"ข้าพเจ้าไม่สู้จะแน่ใจนักว่าข้าพเจ้าคู่ควรกับเกียรติยศที่ข้าพเจ้าได้รับหรือไม่ ข้าพเจ้าเกรงว่าเพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้าอาจไม่พอใจและไม่เข้าใจ แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเอง ในบางขณะ ก็ยังคลางแคลงใจว่ามีความไม่เหมาะสมบางประการในการที่ใครสักคนจะดึงดันฝ่าฝืนกระแสความคิดหลักของสังคมโลก - ต่อให้กระแสความคิดหลักนั้นจะนำพาเราไปสู่ความพินาศก็ตาม หลายต่อหลายครั้งข้าพเจ้าเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะหลงใหลได้ปลื้มกับมนุษย์อย่างดาร์ตาญัง และขุ่นรำคาญแม้เมื่อเพียงแต่ได้ยินนามของบุคคลอย่าง ดอน คีโฮเต้ ถูกกล่าวขานออกมา
"ข้าพเจ้าจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ในสงครามของข้าพเจ้าต่อไป ด้วยยุทธวิธีของข้าพเจ้าเอง สงครามนั้นยังไม่สงบ และอาจไม่มีวันสงบ ชัยชนะเป็นแต่เพียงความหวังอันเลื่อนลอย การถูกปิดล้อมได้ดำรงอยู่มาแล้วศตวรรษและก็จะยังดำเนินอยู่ต่อไป...."
นี่คือบางส่วนของสุนทรพจน์ที่ แดนอรัญ แสงทอง หรือนามจริงของเขาคือ เสน่ห์ สังข์สุข ร่างขึ้นมาเพื่อกล่าวในพิธีมอบเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นเชอวาลิเย่ร์ ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อถึงเวลากล่าวสุนทรพจน์จริง เขากล่าวเพียงถ้อยคำสั้นๆ ว่า "ขอบคุณครับ"
นวนิยายเล่มหนาเรื่อง 'เงาสีขาว' เรื่องสั้นขนาดยาวเรื่อง 'อสรพิษ' หรือนวนิยายที่เจ้าตัวบอกว่าเขียนแล้วรู้สึกพ้นทุกข์อย่าง 'เจ้าการะเกด' ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมนี คาตาลัน โปรตุเกส และกรีก มียอดขายกว่าแสนเล่ม ขณะเดียวกัน, แวดวงหนังสือยุโรปต่างยกย่องให้ แดนอรัญ แสงทอง เป็น 'หนึ่งในนักเขียนที่มีศักยภาพล้ำเลิศแห่งยุคสมัย' แต่ในประเทศไทย, หนังสือของเขาและเจ้าตัวไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น...
"...ภาษาฝรั่งเศสคือภาษาแรกที่ ' เงาสีขาว ' ได้รับการแปลออกมา นวนิยายเรื่องนี้น่าสะพรึงกลัวดุจอสุรกาย อุดมด้วยสุ้มเสียงแห่งความโกรธเกรี้ยวอันสุดระงับ สุกสกาวเจิดจรัสและทรงอานุภาพร้ายกาจเยี่ยงอสรพิษ" จากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี
และว่ากันว่า 'อสรพิษ' กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในหลายมหาวิทยาลัยของฝั่งยุโรป และยังเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของ 'โฆเซ่ มูรินโญ' อดีตผู้จัดการทีมเชลซี และบรรดานักข่าวทั้งจากสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และอีกหลายประเทศ ต่างตามล่าหาตัวนักเขียนไทยคนนี้เพื่อหวังสัมภาษณ์
โชคดีที่เราเป็นนักเขียนนักข่าวไทย และจังหวัดเพชรบุรีก็อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เท่าไรนัก งานนี้เพื่อนๆ ของเรามีกันหลายคน ทั้งนักเขียนสาว นักข่าวหนุ่ม พากันนั่งล้อมวงคุยกับนักเขียนหนุ่มใหญ่วัย 50 อย่างออกรส, มีเรื่องราวอะไรบ้างที่พวกเขาพูดคุย แลกเปลี่ยน ทุ่มเถียง และแบ่งปันกันในราตรีกาลอันยาวนานนั้น - ไปฟังกันเลย...
การได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นเชอวาลิเย่ร์ ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากรัฐบาลฝรั่งเศส มีความหมายต่อคุณมากไหม
มันมีบางคนรับไม่ได้ พยายามกีดกันชิบหายเพื่อไม่ให้คนอื่นดีกว่า อะไรทำนองนั้น พอผมได้ผมก็รู้สึกสะใจ ก็คิดแบบมนุษย์ธรรมดา อะไรอย่างนี้ แต่อีกแง่หนึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้า คือไม่ต้องให้ฝรั่งมายกย่องอะไรผมหรอก มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ควรเกิดขึ้น บางทีผมก็รู้สึกสะเทือนใจมาก รู้สึกว่าวันงานนั้นน่ะ คนที่ทำตัวแย่ที่สุดในวันงานก็คือผมนั่นแหละ น้องคนหนึ่งมันบอกว่า พี่ไปยืนอยู่เหมือนนักโทษประหารเลยว่ะ (หัวเราะ) มันก็เป็นเรื่องน่าอาย ไม่รู้สิ น่าเศร้า แล้วฝรั่งพวกนั้นเขาต้องอ่านงานผมจากภาษาแปลด้วยนะ (หัวเราะ) ไอ้ห่า เขาต้องอ่าน 'เจ้าการะเกด' จากภาษาแปล จากภาษาอิตาเลียน ต้องอ่าน 'เงาสีขาว' จากภาษาสเปน ในแง่หนึ่งมันก็สะใจดี คือมันไม่ใช่งานของ... อะไรล่ะ แต่เสือกเป็นงานของผม มองในแง่ของความสะใจ ผมสะใจมาก รู้สึกว่าไม่ถึงกับเหนื่อยเปล่าเสียทีเดียว ก็ไอ้พวกสเปนมันคิดห่าอะไรถึงเอาเงาสีขาวปึกเบ้อเร่อไปแปล มันคิดอะไรของมัน หรือไอ้พวกอิตาเลียนมันนึกยังไง คุณเคยเห็นเจ้าการะเกดภาษาอิตาเลียนไหม โอ... มันทำหนังสือของผมซะสวยมากเลย เป็นสิ่งตีพิมพ์อันประณีตมากเลย ผมยังชอบเลย ผมยังอยากจะพกมาอวดพวกคุณมากเลย ผมอ่านไม่ออกหรอก แต่ว่า เอ๊... ไอ้ห่า ทำไมเขาประณีตบรรจงกับงานของกูจัง ทีไอ้ธนิต (สุขเกษม) เอาเจ้าการะเกดไปพิมพ์ให้ ไอ้วสันต์ (สิทธิเขตต์) เขียนรูปคนยืนชักว่าว เหี้ยเอ๊ย (หัวเราะ) ฝรั่งเขาก็ขอคุณมาร์แซล (บารังส์) ไปดู เขายังด่าข้ามทวีปมาเลย
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก, โลกวรรณกรรมของคุณได้รับการปลูกฝังมาอย่างไร แล้วมาเจอโลกการอ่านจริงๆ ครั้งแรกตอนไหน
พอผมเริ่มอ่านหนังสือออก ที่บ้านมีหนังสือเท่าไหร่ผมก็อ่านหมดเกลี้ยงเลย (หัวเราะ) ที่บ้านเขาเก็บหนังสือไว้ ผมได้อ่านพวกหนังสือบางกอก อะไรพวกนี้ อ่านทุกตัวเลย อ่าน'รงค์ วงษ์สวรรค์ เสเพลบอยช่าวไร่ และผู้มียี่เกในหัวใจ ตอนนั้นน่าจะประมาณปี 2511 - 2512 ผมโตขึ้นมาหน่อย แล้วก็มีอีกฉบับหนึ่งคือ ผดุงศิลป์ เดลิเมล์วันจันทร์ อีกฉบับหนึ่งรู้สึกจะชื่อ ศรีศักดา ที่บ้านผมมีแม้แต่หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ของโบร่ำโบราณมากเลย เป็นหนังสือที่ปัญญาชนสมัยนั้นเขาพยายามออกหนังสือเล่มนี้มาเพื่อจะต่อสู้กับปัญญาอย่างฝรั่งที่พวกหมอสอนศาสนาเอามาเผยแพร่ นั่นแหละ ผมก็จะได้อ่าน และได้ฟังเยอะ
ในห้วงเวลานั้นคุณได้ตระหนักขึ้นมาบ้างหรือเปล่าว่าตัวเองน่าจะเป็นนักเขียนในอนาคต
มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์ เขาเขียนเรื่องของไอ้หนุ่มคนหนึ่งที่อยากเป็นนักเขียน แล้วฝันว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียนชื่อดัง ร่ำรวย มีเงินทอง มีเกียรติยศชื่อเสียง ตามเนื้อเรื่อง เขาก็พยายามเขียนเรื่องขาย แล้วก็ขายไม่ได้ จนลงเอยด้วยการที่ไอ้หนุ่มคนนี้กระเซอะกระเซิงเสียสติ อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้จบ ผมก็รู้สึกว่า โอ้โห การเป็นนักเขียนมันเป็นเรื่องน่าเศร้าชิบหาย ช่วงนั้นผมอยู่ชั้นป. 3 ป. 4 ผมก็เป็นคนอ่านหนังสือเยอะมา ไม่ได้มีอะไรนักหนา ในช่วงเกกมะเหลกเกเร ช่วงทำอะไรบัดสีบัดเถลิงผมก็อ่านหนังสือเยอะเป็นนิสัย ส่วนวรรณกรรมต่างประเทศก็มีงานแปลของคุณ อาษา ขอจิตต์เมตต์ ให้อ่านตั้งแต่ก่อนหน้านั้นอีก อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลงานของ กีย์ เดอ โมปาสซังต์ ผมก็อ่านมาเรื่อยๆ ช่วงเรียนมัธยมปลายผมก็ได้อ่านงานแปล ช่วงเป็นวัยรุ่นผมก็อ่านนิตยสารฟ้าเมืองไทยเยอะอยู่เหมือนกัน ฟ้าเมืองไทยมันจะมีแรงกระตุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เราอยากเขียนหนังสือ เป็นหนังสือที่ให้เกียรตินักเขียนมาก คุณมีเรื่องได้ลงตีพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย คุณจะรู้สึกดีมากๆ แล้วคุณ อาจินต์ ปัญจพรรค์ แกก็คอยติงบ้าง คอยแนะบ้าง คอยให้กำลังใจบ้าง แกเอาใจใส่นักเขียน ผมเข้าใจว่าถ้าผมเป็นนักเขียนผมจะเป็นคนที่มีคุณค่าขึ้นมา
มีหนังสือเล่มไหนที่เป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งใหญ่ให้คุณอยากเป็นนักเขียน
พอเรียนปีหนึ่งปีสองที่ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) ผมก็มีโอกาสได้อ่านเรื่อง The Necklace อะไรนี่แหละ ของ กีย์ เดอ โมปาสซังต์ แล้วก็เรื่อง ของขวัญวันตรุษ (The Gift of the Magi) ของโอ เฮนรี่ ที่สองผัวเมียมันจนมาก แล้วมันก็รักกันมาก วันคริสต์มาส ผัวมันมีของมีค่าอยู่อย่างหนึ่งติดตัวคือนาฬิกาพก แต่เป็นนาฬิกาพกที่ไม่มีสาย ส่วนอีนางเมียก็มีผมที่ยาวมากและสวยมาก แล้วพอถึงวันที่เขาจะให้ของขวัญกัน ไอ้ผู้ชายก็เอานาฬิกาพกของมันไปจำนำแล้วซื้อหวีมาให้เมีย ส่วนอีนังเมียก็ตัดผมเอาไปขายเพื่อเอาเงินไปซื้อสายนาฬิกาให้ผัว เรื่องสั้นนิดเดียว แล้วก็จบ ผมรู้สึกว่าโชคชะตาแม่งเล่นแรง ทำให้ผมรู้สึกอย่างจริงจังว่าชะตากรรมไม่ได้หยอกเล่น แต่มันฆ่าเรา
...ถ้าพูดว่ามีแรงบันดาลใจอะไร ก็น่าจะมีแรงบันดาลใจจากหนังสือ 'ฟ้าเมืองไทย' และ 'ฟ้าเมืองทอง' นี่แหละมาก เออ, แล้วก็มีหนังสือที่ลงเรื่องสั้นเยอะๆ ด้วยนะ ชื่อ 'ชาวกรุง' สมัยโน้นนะ ผมก็อ่านชาวกรุง อ่านฟ้าเมืองทอง อ่านฟ้าเมืองไทย ก็เลยอยากเขียนบ้างเท่านั้นเอง ถ้าพูดถึงหนังสืออะไรที่มันแรงมากๆ สักเล่มหนึ่ง มันเป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้วแทบไม่รู้เรื่องเลยในวัยเด็ก คือเรื่อง 'มาดามโบวารี' ผมอ่านไม่ได้ มันขื่น มันดูไม่สวย มันพูดถึงความจริงอย่างที่มันเป็นจริง ผมอ่านไม่รู้เรื่อง พออีกทีหนึ่งผมเรียนหนังสือจบแล้วผมว่างงาน ผมไม่รู้จะทำอะไรก็เลยหยิบมาดามโบวารีมาอ่าน โอ้... ทีนี้ผมไม่รู้ว่าทั้งตกนรกทั้งขึ้นสวรรค์ในเวลาเดียวกัน มันเป็นหนังสือที่รุนแรงมาก แล้วผมก็รู้สึกว่า จีเนียส (Genius) ทางวรรณกรรมเป็นอย่างนี้
ช่วงที่น่าจะหล่อหลอมให้คุณเป็นตัวเป็นตนทางด้านงานเขียนมากที่สุดก็คือช่วงเรียนที่ประสานมิตร
ตอนนั้นมันได้เจออาจารย์ดีๆ เจอเพื่อน เจออะไรเยอะ แล้วมีหนังสือให้อ่านเยอะ รู้สึกว่าหนังสือปกอ่อนสมัยนั้นมันยังพิมพ์ 6,000 - 12,000 เล่ม คนหนุ่มสาวสมัยนั้นมีหนังสืออ่านกันมาก หนังสือราคาไม่แพง ในยุคต่อมามีหนังสือ 'หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว' (One Hundred Years of Solitude-กาเบรียล การ์เซีย มาร์เควซ นักเขียนรางวัลโนเบล : เขียน, ปณิธาน-ร.จันเสน : แปล) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก 68 บาท คุณนึกดู (หัวเราะ)
แล้วเรื่อง 'ฝันสีดำ' (The Blind Owl ของ ซาเดกห์ เฮดายัต (Sadegh Hedayat) นักเขียนชาวอิหร่าน แดนอรัญ แสงทองแปลและเรียบเรียง มีโปรยบนปกว่า "หนังสือเล่มหนึ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก") คุณแปลช่วงไหน
'ฝันสีดำ' แปลช่วงที่เรียนจบแล้ว ผมก็เป็นนักแปลอ่อนหัด แล้วก็เป็นนักเขียนอ่อนหัด ต้องใช้เวลานานมาก เรียนรู้ช้า คือผมเป็นนักแปลอ่อนหัดนานมากเลย แล้วก็เป็นนักเขียนอ่อนหัดนาน... แม้ขณะนี้ผมก็ยังสามารถที่จะอ่อนหัดได้ ผมว่ามันเป็นเกมที่ยากแก่การเอาชนะ ยาก... ผมอาจจะคว่ำแบบไม่เป็นท่าก็ได้ เขียนเรื่องออกมาไม่เข้าท่า หรือตื้น อะไรต่างๆ ได้ หรือแปลหนังสือออกมาได้แย่ ถ้าเป็นหนังสือที่ผมไม่ชอบ คุณมาร์แซล บารังส์ (นักแปลและนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศส) เคยบังคับให้ผมแปล อะไรอย่างนี้ ผมไม่มีตังค์ใช้ผมก็เลยแปล แกจ่ายค่าเรื่องแพงผมก็เอา (หัวเราะ) ปรากฏว่ามันไม่ค่อยได้เรื่องหรอก แล้วผมก็เอาไปให้คุณมาร์แซล อยากแก้ก็แก้เอาเอง คุณมาร์แซลก็โมโห อย่างเรื่อง 'มาตานุสติ' ผมเขียนตอนที่อายุมากด้วยซ้ำไป มันมีฉากหนึ่งที่มันแย่มากๆ คือฉากที่แม่ขึ้นไปจับลิง (บนต้นไม้) ผมพยายามแก้แล้วแก้อีกมันก็ยังแย่อยู่เหมือนเดิม (หัวเราะ)
แล้วอย่างหนังสือเล่มแรกของคุณ 'ผู้ถูกกระทำ' ?
มันก็เขียนไปเพราะแรงอยากเขียนนั่นแหละ และที่มันแย่มากๆ ก็คือรู้สึกเป็นช่วงที่ไม่มีเงินใช้ นี่เป็นภาวะที่น่ากลัวสำหรับคนที่ต้องเขียนหนังสือเพื่อแลกกับเงิน แล้วตัวเองก็ยังเป็นนักเขียนอ่อนหัด ก็เป็นช่วงที่น่ากลัว แต่ผมมีความมุ่งมั่นมากกับผลสัมฤทธิ์ทางวรรณกรรม, ผมทุ่มเทมาก
ช่วงนั้นดูเหมือนคุณจะชอบงานเขียนของอัลแบร์ กามู (Albert Camus - นักเขียนรางวัลโนเบลปี1957) อยู่เหมือนกัน
ก็มีอิทธิพลของกามูอยู่ แต่จากเรื่องคนนอกนะ ผมรู้สึกชอบตัวละครชื่อ 'กาเดียร์เยฟ' ในบทละครเรื่อง 'ผู้บริสุทธิ์' กาเดียร์เยฟรู้สึกว่ามันเป็นนักปฏิวัติที่ไม่ยอมฆ่าเด็ก ผมชอบบุคลิกของตัวละครตัวนี้ที่มันเป็นนักปฏิวัติ แล้วมันก็ทะเลาะกับนักปฏิวัติด้วยกัน
ได้ยินมาว่าคุณไม่ชอบนักเขียนอย่าง (ฟีโอดอร์) ดอสโตเยฟสกี, ทำไม...
ผมก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน คือโดยวิธีการเขียนประการหนึ่งด้วยที่ผมไม่ให้อภัยดอสโตเยฟสกี โดยวิธีเขียนหนังสือของเขา อะไรอย่างนี้เป็นต้น ผมเป็นคนประณีตกับสไตล์มาก เพราะฉะนั้นผมก็ไปชื่นชม ดอสโตเยฟสกี ไม่ได้ ความจริงผมก็อ่านงานของเขาน้อย แล้วผมคิดว่าส่วนที่ผมควรจะฝึกก็คือพัฒนาความสามารถทางการเขียนของตัวเอง แล้วไอเดียของ ดอสโตเยฟสกี พอผมพบพุทธศาสนาเข้าผมก็ไม่ตื่นเต้นอีก แม้กระทั่งไอเดียของ (ลีโอ) ตอลสตอย หรือไอเดียของฝั่งตะวันตกทั้งหมด ผมไม่ตื่นเต้น ผมเล่าเรื่องพระสารีบุตรได้เป็นคุ้งเป็นแควดีกว่า ผมเล่าเรื่องพระ โมคคัลลานะ ได้เป็นคุ้งเป็นแคว ผมเล่าเรื่องวีรกรรมความสูงส่งของบรรดานักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ แต่จะไม่สนใจกับสติปัญญาอย่างนั้นของคนเหล่านั้น (นักเขียนจากฝั่งตะวันตก) อีกแล้ว แม้กระทั่ง นิทเช (Friedrich Wilhelm Nietzsche - เจ้าของประกาศอันอื้อฉาว "พระเจ้าตายแล้ว") ผมก็ไม่สนใจ ไม่ตื่นเต้น ผมยังนึกว่าเสียเวลาด้วยซ้ำ เรามีของที่ดีกว่า
...วรรณกรรมมันเป็นเรื่องของทางโลก เป็นเรื่องของโลกียะ ผมเองก็ยังไม่ได้ผลักมันเข้าไปสู่โลกุตระ เรื่องทางโลกเราเขียนไปเพราะว่าเราอยากได้เงินจากมัน นี่ขั้นพื้นฐานสุด เราได้ชื่อเสียงเกียรติยศจากมันเท่านั้นเอง มันเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง ใช่ไหม โลกธรรมเป็นเรื่องที่ขั้นพื้นฐานมาก โลกธรรมมันประกอบไปด้วย มีลาภ เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญ ก็มีนินทา มีสุข ก็มีทุกข์ สิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน อย่าง 'เงาสีขาว' นี่เล่นผมถึงตาย แล้วถ้าผมดื้อกับมันผมถึงตาย พูดง่ายๆ ว่า มันเป็นการดวลกัน แล้วเราก็ควรเป็นชายชาตินักรบ หมายถึงเรากล้าให้มันถูกทาง ผมใกล้ตายหลายหน อย่างตอนเขียนเงาสีขาว ตอนนั้นถ้าใครมันไปโผล่หน้าในบ้านหลังนั้น (บ้านหลังที่เขาใช้เป็นสถานที่เขียนนิยายเรื่องเงาสีขาว) แล้วส่งเสียง อ๊ะ! แค่นั้นล่ะ ผมไปเลย ผมไม่กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีก เพราะว่ามันไม่น่าเป็นที่ที่มนุษย์อยู่ อยู่ด้วยความฝันบ้าๆ อยู่ด้วยการกระทำบ้าๆ อยู่ด้วยการขีดเขียน อย่างบ้านร้างที่จังหวัดแพร่ที่ผมเอามาใช้เป็นฉากแรกในเงาสีขาว มีตุ๊กแกร้องอยู่ข้างหน้าต่าง หมาหอนอยู่ใต้ถุน แล้วอาคารที่ผมเข้าใจว่ามันเป็นบ้านคน ที่ไหนได้มันเป็นศาลาพักศพ ผมไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ แล้วผมก็... ไอ้ห่า ไม่รู้เรื่องธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธุดงควัตร
ตรงนี้มันเป็นแง่ดีไม่ใช่หรือ ถ้าเกิดไม่มีโลกียะ คุณก็ไม่สามารถสร้างเงาสีขาวได้ ?
จริงๆ แล้วมันก็เป็นอย่างบัวสี่เหล่า แม้กระทั่งบัวที่บานแล้วมันก็เป็นบัวที่ไปจากโคลนตม เราก็เป็นบัวที่ยังอยู่กับโคลนตม จริงๆ ชีวิตของท่านเหล่านี้ ผู้ประเสริฐทั้งหลายก็ผ่านมาจากโคลนตมทั้งนั้น อย่างท่านองคุลิมาลก็แทบจะไม่กลับ
เรารู้สึกว่าโลกียะ เอาเข้าจริงแล้วมันก็มีคุณค่าคู่ขนานไปกับโลกุตระ มันเป็นไปได้ไหมอย่างนั้น
ถึงวันหนึ่งคุณต้องเลือก ถึงวันหนึ่งนั้น ถ้าคุณประเสริฐจริง ถ้าคุณกล้า คุณต้องเลือก ยกเว้นคุณเป็นไอ้ขี้ขลาด คุณยังห่วงอีปิ๊อยู่คุณก็ขี้ขลาด อีปิ๊เหม็น อีปิ๊ไม่คงทนถาวร คุณห่วงอีปิ๊ คุณไม่กล้าใช้ชีวิตอย่างผู้บริสุทธิ์เพราะคุณยังห่วงอีปิ๊อยู่ หรือในกรณีของผู้หญิง คุณยังห่วงองคชาติ คุณไม่กล้าจริง คุณเป็นมนุษย์คุณต้องกล้า คุณเป็นผู้ประเสริฐเป็นผู้มีจิตใจสูง คุณห่วงว่าจะไม่ดังจะไม่รวย มันเป็นความคิดของคนขลาด
แต่โลกก็ไม่สามารถดำเนิน หรือขับเคลื่อนไปด้วยนักบวชไม่ใช่หรือ
ก็ปล่อยให้โลกเขาดำเนินไป พระพุทธองค์ก็ตรัสถึงลักษณะต่างๆ ของโลกไว้เยอะมากนะ เข้าใจว่ามีเป็นร้อยๆ ลักษณะ อยู่ในพระสูตรใดผมจำไม่ได้แล้ว อยู่ในช่วงไหนของพระไตรปิฎกก็ไม่รู้ โลกนี้พร่องอยู่เสมอ โลกนี้เอียง โลกนี้อย่างนั้นอย่างนี้ เยอะมาก นั่นคือลักษณะของโลก ถ้าเรารู้ ถ้าเรามีจิตใจที่เจริญพอ เราจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริง และเราก็ต้องพยายามหาทางห่างจากมัน อย่าข้องเกี่ยวกับมัน
คุณเคยบอกว่านิยายเรื่องเงาสีขาวคือการสำรวจตัวเอง แสดงว่าคุณผ่านขั้นนั้นมาแล้ว แล้วตอนนี้คุณคิดว่าตัวเองอยู่ตรงไหน
อยู่ที่ทางสองแพร่งเลย ผมอยู่ที่ทางสองแพร่ง เป็นช่วงที่บอกไม่ถูก แต่เป็นช่วงที่อยู่ทางสองแพร่ง อย่างหลวงปู่ขาวฉายาท่านดีมากเลย อนาลโย โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งน่าอาลัย อนาลโย ผู้สิ้นอาลัย อืม... ท้องฟ้ายามเย็นยังสวยอยู่เลย คุณเป็นนักบวชคุณมาชมฟ้า (หัวเราะ) คุณเป็นกวีคุณชมได้ เนี่ย ดูซิทะเลสวยจังเลย ดอกไม้บานยามเช้าสวยจังเลย เสียงนกร้องเต็มป่าฟังไพเราะ โลกเต็มไปด้วยสิ่งน่าอาลัย แต่เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราต้องรู้เท่าทันมันเพื่อที่จะเป็นผู้สิ้นอาลัยโดยแท้จริง
ถ้าอย่างนั้นงานศิลปะมันก็ไม่เกิด ?
ศิลปะจะเกิดหรือไม่เกิดก็เรื่องของมัน นี่พูดจริงๆ นะ ตอนนี้ถ้าเราพูดกันไปเราก็สติไม่ค่อยดี...
ถ้าอย่างนั้นคนอย่างแวนโกะห์ก็ไม่มีความหมาย ?
ท่านพุทธทาสวิจารณ์แวนโกะห์ไว้มันชิบหายเลย ในหนังสือ ทางเอก มันมาก แต่ว่าก็ไม่เป็นไร งานของแวนโกะห์เป็นสิ่งที่โลกเขาเทิดทูลว่ามีคุณค่า...
เรียบเรียง : สุรชัย พิงชัยภูมิ
ภาพ : อนุชิต นิ่มตลุง