ด้วยหน้าตา ท่าทาง และน้ำเสียงที่ถอดแบบมาจากราชาเพลงเพื่อชีวิต ‘หงา คาราวาน’ ทำให้เราไม่แปลกใจที่รู้ว่าเด็กหนุ่มหัวฟูคนนี้คือ ‘กันตรึม’ พิฆเณศร์ จันทิมาธร บุตรชายคนที่ 2 ของ สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งเกิดกับ ‘คุณเอื้อง’-พิสดา จันทิมาธร ภรรยาคนปัจจุบัน แต่นอกจากหน้าตาท่าทางแล้วฝีไม้ลายมือทางดนตรีของเด็กหนุ่มคนนี้ก็ไม่ได้ทิ้งห่างจากศิลปินผู้พ่อมากนัก ต่างกันแค่ประสบการณ์ที่รอวันบ่มเพาะเท่านั้น
กันตรึมในวัย 13 ปี จึงเป็นเหมือนเด็กหนุ่มที่มี 2 ภาคในคนเดียว ภาคหนึ่งเขาเป็นเพียงเด็กนักเรียน ม.1 ที่ติดการ์ตูนงอมแงม แต่อีกภาคเขาเป็นนักดนตรีฝีมือฉกาจที่ขึ้นเวทีมานับครั้งไม่ถ้วน และวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้รู้จักเขามากขึ้น
คาราวานน้อย
ด้วยเหตุที่ตามคุณพ่อและวงคาราวานไปทัวร์คอนเสิร์ตตั้งแต่จำความได้ ทำให้กันตรึมมีความสนใจในดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาเริ่มหัดตีกลองตอนอายุได้เพียง 8 ขวบ และหลังจากนั้น 2 ปีก็หันมาฝึกเล่นกีตาร์และพบว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้เป็นเครื่องดนตรีที่เขารัก เด็กหนุ่มคนนี้สามารถตีกลองและดีดกีตาร์เป็นโดยที่ไม่เคยผ่านโรงเรียนสอนดนตรี แต่ใช้วิธีฟังเพลงและจับคอร์ดเอาเอง
“ช่วงที่มีวงคาราวานน้อยตอนนั้นตรึมอายุประมาณ 9-10 ขวบ ก็เล่นกันแบบเด็ก ๆ เป็นวงเฉพาะกิจ ไม่ได้จริงจังเหมือนกับวงคาราวานของพ่อ คือเป็นเด็ก ๆ ที่ชอบดนตรีเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกเพื่อน ๆ พ่อ แต่ไม่ได้อยู่ในวงคาราวานนะ ตอนที่เล่นกับวงคาราวานน้อยเราซ้อมหนักมาก เพราะยังเด็กกันอยู่ ไม่ค่อยมีสมาธิ เพลงส่วนใหญ่ก็เป็นเพลงของวงคาราวานแต่มีพี่ ๆ เขาเอามาออเรนจ์ใหม่ อย่างเพลงกระต่ายกับเต่า หนุ่มพเนจร มันก็ได้ประสบการณ์ตรงที่ได้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ครั้งแรกเล่นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตอนนั้นเพิ่ง 8 ขวบ ตรึมร้องเพลงอย่างเดียว ยังไม่ได้เล่นดนตรี ต่อมาก็ตอน 10 ขวบ ส่วนครั้งล่าสุดก็เมื่อปลายปีที่แล้วได้ขึ้นคอนเสิร์ต‘โลกร้อนคนละลาย’ กับวงคาราวาน ตรึมไปกับพ่อบ่อยมากคือเล่นตั้งแต่เวทีตามทุ่งนาจนไปถึง hall ใหญ่ๆ ที่ประทับใจที่สุดคือที่ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มันมาก หนาวจนมือแข็งเลย
ตรึมคงชอบดนตรีเพราะได้ไปทัวร์คอนเสิร์ตตามต่างจังหวัดกับพ่อตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่เกิดใหม่ ๆ เลย (หัวเราะ) แม่ก็ไปด้วย ช่วงนี้ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมก็จะไปกับพ่อด้วย แล้วในห้องนอนก็จะมีกีตาร์ของพ่ออยู่เกือบสิบตัว ตื่นมาก็เจอกีตาร์ทุกวัน (หัวเราะร่วน) ตอนแรกก็ชอบกลองนะ แต่ตอนหลังมาหัดเล่นกีตาร์เลยติดใจ ตอนนี้เลยรักที่จะเล่นกีตาร์มากกว่า ที่ผ่านมาตรึมเล่นดนตรีตลอดนะ ยังไม่เคยร้องนำเลย เพราะไม่ค่อยชอบเท่าไร แล้วตอนนี้เสียงแตกด้วย(ยิ้มตาหยี) ” กันตรึมพูดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาหลงใหลในเสียงดนตรี
สายเลือดเพื่อชีวิตกับเส้นทางเพลงบลูส์
ถึง ‘สุรชัย จันทิมาธร’ จะเป็นพญาอินทรีแห่งบทเพลงเพื่อชีวิต แต่ลูกชายของเขาคนนี้กลับมีความสนใจใน ‘เพลงบลูส์’ (Blues) มากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งเนื้อหาและท่วงทำนองของเพลงบลูส์นั้นสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างชัดเจนกินใจ ซึ่งดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับบทบาทของเพลงเพื่อชีวิตที่กล่าวขานเรื่องราวและความเป็นไปในสังคม ณ ห้วงเวลานั้นๆ
“ ตรึมว่าเพลงบลูส์มันก็เหมือนหมอลำของไทยเนี่ยแหล่ะ (หัวเราะ) คือบ้านเขาก็ถือว่าเพลงบลูส์เป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงบลูส์มันมีความเป็นตัวของตัวเอง มันชัดเจนว่ากูไม่ใช่แนวโน้นนะ กูไม่ใช่แนวนี้นะ แต่กูเป็นแนวเนี้ย เพลงบลูส์มันเกิดมาจากคนผิวดำแถวแอฟริกา เป็นชนชั้นแรงงานที่ต้องไปรับจ้างตามโรงงานแต่เขาบ่นอะไรไม่ได้ก็เลยปลดปล่อยออกมาเป็นบทเพลง เขาก็ทำกีตาร์โปร่งขึ้นมาเอง ดีดและร้องอยู่คนเดียว มันเป็นเพลงที่ฟังไม่เบื่อ ตรึมว่ามันก็คล้ายกับเพลงเพื่อชีวิตของไทยนะ เพราะเพลงเพื่อชีวิตก็จะสื่อถึงเรื่องราวของชีวิตผู้คนเหมือนกัน
ตอนตรึมหัดเล่นกลองใหม่ ๆ พ่อซื้อซีดีเพลงของวง Linkin Park เป็นแนวร็อก ช่วงที่มาเล่นกีตาร์ก็ชอบวงดรีม เทียร์เตอร์ (Dream Theatre) เป็น Progressive Rock ปกติตรึมก็ชอบเพลงบลูส์ ก็ผสมผสานกันไป คือนักดนตรีต้องฟังเพลงเยอะๆนะ ถ้าเราฟังเพลงร็อกอย่างเดียวดนตรีที่เล่นออกมาก็อาจจะด้านๆ ถ้าฟังเพลงหลายๆแนวเราก็สามารถเอามาคิดและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ตรึมว่าเรื่องของดนตรีว่ามันไม่ได้อยู่ที่ฝีมือนะแต่อยู่ที่สมองมากกว่า เหมือนกับเพลงของพ่อมันเกิดจากความคิดและจิตวิญญาณ
อย่างพ่อนี่ตรึมบอกตรง ๆ นะว่าเล่นกีตาร์ก็ไม่เก่งนะ แต่สมองเขายอดมากในเรื่องการแต่งเพลง การประพันธ์ดนตรี มีอาจารย์สอนกีตาร์คนหนึ่งบอกว่าพี่หงาเล่นลูกนี้ออกมามันไม่มีในตำรานะ แต่เล่นออกมาจากใจ พ่อเขาก็ไม่ได้สอนให้ตรึมเล่นดนตรีตรงๆ แต่เป็นทฤษฎีทางอ้อมมากกว่า พ่อจะแนะนำให้เขียนหนังสือ วาดรูป อ่านหนังสือเยอะๆ ซึ่งมันช่วยให้การเล่นดนตรีมันออกมาดี คือถ้าฝึกแต่เทคนิคในการเล่น ดนตรีที่ออกมามันก็แข็งกระด้าง แค่เล่นไปตามโน้ต มันไม่มีอารมณ์ อย่างจะเล่นเพลงเกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้าเราไม่รู้ว่าธรรมชาติคืออะไร มันก็คือแค่เล่นกีตาร์ ไม่ใช่เล่นดนตรี”
ขึ้นเวทีพันธมิตรตั้งแต่ปี 48
แม้กันตรึมจะไม่ได้เลือกเดินบนเส้นทางเพลงเพื่อชีวิตเฉกเดียวกับ ‘หงา คาราวาน’ ผู้พ่อ แต่เขาก็หาได้ละทิ้งการมีส่วนร่วมทางสังคม ในช่วงที่การเมืองร้อนระอุ เกิดการชุมนุมต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กันตรึมก็ไม่ลังเลใจที่จะขึ้นเล่นดนตรีบนเวทีพันธมิตรฯเพื่อใช้บทเพลงเป็นสื่อในการเรียกร้องความเป็นธรรมสู่สังคม
“ตรึมเล่นดนตรีที่เวทีพันธมิตรฯมาตั้งแต่ยังไม่จัดชุมนุมเลย ตั้งแต่มีการเสวนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2548 จนถึงเวทีที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่สนามหลวง ปัจจุบันมาขึ้นเวทีที่มัฆวานฯเขาจะประกาศว่าวงกันตรึมกับชัย บลูส์ เพราะตรึมเล่นกับอาชัยและเพื่อนๆ โห..มันมาก เล่นเพลงของพ่อเนี่ยแหล่ะ แต่เอามาทำดนตรีใหม่ มีคนพูดว่าเพลงของพ่อนี่เหมาะจะเล่นที่นี่มากที่สุด
คือที่มาเวทีพันธมิตรเพราะพ่อชวนมา ตอนแรกตรึมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะชุมนุมกันไปทำไม (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นเราเป็นเด็กก็ยังไม่ค่อยสนใจการเมือง ดูแต่การ์ตูนอย่างเดียว ก็เอ๊ะ!...ไอ้นั่นมันโกง แล้วมันจะโกงไปทำไม ไอ้นี่ก็จะจัดเวทีไปทำไม จะไล่กันทำไม ร้อนก็ร้อนจะมานั่งชุมนุมกันทำไม (หัวเราะร่วน) แต่พอมาบ่อยๆ นั่งอยู่หลังเวทีก็ได้ฟังข้อมูลที่เขาขึ้นปราศรัยกัน พ่อกับแม่ก็คุยให้ฟังด้วย ก็เลยเข้าใจมากขึ้น” กันตรึมเล่าถึงที่มาของการขึ้นเวทีพันธมิตรฯ
นับได้ว่ากันตรึมเป็นลูกไม้ใต้ต้นที่เดินตามเส้นทางคนดนตรีด้วยหัวใจเสรีของเขาจริงๆ ปัจจุบันเขาตั้งวงร่วมกับรุ่นพี่ ม.5 โรงเรียนอมาตยกุล ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งเดียวกับที่กันตรึมกำลังศึกษาอยู่ โดยใช้ชื่อวงว่า ‘The Strive’ ที่สื่อถึงการต่อสู้และความพยายามตามแบบฉบับของลูกผู้ชาย และขณะนี้เขากำลังฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเตรียมจะเข้าประกวด Hot Wave Music Award นอกจากนั้นทุกวันเสาร์กันตรึมยังเล่นดนตรีประจำอยู่ที่ร้าน Adhere Blues Bar ย่านบางลำพู ซึ่งเขาบอกว่ามีความสุขทุกครั้งที่ได้ปลดปล่อยตัวตนผ่านเพลงบลูส์ที่เขาหลงใหล
ศิลปินในดวงใจ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้กันตรึมดูแตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกันอย่างสิ้นเชิงเห็นจะเป็นมุมมองและความคิดที่เป็นผู้ใหญ่เกินกว่าเด็กชายวัย 13 ซึ่งกันตรึมบอกว่าคงเป็นเพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเขานั้นคลุกคลีอยู่กับผู้ใหญ่วัยเดียวกับพ่อ ทำให้เขาสั่งสมบ่มเพาะปรัชญาและแนวคิดในการดำเนินชีวิตต่างๆอย่างไม่รู้ตัว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเขาจึงกลายเป็นเพื่อนสนิทกับนักคิดนักเขียนระดับปรมาจารย์อย่าง ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) และคุยอย่างออกรสชาติเมื่อพบหน้ากวีเอก ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’
“เพื่อน ๆ ชอบเรียกตรึมว่า‘ไอ้แก่’ คือหน้าตานี่ไประดับมหาวิทยาลัยแล้ว (หัวเราะ) แล้วตรึมจะมองอะไรไม่ค่อยเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน อาจเป็นเพราะรอบ ๆ ตัวเรามีแต่ผู้ใหญ่ ไปเล่นดนตรีกับพ่อก็คุยกับเพื่อนพ่อ รุ่นน้องพ่อ หลายคนก็รุ่น 60 อัพ ก็เลยได้ความรู้จากคนที่มีความคิดดี ๆ อย่างลุงเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็คุยกับแกบ่อย หรือเวลาไปเล่นดนตรีที่ร้าน Adhere Blues Bar อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ แกชอบมาดูตรึมเล่นดนตรี ก็คุยกันจนเจ้าของร้านบอกว่า อื้อฮือ....เพื่อนซี้ต่างวัย (หัวเราะร่วน) คือตรึมจะคุยถูกคอมากถ้าเจอรุ่น 60 ขึ้นเนี่ย(หัวเราะขำ) คนแก่เขาก็จะชอบคุยเรื่องศิลปะ เรื่องประสบการณ์ชีวิต ตรึมก็ได้อะไรดี ๆ จากตรงนี้เยอะ”
ถามถึงศิลปินในดวงใจ กันตรึมบอกว่าถ้าเป็นระดับสากลเขายกให้ John Petrucci มือกีตาร์ระดับเทพแห่งวง Dream Theatre แต่หากเป็นศิลปินในเมืองไทยแล้วจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘หงา คาราวาน’
“หงา คาราวาน นี่เก่งมาก (หัวเราะร่วน) เรียกได้ว่าเขาเป็นศิลปินเพราะเพลงของเขามันสื่อออกมาจากวิญญาณ ถ้าพูดถึงเพลงของพ่อนี่ตรึมชอบเพลง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ มากที่สุด เป็นเพลงที่พ่อแต่งให้คุณรงค์ วงษ์สวรรค์ คือชอบทั้งดนตรี ถ้อยคำ แล้วก็เนื้อหาของเพลง ตรึมเองก็ชอบงานเขียนของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ เหมือนกัน คือภาษาเขียนของเขาไม่ใช่ธรรมดา ภาษาสวยมาก อย่างเวลาก็จะเป็นเพลา เขาจะมีพจนานุกรมของเขาเลย(หัวเราะ) คำที่เขาใช้จะไม่เหมือนใคร แต่งานของคุณรงค์อ่านยากนะครับ เรื่องล่าสุดที่ได้อ่านก็คือ ‘เปลี่ยวคอนกรีต’ ”
สำหรับอนาคตนั้นกันตรึมฝันว่าอยากเป็นมือกีตาร์ระดับสากล และได้มีโอกาสเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกเหมือนกับ John Petrucci แห่งวง Dream Theatre
“คนไทยส่วนมากชอบพูดว่าฝรั่งเก่ง จริง ๆ ก็คนเหมือนกัน ตรึมว่ามันอยู่ที่ความพยายามและการฝึกฝนมากกว่า ถ้าเรามีความพยายามและอดทนเท่าเขาเราก็ไปถึงฝันเหมือนกับเขาได้” กันตรึมพูดถึงความฝันในอนาคตด้วยแววตาที่มุ่งมั่น ซึ่งแววตาและรอยยิ้มนั้นทำให้เราอดนึกถึงราชาเพลงเพื่อชีวิตที่ชื่อ ‘หงา คาราวาน’ ไม่ได้
* * * * * * * * * * * *
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - ธัชกร กิจไชยภณ