบในชวา หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
“ท่านทราบไหมว่า นายพลอองซาน พ่อของอองซาน ซูจี เดินทางมาเรียกร้องการต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่า ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯ”
นอกจากนี้ สุรชาติ ตั้งคำถามที่ชวนให้ละวางมายาคติเรื่องเขตแดนที่กั้นขวางแต่ละประเทศ
“ผมอยากลองตั้งคำถามว่า “สงครามไทยรบพม่า” นั้น แท้จริงแล้วมีไหม? หรือพูดกันอย่างง่ายๆ กว่านั้น แท้ที่สุดแล้ว “ประเทศไทย” เกิดขึ้นเมื่อไหร่? ชุมชนในภูมิภาคนี้มีมาแล้วยาวนาน แต่การเกิดขึ้นของ “รัฐ” ไม่ว่าในนาม “รัฐไทย” หรือ “สยาม” เกิดขึ้นเมื่อไหร่? ผมมองว่า เมื่อมีการปักปันเส้นเขตแดน
เส้นเขตแดนกำหนดสถานะของเราตราบถึงวันนี้ พูดง่ายๆ “ชีวิต” ของรัฐ กำเนิดขึ้นจากสถานะทางภูมิศาสตร์
การเมือง แต่ลองมองอีกมุม ถ้าหากไม่มีเส้นเขตแดนล่ะ
“พงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่เคยใช้คำว่า “สงครามไทยรบพม่า” เลยนะครับ แต่พงสาวดารอยุธยาใช้คำว่า “สงครามระหว่างเจ้ากรุงศรีอยุธยากับเจ้ากรุงหงสาวดี” ไทยกับพม่าไม่เคยรบกัน แต่แน่นอน กรุงศรีฯ กับหงสาเคยรบกัน”
อย่างไรก็ดี ในการทำสงครามกันนั้นย่อมมีความซับซ้อน มีนัยทางรัฐศาสตร์อันละเอียดอ่อนมากมาย กระนั้นตำราประวัติศาสตร์มักนำเสนอในประเด็นที่ยึดติดกับเรื่องราวของบุญญาธิการ
“โลกในอดีตไม่ได้เป็นอย่างที่คนยุคปัจจุบันจินตนาการ แต่คนยุคปัจจุบันถูกสร้างจินตนาการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นจินตนาการที่เราถูกครอบงำในแบบเรียนประวัติศาสตร์ ได้รับอิทธิพลมาจากการกำเนิดของลัทธิอาณานิคม ซึ่งเป็นผลพวงของยุโรปหลังจากยุคที่พี่น้องชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคและโปเตสแตนท์ ทำสงครามใหญ่ นำไปสู่รัฐสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญ กับแนวคิดที่ว่า “อำนาจ” นั้นเกี่ยวโยงกับขอบเขตของรัฐ ของประเทศว่า สิ้นสุด ณ ตรงจุดใด”
รัฐสมัยใหม่จึงถูกกำหนดขึ้นโดยตำนานความเชื่อที่ใหญ่ที่สุด ว่า อำนาจของผู้ปกครองนครแต่ละพื้นที่นั้น สิ้นสุดลงตรงไหน
“ในทางภูมิศาสตร์ นำไปสู่การขีดเส้น ในรูปแบบการปกครองอำนาจของรัฐ หรือเจ้าผู้ครองนคร” สุรชาติ สรุปประเด็นดังกล่าว ก่อนเพิ่มเติมเล็กน้อย ว่า
ลองมองย้อนกลับไป หากระบอบล่าอาณานิคมไม่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีการลากเส้นเขตแดนแล้ว สรุปว่า ในทางภูมิศาสตร์ อำนาจของสยามสิ้นสุดที่ตรงไหน หรืออำนาจที่แท้จริงของเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส จะสิ้นสุดตรงจุดใด หากเป็นเช่นนั้น...
“แม่น้ำโขงจะไม่กลายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ แต่จะเป็นเพียงแม่น้ำที่พี่น้องสองฝั่งโขงใช้ร่วมกัน เป็นแม่น้ำที่เมื่อฝั่งโน้นมีงานบุญ พี่น้องฝั่งนี้ก็จะข้ามไปร่วมงาน วันไหนฝั่งนี้มีงานบุญ พี่น้องฝั่งโน้นก็ข้ามมา ถ้าคุณเคยอยู่แถบชายแดน จะเห็นภาพเหล่านี้เยอะ เราจะไม่รู้สึกเลยว่าแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำเมย คือเส้นที่แบ่งกั้นเขตแดน “
แต่แล้ว ระบบอาณานิคมทำให้เกิดรัฐสมัยใหม่ในภูมิภาคนี้ ก่อให้เกิดแนวคิด “ชาตินิยม” ในภูมิภาคนี้
“ผมถามจริงๆ ว่าเราๆ ท่านๆ เคยเห็น “เส้นเขตแดนจริงๆ ของรัฐไหม” สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย
.........
แล้วคุณล่ะ เคยเห็นหรือเปล่า? เส้นพรมแดนที่ว่านั้น มันมีอยู่ ณ พิกัดใดของผืนโลก หรือแท้แล้ว พรมแดนที่แบ่งแยกพี่น้องแห่งอุษาคเนย์ให้เคลือบแคลงหวาดระแวงต่อกัน อยู่ในใจของเรานี่เอง
............
เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ถ่ายภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์
ภาพประกอบโดย : นิตยสาร เพื่อนไร้พรมแดน