xs
xsm
sm
md
lg

“การวิเคราะห์หรือพูดแบบที่ไม่ลึกพอจะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเอดส์ได้” นิมิตร เทียนอุดม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก แน่นอนว่าจุดหมายปลายทางคือการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก กลับมายังประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งแถลงข่าวการแพร่กระจายของโรคเอดส์ไปเมื่อไม่นานว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 5 คน และวัยรุ่นหญิงติดเชื้อมากกว่าวัยรุ่นชาย สาเหตุมาจากการยั่วยุของสื่อ...

ต้องถือว่าที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคเอดส์ค่อนข้างดี การต่อสู้ของภาคประชาชนทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส แต่ภายใต้ความสำเร็จที่ปรากฏก็ยังมีปัญหาต่างๆ ซุกไว้ใต้พรมอีกมาก เอาแค่เฉพาะ ‘คำอธิบายสาเหตุ’ ก็อาจสะท้อนได้ว่า บางครั้งคำอธิบายก็เป็นปัญหาในตัวเอง

‘ปริทรรศน์’ ชวนสนทนากับ นิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ คนที่ทำงานด้านนี้มานานและถือเป็นพี่ใหญ่คนหนึ่งของคนในวงการเอ็นจีโอ ตีแผ่สถานการณ์โรคเอดส์ในสังคมไทย

*ช่วยเล่าพัฒนาการการทำงานเรื่องโรคเอดส์ในไทย
ตอนเอดส์เข้ามาเมืองไทยแรกๆ ขณะนั้นยังไม่มีแนวทางหรือวิธีการรักษาที่ดี คนตกใจปัญหาเอดส์สูงมาก หลังจากนั้นคนก็เริ่มรู้ว่าเอดส์มันติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการรณรงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ แล้วมันก็ไปผูกกับทัศนะ พฤติกรรมทางเพศของคน เช่น ไปตีตราว่าพวกรักร่วมเพศเป็นพวกผิดปกติทางเพศและทำให้เกิดปัญหาโรคเอดส์ แล้วก็ไปแฝงต่อว่าเป็นคนที่มั่ว มากผัวมากเมีย กลายเป็นว่าพวกนี้เป็นคนไม่ดีทำให้ติดเชื้อ ถูกตีตรา เกิดการรังเกียจ อคติทางเพศตรงนี้บวกกับที่เรายังไม่ชัดเจนในแนวทางการรักษาและเรื่องที่พยายามผูกว่าเป็นโรคร้ายแรง เป็นแล้วตาย พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ เอดส์ก็เลยกลายเป็นดับเบิลปัญหา

คนที่ทำงานเรื่องเอดส์ก็ต้องมาตามแก้โจทย์พวกนี้ ว่าสาเหตุการติดคืออะไร เป็นเรื่องความดี ความเลวหรือเปล่า เพราะการตัดสินแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาซ้อนตามมาอีกมั้ย เราพบว่าการติดเชื้อเป็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศที่อยู่ในวิถีชีวิตทางเพศของคนมานานแล้ว บังเอิญว่ามันมีไวรัสตัวนี้ขึ้นและติดจากการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้น ถ้าเราไม่พยายามไปประณามพฤติกรรมนั้น มันก็จะสร้างความเข้าใจและทำให้คนที่เจอปัญหานี้พร้อมที่จะเดินออกมาสู่สังคมวงกว้าง และเดินเข้าสู่การรักษา เกาะกลุ่ม หรือช่วยเหลือกันได้มากขึ้น

พฤติกรรมที่ว่าคือการเปลี่ยนคู่ โอกาสของการติดเชื้ออยู่ที่ว่าคุณเปลี่ยนคู่หรือเปล่า แต่ในความเป็นจริงการที่คนสองคนมาอยู่ด้วยกัน มันมีเรื่องประวัติศาสตร์ทางเพศของแต่ละคนมาก่อน อาจจะติดเชื้อมาจากคู่เก่า และคุณอาจไม่รู้ว่าติด เพราะไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าติดเชื้อ ถ้าคุณไม่ไปตรวจหรือไม่ป่วย จุดนี้คือสาเหตุหลักที่ทำให้เอดส์แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว แล้วมันบวกกับทัศนคติทางเพศ ถ้าเราเชื่อเรื่องความบริสุทธิ์ เชื่อเรื่องผู้หญิงที่ดีต้องไม่มีอะไรมาก่อน ถ้ามีมาก่อนก็ไม่บอก ไม่คุยเรื่องนี้ ก็คิดว่าคงไม่มีอะไรหรอก ถ้าคุณเป็นผู้ชายอาจจะง่ายหน่อย แต่ผู้หญิงอาจจะไม่พร้อมบอก ดังนั้น คนที่ทำงานเรื่องเอดส์จะทำงานเพื่อหยุดการติดเชื้อให้ได้ เราก็ต้องมาขุดรากเหง้าของอคติทางเพศเพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องนี้

*เวลาเราพูดถึงปัญหาเอดส์ เรามักจะพูดถึงจำนวนผู้ติดเชื้อว่ามากขึ้นหรือน้อยลง จนเหมือนกับเป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของปัญหาเพียงอย่างเดียว จริงๆ ยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ อีกหรือเปล่า
เราอาจจะคุ้นชินกับการนับจำนวน ต้องบอกว่าจำนวนมีความสำคัญกับปัญหานี้เหมือนกัน เอชไอวีเป็นเรื่องจำนวนคูณ สมมติว่ามีคนติดเชื้อ 100 คน และไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ คนเหล่านี้ยังดำเนินชีวิตปกติ ถ้าอยู่กันไม่รอดก็มีคู่ใหม่ ก็จะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จำนวนจึงเป็นเรื่องสำคัญ คนติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นในปีถัดไป แล้วก่อให้เกิดปัญหาสะสม จำนวนผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายถึงจำนวนความต้องการที่จะเข้าถึงการรักษา จำนวนเม็ดยา เราก็เลยคิดว่าตัวจำนวนของผู้ติดเชื้อถือเป็นตัวชี้ความรุนแรงของปัญหาที่สำคัญอันหนึ่ง ในกลุ่มคนทำงานโดยทั่วไปจึงตั้งเป้าว่าต้องพยายามลดจำนวนคนที่ติดเชื้อรายใหม่ให้น้อยที่สุดให้ได้

ทีนี้ ความรุนแรงที่มองไม่ก็คือการรังเกียจหรือการกีดกันในการเข้าทำงาน เช่น ถ้าคุณถูกตรวจเลือดก่อนสมัครงาน จบเลย ไม่มีงานทำ แล้วจะดูแลตัวเองยังไง ตกงาน เครียด อาจจะทรุดเร็วขึ้น ก็ต้องใช้เงินในการรักษา อันนี้เป็นความรุนแรงที่มีและกระจายไปมาก ส่วนคนที่ได้รับการรักษา มีสุขภาพดี เราก็หวังว่าเขาจะกลับไปทำงานได้ แต่พอจะกลับไปทำงานปุ๊บ ไปสมัครงาน แต่ขอดูผลตรวจเลือด ความรุนแรงแบบนี้มันจะสะสม แล้วผู้ติดเชื้อจะรู้สึกว่าสังคมจะเอายังไงกับกูวะ นี่เป็นความรุนแรงจากความไม่เท่าเทียม ปัญหาเรื่องทัศนคติยังมีอยู่ เพียงแต่อาจจะเบาบางลงไปหน่อยหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐธรรมนูญเราก็กำหนดชัดเจนว่าห้ามเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากผลทางด้านสุขภาพ แต่ผลในทางปฏิบัติยังไม่เกิด แล้วเรื่องแบบนี้แก้ได้ด้วยกฎหมายหรือเปล่า มันต้องแก้ด้วยความเข้าใจ

*กระทรวงสาธารณสุขมีการแถลงข่าวเนื่องในวันเอดส์โลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 5 คน สาเหตุหลักคือการมีเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มติดเชื้อมากขึ้น และวัยรุ่นหญิงก็ติดมากกว่าวัยรุ่นชาย 2 เท่า โดยระบุว่าสาเหตุมาจากการยั่วยุทางเพศของสื่อต่างๆ คำอธิบายเหล่านี้สามารถใช้อธิบายได้มั้ย
มันหยาบไปหน่อย เป็นการวิเคราะห์หรือพูดแบบที่ไม่ลึกพอจะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเอดส์ได้ เหมือนเป็นคำตอบอัตโนมัติ พอพูดเรื่องเอดส์ อ๋อ วัยรุ่นมั่ว วัยรุ่นถูกสื่อยั่วยุ เราอาจต้องช่วยกันค้นหาว่ามันจริงหรือเปล่า ที่ว่าผู้หญิงใช้ถุงยางต่ำกว่าผู้ชายก็อาจเป็นไปได้ เพราะผู้หญิงมีความเชื่อว่าถุงยางเป็นเรื่องของผู้ชาย ฉะนั้น การที่บอกอย่างนั้นก็อาจต้องถามกลับไปทางกระทรวงสาธารณสุขว่าทำอะไรกับเรื่องนี้ เคยพยายามจะวิเคราะห์มั้ยว่าทำไมผู้หญิงถึงใช้ถุงยางต่ำกว่า ในฐานะคนทำงานจะช่วยให้ผู้หญิงมีอัตราเป็นผู้ใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้นได้อย่างไร ทัศนะ มุมมองต่อถุงยางต้องเปลี่ยนมั้ย เราพร้อมสอนลูกสาวเรามั้ย บางทีมันพูดง่าย แต่เหมือนกับต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการสอนเรื่องเพศเลยนะ

หรือพอเราพูดเรื่องสื่อมันยั่วยุ เหมือนกับสมัยหนึ่งพูดว่าแจกถุงยางอนามัยเป็นการยั่วยุ ถามว่าเวลาคุณเห็นซอง เห็นกล่องใส่ถุงยาง คุณเกิดอารมณ์ทางเพศจริงๆ เหรอ หรือว่าคนเรามันมีความสัมพันธ์ มีคู่ มีเหตุมาก่อน ถึงมองหาถุงยาง สื่อที่มีภาพโป๊มันมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าช่องทางในการระบายออกเรื่องเพศเป็นยังไง มันไม่ใช่เรื่องว่าดูสื่อแล้วไปมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น แต่ว่าวิถีการเรียนการสอนหรือโอกาสระหว่างเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงจะมีเพศสัมพันธ์มันไม่เท่ากัน ผมถึงบอกว่าเราโทษอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แต่เราอาจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน เพราะสื่อมันก็ไม่ได้ต่างไปจากเมื่อก่อน จะโทษว่าอินเทอร์เน็ตมันกว้างจึงทำให้คนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ถามว่าจริงหรือเปล่า หรือว่าคนมีเพศสัมพันธ์มากอยู่แล้ว แล้วเราไปโทษสื่อ

เราเคยถามคำถามมั้ยว่าความเจริญ การส่งเสริมที่ทำให้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น อาจจะเป็นตัวเร่งให้คนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นก็ได้ คุณอยู่บ้าน กลับบ้านทุกวัน โอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์ก็อาจจะน้อยกว่า แต่ถ้าเกิดว่าคุณต้องไปเรียน ไปอยู่หอ ไปอยู่ต่างเมือง โอกาสที่เจอคู่ อยู่ด้วยกัน วิถีชีวิตเหล่านี้มันเปลี่ยน โอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์มันก็มีมากขึ้น นี่คือวิถีชีวิตซึ่งมันมีผลต่อพฤติกรรมเพศ ฉะนั้น จะโทษนั่น โทษนี่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองให้หมด

*แต่คำอธิบายแบบนี้ก็ถูกใช้มานานและคงจะถูกใช้มาเรื่อยๆ คุณก็บอกว่าคำอธิบายแบบนี้มันมีปัญหา แล้วทำไมสังคมไทยยังต้องวนเวียนอยู่กับคำอธิบายเดิมๆ แบบนี้
เราอาจจะไม่กล้ายอมรับความจริงว่า คนมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานกันเยอะแยะไปหมด เราก็ยังคิดว่าสังคมต้องดีงาม ต้องบริสุทธิ์ ต้องรอให้แต่งงานก่อน เรียนก็อย่าเพิ่งไปริรัก เราอาจจะยังเห็นภาพอันนั้นอยู่ เราเลยไม่พูดอะไรแบบนี้ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่ถ้าเราไม่พูดเอดส์ก็ยังคงระบาด เรื่องที่เราจะต้องแก้กันคือเราต้องให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับคนให้มากพอที่จะทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ ผมคิดว่านี่คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญและอยากเน้น ฉะนั้น ถ้าจะเปลี่ยน เราต้องไม่พูดอะไรที่อัตโนมัติแล้วก็ไม่ละเอียดพอ

*เรามักพูดถึงการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แล้วกรณีการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันซึ่งถูกพูดถึงน้อยลง จริงๆ มันน้อยลงด้วยหรือเปล่า
ไม่น้อยลง ยังเป็นปัญหา แล้วการทำงานเรื่องนี้ก็ยังน้อยอยู่ อัตราการติดเชื้อในกลุ่มนี้ก็สูง เพราะว่าโดยวิถีของการใช้ยาเสพติด คุณพกเข็มฉีดยาไม่ได้ ถ้าเกิดคุณอยู่ในท้องที่นี้ ตำรวจเห็นหน้าคุณปุ๊บ รู้เลยว่าคุณเป็นคนใช้ยา บางทีก็ เฮ้ย มา มาทำยอดหน่อย ล็อกไปโรงพัก ระหว่างรอไปศาลก็ยังเสี้ยน เกิดมีใครสักคนเอาเข็มเข้าไปก็เวียนใช้กันอยู่ในห้องขัง ฉะนั้น ปัญหาการแชร์เข็มจึงยังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่

ในต่างประเทศเขาแก้เรื่องนี้ได้ง่าย อย่างในฮอลแลนด์ลดการติดเชื้อจากการใช้เข็มลงเหลือน้อยมาก เพราะว่าเขาจัดที่ให้เสพ คุณมาลงทะเบียนเลยว่าคุณยังใช้ยาอยู่ แล้วคุณก็ไปเสพในห้องนี้ ไม่มีใครยุ่งกับคุณ ตำรวจก็ไม่มาจับ มีกติกานิดหน่อยว่าถ้าคุณเป็นคนที่ฉีด คุณก็ต้องลงทะเบียนว่าฉีด แล้วก็ต้องเข้าไปฉีดอย่างเดียว หรือบางเมืองก็แจกเข็มเป็นแพก เอาของเก่าไปแลกของใหม่ เป็นที่เป็นทาง

แต่บ้านเราไม่ซื้อไอเดียนี้ เพราะวิธีคิดยังคิดว่าต้องปราบ ต้องจับ คนใช้ยาคือคนที่มีปัญหา การที่จะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการใช้ยาเสพติดก็ยังเหนื่อยอยู่

*สถานการณ์การเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร
สถานการณ์ตอนนี้ก็คือระบบประกันสุขภาพทุกระบบในประเทศสามารถเซตระบบให้คนเข้าถึงยาได้ โจทย์ก็คือว่าถ้าคุณรู้ว่าคุณติดเชื้อ รู้ข้อมูลและสิทธิประโยชน์ทั้งหลาย แล้วเดินเข้าสู่ระบบ โอกาสที่จะเสียชีวิตมีน้อยมาก แต่ปัญหามันเกิดตรงที่ยังมีผู้ติดเชื้ออีกเยอะที่อาจจะไม่รู้ว่าเอดส์รู้เร็วรักษาได้ ฉะนั้น เราจะทำยังไง เมื่อระบบเราพร้อม แต่ต้องทำให้คนรู้ว่าต้องออกมาตรวจ มารับยา หมายถึงว่าถ้าคุณอยากให้เขาออกมาก็ต้องเปลี่ยนทัศนะเขาใหม่ เอดส์ไม่ได้เป็นแล้วตาย เอดส์รักษาได้ แล้วก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงด้วยว่าเราไม่ได้พูดเกินเลย

ต้องเข้าใจว่าการติดเชื้อเอชไอวีคือการมีไวรัสเอชไอวีในร่างกาย ถ้าไวรัสมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำใหภูมิคุ้มกันต่ำ มันจะตามมาด้วยโรคฉวยโอกาส เรารักษาโรคฉวยโอกาสเหล่านั้นได้ แต่ว่ารักษาแค่โรคฉวยโอกาสอย่างเดียวไม่ได้ ต้องกินยาต้านไวรัส คุมปริมาณไวรัสไว้อีก ไม่ให้มันมาทำลายภูมิคุ้มกัน ฉะนั้น วิธีการรักษาแบบนี้ มันเรียกรวมๆ ว่าเอดส์รักษาได้ ควบคุมจำนวนเชื้อไวรัสได้

การพูดแบบนี้เพื่อจะบอกคนที่ติดเชื้อให้เข้าใจว่ามีความหวัง มีวิธีรักษา และถ้าคน 5 แสนคนที่ติดเชื้อเขาพร้อมออกมาสู่กระบวนการรักษา หมายความว่าเขารู้ เขาก็อาจจะป้องกันคู่เขา เขาอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศของเขา มันก็จะเป็นการลดจำนวนการติดเชื้อรายใหม่

แต่โจทย์คือพอเราแคมเปญแบบนี้ออกไปปุ๊บ เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งก็บอกว่า เฮ้ย พูดแบบนี้ไม่ได้ เดี๋ยวคนไม่กลัวเอดส์ แล้วจะติดเชื้อเพิ่ม ไม่ให้พูด ป้ายทั้งหลายแหล่ที่ว่าด้วยเรื่องนี้ เอาออกหมดเลย ไม่ให้ติดในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเราก็พยายามจะเข้าใจว่าทำไมเขาคิดอย่างนั้น เขาเชื่อเหรอว่าที่คนติดเชื้อเพราะคนไม่กลัว ตอนที่เราพูดว่าเอดส์เป็นแล้วตายก็น่ากลัว ทำไมคนยังติดเชื้อ ก็บอกว่าติดเพราะสื่อ คนมั่ว วิธีการรณรงค์สื่อสารยังไม่เปลี่ยน ฉะนั้น เราก็ต้องกลับไปเปลี่ยนกันอีกรอบ

*แล้วการเข้าถึงยาของคนชายขอบต่างๆ เป็นยังไง
เริ่มจากผู้ต้องขัง ถ้าตามหลักการนะ ผู้ต้องขังทุกคนอยู่ภายใต้สิทธิของระบบประกันสุขภาพ ทีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์แล้วว่าทำยังไง คือแต่ละเรือนจำก็จะมีสถานพยาบาลของตัวเอง เวลานักโทษเจ็บป่วยก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องพาไปโรงพยาบาล ถือเป็นสิทธินะ แต่ในทางข้อเท็จจริง กรมราชทัณฑ์บอกว่ามีผู้คุมไม่พอ ก็แก้ปัญหาว่าห้ามป่วยซึ่งมันทำไม่ได้ สังคมก็ต้องตั้งคำถามกับราชทัณฑ์และกับตัวสังคมเองว่าคุณมองคนเหล่านี้เป็นมนุษย์มั้ย คุณเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาหรือเปล่า แต่เราก็มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่แอ็กทีฟในเรื่องนี้หลายคนนะ

ส่วนผู้พิการ เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน อัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูง ปัญหาที่ใหญ่ตอนนี้ก็คือเวลาคนเหล่านี้ติดเชื้อ ไปโรงพยาบาลแล้วสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง จะมีสักกี่โรงพยาบาลที่มีล่ามภาษามือ นี่คือข้อจำกัดของผู้พิการ รู้ว่าติดเชื้อ หมอให้ยามากิน แต่ไม่มีใครอธิบายให้เขาเข้าใจว่าคือยาอะไร ต้องกินยังไง แล้วเราพบอัตราการดื้อยาในกลุ่มนี้สูง กินยาไม่ตรงเวลา ไม่ต่อเนื่อง

กลุ่มคนที่จนมากๆ แล้วไม่มีรากเหง้า จากบ้านเกิดเมืองนอนมานาน ไม่มีบัตรประชาชน คนพวกนี้ก็จะไม่มีสิทธิ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ก็เข้าไม่ถึงการรักษาและติดเชื้อเยอะ แม้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพร้อมจะดูแล แต่ติดอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มันไปค้างที่มหาดไทย เขามองเรื่องความมั่นคง นี่ยังไม่รวมกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง เขาถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย แล้วจะไปช่วยเขาทำไม มองแบบนี้ปุ๊บ จบเลยนะ แต่คุณจะเก็บตังค์เขาเวลาขึ้นทะเบียน แต่คุณไม่ให้ยาต้าน แล้วการระบาดของเอชไอวีมันไม่มีพรมแดน

ในทางงบประมาณพูดได้ว่าเราไม่มีปัญหาเลย แต่เราต้องไปแก้ในทางปฏิบัติ

*พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2551 จะมีผลอะไรต่อปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีบ้างหรือเปล่า
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติน่าจะมีผลต่อเรื่องนี้ เพราะต้องจัดสมัชชาสุขภาพทุกปี เขาจะถามคำถามจากเครือข่ายสุขภาพทั้งหลายว่าจะเสนออะไรให้เป็นยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพที่สำคัญ จะมีการเสนอยุทธศาสตร์เรื่องการเข้าถึงยา เรื่องการค้าเสรีที่จะมีผลต่อราคายาเข้าไปในที่ประชุมสมัชชา ถ้านโยบายนี้ได้รับการยอมรับเป็นฉันทมติ สมัชชาฯ ก็จะนำเสนอผ่าน ครม. ซึ่งน่าจะมีผลในทางกฎหมายว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ที่จะต้องทำ และน่าจะลดปัญหาเรื่องเอดส์ลงได้ ต้องบอกว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะมีผลต่อสุขภาพได้ ถ้าเราเข้าไปใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้

*ประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมาของการแก้ปัญหาเรื่องเอดส์ของภาคประชาชนและเอ็นจีโอ มักเกี่ยวพันกับการเมืองเสมอมา ในอนาคตข้างหน้าจะมีประเด็นสำคัญอะไรที่จะต้องขับเคี่ยวกับฝ่ายการเมือง
ประเด็นมันล่อแหลมขึ้น ยากขึ้น เพราะว่าเราใช้การเมืองให้เกิดนโยบายเอดส์แล้ว เกิดการเข้าถึงยา เกิดการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร แล้วเราก็พบว่าการรักษามันต้องใช้ยาตัวใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสาเหตุหนึ่งที่ยาแพงก็เนื่องมาจากสิทธิบัตร ซึ่งก็ต้องให้การเมืองเข้ามาแก้ ฉะนั้น ในอนาคตการผลักดัน การทำความเข้าใจกับนักการเมืองเพื่อให้เห็นปัญหานี้และมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้คนเข้าถึงยาก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ที่มันหนักขึ้นไปอีกก็คือกระแสโลก กระแสโลกาภิวัตน์ เรื่องการค้าเสรี เอฟทีเอ ก็ถือเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ยาแพง

*ว่ากันว่าเครือข่ายผู้ติดเชื้อเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีพลัง อนาคตของเครือข่ายผู้ติดเชื้อจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรที่จะลดทอนพลังของเครือข่ายนี้ลงไปหรือเปล่า
เป็นเรื่องท้าทายเครือข่าย ที่เครือข่ายเกาะกันติด เข้มแข็ง ก็เพราะเผชิญวิกฤตความเป็น ความตาย แต่เมื่อพ้นวิกฤต คนรุ่นที่มีพลังที่ผ่านความตายมา สู้จนได้ยา พวกนี้ก็เริ่มแก่ ไปมีชีวิตอื่นๆ ส่วนผู้ติดเชื้อรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็อาจจะไม่ได้ผ่านอะไรแบบนี้ มาถึงก็มียา มีระบบอยู่แล้ว พลังที่จะขับเคลื่อนสังคมก็อาจน้อยลงไป อันนี้เป็นความท้าทายว่าเครือข่ายผู้ติดเชื้อจะส่งทอดความคิด ความเท่าทันต่อสถานการณ์อย่างไร ถ้าทำได้ การเกาะเป็นเครือข่ายก็อาจจะยังเข้มแข็งอยู่ ก็ต้องดูกันต่อว่าจะยังไง

****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล



กำลังโหลดความคิดเห็น