xs
xsm
sm
md
lg

"ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา" เกียรติยศแห่งอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพของการแข่งขัน “ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา” ที่มีเกียรติยศสูงสุดสำหรับผู้ชนะคือถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นนัดหมายในทุกเดือนธันวาคมสำหรับเหล่านักแล่นเรือ

จากอดีตจนถึงปัจจุบันการแข่งขันที่มีอายุมากกว่า 2 ทศวรรษนั้นได้ทาบทับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผืนทรายและท้องทะเลสีเขียวเข้มของชายฝั่งภูเก็ต หากปีนี้สีสันของ “เกียรติยศแห่งอันดามัน” เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อคลื่นลมและมรสุมทางการเมืองได้กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้จัดรวมไปถึงบรรดานักกีฬาแสดงอาการกังวลใจ หากตลอดสัปดาห์ของการแข่งขันความมุ่งมั่นของผู้จัดและ “ทีมแข่ง” จำนวน 97 ลำก็สามารถปิดฉากของการแล่นใบเหนือห้วงน้ำอันดามันได้อย่างงดงามเหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา

1.
หากย้อนเวลาไปหาอดีตของ “ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา” รายการเรือใบที่มีถึงขนาดและอายุของความยิ่งใหญ่อยู่ในระดับต้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการแข่งขันครั้งแรกเริ่มต้นในปี พ.ศ.2530 เวลานั้นมีเรือเข้าร่วม 14 ลำ แต่จากการแล่นลำมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าจำนวนของทีมที่เข้าแข่งนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการแข่งขันที่ผ่านมามีจำนวนเรือที่ล่องอยู่ในการแข่งขันมากกว่า 100 ทีม

ด้วยประวัติอันยาวนานกว่าสองทศวรรษของการแข่งขัน แม้ว่าคลื่นลมทางการเมืองของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังก่อตัวเป็นดีเปรสชั่นจนทำให้ฝ่ายจัดเกรงว่าอาจจะส่งผลให้การแข่งขันซบเซาลง ทว่าบรรดานักแล่นใบจากทั่วทุกสารทิศก็ยังพาเหรดกันเดินทางมาจังหวัดภูเก็ตเพื่อร่วมชิงถ้วยพระราชทานกันอย่างคับคั่งรวม 97 ลำ พร้อมสมาชิกกว่าพันชีวิตจาก 30 ชาติทั่วโลก

ด้วยปรากฏการณ์ชนิดเกินคาดได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ เควิน วิทคราฟท์ ประธานจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นอย่างมากโดยกล่าวผ่านทีมข่าวกีฬา MGR Sport ว่า

"แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ปิดสนามบิน แต่ก็มีเรือยกเลิกแค่ 8 ลำเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจ จากการสำรวจความคิดเห็นของนักแข่งมากกว่า 100 คน ส่วนใหญ่จะบอกว่าลมที่นี่กำลังดีเหมาะแก่การเล่นเรือใบ นั่นคือไม่เบาหรือแรงจนเกินไป ขณะที่ทัศนียภาพของจังหวัดภูเก็ตก็สวยงามที่สุดเท่าที่ทุกคนเคยพบ แต่ก็อยากปรับให้มีวันแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้ก็มีทีมจากรัสเซียและเกาหลีใต้ที่เพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ซึ่งพวกเขาต่างประทับใจและขอให้ไปนำเสนอรายการนี้ที่สโมสรของเขาอีกด้วย

"นักแข่งที่มาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเหมือนได้อยู่ที่ฮาวาย ซึ่งหลายคนยืนยันว่าพร้อมจะกลับมาอีกครั้งในปีหน้า ความทรงจำที่เรามีร่วมกันตลอดทั้งสัปดาห์จะอยู่ในใจของทุกคน ผมเชื่อว่าจากนี้ไปจะมีการบอกเล่าแบบปากต่อปากเองว่ารายการนี้ดีอย่างไร"

ด้วยเหตุนี้ เควิน ที่เคยเป็นนักแล่นใบทีมชาติไทยจึงเชื่อว่าหากได้รับการส่งเสริมที่ดีก็น่าจะมีทีมเข้าร่วมมากกว่านี้อย่างแน่นอน

"ปีหน้าเราหวังว่าจะมีเรือเข้าร่วมประมาณ 120-130 ลำ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งตอนนี้กำลังประสานกับทางรัฐบาลอยู่ เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนนอกเหนือจากภาคเอกชน เราอยากจะโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ช่องที่ค่อนข้างเป็นสากล อย่างเช่น สตาร์สปอร์ต เนื่องจากตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ปกติเราก็จะใช้ช่องทางเว็บไซต์, อีเมล และการส่งโปสเตอร์ไปตามสโมสรหรือสถานที่ชุมนุมของบรรดานักแข่งเรือใบทั้งหลาย ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของเรายังคงเป็นพวกแถบยุโรป, ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์เหมือนเดิม แต่หลังจากนี้คงเน้นหนักทางภาคพื้นเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีน"

นอกจากนี้ เควิน ซึ่งรั้งตำแหน่งกรรมการบริหารฝ่ายแผนและโครงการของสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ หวังจะทำให้ ภูเก็ต รีกัตตา เป็นทัวร์นาเมนต์เรือใบที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

"ตอนนี้ ภูเก็ต รีกัตตา ถือเป็นเทศกาลเรือใบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแล้ว ซึ่งทุกคนในวงการรู้จักและอยากจะมาร่วม เรามีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่เป็นรายการการกุศลและเทิดพระเกียรติ โดยรายได้ทั้งหมดมอบแก่มูลนิธิของในหลวงฯ อีกทั้งยังเป็นการผสานกันระหว่างการแข่งขันที่ดุเดือดกับความสนุกสนานของงานเลี้ยงที่จัดขึ้นทุกวัน บนผืนน้ำเราอาจเป็นคู่แข่งกัน แต่เมื่อขึ้นมาแล้วทุกคนเป็นเพื่อน ซึ่งผมคิดว่าไม่มีที่ไหนในโลก

"ส่วนอนาคตต่อไปของ ภูเก็ต รีกัตตา เราอยากเพิ่มจำนวนเรือหรือคนที่มาแข่งให้มากขึ้น ตลอดจนผลักดันให้เป็นทัวร์นาเมนต์ระดับท็อป 5 ของโลก คือเมื่อคนนึกถึงเทศกาลแข่งเรือใบ 5 รายการ ขอให้มีเราอยู่ในนั้น เช่นเดียวกับบรรดารายการระดับโลกอย่าง คาวน์สวีค ที่ประเทศอังกฤษ, คีล ที่ประเทศเยอรมนี, มิดเดิล ซีเวสต์ ที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ซิดนีย์-โฮบาร์ท ที่ประเทศออสเตรเลีย หรืออารูบาวีค ที่แคริบเบียน ในหมู่เกาะเบอร์มิวดา ซึ่งนั่นคือเป้าหมายของเราในอีก 5 ปีข้างหน้า"

2.
ไม่ใช่แค่ฝ่ายจัดเท่านั้นที่อยากเห็นศึกเรือใบที่ภูเก็ตเติบโต แต่ผู้เข้าแข่งขันก็เห็นพ้องต้องกันด้วย โดย เรือเอกวีรสิฏฐ์ พวงนาค นักกีฬาและผู้ฝึกสอนเรือใบทีมชาติไทยที่เคยลงสนามใหญ่อย่าง ซีเกมส์ (5 สมัย), เอเชียนเกมส์ (2 สมัย), โอลิมปิกเกมส์ (ปี 2000) รวมถึงรายการชิงแชมป์เอเชียและชิงแชมป์โลกกล่าวถึงเป้าหมายในการลงชิงชัยปีนี้ว่า

"จุดประสงค์หลักที่เข้าร่วมแข่งขันภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา คือความภูมิใจที่ได้ร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ถ้าเป็นด้านการแข่งขันก็คืออยากนำถ้วยกลับมาอยู่ในมือคนไทยให้ได้"

ย้อนกลับไปครั้งก่อน เรือ "Madame Butterfly" จากสหราชอาณาจักรเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ในรุ่น IRC 2 ที่มี "ราชนาวีไทย 1" และ "ราชนาวีไทย 2" ร่วมชิงชัยด้วย ดังนั้น เรือเอกวีรสิฏฐ์ ซึ่งแข่งรายการนี้มา 5 ครั้ง (เป็นแชมป์ในปี พ.ศ.2545 และ 2546) จึงมุ่งมั่นที่จะนำถ้วยพระราชทานกลับคืนมาให้ได้ แม้สุดท้าย "ราชนาวีไทย 2" ที่มีเขาเป็นนายเรือจะได้เพียงอันดับ 2 ในปีนี้ แต่ความปรารถนาของเขาก็เป็นจริง เมื่อ "ราชนาวีไทย 1" ที่มีปัญหาเสากระโดงเรือหักตั้งแต่ช่วงซ้อมเร่งเครื่องคว้าแชมป์มาให้กับราชนาวีไทยได้สำเร็จ

แต่ที่สำคัญกว่านั้น นายเรือราชนาวีไทย 2 ยังมองการณ์ไกลไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงแข่งเรือใบประเภท Keel Boat ในมหกรรมกีฬาใหญ่อย่าง "เอเชียนเกมส์ 2010" ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่ง ภูเก็ต คิงส์ คัพ รีกัตตา ถือเป็นรายการฝึกซ้อมชั้นดีที่จะได้สัมผัสบรรยากาศการแข่งขันที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเวลาลงสนามจริง

"การมารายการนี้เป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาฝีมือ เนื่องจากได้แข่งกับนักกีฬาต่างชาติที่เก่งๆ หลายทีม ทำให้เราพบกับความท้าทาย นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสที่จะได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์จริง เมื่อมีอุปสรรคในระหว่างแข่งขันจะได้รับมือได้ อย่างเช่นคราวนี้ก็เจอเรื่องฝาปิดช่องระบายน้ำจากห้องเครื่องเปิดลงมาราน้ำตอนแข่ง ทำให้เรือแล่นช้าลงก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ จึงเป็นบทเรียนให้นึกถึงก่อนการเตรียมตัวเพื่อลงแข่งรายการใหญ่"

เมื่อดูจากการที่ปีนี้มีนักแล่นใบกว่า 30 ประเทศทั่วโลกมาร่วมแข่งขันก็ยิ่งทำให้นายเรือราชนาวีไทย 2 อยากเห็นรายการนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในวงกว้างยิ่งกว่าเดิมซึ่งเขาให้เหตุผลว่า

"ยิ่งมีนักกีฬาทั้งของไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็จะช่วยให้เราพบความท้าทายใหม่ๆ ในการประลองฝีมือมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสดีในการพัฒนาความสามารถ อีกทั้งยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย เพื่อที่จะได้จัดรายการใหญ่ระดับโลกรายการอื่น นอกเหนือจาก ภูเก็ต รีกัตตา"

3.
ในอีกมุมมองหนึ่งจากการสุ่มตัวอย่างถามนักแข่งชาวต่างชาติ พบว่าพวกเขาต่างประทับใจในศึกภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา แทบทั้งสิ้น โดยให้คำตอบกลับมาว่าเป็นรายการใหญ่ของทวีปเอเชีย ซึ่งธรรมชาติของนักกีฬาในระดับสากลก็มักจะอยากเป็นผู้ชนะการแข่งขันรายการสำคัญกันทั้งนั้น

ดังเช่น "นีล ไพรด์" วัย 69 ปี นายเรือทีม "Hi Fi" จากฮ่องกง ซึ่งคร่ำหวอดในวงการแล่นเรือมานานได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการร่วมแข่งรายการนี้ในประเภทเรซซิง (เรือรุ่นใหญ่สุดของรายการ) ว่า

"เป้าหมายแรกของผมคือการเป็นผู้ชนะ เนื่องจาก ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา ถือเป็นรายการอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย"

ประสบการณ์ของ ไพรด์ ในศึกเรือใบภูเก็ตนับว่าโชกโชน โดยเขาร่วมรายการมาแล้ว 16 ครั้งตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 โดยว่างเว้นไปเพียงแค่ 2 หนเท่านั้น และยังเคยคว้าถ้วยพระราชทานในรุ่นเรซซิงกลับบ้านไปถึง 3 สมัยในปี พ.ศ.2541, 2544 และ 2547 ส่วนในการแข่งระดับสากล เขาก็เคยรับใช้ทีมชาติในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโกมาแล้ว รวมทั้งผ่านสนามเรือใบมานับไม่ถ้วน ทั้งรายการสำคัญระดับโลก ตลอดจนรายการชิงแชมป์โลก

นอกเหนือจากความมุ่งมั่นที่จะคว้าแชมป์ ไพรด์ ยังบอกถึงความประทับใจที่มีต่อ ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา อีกว่า

"ผมชอบที่รายการนี้เวลาแข่งก็จริงจัง แต่เมื่อแข่งจบในแต่ละวันก็มีปาร์ตี้ให้ทุกคนได้มาร่วมสนุกสนานกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนรายการอื่น อีกทั้งมีบรรยากาศอันเป็นมิตรซึ่งรวมถึงฝ่ายจัดการแข่งขันและผู้คนที่นี่ ขณะที่ภูเก็ตเองก็เป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ ชวนให้ผู้มาเยือนหลงใหลในความงามของทะเลและธรรมชาติ"

แน่นอนว่าการร่วมชิงชัยรายการนี้ทำให้เขาได้ร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในวันที่ 5 ธันวาคม เจ้าของธุรกิจผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทางน้ำชนิดต่างๆ ทั้งเรือใบ, วินด์เซิร์ฟ ที่มีส่วนร่วมในปักกิ่งเกมส์ 2008 ในชื่อของ "RS:X" ได้นำเรือ Hi Fi เข้าร่วมพิธีสวนสนามทางเรือก่อนลงแข่งในตอนเช้า จากนั้นในงานปาร์ตี้ตอนกลางคืนก็ร่วมจุดเทียนถวายพระพรไปพร้อมๆ กับที่เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีมหาราชาด้วย

ทั้งนี้นายเรือจากฮ่องกง กล่าวถึงองค์พ่อหลวงอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยว่า

"การได้ร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นับเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นที่รู้จักและทรงเป็นที่เคารพรักของผู้คนในระดับนานาชาติ โดยในหมู่นักแข่งเรือใบทราบดีว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านกีฬาเรือใบ ผมรู้สึกปลื้มปีติที่ได้ร่วมกล่าว ‘ทรงพระเจริญ’ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์"

ด้าน พลเรือเอกวรงค์ ส่งเจริญ กรรมการบริหารฝ่ายต่างประเทศของสมาคมแข่งเรือใบฯ กล่าวถึงเสน่ห์ของการแข่งขันรายการนี้ว่า

"เรือใบมีข้อเสียคือภาพลักษณ์ที่เป็นเหมือนกีฬาของคนรวย ผู้เล่นต้องตากแดดตัวดำ และผู้ชมก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ในสายตาของนักแข่ง ประเทศไทยถือว่ามีพร้อมทุกอย่าง เนื่องจากเรือใบเป็นกีฬาที่ไม่ต้องสร้างอัฒจันทร์หรือสนามขึ้นมาใหม่ อาศัยสถานที่ธรรมชาติซึ่งเรามีครบถ้วนทั้งทะเล ชายหาด เกาะแก่งที่สวยงาม ลมก็แรงพอเหมาะ อากาศก็ดี

"ถ้าเป็นที่อื่นผู้เล่นต้องสวมชุดแข่งแบบเต็มยศเพราะบางที่ก็อากาศหนาว แต่ของเราไม่ต้อง แถมยังสวมรองเท้าแตะลงเรือได้ด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือรายการนี้เน้นปาร์ตี้สังสรรค์ พวกฝรั่งเขาชอบ ขอแค่มีที่พักมีอาหารการกินพร้อม พวกเขาก็จะหาทางมากันให้ได้เอง เรามีของดีอยู่ในมืออย่างนี้แล้วก็ควรส่งเสริมให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก" อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ วัย 72 ปี กล่าวทิ้งท้าย

ตลอดระยะเวลา 21 ปีในการแล่นเรือฝ่าคลื่นลมและอุปสรรคของ “ภูเก็ต คิงส์คัพ รีกัตตา” ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทัวร์นาเมนต์นี้กลายเป็นการแข่งขันเรือใบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียคือผู้จัดและนักแล่นใบ หากไร้ซึ่งสีสันจากทั้งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด การเดินทางของรายการนี้จะไม่สามารถยืนระยะจนทำให้เราท่านในฐานะคนไทยได้ภูมิใจเช่นปัจจุบัน และต้องไม่ลืมว่ามนต์เสน่ห์ของท้องทะเลอันดามันคือแรงหนุนสำคัญจนทำให้เหล่านักแล่นใบไม่ลังเลที่จะกลับมาเข้าร่วมอีกครั้ง

******************

เรื่อง-ทีมข่าวกีฬา
บนทะเลเป็นคู่แข่ง แต่ขึ้นมาแล้วทุกคนเป็นเพื่อนกัน
ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมถวายพระพรแด่ในหลวง
“เควิน วิทคราฟท์” ประธานจัด
ทีมชาติไทยซ้อมใหญ่ก่อนเอเชียนเกมส์ 2010
“นีล ไพรด์” เศรษฐีเจ้าสำราญจากฮ่องกง
 เรือ Hi Fi ที่มี นีล ไพรด์ เป็นนายเรือ
“พลเรือเอกวรงค์ ส่งเจริญ” หนึ่งในกรรมการใหญ่





กำลังโหลดความคิดเห็น