xs
xsm
sm
md
lg

โครงการอ่านสร้างชาติ ระดมหนังสือดี (มือสอง) 1,000,000 เล่ม เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) นักปรัชญาชาวอังกฤษ กล่าวว่า "การอ่านทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์" และไม่ต้องสงสัย หลายประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้นก็เนื่องจากการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรม และเอาจริงเอาจัง หนังสือเล่มหนึ่งมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อความคิดรวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก และมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม

อย่างการเรียกร้องอิสรภาพหรือเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ โดย มหาตมะ คานธี ปูชนียบุคคลของประเทศอินเดีย ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มสำคัญหลายเล่ม รวมถึงผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายคนต่างก็ให้ความเห็นตรงกันว่า การอ่านเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง


'มูลนิธิกระจกเงา' มองเห็นความสำคัญของการอ่านไม่น้อยไปกว่ากัน ดังนั้น 'โครงการอ่านสร้างชาติ' จึงเกิดขึ้น โดยการเปิดรับหนังสือบริจาค ที่เป็นหนังสือดีมีประโยชน์ และผู้รับหนังสือต้องเป็นผู้เลือกหนังสือที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยผู้บริจาคแต่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนหลักการเหตุผล จุดประสงค์ และการอ่านจะสร้างชาติได้อย่างไรนั้น เราไปคุยกับ จรัญ มาลัยกุล หัวหน้าโครงการอ่านสร้างชาติกันเลย...

โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เราอยากให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงได้สัมผัสจริงๆ คือวัฒนธรรมการบริจาคบ้านเรา ก็คือบริจาคแล้วแพ็กใส่กล่อง แล้วก็ไปส่งในสถานที่ที่ผู้บริจาคคิดว่าขาด แต่ไม่ได้วิเคราะห์ว่าผู้รับไม่มีโอกาสได้เลือก จะพูดคำว่ายัดเยียดมันก็ดูเหมือนจะทำร้ายจิตใจคนที่มีจิตใจดี แต่คิดว่ามันเป็นจุดบกพร่อง เพราะเรารู้กันอยู่ว่าผู้รับไม่มีโอกาสได้เลือก ดูเหมือนผู้ให้สบายใจอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วการให้นั้นผู้รับต้องเลือกได้ด้วย เราจึงพยายามออกแบบให้มันแก้ช่องว่าง แก้ช่องโหว่แบบนี้ เราก็ออกแบบระบบขึ้นมา เพื่อให้ผู้รับมีสิทธิ์เลือก เรากำลังท้าทายโจทย์เรื่องวัฒนธรรมการให้ ผู้ให้ต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด

ถ้าอย่างนั้นผู้ให้ต้องทำอะไรบ้าง
เรื่องแรกเราขอความกรุณาให้เขาคัด ต้องยอมรับความจริงว่าเราเปิดพื้นที่ให้ผู้บริจาคคัดในสิ่งดีที่สุด เพราะว่าเขาอ่านหนังสือเรื่องนี้แล้วเขารู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปรับเปลี่ยน แล้วก็นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อาจจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ก็ดี เรื่องการเพิ่มทักษะชีวิตของตัวเองก็ดี หรือเพิ่มผลผลิตของตัวเองก็ดี แล้วสิ่งนี้คือสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีแล้วเอามาให้คนอื่น ไม่เหมือนกับการกำจัดขยะในบ้าน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เวลาเขาจะให้ อย่างไรเราก็ต้องคัดแยก ขั้นตอนก็คือเราก็จะเปิดรับเหมือนทุกๆ องค์กรทั่วไปที่เขารับบริจาค แต่เราก็จะบอกว่าเราให้ผู้บริจาคแบกรับภาระในการมาส่งให้เรา เพราะมีบทเรียนหลายบทเรียนมากที่ทำแล้วก็เป็นอันต้องยุติไป แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อการที่จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านในบ้านเรา เพราะมันมีราคาของการจัดการที่สูงมาก ยกตัวอย่าง มูลนิธิโตโยต้า เขาถอดบทเรียนมาให้เราเลย เขาบอกว่า เขาก็รับบริจาคนี่แหละ หลายปีอยู่เหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิดก็ประมาณ 5 ปี 11 ล้านเล่ม หรือ 7 ปี 11 ล้านเล่มนี่แหละ แต่ราคาค่าจัดการสูงมาก ตกเดือนละตั้งหลายล้าน ตั้งแต่ไปรับ คัดแยก และนำส่ง ทางโครงการจึงแก้โดย ทุกขั้นตอนด้วยงานอาสาสมัคร

มูลนิธิเป็นศูนย์รับ แล้วให้ผู้บริจาคขับรถมาส่งเอง หรือส่งทางไปรษณีย์ อย่างนี้เป็นการสร้างความยุ่งยาก และให้ผู้บริจาคแบกรับภาระค่าส่งเอง คุณอธิบายให้ผู้บริจาคเข้าใจและยอมรับภาระนี้ได้อย่างไร
เราบอกว่าที่จริงแล้วการสร้างวัฒนธรรมการอ่านทุกคนมีส่วนร่วม เราก็แจ้งข้อเท็จจริงที่เกิดอยู่ว่าทำไมมันไม่ต่อเนื่อง เพราะว่ามันมีค่าจัดการในการไปรับ เราแจ้งเลย เราไม่คิดว่าจะได้หนังสือน้อย เราเชื่อว่าทรัพยากรที่มีอยู่ มันมีอยู่ในบ้าน มีอยู่กับคนที่มีรายได้ มีกำลังซื้อหนังสืออยู่แล้ว แต่หนังสือนั้นพอมันถูกอ่านเสร็จปุ๊บ ผู้ที่เป็นเจ้าของหนังสือได้อ่านแล้ว ถ้าไม่ได้เก็บไว้เพื่ออ่านซ้ำ หรือว่าให้ลูกให้หลาน ทรัพยากรนั้นก็ควรที่จะถูกเปลี่ยนที่ เคลื่อนย้ายไปสู่คนด้อยโอกาสกว่า ช่วงทดลองสองเดือนที่ผ่านมา ผู้บริจาคส่วนใหญ่เข้าใจนะ

หนังสือที่ได้รับบริจาคมาเป็นหนังสือประเภทไหนบ้าง
ก็มีนิตยสาร หนังสือประกอบการเรียน ตำราเรียน วรรณกรรม และธรรมะ บางรายใจดีไปจ้างโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือ 500 เล่ม เพื่อนำมามอบให้โครงการนี้โดยเฉพาะ

ถ้าได้รับบริจาคหนังสือที่ใช้การไม่ได้ ชำรุดทรุดโทรมมาก และไม่สร้างเสริมความรู้อะไรเลย จะทำอย่างไรกับหนังสือ หรือเศษกระดาษเหล่านี้
เราบอกกับผู้บริจาคตั้งแต่ต้นแล้วว่า ขอหนังสือที่มีประโยชน์ ฉะนั้นหนังสือที่ไม่มีคุณภาพก็จะไม่ค่อยมีผู้เอามาบริจาค

อย่างหนังสือโป๊ก็ไม่มี
ไม่มีหลุดมาเลย (ยิ้ม) เพราะเราบอกว่าหนังสือที่ผู้บริจาคคิดว่ามีประโยชน์ ถ้าอ่านแล้วได้ประโยชน์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็แล้วแต่ กรุณาส่งมาเลย แต่ประโยชน์ของแต่ละคนก็จะมีนิยามที่แตกต่างกัน แต่มันก็ไม่ได้ห่างกันมาก บางคนก็ส่งเรื่องธรรมะที่คิดว่าเพิ่มทักษะในการดำเนินชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ดี บางคนก็จะเป็นหนังสือส่งเสริมอาชีพ อาชีพนั้นอาชีพนี้ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ก็ว่ากันไป

แล้วอย่างกรณีย้ายห้องย้ายบ้าน เจ้าของขี้เกียจเก็บขี้เกียจคัด แล้วเอามากองให้ที่ศูนย์รับบริจาค กรณีอย่างนี้มีบ้างไหม
มีครับ, แต่เราชี้แจงเบื้องต้นแล้วว่าอะไรที่ไม่มีคุณภาพ ที่เสีย ที่ไม่สามารถใช้การได้ กับหนังสือที่ไม่มีประโยชน์ ที่เป็นขยะ เราขออนุญาตคัด แล้วก็ขาย เพื่อเอาเงินมาเข้ากองทุน เพื่อจะเป็นงบประมาณในการจัดส่งต่อไป

แล้วภาระค่าจัดส่ง โครงการนี้มีวิธีบริหารจัดการอย่างไร มีใครมาเป็นสปอนเซอร์ให้บ้างไหม
ตอนนี้นอกจากเราสื่อสารไป ประกาศไปว่า นอกจากเราจะรับบริจาคหนังสือแล้ว เราก็รับบริจาคซอง กล่อง แสตมป์ และเงิน ก็เริ่มมีเข้ามาบ้าง แต่จำนวนยังน้อย

เราจะรู้จักชื่อ ที่อยู่ ของเด็กคนที่ต้องการหนังสือได้อย่างไร
จากครู หรือบรรณารักษ์ห้องสมุด และองค์กรเครือข่ายที่ทำงานพัฒนาในที่ห่างไกล จะพาเด็กและกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชุมชน มาสมัครสมาชิก หลังจากนั้นครู หรือบรรณารักษ์เขาก็จะได้โควตา แล้วเราก็จะให้โควตาเข้าห้องสมุด และเด็กที่พามาเราก็จะให้โควตาส่วนตัวเขา เข้ามาในเว็บไซต์ก็จะมีให้เลือกเลย มีหมวดหนังสือ เลือก แล้วเราก็จะส่งให้ตามที่อยู่ที่เขาให้มา

หนังสือก็จะมีเท่าที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ใช่ไหม
ใช่, กระบวนการก็คือเราเอาขึ้นฐานข้อมูลเว็บไซต์หมด

สมมุติว่าในเว็บไซต์ยังไม่มีหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ แต่มีน้องคนหนึ่งอยากอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ มาก จะพอมีช่องทางหาให้น้องได้ไหม
มันก็จะมีช่องทางของผู้บริจาคกับผู้รับบริจาค มีเว็บบอร์ดเข้ามาสื่อสารกัน จะเป็นกิจกรรม เด็กก็อาจจะบอกว่าอยากได้ แฮรี่ พอตเตอร์ อะไรอย่างนี้ เราทำฐานข้อมูลผู้บริจาคอยู่แล้ว เขาจะเข้ามาดู เป็นการบริการสื่อสารให้อยู่แล้ว ผู้บริจาคเข้ามาดูก็จะเห็นความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง เพราะเขาอยากรู้ว่าหนังสือที่เขาบริจาคมันไปตรงไหน เขาก็จะสื่อสารบอกต่อกัน สมมุติว่าคุณได้บริจาคหนังสือนี้สิบกว่าเล่มแล้ว แต่บังเอิญเด็กคนนี้ต้องการแฮรี่ พอตเตอร์ ใครมี เขาก็ถามเพื่อนๆ ของเขาให้ได้

แล้วโครงการนี้มีการออกแบบกิจกรรมไว้อย่างไรบ้าง
ความจริงแล้ว การอ่านเป็นกิจกรรมในตัวเองอยู่แล้ว เพราะเมื่อเริ่มอ่านก็เริ่มกระบวนการคิด พิจารณา ซึมซับ แต่ละพื้นที่อาจคิดกิจกรรมที่เป็นของตัวเอง เช่น มีสัปดาห์นำเสนอหนังสือที่ตัวเองอ่าน แลกกันอ่าน เครื่องมือส่งเสริมคือยิ่งเกิดกิจกรรมแบบนี้ ยิ่งเพิ่มจำนวนนักอ่าน ยิ่งได้โควตาหนังสือ ฟรี... ห้องสมุด ห้าพันบาท หมื่นบาท รายบุคคลเด็กผู้ใหญ่ ห้าร้อยบาท พันบาท ว่ากันไป

ห้าพันบาทหมื่นบาทที่ว่านี้ไม่ใช่เงินจริงๆ ใช่ไหม
ไม่ใช่เงิน มันเป็นระบบโควตา เป็นเครดิตที่จะมาเลือกมาเอาหนังสือตามใจที่เห็นแล้วอยากอ่าน อยากได้ แล้วหนังสือก็ราคาสิบบาทสิบห้าบาท ระบบโควตาข้อดีของมันก็คือไม่ต้องใช้หมด

แล้วก็เอาไปต่อยอดได้ด้วย
คือตัวเด็กเอง นอกจากครูจะเป็นสภาพแวดล้อมให้เด็กได้นำเสนอกับเพื่อนแล้ว เด็กเองก็เป็นเจ้าของด้วย ยิ่งเป็นเจ้าของ แล้วให้คนอื่นเขาก็จะได้โควตาอีก พาคนอื่นมาสมัครสมาชิกเขาก็จะได้โควตา นี่คือกลยุทธ์ที่เขาจะขยายกันเอง หนังสือเล่มนั้นก็จะเดินทางตั้งแต่ต้นทางจากคนที่มีโอกาสมาถึงครูถึงเด็ก แค่มันเดินทางมาถึงสี่ห้าคนผมก็ถือว่ามันมีคุณค่ามากมายเหลือเกิน ถึงแม้แต่ถ้าเกิดเด็กชอบแล้วอยากเป็นเจ้าของเก็บไว้ก็ไม่แปลก เพราะมันเป็นความประทับใจอยู่แล้ว คนทั่วไปหนังสือที่ชอบเขาก็เก็บอยู่แล้ว แต่วันหนึ่งวันใดถ้าพัฒนามาถึงขั้นที่ว่าอยากให้คนอื่นเหมือนกับที่ผู้บริจาคอยากให้คนอื่น มันก็เป็นเรื่องที่ดี อันนี้คือกิจกรรมทางออนไลน์ แล้วทางออนไลน์นี้ก็ยังมีช่องทางชุมชนการเรียนรู้ในเว็บไซต์ ก็คือมีการแลกเปลี่ยนกัน แลกเปลี่ยนแบบข้ามฝั่งเลย คือเด็กในโรงเรียนหนึ่งทางภาคอีสานสามารถนำเสนอหนังสือเล่มนี้ให้กับเด็กในโรงเรียนทางภาคอื่น ส่งต่อให้กันได้ สองคนนี้ก็จะได้เรียนรู้กัน ได้รู้จักกัน แล้วผู้บริจาคกับผู้รับก็จะได้เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน หนังสือเล่มนี้มันดีอย่างนั้นอย่างนี้ อ่านแล้วรู้สึกได้อะไรบ้าง อ่านเล่มเดียวกันแล้วทำไมเขารู้สึกอย่างนั้นคิดอย่างนั้น

แล้วทางออฟไลน์ล่ะ
ทางออฟไลน์เราก็ออกแบบปฏิบัติการกับชุมชนที่ขาดโอกาส ชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจจะเป็นแบบหนังสือเดินทาง เดินทางไปให้เขาเลือกถึงที่เลย ก็จะมีรถโมบายล์เข้าไปในพื้นที่ แล้วก็ประกาศว่าหนังสือเล่มละบาทมาถึงแล้ว ก็มาเลือกเลยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และอีกอย่างก็คือองค์กรที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่ที่เรากำลังทำเครือข่ายเขาจะมีกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสทางการอ่านเป็นกลุ่มเป้าหมายของเขาอยู่แล้ว ก็คล้ายๆ กัน คือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องกิจกรรมเด็กในทางด้านอื่นเราก็จะทำงานเครือข่ายให้เขาเข้ามาเป็นภาคีร่วมในการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กในกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ลักษณะก็ไม่แตกต่างกัน

แล้วกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือคนกลุ่มไหน
หลักการใหญ่ๆ คือคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ แต่กลุ่มที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือโรงเรียน ห้องสมุดกศน. กลุ่มองค์กรชาวบ้าน และเครือข่ายกลุ่มเฉพาะทาง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์บำบัด สถานพินิจ

โครงการนี้มีแหล่งทุนที่ไหนเข้ามาสนับสนุนบ้าง
ช่วงพัฒนาโครงการปีแรกก็ได้รับทุนจาก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ซึ่งเป็นแผนงานหนึ่งของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่ลงทุนให้พัฒนาในหนึ่งปีแรก แล้วก็น่าจะมีชุดบทเรียนที่เป็นรูปธรรมแล้วก็สามารถขยายผลในระดับภูมิภาคระดับจังหวัด ซึ่งจริงๆ แล้วความฝันสูงสุดก็คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในจังหวัดตัวเอง เพราะแต่ละจังหวัดก็จะมีคนที่มีกำลังในการซื้อหนังสืออยู่แล้ว ถ้ากระจายออกมาในส่วนที่อยู่ห่างไกลในจังหวัดตัวเอง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก การที่เราทำเครือข่ายนี้หมายความว่าเรามีเจ้าภาพในจังหวัดนั้นๆ

ในอนาคตสามารถเอาหนังสือไปบริจาคที่เจ้าภาพได้เลย โดยไม่ต้องมาบริจาคที่มูลนิธิกระจกเงาในกรุงเทพฯ ใช่ไหม
ใช่, อนาคตต้องเป็นอย่างนั้น กระจกเงาไม่ได้ตั้งตัวเองเพื่อจะเป็นศูนย์กลาง เพราะมันไม่มีเหตุผลเลยที่จะให้คนที่จังหวัดอุบลฯ ส่งหนังสือสองสามเล่มทางไปรษณีย์มาที่กรุงเทพฯ แล้วเราก็ต้องส่งต่อไปให้เด็กที่จังหวัดอุบลฯ ที่เขาขาดแคลน มันไม่มีเหตุผลเลย แต่เริ่มต้นเราต้องทำช่องทางนี้ขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนว่ามันสามารถจัดการได้ จริงๆ เรื่องใหญ่ของโครงการนี้ก็คือเราต้องการแก้โจทย์การบริหารจัดการหนังสือมือสอง เราต้องการบริหารหนังสือซึ่งเป็นทรัพยากรที่มันมีอยู่แล้วให้กระจายออกไป เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างมีชีวิตยืนยาว

ในช่วงเริ่มต้นนี้จุดรับบริจาคหนังสือจะอยู่ที่มูลนิธิกระจกเงา, กรุงเทพฯ ที่เดียว ?
ใช่ครับ

แล้วต่อไป...
ในอนาคตก็จะเป็นที่ปั๊มน้ำมัน คือตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนการประสานอยู่ ก็จะมีปั๊ม สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ตึกอาคารบริษัทต่างๆ ที่มีคนทำงานเยอะๆ ช่วงทดลองนี้ก็มีติดต่อกันมาหลายรายที่เสนอตัวเป็นจุดรับบริจาค

แล้วคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มั่นใจมากไหม
เราถอดบทเรียนจากองค์กรที่ทำเรื่องรับบริจาคหนังสือมาหลายองค์กร ค้นพบข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ราคาค่าบริหารจัดการสูงถึงขั้นเอาไปซื้อหนังสือใหม่ดีกว่า เรามีประสบการณ์ยาวนานเรื่องการรับบริจาคเสื้อผ้ามือสองในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เรามีโครงการรับบริจาคคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง และที่สำคัญเราดำเนินงานอาสาสมัครมาหลายโครงการ เราเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้ คือคำตอบของความสำเร็จ

เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยจุดประกายให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นไหม
เชื่ออย่างมหาศาลเลยครับ คิดว่าหนังสือมันมีอยู่จริง มันอยู่กับคนที่มีโอกาส ถ้ามันเคลื่อนย้ายตัวเองไปถึงมือคนที่ขาดโอกาส แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้น จุดไฟให้กับคนที่ยังไม่ได้อ่าน ให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือ

คุณเชื่อในพลังของการอ่านมากเลยใช่ไหม
ใช่ครับ. การอ่าน เสน่ห์ของมันก็คือช่วยให้เราได้เปิดโลกทัศน์ เห็นได้ชัด ถ้าเราได้รับในสิ่งที่เรายังไม่ได้รู้เลย มันจะเกิดการปรับวิธีคิด พอปรับวิธีคิดพฤติกรรมก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วเรื่องการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้งนี้เราเชื่อว่า ในเมื่อระดับปัจเจก ระดับพลเมืองของประเทศนี้เปลี่ยน ประเทศก็เปลี่ยน วาระหนึ่งล้านเล่มนี้ อยากบอกว่าแค่คนละเล่ม หนึ่งล้านคน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ ชีวิตส่วนตัวของผมก็เปลี่ยนจากการอ่าน ทั้งๆ ที่เราไม่มีโอกาส เก็บแค่เศษกระดาษห่อกล้วยแขกทอดที่พ่อซื้อมาจากตลาดในอำเภอ มันเปลี่ยนตั้งแต่เราได้อ่านหนังสือเล่มแรกๆ แล้วเราก็อยากรู้ต่อ พออยากรู้ต่อเราก็จะขวนขวายหามาอ่าน จากการศึกษาชีวประวัติของบุคคลสำคัญต่างๆ ที่มีคุณูปการต่อโลก ก็เห็นได้ว่า ท่านเหล่านั้นให้ความสำคัญกับการอ่าน เป็นนักอ่านตัวยง การอ่านจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมาก

****************************************

ส่งหนังสือมาที่ : 41 อาคารเลิศปัญญา ชั้น 9 ห้อง 907 ถนนศรีอยุธยา12 พญาไท ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. 02 6427991-2 ต่อ 16 หรือ 081 0183004 อีเมล jarun@mirror.or.th หรือ sunblock_error@hotmail.com

จรัญ มาลัยกุล หัวหน้าโครงการอ่านสร้างชาติ








กำลังโหลดความคิดเห็น