xs
xsm
sm
md
lg

4 B : Four Bizarre ขบวนการสี่มนุษย์ประหลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พวกเขามีกันสี่คน ดูรูปร่างหน้าตาก็เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีหาง ไม่มีเขา และไม่มีพังผืด ไม่ต้องถามว่าพ่นไฟได้หรือเปล่า เพราะแค่ขอยืมไฟต่อบุหรี่พวกเขาก็ยังไม่มีกันเลย ฉะนั้นเรื่องที่จะยืดตัว พ่นใย พุ่งลงไปจากยอดตึก หรือกระโดดออกไปเหวี่ยงรถเหวี่ยงราให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนกันเล่น จึงไม่น่าจะเป็นไปได้

สุทธิชาติ ศราภัยวานิช (ผู้เขียนหนังสือ Joe the Sea-cret Agent ฯลฯ) ทรงวิทย์ สี่กิติกุล (ผู้เขียนหนังสือโลกของเรา ฯลฯ) ทรงศีล ทิวสมบุญ (ผู้เขียนหนังสือถั่วงอกและหัวไฟ ฯลฯ) และวชิระ เพชรมณีนิลใส (ผู้เขียนหนังสือ 2 be kill ฯลฯ) พวกเขาทั้งสี่คนนี้เป็นนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่น เป็นที่ยอมรับทั้งเรื่องของฝีมือและความคิด เด็กรุ่นใหม่และผู้ใหญ่หลายคนติดการ์ตูนของพวกเขากันงอมแงม

เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา พวกเขาจัดแสดงภาพและผลงานร่วมกันเป็นครั้งแรก ในชื่อ '4 B' (Four Bizarre) หรือ 'สี่ประหลาด' ที่ อาร์ตกอริลล่าส์ อาร์ตแกลเลอรี่ (ArtGorillas ArtGallery) ชั้น 2 โรงหนังลิโด, สยามสแควร์

'ปริทรรศน์' นัดพวกเขามาพูดคุย, ถามไถ่ถึงวิธีคิด วิธีการทำงาน และสถานการณ์การ์ตูนไทยตอนนี้ ดีขึ้น แย่ลง หรือพวกเขามีความเห็นเป็นประการใด ถ้าใครสนใจก็เชิญล้อมวงเข้ามา ร่วมสนทนาคลายหนาวกับนักเขียนการ์ตูนหนุ่มห้าว มัน ฮา ทั้งสี่ประหลาดคนนี้ - ไม่ต้องกลัวครับ! ไม่ต้องกลัว พวกเขาไม่กัดครับ!


ถามถึงการแสดงงานที่ผ่านมา ทำไมตั้งชื่อว่า 'สี่ประหลาด'
สุทธิชาติ : จริงๆ แล้ว 'สี่ประหลาด' มันเป็นชื่อเล่น ชื่อจริงๆ ของงานคือ 4 B มาจากชื่อของไส้ดินสอ เป็นไส้ดินสอที่ใช้เป็นประจำ พอเราได้ชื่อ 4 B เสร็จมันมีปัญหาว่าแล้ว B คืออะไร ก็นั่งคิดกันใหญ่ ด้วยความรู้ภาษาอังกฤษซึ่งมีกันคนละไม่เท่าไหร่ สุดท้ายเราก็ได้คำว่าบิซาร์ bizarre พอพูดขึ้นมาปุ๊บก็ โอ!ใช่เลย เพราะทุกคนก็มีความประหลาดอยู่แล้ว

การ์ตูนแต่ละตัวในงานนี้มีความเชื่อมโยงกัน หรือว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำการณ์ใดเป็นพิเศษหรือเปล่า
ทรงศีล : ของผมก็จะเป็นเจ้าตัวที่ชื่อบ๊อบบี้ สวิงเกอร์ (Bobby Swinger) ในงานนี้จะเป็นเวอร์ชั่นที่ตายแล้ว เป็นโครงกระดูก เป็นช่วงที่เจ้าบ๊อบบี้ สวิงเกอร์ตายแป๊บนึง เพื่อที่จะลงไปหาแฟนในนรก เพราะว่าแฟนเขาตายไปแล้ว ก็เลยลงไปหาแฟน แล้วกิจกรรมที่ตั้งใจว่าจะทำในนรกก็มีอยู่สองอย่าง คือ ไปหามือกีตาร์ชื่อโรเบิร์ต จอห์นสัน ซึ่งตายไปแล้ว ตอนนั้นเราคุยกันเรื่อง crossroad ซึ่งเป็นตำนานของโรเบิร์ต จอห์นสัน, โรเบิร์ต จอห์นสันมีตัวตนจริงๆ เป็นนักดนตรีในยุคเก่า ซึ่งเขาลือกันว่าโรเบิร์ต จอห์นสัน ขายวิญญาณให้ปีศาจที่ทางแยกแห่งหนึ่งเพื่อแลกกับความสามารถทางดนตรี แล้วเขาก็อายุสั้นมาก ก็เนี่ย บ๊อบบี้ก็เลยลงไปเพื่อจะเรียนกีตาร์กับคนนี้ แบบว่าปลื้ม (ยิ้ม) แล้วบ๊อบบี้ก็ลงไปตีปิงปอง (ในนรก) กับแฟนด้วย (หัวเราะ)
สุทธิชาติ : ทุกคนก็จะเขียนตัวเอกที่เขียนกันบ่อยๆ อยู่แล้วล่ะ อย่างของผมก็เป็น (นักสืบ) โจ หัวปลาหมึก
ทรงวิทย์ : ส่วนของผมมีการ์ตูนชื่อ Endjoy แต่คำว่า En ผมเติมตัว d ลงไป ให้กลายเป็น End ที่แปลว่าจบ คอนเซ็ปต์ตัวนี้ ผมคิดว่าทุกคนน่าจะมีช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของแต่ละคน แต่หลังจากผ่านวินาทีนั้นไป มันก็จะต้องเริ่มลงแล้ว ตัวละครตัวนี้มันจะอยู่ในจุดนั้น มันจะโผ่ลมาในช่วงเวลานั้น
วชิระ : ของผมเป็นหมีที่ดึงออกมาจากคาแรกเตอร์หลายๆ ตัว ปกติผมจะออกแบบคาแรกเตอร์อยู่แล้ว ตัวนี้ผมคิดว่ามันเหมาะกับนิทรรศการนี้ ก็เลยดึงออกมาเป็นคาแรกเตอร์ โดยใช้หมีที่มีชื่อว่า psychobear

แนวคิดในการสร้างการ์ตูนขึ้นมาแต่ละตัว มันก่อร่างสร้างขึ้นมาจากอะไรบ้าง
สุทธิชาติ : ผมจะคิดจากความแปลกประหลาด อยากเขียนการ์ตูนให้ตัวเองอ่านก่อน ก็เลยพยายามคิดเรื่องที่เรายังไม่เคยอ่าน ถึงแม้จะออกมาดีหรือไม่ดีมันไม่ใช่ประเด็น เราไม่อยากทำงานที่เราเคยเห็นแล้ว ความตื่นเต้นมันจะน้อยลง ทุกอย่างผมจะคิดจากตรงนี้หมด
ทรงศีล : ผมไม่ค่อยได้คิดอะไรเลย (หัวเราะ) แต่เวลาไม่ค่อยคิดอะไรมันจะคิดออก แปลกจริงๆ ผมชอบไปได้งานเวลาทำกิจกรรมอื่น อย่างไปเล่นดนตรี หรือเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน พอไม่อยู่ใน moment การทำงานบางทีจะได้ไอเดียดีๆ บางทีไอเดียที่เอามาทำงานมันก็เหมือนเก็บช่วงเวลาเหล่านั้นมามากกว่า ตอนอยู่บนโต๊ะทำงานคือตอนที่เรามีไอเดียแล้ว มันเป็นช่วงเวลาแห่งการถ่ายทอดมากกว่า
ทรงวิทย์ : ของผมเกิดจากการดูเยอะๆ ผมว่ามันเกี่ยวกับการสนใจสภาพแวดล้อม ผมก็ดูข่าว อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง บางทีมันมีแง่มุมบางอย่างที่ผมอยากเล่าโดยวิธีของผม ผมก็จะเอาประเด็นนี้มาเก็บๆ ไว้ แล้วก็เอามาคิดต่อ สร้างเรื่องราวของมันไป เล่าออกมาในวิธีของผม
วชิระ : ของผมบางครั้ง อยู่ๆ มันก็วาดออกมา อาจจะเป็นการติดตามาจากที่นั่นที่นี่แล้วก็สเก็ตช์ออกมา จริงๆ ของผมคล้ายๆ มีสูตรในการทำคาแรกเตอร์ จะเป็นพวกคาแรกเตอร์น่ารักๆ คือทำบ่อยๆ แล้วจะรู้ว่าลักษณะโครงสร้างขนาดนี้จะทำให้คนสนใจ ก็เลยแบบว่าพอเวลาคิดอะไรออกมาปุ๊บ มันจะมาเป็นแพตเทิร์น พอเป็นแพตเทิร์นปุ๊บแล้วเราก็ใส่ไอเดียที่เราเคยเห็นเข้าไป อย่างแฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก โดนัท เราก็ใส่ให้มันมีแขนขางอกออกมา

แต่ละคนมีวิธีการฝึกฝนฝีมือตัวเองอย่างไรบ้าง
สุทธิชาติ : ผมฝึกความคิดมากกว่า ฝึกคิดหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มากกว่า หลังๆ นี่จะหนักไปในทางเล่นเน็ต เพราะสมัยนี้แค่เล่นเน็ตมันก็มีอะไรให้เจอเยอะ แต่ก็ต้องหาของแปลกขึ้นเรื่อยๆ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้พวกที่เคยเป็นแรงบันดาลใจ ก็ไม่ค่อยสร้างแรงบันดาลใจแล้ว มันเริ่มชินชาแล้ว คือบางคนบังคับให้ตัวเองเขียนรูปวันละสิบรูป ก็อาจจะได้ เผลอๆ อาจจะเก่ง แต่ผมทำไม่ได้ วิธีฝึกแบบนั้นมันอาจจะไม่เข้ากับผม คือทำได้สักสามวันผมก็เบื่อแล้ว มีบางคนบอกว่า วันหนึ่งถ้าเขียนไม่ได้ถึงสิบห้าหน้าจะไม่สบายใจ
ทรงวิทย์ : ฝึกให้เราพยายามมองมุมมองอะไรใหม่ๆ แปลกๆ เดี๋ยวนี้ยิ่งทำเราก็ยิ่งต้องหาอะไรมาเติม ช่วงนี้เราขาดเราก็ต้องไปหาอะไรมาเติม
ทรงศีล : เรื่องการฝึกฝนฝีมือ จริงๆ มันก็ไม่ได้ตั้งใจแบบ นั่งลงแล้วฝึก มันจะไม่เคยเกิดขึ้นแบบนั้น แต่เหมือนกับแต่ละงานผมจะวางสิ่งที่อยากจะเขียนก่อน รูปแบบ อย่างเช่นหนังสือของผมที่เห็นสามเล่มเปิดมามันก็จะไม่ค่อยเหมือนกัน ก็คือให้เอาวิธีคิดนำ แล้ววิธีการค่อยตามไป แล้วพอวิธีการตามไป บางทีก็จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ๆ ซึ่งมันทำให้ได้เรียนรู้ไปด้วย
วชิระ : ของผมต้องฝึกบ่อยๆ เพราะบางทีบางคนวาดแค่ครั้งเดียวแล้วเอาเลย แต่จริงๆ ต้องมีการพัฒนา ไม่ใช่ว่าวาดแค่ตัวเดียวปุ๊บ แล้วเฮ้ย นี่แหละคือคาแรกเตอร์ที่ดี ไม่ใช่ มันต้องวาดเป็นสิบๆ แล้วดึงส่วนนี้ๆ ออกมา บางทีต้องดึงหลายๆ ส่วนมาประกอบเป็นตัวเดียวกัน

ในมุมมองของแต่ละคน มองว่าสถานการณ์การ์ตูนไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
สุทธิชาติ : ผมว่าแนวโน้มการ์ตูนไทยกำลังจะย้ายฝั่งมาอยู่ร้านหนังสือ อยู่กับพ็อกเก็ตบุ๊กมากขึ้น คือแต่ก่อนการ์ตูนไทยจะไปสู้กับการ์ตูนญี่ปุ่นบนแผง ซึ่งก็พบว่ามันสู้ด้วยลำบาก หลังๆ ก็จะเป็นเรื่องของการตลาดหรืออะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งพ็อกเก็ตบุ๊ก โดยเฉพาะปีนี้ผมดูว่ามันเป็นไปได้มากกว่า ก็ต้องดูต่อไป แต่สิ่งที่เป็นอยู่นี้ผมว่ามันก็ดีนะ เห็นมีนักเขียนการ์ตูนเยอะขึ้น ส่วนพ็อกเก็ตบุ๊กผมไม่รู้ว่ามันจะดีหรือเป็นโมเดลที่ใช่หรือเปล่า แต่ที่เป็นรูปธรรมคือมีนักเขียนการ์ตูนเยอะขึ้น
ทรงศีล : ผมว่าเหมือนกับช่องทางมันเยอะขึ้น รูปแบบที่เป็นการ์ตูนแผงเราก็มีแล้ว แล้วที่มันดีขึ้นผมว่ามันเป็นเพราะในร้านหนังสือตอนนี้ก็มีการ์ตูนได้ด้วย ไม่รู้ว่าแนวโน้มหลังจากนี้มันจะเป็นอย่างไรต่อล่ะ แต่ว่าช่องทางมันเยอะขึ้น นักเขียนก็เลยเยอะขึ้น ถ้าหลังจากนี้จะมีช่องทางอื่นมากกว่านี้ก็ยิ่งน่าดีใจ
ทรงวิทย์ : สมมติว่าถ้าคำถามนี้เป็นเมื่อสองปีก่อน ผมไม่รู้จะตอบยังไง แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามีหลายๆ ที่ให้ความสนใจ การ์ตูนไทยแต่ก่อนต้องไปอยู่ในสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นที่พิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่น แล้วก็มาพิมพ์การ์ตูนไทย ซึ่งสู้ให้ตายยังไงก็ไม่มีวันสู้ญี่ปุ่นได้ เพราะว่าแผงการ์ตูนญี่ปุ่นเดือนหนึ่งมีเป็นร้อยเล่ม ซึ่งการ์ตูนไทยด้วยกำลังสู้ไม่ไหว แต่ผมมองว่ามันต้องเป็นตลาดพ็อกเก็ตบุ๊กมากกว่าของการ์ตูน แต่ต้องทำรูปเล่มหรือว่าทำสไตล์ให้น่าสนใจ แล้วมันควรไปอยู่ในสายพ็อกเก็ตบุ๊ก

แล้วตอนนี้ในเมืองไทยมีนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะไหม
สุทธิชาติ : ก็พอสมควร คือถ้าเป็นอาชีพมันอาจไม่เยอะมาก แต่ถ้าสมัครเล่นเขียนกันตามเว็บบอร์ด เขียนบล็อก การเขียนบล็อกมันเป็นเรื่องง่ายแล้วก็เยอะขึ้น ต่อไปบางคนก็อาจพัฒนาไปเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพ
ทรงศีล : ที่ดูเหมือนกับว่าอยากเขียนแล้วสนุกกับการเขียนดูเยอะขึ้น มันกระตุ้นกันไปกระตุ้นกันมา เป็นแรงสะท้อนกัน และหลายคนก็มาจากบล็อกแล้วก็ได้มาพิมพ์จริงๆ
ทรงวิทย์ : ผมว่าเยอะมาก แต่ว่ายังไม่รู้ว่าเขาจะฝ่าความเหนื่อยยากจนถึงเป็นอาชีพได้หรือเปล่า ก็อย่างที่บอก เด็กรุ่นใหม่เก่งๆ เยอะมาก ผมไปเปิดดูในบล็อกเห็นเก่งๆ ทั้งนั้นเลย แต่อย่างที่บอกอีกแหละว่าการ์ตูนมันคือโลกทั้งเรื่อง เราต้องวาดทุกอย่าง ตึกเราก็ต้องวาด แก้วน้ำ เฉพาะตัวเราไปกินแก้ว ก็ต้องวาดแก้ว แต่บางคนจะชอบวาดแค่หน้า แล้วพอบิดมุม หรือพอเคลื่อนไหวมุมแปลกๆ มันดูไม่ใช่แล้ว ถ้าจะรักมันต้องรักให้หมด ไม่ใช่รักแค่วาดแค่ตรงนี้ ผมว่าต้องอ่านเยอะๆ อ่านจนอยากจะเล่า พอเล่าปุ๊บจะได้เอง จะกลายเป็นนักเขียนเอง

พอจะมีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูนบ้างไหม
ทรงศีล :
นักเขียนการ์ตูน ก็ต้องเขียนการ์ตูน ชีวิตส่วนใหญ่คือการเขียนการ์ตูน ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนมาก แต่อยากวาดการ์ตูนอยู่เรื่อยๆ ผมว่าคนนั้นจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูน เพราะเขามีความรู้สึกอยากทำอยู่ตลอด ไม่ต้องมีใครมาบอก ความรู้สึกอยากมันจะพาไปเอง
ทรงวิทย์ : เจอบ่อยที่เด็กเข้ามาคุยด้วยว่า อยากเป็นอย่างพี่จังเลย เมื่อไหร่จะดังอย่างพี่ (หัวเราะ) คือผมฟังแล้วรู้สึกเครียดๆ กดดันๆ เหมือนกับว่าเขามองแต่เปลือกยังไงไม่รู้ ผมว่าถ้าเขาลองเขียนจริงๆ จังๆ สักครั้ง ผมว่าเขาจะรู้อะไรดีกว่าพวกผมบอก ได้เห็นกระบวนการ ว่าจะทำหนังสือมันต้องมีสตอรี่บอร์ด มันต้องมีบท จะต้องใส่บอลลูนตรงไหน ถ้าเขาทำสักตอน เจ็ดหน้าแปดหน้า ผมว่าเขาจะรู้ดีว่าเขาขาดตรงไหนเกินตรงไหน
สุทธิชาติ : ผมว่ามีหลายคนที่โฟกัสผิด เป้าหมายเขาจะอยู่ที่การได้รวมเล่ม ได้ไปเลี้ยงชีพจากการ์ตูน ได้ลงหนังสือ ได้ถูกสัมภาษณ์ ซึ่งจริงๆ เป้าหมายแรกต้องเขียนให้ดีที่สุดก่อน ผมเจอเยอะมากเลยที่ถามว่า พี่, ที่นั่นเขาให้เงินเท่าไหร่ ผมควรจะอะไรยังไง มันไม่ใช่ เขียนการ์ตูนครั้งแรกมันต้องแบบ เฮ้ย เรื่องนั้นมันทำไมอุบาทว์จังวะ ทำยังไงดีวะ ออกมาจะเป็นยังไง จะเหมือนที่เราคิดไหม เวลาทำงานจะวนเวียนและคิดอยู่อย่างนี้ตลอด จะไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรก ซึ่งต้องทำอย่างนี้ก่อน ผมว่าจะดีกว่าการที่เราคิดไกลไป อย่างที่ญี่ปุ่น กว่าที่เขาจะเป็นนักเขียนอาชีพ เรื่องแรกเขาลงตะกร้า ที่เราได้อ่านผลงานของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นที่เจ๋งๆ แต่กว่าเขาจะได้เรื่องแรก เขาส่งต้นฉบับเป็นปี กว่าจะผ่าน แต่นี่เราไปมองที่ปลาย เริ่มต้นเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย
ทรงวิทย์ : ผมเคยอ่านประวัติของ เท็ตซึกะ โอซามุ เขาบอกว่ามีงานที่ทิ้งไปเจ็ดร้อยหน้า เหมือนกับว่าเขาเขียนไปเรื่อยๆ พอจะมารวมเล่มเขาต้องตัดออก มันต้องทิ้งไปเจ็ดร้อยหน้า แล้วดูสิ ในชีวิตเขาเขียนมาแล้วไม่รู้กี่เรื่อง เขาไม่ต้องรอให้มีใครมาบอกว่าต้องทำอะไร เขาลงมือทำเลย ผมว่าที่มานั่งถามตัวเองอยู่ว่าอะไรยังไง ปัญหามันจะเยอะ แต่เราทำไปก่อนเลย แต่ต้องเต็มที่ด้วย

คนที่เป็นมืออาชีพจริงๆ เขาต้องมีสปิริตและจรรยาบรรณควบคู่กันด้วย แล้วจรรยาบรรณของนักเขียนการ์ตูนคือ...
สุทธิชาติ : ผมจะไม่ลอกงานใคร แต่ว่ามันจะมีออกมาเอง คือเราดูงานจากหลายๆ ที่แล้วเก็บไว้ เวลาคิดงานก็กวนๆ ให้เข้ากัน เคยคิดงานคิดตัวละคร เขียนจนเสร็จแล้ว พอมาเจองานอีกอันก็ อ๋อ, เราได้จากตัวนี้มา แต่ที่แบบว่าเปิดรูปเปิดหนังสือ แล้วกางหน้าหนังสือเขียนตาม อันนี้ผมถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงสำหรับผม
ทรงศีล : ของผมจะเหมือนพี่ชาติ (สุทธิชาติ) คือ การลอกงานคนอื่นนี่ไม่ได้เลย ผมคงรับตัวเองไม่ได้แน่ๆ ถ้าไปลอกของเขามา

แล้วกับเรื่องที่อาจเป็นการยั่วยุ หรือชี้นำให้เกิดเรื่องเลวร้ายรุนแรง พวกคุณมีการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้วใช่ไหม
สุทธิชาติ : เราจะมีลิมิตว่าเรื่องความรุนแรงจะขนาดไหน คือเอาเข้าจริงผมไม่ค่อยเห็นการ์ตูนที่มันมีจุดประสงค์ร้ายมากถึงขนาดทำให้คนฆ่าตัวตาย หรือเลวร้ายมาก ส่วนการ์ตูนที่มันรุนแรงทำเพื่อให้คนเข้าไปในโลกของความรุนแรง แล้วจะได้ไม่ทำอีก คืออารมณ์แบบเป็นการระบายออกของเขา มันมีการ์ตูนที่ผมเห็นว่ารุนแรงๆ ผมรู้สึกว่ามันฟันกันรุนแรงมาก แล้วภาพมันรุนแรงมาก อ่านแล้วรู้สึกกลัวจริงๆ แต่ผมก็ไม่ได้ฆ่าใครหรอก อ่านแล้วรู้สึกสบายใจมากกว่า อ่านแล้วรู้สึกโล่ง คลายเครียด รู้สึกได้ปลดปล่อย ผมรู้สึกว่าจุดประสงค์ของคนเขียนเขาไม่ได้ตั้งใจให้คนอยากไปจับดาบมาฟันใครหรอก แต่มันเป็นวิธีการของเขา
ทรงศีล : ผมชอบนะ ไม่รู้ลินคอนหรือเปล่าที่เขาบอกว่า "เวลาผมทำดี ผมรู้สึกดี เวลาผมทำไม่ดี ผมรู้สึกไม่ดี และนั่นแหละคือศาสนาของผม" ผมคิดว่ามันอาจใช้แทนกันได้นะ เวลาเราเขียนดีเราก็รู้สึกดี เวลาเราเขียนไม่ดีเราก็รู้สึกไม่ดี
ทรงวิทย์ : ถ้ามีคนมาบอกว่า อย่าอ่านเพราะมันรุนแรง ผมว่าไอ้คนที่พูดคือคนที่ไม่ได้อ่าน ถ้าอ่านจะรู้ว่ามันมีประเด็น มีชีวิตของมัน แล้วอยู่ๆ มาบอกว่าอย่าอ่านเพราะมันรุนแรง ผมว่ามีที่มันโหดน้อยกว่านี้แต่รุนแรงกว่านี้เยอะ อ่านแล้วไม่ได้อะไร แต่มันโหดมาก แต่ภาพอาจจะใสหวาน
ทรงศีล : อ่านหนังสือพิมพ์รายวันผมเครียดกว่า อย่างหนังสือกอสสิปดาราผมอ่านแล้วเครียด ผมอ่านไม่ค่อยได้ (ยิ้ม) วันหนึ่งเดินผ่านแผงหนังสือไปเจอ... แพนเค้กหวั่น ยิ่งดังยิ่งถูกหมั่นไส้ ...คือมีรูปแพนเค้กแล้วมีภาพเบคแฮม แล้วมันยังไง! ผมว่าคนวาดการ์ตูน อย่างน้อย ต่อให้มันวาดเรื่องโหดหรือโป๊มากแค่ไหน มันก็ย่อมมีขั้นตอนของการทำงานศิลปะ ซึ่งตรงนั้นมันต้องใช้พลังไม่น้อยล่ะ ผมว่ามันยากกว่าการไปกดชัตเตอร์ดาราเสื้อหลุดแน่ๆ เจตนารมณ์มันผิดกัน
สุทธิชาติ : งานการ์ตูนที่มีเจตนาร้าย จะให้นึกผมก็นึกไม่ออกนะ ในขณะที่หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์อื่นที่โจมตีใครแบบว่าเลวร้ายมาก ซึ่งการ์ตูนไม่ค่อยมีอารมณ์แบบนั้น เพราะมันเป็นสื่อที่จะว่าไปก็ใสกว่าสื่ออื่นๆ ถึงแม้จะมีเรื่องโหดๆ อยู่ แต่คนเขียนการ์ตูนเขาคงมีความเป็นเด็ก (หัวเราะ) อย่างการ์ตูนโป๊ก็เห็นเจตนาเขาว่าเพื่ออะไร อย่างที่ญี่ปุ่นมันมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าทำมาเพื่อใคร แต่ว่าที่บ้านเรามันเล่นขายกันมั่วไปหมด มันก็เลยดูเป็นเรื่องที่ผิดขึ้นมา

คิดว่าในชั่วชีวิตนี้จะเลิกเขียนการ์ตูนไหม
สุทธิชาติ : เลิกเขียนคงไม่เลิก ตั้งแต่เด็กที่เคยวาดรูปเล่น มาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังวาดรูปอยู่ แต่ว่าเลิกทำเป็นอาชีพอาจจะมีโอกาส เพราะความเป็นอาชีพมันบอกไม่ได้ โดยเฉพาะบ้านเรา อนาคตมันไม่แน่นอน โดยเฉพาะอาชีพนี้ ผมก็อยากเขียนเป็นอาชีพให้นานที่สุด
ทรงศีล : ผมคงไม่เลิกหรอกครับ เพราะวาดทุกวันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และผมก็อยากเขียนพล็อตที่มันคั่งค้างไว้มากมาย ซึ่งมันก็ทับถมขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเลิกเขียนเมื่อไหร่ดี
ทรงวิทย์ : ผมก็อยากเขียนไปเรื่อยๆ เหมืนกัน
วชิระ : ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ผมเลิกเขียนการ์ตูนได้นอกจากสังขารของตัวเอง ถ้ามีเหตุอะไรที่มาทำให้หยุดเขียนการ์ตูนก็อาจเป็น ดวงตาของผมตอนนี้มันเริ่มมีปัญหา ตาไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ มันเหมือนวุ้นในตาเริ่มอักเสบ คือคนที่ทำงานกับคอมพ์บ่อยๆ ร่างกายมันจะเริ่มล้าลง อาจจะทำให้มีการต้องหยุดพักสักระยะหนึ่ง อาจต้องมีการฟื้นตัว แต่ถ้าจะให้เลิกเขียนการ์ตูนนั้น ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ผมเลิกเขียนการ์ตูนได้ นอกจากสังขารของตัวเอง

*******************************

เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ




















กำลังโหลดความคิดเห็น