xs
xsm
sm
md
lg

บ้านกุ่ม: คน-เขื่อน-โขง (กับคำถามที่ ‘ใครบางคน?’ ต้องตอบ!)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทัศนียภาพริมฝั่งโขงบริเวณบ้านตามุย
โขง-สาละวิน สองพี่น้องผู้แยกสายไหลโอบกอดประเทศไทยทั้งซ้ายขวา ขณะที่สาละวินคือมหานทีสายสุดท้ายของโลกที่ยังไม่มีเขื่อนยักษ์กักกั้นสายน้ำอิสระ แต่โขงผู้พี่กำลังถูกหั่นเป็นชิ้นๆ ด้วยเขื่อนยักษ์ 7 เขื่อนในประเทศจีน ซึ่งมีทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังดำเนินการก่อสร้าง

น้ำท่วมเชียงของที่ผ่านมาคือเครื่องยืนยันอาการป่วยไข้ของแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำขึ้นๆ ลงๆ ตามแต่ใจมังกรจะเปิด-ปิดประตูน้ำ น้ำโขงจึงเหมือนคนอารมณ์แปรปรวนมากขึ้นทุกวัน

น้ำหนักของอากาศโปร่งๆ ฤดูปลายฝนต้นหนาว ผมยืนมองสายน้ำโขงล่องไหลลงใต้ บางช่วงเวลา น้ำโขงเดินทางเอื่อยเนือยใกล้เคลิ้มหลับและดูเปราะบาง แต่บางช่วงก็ดูทะเยอทะยานจะไปสัมผัสทะเลอย่างรีบเร่ง

ถ้าใครรู้สึกว่า 7 เขื่อนในจีนยังไม่พอ ผมก็จะบอกให้รู้สึกดีว่าไทยเราก็ออกอาการ ‘กระเหียนกระหือรือ’ ไม่น้อยกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 3 แห่ง และเขื่อนที่ดูจะเป็นรูปเป็นร่างรางๆ แบบไร้เสียงอยู่ในขณะนี้ก็คือ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ต้องบอกว่าโครงการนี้เดินหน้าได้ ส่วนหนึ่งเป็นฝีไม้ลายมือระดับจอมยุทธ์ของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นพดล ปัทมะ รวบรัด ไร้สุ้มเสียง ไร้รูปรอย

1

“จะวางรวง (อุปกรณ์จับปลาชนิดหนึ่ง) ไว้ตามริมฝั่ง ปลาเข้ารวงที 14-15 โล แต่ถ้าสร้างเขื่อน น้ำมันจะนิ่ง ปลามันก็จะว่ายหนี เพราะถ้าน้ำไหล ปลามันจะถูกบังคับให้ต้องว่ายใกล้ฝั่ง ว่ายกลางแม่น้ำไม่ได้ น้ำมันเชี่ยวมากๆ มันจะว่ายนิดเดียวแล้วก็เข้าฝั่งพัก แล้วค่อยออกไปว่ายใหม่

“รายได้ตกอยู่เดือนละประมาณ 3-4 พันบาท แต่ถ้าเป็นเดือนมิถุนายน ผมจะมีรายได้จากการจับปลาประมาณ 3-4 หมื่น ทุกคนที่หาปลาเขาก็ได้เยอะ เพราะมันเป็นช่วงที่ปลาอพยพ”
อนันต์ สมศรี ชาวประมงริมโขงแห่งบ้านสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลฯ ถ่ายทอดเรื่องราวภูมิปัญญาของคนริมโขง และสิ่งที่น้ำโขงคอยจุนเจือชีวิตเขาให้ผมฟัง

ผมนั่งมองทัศนียภาพสองฝั่งโขงอยู่บนเรือของกองทัพเรือ เจ้าหน้าที่ทหารบังคับเรือหลบหลีกเกาะแก่งอย่างชำนิชำนาญ ใครจะคาดคิดว่าใต้ท้องน้ำสายนี้มีปลามากกว่า 1,000 ชนิด พักพิงอาศัย เป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

“เขื่อนเป็นปัจจัย 1 ใน 3 ที่จะคุกคามแม่น้ำโขง ยิ่งสร้างเขื่อนลงมาตอนล่างมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา และชุมชนมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีความสำคัญและจะเกิดผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือตอนกลาง อาจจะเริ่มจากแม่น้ำโขงตอนล่างของจังหวัดเชียงรายลงมาจนถึงบริเวณกันตรัง ประเทศกัมพูชา ช่วงนี้เป็นจุดที่เรียกว่าแม้มีเพียงหนึ่งเขื่อนก็เหมือนการฆ่าแม่น้ำโขงทั้งสาย” ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด จากกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าว เขาบอกว่าถ้ามีการสร้างเขื่อน ปลาบึกจะสูญพันธ์อย่างแน่นอน เพราะเขื่อนจะกระทบต่อวงจรชีวิตของปลาบึก

ลองนึกถึงเขื่อนปากมูล ผลงานขึ้นชื่อของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ทุกวันนี้ลูกแม่มูลยังทุกข์คั่กๆ ไม่จาง บันไดปลาโจนที่ กฟผ. สร้างไว้ให้ ปลาก็ไม่ยอมใช้ จึงเกิดคำถามว่าแล้วบันไดปลาโจนที่เขื่อนบ้านกุ่มมีแผนจะสร้างเพื่อเป็นเส้นทางอพยพของปลา พวกมันจะยอมใช้หรือเปล่า และถ้ามันไม่ยอมใช้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของสายน้ำ ของปลา และของคนสองฝั่งโขง

“จุดที่สำคัญอีกจุดคือแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา ตอนนี้เป็นแหล่งเดียวที่มีประชากรปลาโลมาหัวบาตรน้ำจืดกลุ่มสุดท้ายอาศัยอยู่ ตอนนี้เหลืออยู่ไม่เกิน 50 ตัว ถ้ามีการสร้างเขื่อน ปลาเหล่านี้ก็จะหายไป นั่นหมายความว่ารายได้จากการท่องเที่ยวที่ชาวกัมพูชาเคยได้ก็จะหมดไป”

ดร.ชวลิตยังอธิบายอีกว่าสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงมีความสำคัญมากต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรในลุ่มน้ำโขง เพราะหลายชุมชนมีค่าเฉลี่ยในการบริโภคโปรตีนจากสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงสูงถึง 50-82 เปอร์เซ็นต์ และเฉพาะปลาในแม่น้ำโขงแห่งเดียวสามารถผลิตปลาได้มากถึงร้อยละ 2 ของที่ผลิตได้ในโลก

แม่น้ำโขงจึงเสมือนเส้นเลือดของคนนับล้าน หากวันใดปลาหนีน้ำเพราะเขื่อน ก็แน่นอนว่าผู้คนย่อมต้องหนีโขง อพยพเข้าเมือง ถูกแปลงสภาพและตีตราเป็นคนจน

2

ไม่เพียงแต่ปลาอันอุดมสมบูรณ์ แผ่นดินริมโขงยังเป็นแผ่นดินที่มั่งคั่ง ตะกอนที่น้ำโขงพัดพามาในแต่ละปีมากมายกระทั่งชาวบ้านบ้านสองคอนซึ่งอาศัยริมตลิ่งริมโขงยามน้ำลดเป็นที่ปลูกพืชเสริมรายได้ ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง เรืองประทิน เขียวสด ครู คศ.3 ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านสองคอน อธิบายว่า

“เวลาน้ำโขงเอ่อขึ้นมา ดินพวกนี้ไม่ใช่ดินเหนียวจัด เป็นดินร่วน มันจะอมน้ำเอาไว้ พอน้ำลดมันก็จะค่อยๆ คายน้ำออกมา ถึงหน้าถอนก็มาถอนเลย ประมาณเดือนธันวาคม มกราคม บางเจ้าเฉพาะถั่วลิสงได้แสนกว่าบาทก็มี คนที่ได้น้อยสุดก็อยู่หลักประมาณสองสามหมื่น เงินสองสามหมื่นนี่มันเป็นกำไรล้วนๆ นะครับ มีแต่แรงที่ลงไป”

ว่าแล้วอนันต์ก็ลงไปกอบดินหนึ่งกำมือขึ้นมา ชี้ให้ดูดินที่เป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ ผลงานของไส้เดือนริมโขง การันตีว่าดินดี ปลูกอะไรก็ขึ้น

เรืองประทินพาผมไปสบตากับหาดทราย แก่งหิน ยามน้ำโขงลด เขาบอกอย่างภูมิใจว่าจุดนี้เป็นจุดที่ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ เคยขี่รถมอเตอร์ไซค์มาพักค้างอ้างแรม ชาวบ้านจึงกำลังวาดโครงการจะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น แต่เขาบอกว่า ถ้าเขื่อนมา ทั้งหมดที่เห็นก็ต้องไป ไม่มีเหลือ

“ทุกวันนี้ แค่เขื่อนในจีน ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบแล้ว อัตราการขึ้นลงของน้ำมันจะเร็ว ถ้าเป็นช่วงที่จีนปล่อยน้ำจากเขื่อน น้ำจะขึ้นเร็ว จะเห็นได้จากช่วงเดือนมกราคม ตอนที่ชาวบ้านปักดำลงไป น้ำใกล้จะงวดเต็มที่แล้ว กลับมีน้ำอีกชุดหนึ่งมาท่วมผลิตผลของชาวบ้าน ก็ต้องปลูกใหม่อีกครั้ง ซึ่งในอดีตที่ยังไม่มีเขื่อนในประเทศจีนจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้”

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำและแผ่นดิน กับตัวอย่างพอหอมปากหอมคอจากเขื่อนในจีน จึงทำให้ชาวบ้านบ้านสองคอนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม

ผมพอจะเดาได้ว่า พอถึงตรงนี้เป็นต้องมีคนหมั่นไส้ชาวบ้านโดยไม่รู้สาเหตุ รู้แต่ว่าถ้ามีข่าวค้านเขื่อนก็ต้องหมั่นไส้ไว้ก่อน เรื่องอื่นไว้ทีหลัง มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากกับมายาคติที่ยังฝังแน่นในก้านสมองของคนจำนวนมากในสังคมไทย (แม้แต่นักการเมือง) ที่เชื่อว่าเขื่อนคือความเจริญ คือการพัฒนา คนค้านเขื่อนย่อมเป็นคนที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศ

แต่ประเด็นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตอกย้ำเสมอคือรัฐจะต้องทำการศึกษาผลกระทบอย่างรัดกุม ครบทุกประเด็น มีการบอกกล่าว ให้ข้อมูลอย่างรอบด้านแก่ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบการโครงการของรัฐ เปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย และรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิต ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

กระบวนการที่พูดมาทั้งหมด-ไม่มี หรือไม่ก็มีแบบฉาบฉวย

ผมนั่งนึกด้วยสมองนวลเนียนไร้รอยหยักว่า แล้วจะแก้ จะลบ จะเขียนรัฐธรรมนูญกันให้เปลืองงบประมาณทำไม ถ้าสังคมไทยยังปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมายสูงสุดของประเทศกันอยู่แบบนี้

3

จากสองคอน ผมมุ่งหน้าสู่บ้านตามุย ชุมชนที่อยู่ห่างจากเขื่อนลงมาทางปลายน้ำ ชาวบ้านที่นั่นแบ่งออกเป็น 3 ฝักฝ่าย-เห็นด้วย คัดค้าน และกลางๆ

ที่ศาลาริมโขงประจำหมู่บ้าน คนหนุ่ม คนเฒ่า ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านนั่งถกเถียงพูดคุยถึงเหตุผลของแต่ละฝ่ายด้วยเสียงที่ค่อนข้างดัง ดังแต่เสียงครับ ไม่มีใครเอาไม้ตีหัวกัน

ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้หมู่บ้านเจริญ ได้ประโยชน์จากระบบชลประทาน มีรายได้จากการท่องเที่ยว รวมถึงการได้เงินค่าชดเชยจากภาครัฐ ชาวบ้านคนหนึ่งพูดอย่างชวนคิดว่า ต่อให้ไม่สร้างเขื่อนตรงนี้ เขาก็ไปสร้างที่ลาว บ้านตามุยก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี แต่กลับไม่ได้ค่าชดเชยเลย

ฝ่ายคัดค้านเชื่อว่าชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ดีอยู่แล้ว หาอยู่หากิน มีรายได้จากการจับปลา อีกทั้งวัฒนธรรมประเพณีที่ผูกพันกับสายน้ำ โดยเฉพาะบั้งไฟพญานาคซึ่งเป็นทั้งความเชื่อของคนฝั่งโขงและแหล่งรายได้หนึ่งของคนบ้านตามุยอาจต้องสูญหายไปเพราะเขื่อน

“หัวใจยายบอกว่าไม่เจริญหรอก มันมีแต่จะแย่ลง” แม่เฒ่าบ้านตามุยคนหนึ่งพูดกับผม แม่เฒ่าไม่เอาเขื่อน

ปลา วิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ เป็นเพียงผลกระทบส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ หากมีการสร้างเขื่อน แต่ยังไม่นับรวมปัญหาเรื่องน้ำท่วมพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ปัญหาต่อการเปลี่ยนแปลงแนวเขตแดนไทย-ลาวบนแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน และปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงระดับและอัตราการไหลของน้ำด้านท้ายเขื่อนลงไป ซึ่งเราไม่รู้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อยู่ปลายน้ำโขง-ลาว กัมพูชา และเวียดนาม-หรือไม่

.............

ชนเผ่าอินเดียนแดงในอเมริกาเชื่อว่าแม่น้ำมีชีวิตและต้นไม้สามารถพูดได้ อยู่ที่ว่ามนุษย์จะตั้งใจฟังหรือเปล่า

บ้านสองคอน จามจุรีชรากางกิ่งก้านใบเป็นร่มคันใหญ่ รากแผ่กว้างและมั่นคงบนหาดทรายริมโขง ผมถ่ายรูปเก็บไว้ พยายามตั้งใจฟัง อยากรู้ว่าจามจุรีและน้ำโขงกำลังคุยอะไรกัน...

*****************

ลับ-ลวง-พราง
นพดล-อิตาเลียนไทย


นอกจากกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งถือเป็นผลงานอันโดดเด้งของนพดล ปัทมะ แล้ว การที่เขาไปลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU อย่างเงียบกริบ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2551 กับทางรัฐบาลลาวว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว โดยให้บริษัทเอกชนเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานมูลค่าแสนกว่าล้านของเขา และเป็นการลงนามที่มากมายด้วยคำถาม-ทำไม?

1. ปกติแล้วการซื้อไฟฟ้าและการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากต่างประเทศในระดับโครงการนั้น จะมีคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นคนดูและเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการพลังงานจะเป็นผู้ลงนามในระดับนโยบาย ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ลงนามในระดับโครงการ แต่งานนี้ กพช. เองก็ไม่รู้เรื่อง เป็นการชงเอง ตบเองของกระทรวงการต่างประเทศ เพราะ...

2. หนึ่งเดือนหลังจากนพดลเข้ารับตำแหน่ง เขาก็แทงเรื่อง ‘ด่วนที่สุด’ ลงวันที่ 10 มีนาคม 2551 เพื่อขออนุมัติจาก ครม. ให้เขาไปเซ็น MOU แต่ที่สุดเก๋ไก๋และน่ากังขาอยู่ตรงเนื้อหาใน MOU ที่ตกลงให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับผู้ร่วมลงทุน บริษัท Asiacorp Holding Ltd. เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบ้านกุ่ม โดยอ้าง ‘ความคล่องตัวและความพร้อมด้านเงินทุนของเอกชน’ พอวันที่ 11 มีนาคม ครม. ก็อนุมัติแบบรวดเร็วทันใจ แต่...แต่ขอให้เอาชื่อบริษัททั้งสองออก แล้วเปลี่ยนเป็น ‘ภาคเอกชน’ แทน คงกลัวจะถูกถามว่า...

ทำไมต้องอิตาเลียนไทย?

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นอิตาเลียนไทยเช่นเดิมที่เป็นผู้ลงพื้นที่ศึกษา โดยทางบริษัทได้ทำหนังสือ วันที่ 18 มิถุนายน 2551 ขอให้ทางจังหวัดอุบลฯ อำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ศึกษา แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ได้แจ้งให้อิตาเลียนไทยชะลอไว้ก่อน เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

อาจตั้งข้อสมมติฐานได้ว่า ‘ภาคเอกชน’ รายนี้ไม่ธรรมดา เพราะเคยมีข่าวรายงานว่า ‘รู้จักมักคุ้น’ กับคนที่คุณก็รู้ว่าใคร ระยะหลังๆ นี้จึงทำให้ได้ยินชื่อบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นตัวละครหลักในกรณีเหมืองโปแตซ จังหวัดอุดรธานี หรือการสร้างเขื่อนในประเทศพม่าซึ่งเกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ก็มี ‘ภาคเอกชน’ รายนี้เป็นผู้ลงทุน

****************

เขื่อนและตัวเลข

การก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มใช้งบประมาณ 120,330 ล้านบาท
ระดับเก็บกักน้ำอยู่ที่ 115 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้ 2,111 ล้านลูกบาศก์เมตร
ความยาวของอ่างเก็บน้ำประมาณ 110 กิโลเมตร ตามลำน้ำโขง หมายความว่าจากตัวเขื่อนน้ำที่ถูกกักไว้จะดันหางน้ำขึ้นไปจากอำเภอโขงเจียมถึงอำเภอเขมราฐ
พื้นที่ริมฝั่งโขงจะถูกน้ำท่วมประมาณ 98,806 ไร่
เขื่อนบ้านกุ่มมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,872 เมกะวัตต์
มีกำลังการผลิตพึ่งสุทธิ 375.7 เมกะวัตต์ (20 เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตติดตั้ง)
ค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนบ้านกุ่มเท่ากับ 253.8 ล้านบาทต่อหนึ่งเมกะวัตต์
แต่ถ้าสมมติว่าเปลี่ยนจากเขื่อนเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าต่อหนึ่งเมกะวัตต์จะเท่ากับ 29.4 ล้านบาท
หรือถ้าเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าต่อหนึ่งเมกะวัตต์จะเท่ากับ 74.0 ล้านบาท


*****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
แผ่นดินริมโขงอันอุดมสมบูรณ์ แหล่งปลูกพืชเสริมรายได้ของคนสองฝั่ง
ทิวทัศน์หาดทรายและเกาะแก่งบ้านสองคอน
วิถีชีวิตคนหาปลา
จามจุรีชราที่สองคอน
ดินที่อนันต์หยิบขึ้นมาให้ดู
“หัวใจยายบอกว่าไม่เจริญหรอก มันมีแต่จะแย่ลง”
ผู้หญิงบ้านตามุยกำลังทอผ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น