‘ปาก’ มีไว้ทำอะไร?
เปล่า, ไม่ได้ตั้งใจมายียวนกวนอะไร แต่อยากให้คุณนึก
กินข้าว เมาท์กับเพื่อน หัวเราะ หาว จูบ ร้องเพลง ผิวปาก ฯลฯ
แน่นอน นั่นเป็นหน้าที่หลักๆ ของปากที่มนุษย์ส่วนใหญ่ใช้กัน
มากไปกว่านั้น ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากอวัยวะที่อยู่ใต้จมูกได้มากกว่านั้น เขาใช้สร้างจังหวะ และเสียงดนตรี ซึ่งเป็นเสียงที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยิน เพียงแต่น่าจะมีน้อยคนนักที่รู้ว่ามันทำออกมาจากปาก
เชื่อ-ไม่เชื่อ เคยได้ยิน-หรือไม่เคยได้ยิน ไม่เป็นไร...
แต่อย่าตกใจ ถ้าต่อจากนี้จะได้รู้ว่า อวัยวะที่ยืนอยู่ใต้จมูกนี้ ทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด
(คำแนะนำ : เพื่ออรรถรส ระหว่างอ่านสกู๊ปควรเปิด Beatbox ฟังประกอบการอ่าน)
อะไรคือ Beatbox?
“เป็นการทำเสียงดนตรีจากปาก เป็นเสียงกลองบ้าง เสียง Scracth แผ่นเหมือนพวกดีเจบ้าง หรืออาจเป็นเสียงจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ”
“สำหรับผม มันไม่ใช่แนวดนตรี แต่มันเป็นเครื่องดนตรี เพราะมันสามารถจะทำเสียงต่างๆ ได้เหมือนที่เครื่องดนตรีทำ ข้อดีของเครื่องดนตรีชนิดนี้ คือมันอยู่ที่ปาก ปากของคนเราทุกคนสามารถทำ Beatbox ได้หมด นั่นคือความพิเศษของมัน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไร นอกจากอวัยวะในร่างกายเราเอง”
เสียงคำบอกเล่าให้นิยามของ Beatbox จากสองหนุ่มอารมณ์ดี ภวนันท์ ศาตวินท์ หนุ่มนักศึกษาปริญญาโท และ สุวิชา เผือกอิ่ม โปรแกรมเมอร์ สองหนุ่มผู้รักในดนตรีจากปากช่วยกันนิยามสั้นๆ ให้ฟัง จากนั้นทั้งสองร่วมกันอธิบายเพิ่มด้วยเสียงจากปาก (ซึ่งเป็นเสียงที่ค่อนข้างยากต่อการบรรยายด้วยตัวหนังสือ)
ความสนใจเริ่มถูกดึงดูด ณ จุดนี้ จึงอยากศึกษาไปถึงต้นกำเนิดของมัน
ภวนันท์ เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของ Beatbox ว่ามันเริ่มต้นที่นิวยอร์กช่วงปลาย ค.ศ.1970 หรือช่วงต้นปีค.ศ.1980 โดยศิลปินที่ทำมักจะเป็นฮิปฮอป ในช่วงแรกนั้นก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก พอถึงช่วงปีค.ศ.1980-1990 ก็เป็นช่วงที่มันค่อนข้างเงียบหายไป
แต่พอถึงช่วงปีค.ศ.1995-1996 มีศิลปินสองคนที่จุดกระแสให้ Beatbox กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งคือ Razhel และ Kenny Muhammad สองศิลปินชาวอเมริกัน จากนั้นพอถึงช่วงปลายปีค.ศ.1990 หรือช่วงต้นปีค.ศ.2000 Beatbox ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปดังอยู่แถบยุโรป ในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน
“มันจัดอยู่ในประเภทเดียวกับ A Cappella เพราะมันเป็นดนตรีที่ทำเสียงด้วยปากเหมือนกัน แต่อาจจะต่างสไตล์กัน เพราะพวก A Cappella จะเน้นหนักไปที่การร้อง แต่การ Beatbox มันจะเน้นที่จังหวะมากกว่า” สุวิชาเสริม และอธิบายต่อ
“แต่รูปแบบของ Beatbox จะแตกต่างกับ A Cappella ตรงที่ว่า A Cappella จะเป็นการทำเสียงดนตรีแยกกันคนละชิ้น อย่างคนหนึ่งทำเสียงกระเดื่อง คนหนึ่งฉาบ คนหนึ่งสแนร์ คนหนึ่งเบส คนหนึ่งเชลโล คนหนึ่งทรัมเบต จะเป็นลักษณะนี้ แต่ Beatbox นั้น คนเดียวสามารถทำได้หลายๆ เสียงพร้อมกันเลย” เสียงของอีกหนึ่งหนุ่ม มิตร โมชดารา ฟรีแลนซ์ Beatbox งานอีเวนต์-ปาร์ตี้ ตอบก่อนช่วยอธิบายต่อ
สิ่งที่เป็นช่องว่างให้ Beatbox ได้เกิดขึ้น เป็นเพราะสมัยก่อนมันยังไม่มีเครื่องดนตรีมากเท่าปัจจุบัน พวก Street Rap ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวดำ เขาจะคิดจังหวะบีทง่ายๆ เพื่อใช้รับส่งจังหวะแร็ปกัน
ในสมัยแรกเริ่ม มันเป็นเหมือนทักษะอย่างหนึ่ง อย่างกลุ่มคนฮิปฮอป เขาจะรักดนตรีกันมาก พอมีการ Beatbox ทำให้เขาสามารถ Rap ไปพร้อมกับการ Beatbox ไปได้ด้วย ในตอนนั้นมันจึงเป็นเหมือนการละเล่น หลังจากนั้นก็เริ่มมีการออกสื่อ ทำให้มันแพร่ไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็ว ส่วนในแถบเอเชียประเทศแรกที่ได้รับเข้ามาคือ ญี่ปุ่น สุวิชาเสริม
‘ครั้งแรก’ กับ Beatbox
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมต้องมี ‘ครั้งแรก’
ภวนันท์เล่าถึงครั้งแรกของความสนใจว่า เขาเริ่มรู้จัก Beatbox ตั้งแต่สมัยมัธยมสามแล้ว แต่มาเริ่มเล่นจริงๆ ก็ช่วงเรียนปี 2 โดยฝึก Beatbox จากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วย
สุวิชาเล่าถึงการทำความรู้จักระหว่างเขากับ Beatbox ว่าเกิดขึ้นสมัยมัธยมปลาย คือเห็นเพื่อนนั่งเป่าปาก ‘ปรื๊ก ปรื๊ก’ แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร จนถึงตอนที่เรียนปี1 ช่วงทำกิจกรรมสันทนาการ ไม่รู้ว่านึกครึ้มอะไรก็เป่าปากเป็นเสียงกระเดื่องกับสแนร์ออกไป พอทำไปทำมาเริ่มรู้สึกว่ามันน่าจะเอามาผสมรวมกับการเล่นดนตรีได้ จึงศึกษามาเรื่อยๆ จาก Tutorial เว็บไซต์ของต่างประเทศ เพราะตอนนั้นในไทยยังไม่มีให้ศึกษา คนยังรู้จัก Beatbox น้อยมาก
“เล่น Beatbox มา 4 ปีแล้ว สิ่งที่ทำให้สนใจอยากเล่นคือ ได้เห็น จัสติน ทิมเบอร์เลก เขาทำดนตรีด้วยปาก เราเลยลองฝึกตามเล่นๆ ถัดมาอีก 2 เดือนก็มีเพื่อนเอาแผ่นซีดีที่มีการทำเสียงดนตรีด้วยปากของต่างประเทศมาให้ เราเลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง โหลดคลิปจากอินเทอร์เน็ตมาศึกษาเพิ่มเติม เริ่มฝึกจริงจังขึ้นเรื่อยๆ” มิตรเล่าถึงครั้งแรกของเขากับ Beatbox ให้ฟัง
Beatboxer แห่งสยาม
กำลังนึกภาพตามอย่างสนุก เลยนึกมองหา คนเล่น Beatbox ในเมืองไทย
ภวนันท์เล่าให้ฟังว่า ในบ้านเราช่วงแรกจะมีแค่ ฟลิกซ์-วรากร จาติกวณิช ซึ่งตอนนี้เป็นคน Beatbox ให้วงไทเทเนียม ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ ทำอยู่กับก้านคอคลับ มีมาแสดงที่เมืองไทย สองคนนี้น่าจะเป็นคนชุดแรกที่เปิดประตู Beatbox ในประเทศไทย ภวนันท์ตอบ
หมายความว่า Beatbox มันทำเป็นอาชีพได้?
ทำได้ มิตรตอบ แต่ในเมืองไทยคนที่เล่น Beatbox แบบยึดเป็นอาชีพยังไม่มีให้เห็น เพราะคนไทยยังรู้จักน้อยอยู่ แต่ในต่างประเทศคนที่ทำเป็นอาชีพจะมีเยอะมาก
“ในต่างประเทศมีการทำอาชีพนี้เป็นเรื่องเป็นราว โดยมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Beatboxer แต่ในบ้านเราคนที่ยึดอาชีพ Beatboxer แบบเป็นเรื่องเป็นราว ประเภทที่ว่าหาเงินมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรืออยู่ได้ด้วยการ Beatbox อย่างเดียว มันคงจะยาก น่าจะไม่มี แต่ถ้าเป็นประเทศแถบยุโรปคนที่ยึดอาชีพนี้ ก็สามารถยืนอยู่ด้วยอาชีพนี้สบายๆ” ภวนันท์เล่าและอธิบายต่อว่า ประเด็นหลักของบ้านเรา คือคนไม่ค่อยรู้จัก ด้านสถานประกอบการบันเทิงเองก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงจ้าง Beatbox ไปเล่น เพราะเขาอาจยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันยังใหม่มากสำหรับคนไทย
ยิ่งกับการแข่งขัน ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการจัดแข่งขัน Beatbox ในไทยยังมีน้อยมาก แต่ในต่างประเทศจะมีจัดแข่งขัน World Beatbox Champship คือรวม Beatbox จากทั่วโลกมาแข่งขัน จะจัดในประเทศแถบยุโรป หรืออเมริกา โดยจะคัดเอาตัวแทนที่เก่งที่สุดของแต่ละประเทศมาแข่งที่นี่ แต่เมืองไทยยังไม่มีการส่งตัวแทนไป เพราะในภาพรวมฝีมือยังสู้เขาไม่ได้ ภวนันท์เล่า
“คนไทยไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ สู้ต่างชาติไม่ได้ แต่คนไทยไม่ค่อยมีความอดทน” สุวิชาร่วมวงคุย เขาเล่าว่า คนไทยชอบมี First Impression กันมาก ประมาณว่า
“อันนี้เจ๋งดีนะ ทำได้น่าจะเท่ แต่พอฝึกไปสักพักก็ไม่เอา บ่นว่ามันเหนื่อย มันไปต่อไม่ไหว เหมือนคำพูดที่คนเขาชอบพูดกันว่าฝึกจนจะตายแล้ว ผมอยากจะบอกว่าผมยังไม่เคยเห็นใครที่ฝึก Beatbox เรียนหนังสือ หรือทำอะไรอื่นๆ ที่ฝึกฝนแล้วมันตายสักคน เพราะแบบนี้มันเลยทำให้คนไทยไม่มีอะไรที่เป็นจุดเด่นที่ชัดเจนเลย” สุวิชากล่าว
Fundamental of Beatbox
เราเริ่มสนใจใคร่รู้ถึง หลักการพื้นฐานการเป่าเสียงดนตรีจากปาก
“เสียงบังคับพื้นฐานจะเริ่มฝึกจากเสียงกลองชุดเป็นหลักโดยมีเสียง กระเดื่อง (Kick) ไฮแฮต (Hi-Hat) และ สแนร์ (Snare)” สุวิชาผู้สวมบทบาทเว็บมาสเตอร์และTutor ของ Bkkbeatbox.net อธิบายหน้าชั้นเรียน
สุวิชาเล่าว่า ในระดับเริ่มต้นจะไม่ยากมาก แต่พอถึงขั้น Advance ขึ้นไป อันนี้จะขึ้นอยู่กับน้ำเสียงและเส้นเสียงของแต่ละคนแล้ว คนหนึ่งอาจจะทำอย่างนี้ได้ แต่อีกคนอาจจะทำไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าเครื่องดนตรีจากร่างกายชนิดนี้ บางส่วนมันก็ต้องอิงเรื่องพันธุกรรมด้วย ในขั้นพื้นฐานมันอาจไม่มีผล เพราะคนเราสามารถพูดได้ทุกคน แต่พอฝึกลงในด้านทักษะเชิงลึกแล้ว ร่างกาย อวัยวะก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริม
ยกตัวอย่าง เวลาที่ต้องควบคุมการออกเสียง ที่อาจจะต้องใช้การห่อลิ้นช่วย ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถห่อลิ้นได้ บางคนห่อได้ บางคนก็ห่อไม่ได้ ฉะนั้นเรื่อง Beatbox ก็เช่นเดียวกัน บางคนก็ไม่สามารถที่จะทำบางเสียงได้
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องความสร้างสรรค์ ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน มันเป็นการเอาสิ่งที่เรามี เราเป็น เราทำได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อถ่ายทอดมันออกมาอย่างสร้างสรรค์ โดยที่ห้ามทิ้งทักษะพื้นฐานด้วย
“ผมเคยเจอรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งเก่งมากๆ เขาแกะซาวนด์ได้เหมือนมาก ทั้งๆ ที่ฝึกมาแค่ 3-4 เดือน แต่พอมาตั้งใจฟังเสียงเบสิก จึงรู้ว่าเขาไม่ได้ฝึกเบสิกเลย คือเขาพยายามที่จะทำให้เหมือนซาวนด์นั้นซาวนด์นี้ แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องเบสิก ทำให้ฐานเสียงไม่แน่น จังหวะไม่ตรง ผมเลยบอกให้เขากลับไปฝึกใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะไม่อย่างนั้น เขาเองที่จะไปต่อไม่ได้ เขาจะหยุดอยู่แค่ตรงนั้น ถ้าไม่มีพื้นฐานที่ดี” สุวิชา Tutor หลักวิชา Beatboxing สรุปบทเรียน
“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ทัศนคติ เขาจะต้องมีมุมมองต่อ Beatbox ที่ถูกต้องด้วย เพราะมีหลายคนฝึก Beatbox จากที่เห็น นั่นคือการไปก๊อบคนอื่นมาเล่น มันจะทำให้คุณติดอยู่กับกรอบ ทำให้คุณวนอยู่ที่เดิมว่าจะต้องเล่นเพลงตลาด ต้องใช้เสียงแบบนั้น ใช้เทคนิคแบบนี้ ซึ่งทำให้ไม่ได้อะไรใหม่ๆ ที่จะเป็น Original เลย ฉะนั้นสำหรับผมสิ่งสำคัญ คือต้องหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ” ภวนันท์ Tutor พิเศษช่วยเสริม
Beatbox: แทนที่ หรือส่งเสริม?
วิวัฒนาการดนตรีจากปาก เกิดมาจากความต่อต้านเทคโนโลยีเครื่องสร้างเสียงสังเคราะห์หรือเปล่า? เราเริ่มชวนคนทะเลาะ
“คงไม่ถึงขนาดนั้น ผมมองว่ามันช่วยเสริมในแง่วิวัฒนาการของการทำดนตรีมากกว่า เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีมันเอื้อให้คนทำเพลงได้ง่ายขึ้น แค่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็ทำได้แล้ว ทุกอย่างมันเป็นดิจิตอลไปหมด ฉะนั้นการทำเสียงดนตรีด้วยปาก มันเหมือนเป็นการกลับไปที่คน คล้ายกับการกลับไปที่จุดเริ่มต้นเดิม เพราะการทำเสียงต่างๆ นานาในทุกวันนี้ แรกเริ่มมันก็มาจากเสียงจากปากของคน” ภวนันท์ตอบ
“งั้นถามกลับ คุณสามารถเอากีต้าร์มาทับกับเบสได้ไหม? หรือเอาไปทับเปียโนได้ไหม? มันก็ไม่ได้ Beatbox มันก็เป็นเหมือนเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ที่คุณไม่สามารถจะเอามันไปทับกับใครได้ มันอาจทำให้วงการดนตรีเปลี่ยนไปได้บ้าง แต่ไม่ใช่การแทนที่แน่นอน” สุวิชาตอบเสริม
พรสวรรค์ หรือพรแสวง?
เพราะเห็นแล้วทึ่ง บวกกับอึ้งในความสามารถ มันต้องเป็นพรสวรรค์เฉพาะคนแน่ๆ
“ถ้าเอาผมเป็นตัวตั้ง ผมเองเป็นคนตัวเล็กมาก ปอดก็เล็ก แต่ก็ยังเล่นได้” มิตรตอบ
เขากล่าวต่อว่า การเล่นที่ไหลลื่นโดยไม่สะดุดนั้น เทคนิคมันอยู่ที่การหายใจ ต้องหาห้องหายใจให้มันถูกต้อง ไม่ใช่บีตลากเสียจนอากาศหมดปอด หรือหายใจครั้งหนึ่งเฮือกใหญ่ๆ นั่นไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำ อาจต้องใช้เทคนิคแย็บๆ หายใจ ซึ่งเป็นการขโมยหายใจวิธีหนึ่ง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนไป
“พรสวรรค์ หรือพรแสวง คำถามนี้มักเกิดจากการมองแค่ภาพลักษณ์ของ Beatbox ที่ดูจากภายนอกอาจจะคิดว่าต้องยากมากแน่ๆ แต่สำหรับผมแล้วพรสวรรค์มันแค่เป็นตัวที่ทำให้คนเก่งเร็วกว่ากันแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มันสำคัญที่พรแสวง และความมีใจรักมากกว่า” มิตร Beatboxer ชั่วโมงบินสูงให้ความเห็น
Beatbox กับวงการเพลงไทย
เรานึกในใจ ว่าเคยได้ยิน Beatbox ในเพลงของใครบ้าง?
“ถ้าเคยฟังซาวนด์แทร็กของภาพยนตร์เรื่องบุปผาราตรี ที่สิงห์เหนือเสือใต้ร้อง หรือเพลง Guwn Theen ของวงThaitanium ซาวนด์ที่ประกอบในนั้นจะเป็นการ Beatbox ของคุณฟลิกซ์ทั้งหมด ถ้าพูดถึงวงการดนตรีในบ้านเราก็จะมีแค่วงไทเทเนียมและก้านคอคลับเท่านั้น ที่มีการหยิบ Beatbox มาใช้ในงานเพลงให้เห็น” มิตรช่วยเราขจัดความสงสัย
Beatbox มันเป็นเสียงที่ออกจากปาก มันมีความเป็นเอกลักษณ์ คุณสามารถเอาไปรวมกับดนตรีชนิดต่างๆ ได้ มันขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจที่อยากจะเอา Beatbox เข้าไปผสมด้วย ทำให้ได้ดนตรีที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งขึ้น ที่แปลกใหม่กว่าเดิม เพราะวงการดนตรีในบ้านเราปัจจุบันมันขาดความแปลกใหม่ ขาดแนวทางที่น่าสนใจ มีแต่ J-POP กับ K-POP สุวิชากล่าว
แล้วถ้าเกิดคิดการใหญ่ว่า Beatbox จะช่วยผลักดันพัฒนาการของวงการดนตรีได้
“ถ้าในแง่ของการแสดง คิดว่ามีประโยชน์อย่างแน่นอน” ภวนันท์ Beatbox หน้าขรึมให้คำตอบ
เพราะว่าทุกวันนี้วงการดนตรีบ้านเราหวังพึ่งรายได้จากการขายเทป ขายซีดีได้ยากมาก สังเกตว่าเดี๋ยวนี้ศิลปินนักร้องจะเน้นการแสดงสด แสดงคอนเสิรต์แทน เพราะมันสร้างเม็ดเงินได้มากกว่าการขายซีดีที่หวังไม่ค่อยได้แล้ว การ Perform บนเวทีจึงน่าจะช่วยดึงความสนใจได้
ยิ่งกับตัว Beatbox แล้ว ถ้าจะดูให้มัน จะต้องไปดูแบบแสดงสดเท่านั้น เพราะการดูดนตรีสด หรือการแสดงสด นอกจากจะได้ฟังเสียงดนตรีแล้ว คุณยังสัมผัสได้ถึงบรรยากาศตรงนั้นด้วย ยิ่งถ้าเอา Beatbox ไปรวมอยู่ในการแสดง มันยิ่งสร้างเสียงฮือฮาได้มาก
“แต่ปัญหาตอนนี้คือ บ้านเรายังมีคนที่สามารถขึ้นไป Perform Beatbox ในระดับที่โชว์ฟอร์มได้ดี ยังมีน้อยคนอยู่ อีกอย่างคือคนชอบคิดว่า Beatbox คือฮิปฮอป มันมาจากฮิปฮอปก็จริง แต่ในการ Beatbox คุณจะเอาไปบีตเป็นแนวไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเล่นแนวฮิปฮอปอย่างเดียว มันเหมือนว่าถ้าคุณมีกีต้าร์คุณก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเล่นร็อกอย่างเดียว คุณอาจเล่นอะคูสติก แจ๊ส บลูส์ ก็ได้ Beatbox ก็เช่นเดียวกัน มันไม่จำเป็น บางคนอาจจะเล่นไปแนวเฮ้าส์ ดรัมแอนด์เบส อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ แจ๊ส ก็ได้” ภวนันท์เล่าถึงความสำคัญของการ Perform
คำถามกวนๆ จากเรา ถูกโยนเข้าไปในวง จะเอา Beatbox มาทำเสียงดนตรีไทยได้ไหม?
“ทำได้ เคยมีคนที่เชียงใหม่ทำ Beatbox เป็นเสียงระนาดได้แล้ว” คำตอบที่ได้ทำเอาเราทึ่ง กวนต่อไม่ออก
สุวิชาเล่าต่อว่า ตัวเขาเองก็เคยลองทำเป็นเสียงฆ้องแล้วเช่นกัน ถามว่ามันทำได้ไหม? มันก็ทำได้ เพราะเราก็บีตไปตามจังหวะของดนตรีไทยเท่านั้นเอง คือการ Beatbox มันทำได้ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอามันไปผสมกับอะไรมากกว่า ล่าสุดมีการเล่นกับดนตรีสตริง นักร้องเขาก็จะแหล่ของเขาไป เราก็ไปทำ Beatbox เป็นจังหวะให้ มันก็ได้อีกอารมณ์หนึ่ง
เล่นไป ให้ได้อะไร?
สุวิชาอธิบายจากประสบการณ์ว่า ประโยชน์ที่ได้จาก Beatbox คือช่วยฝึกสมาธิ เพราะเมื่อเรามีสมาธิทุกอย่างก็จะดี เล่นได้ตรงจังหวะมากขึ้น มันเป็นการฝึกด้านจิตใจอย่างหนึ่งด้วย
“อย่างตัวผมเองแต่ก่อนจะค่อนข้างอารมณ์ร้อนมาก แต่พอมาฝึก Beatbox ทำให้เรารู้ถึงความยากลำบาก มันทำให้เราใจเย็นลง ค่อยเป็นค่อยไป มันได้เรื่องความอดทนด้วย เป็นความอดทนที่เห็นผลดี พอเราได้จุดนี้แล้วก็ทำต่อไปอย่างอดทนเพื่อฝึกให้ได้เสียงอื่นมาอีก ผมว่ามันดีกว่าไปนั่งเล่นเกมให้มันไม่ได้ประโยชน์อะไร คุณอาจได้สังคมออนไลน์กับคนคอเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดเล่นเกมไป คุณก็ไม่ได้ทักษะอะไรขึ้นมา แต่การเล่น Beatbox คุณยังได้ฝึกทักษะทางปาก” สุวิชาทิ้งท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
##########################
เรื่อง – วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม