xs
xsm
sm
md
lg

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช

บรรดานิตยสารที่ทรงคุณค่าทั้งในแง่ที่เป็นนิตยสารที่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านล้วนทรงภูมิมีความรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อีกทั้งยังมีเกล็ดวิทยาเชิงสังคมและธรรมเนียมดั้งเดิมของไทยเรา

นิตยสารที่ผมกล่าวนี้คือ นิตยสารศิลปวัฒนธรรมครับ

ผมภูมิใจมากที่นับตั้งแต่เริ่มแรกนั้น ผมมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้ได้รับโฆษณาและประชาสัมพันธ์จากบริษัทการบินไทย โดยในขณะนั้นผมทำงานที่การบินไทย และได้วางนโยบายการประชาสัมพันธ์ไว้เกี่ยวกับการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมว่าเป็นหัวใจสำคัญ หากการบินไทยถือว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ

ผมติดตามนิตยสารศิลปวัฒนธรรมมาตลอด และพบว่าได้รับประโยชน์ทุกๆ เล่ม มีทั้งเรื่องราว สาระที่ใหม่เสมอมีการนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ

แม้ว่าจะหายากอย่างไรก็จะมีคนไปช่วยค้นคว้ามาให้

กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นที่เดียวที่เราจะได้ข้อมูลใหม่ สด และใช้ในการอ้างอิงได้เสมอ

ศิลปวัฒนธรรมเล่มที่ถึงมือผมนี้ เป็นฉบับปีใหม่แล้วคือ ฉบับปีที่ 30 แล้วครับ ลงวันที่ 3 มกราคม 2552

เดี๋ยวนี้ราคา 120 บาท แต่คุ้มค่าสมราคาละครับ

ถูกกว่านวนิยายฝรั่งมือสอง

ว่างั้นเถอะครับ


มีเรื่องน่าสนใจในฉบับแรกของปีใหม่อยู่เรื่องหนึ่ง คือ “พงศาวดารเหนือฉบับกรุงปารีส” (ไม่ใช่เอกสารครั้งรัชกาลที่ 1)

เรื่องราวน่าสนใจมาก!

หนังสือที่ว่านี้สมัยหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2412 และมีตำนานเรื่องพระแก้วมรกตอยู่ข้างท้ายด้วย

ฉบับที่ค้นพบใหม่นี้ หอสมุดแห่งชาติที่ปารีสเก็บเอกสารไว้ชื่อ (ตามหน้าแรก) คือ Phangsavaclanmuang nua และอธิบายไว้อีก 2-3 บรรทัดดังนี้ครับ

“เป็นภาคแรกของพงศาวดารสยาม ตั้งแต่ต้นกำเนิดของชาวสยาม จนกระทั่งการสถาปนาอยุธยา”

คนที่นำมาให้กับห้องสมุดปารีส คือ มุขนายกมิสซัวปัลเลอกัวซ์ โดยมอบตั้งแต่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1853 หรือ พ.ศ. 2396 นับ 156 ปีมาแล้วนะครับ

เรื่องที่ว่าปัลเลอกัวซ์ได้พงศาวดารนี้จากไหนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ดูจากต้นฉบับแล้ว พบว่าเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากเดิม และน่าจะถูกปรับลดหรือเพิ่มเนื้อหาเป็นบางส่วนด้วยซ้ำไป

กล่าวได้ว่า นี่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยแม้ว่าบันทึกอาจจะสับสนอยู่บ้าง เริ่มจากเรื่องของพระธรรมราชาและมาจบลงที่ตำนานเมืองหงสาวดี และเรื่องก็ผสมกันตั้งแต่พระยาธรรมราชาสร้างเมืองสวรรคโลก การสร้างเมืองหริภุญไชย เมืองกำโพชนคร (ทุ่งยั้ง) เมืองพิชบูรณ์

เรื่องพระร่วงเจ้า แต่ไม่มีเรื่องพระแก้วมรกต

ส่วนสำคัญก็คือ พงศาวดารเหนือ มักจะอิงกับตำนานการสร้างพระพุทธชินราชเป็นหลัก

พงศาวดารฉบับปารีสก็เช่นกัน เพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน (ซึ่งนิตยสารทำตารางแสดงไว้)

เป็นความจริงว่าพงศาวดารเหนือจะได้รับความสนใจในเรื่องว่ามีการให้ความสำคัญน้อยจากนักวิชาการเพราะข้อมูลและปีศักราชมักคลาดเคลื่อน แต่จริงๆ แล้ว ควรดูเรื่องข้อมูลมากกว่า

ข้อมูลนั้นเป็นความสำคัญซึ่งในที่นี้มีบอกถึงเรื่องสำคัญไว้พอควร เช่น การจัดลำดับพระราชาคณะและการตั้งคณะสงฆ์ว่าเป็นเรื่องของอยุธยา

ครับ... ผมเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจในฐานะที่ผมสนใจของใหม่ทางประวัติศาสตร์

นอกจากนี้เรื่องที่ว่านี้แล้วนิตยสารขึ้นปีใหม่ก็มีเรื่องอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

แม้กระทั่งเรื่อง พัฒนาการการใช้ยาฝรั่งในกรุงสยาม

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ เพราะเดิมนั้นยาไทยก็เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน

สภาพบ้านเมืองของไทย โรคร้ายเวลาระบาดครั้งใดก็ทำให้คนไทยล้มตายไปมาก โรคสำคัญๆ อย่างท้องร่วง อหิวาต์ ไทฟอยด์ โรคบิด มักเป็นกันมาก มาตามฤดูกาล

แหล่งน้ำดื่มกินของชาวสยามหนีไม่พ้น แม่น้ำเจ้าพระยา แต่บ้านเราหน้าฝนช่วยให้เราเก็บน้ำฝนไว้ดื่ม ซึ่งสะอาดกว่ากินน้ำจากแม่น้ำ

หน้าร้อนอหิวาตกโรคจะระบาดทุกปี 1 เดือนคนตายไปร่วม 2 หมื่นคน ซึ่งนับจำนวนคนกรุงเทพฯ สมัยนั้นถือว่ามากมาย

เราใช้แพทย์แผนโบราณมาตลอดกินรากไม้ ใบยา ทั่วๆ ไป

มารู้จักยาฝรั่งเมื่อมีมิชชันนารีเข้ามาครับ เพราะเขามาตั้งโรงยาขึ้นเอง

คนที่เผยแพร่วิทยาการก็ไม่ใช่ใครอื่น หมอบรัดเลย์นี้แหละ

ตัวยามีมากถึง 42 ขนาน

และมีบันทึกว่า ยาฝรั่งทำง่ายกว่ายาไทย เพราะเป็นยาเม็ด เช่น ยาควินินแก้โรคไข้จับสั่น ซึ่งหัวเมืองเป็นยาหายาก

ห้างยาไทยห้างแรกตั้งเป็นกิจการได้คือห้างพระจันทร์โอสถมีชื่อเรื่องผลิตและขายยาสตรี ยาปราบมดลูก และยาสำหรับเด็กคือยากุมาร

หมอที่มีความรู้เกี่ยวกับต่างประเทศ จะได้เปรียบสามารถผสมยาออกขายและเผยแพร่ได้

ใครที่สนใจหลายเรื่องที่มีสาระสำคัญสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น