xs
xsm
sm
md
lg

"โลโม โซไซตี้" เพี้ยน และ จัดจ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพี้ยน แปลก แตกต่าง จัดจ้าน ไม่มีกฎเกณฑ์ อิสระ ...กลายเป็นคำจำกัดความ และบ่งบอกถึงบุคลิกของอุปกรณ์ถ่ายภาพยอดฮิตที่เรียกกันติดกันปากว่า “โลโม”
กล้องโลโม ไม่ใช่ของใหม่ในโลกของ camera หากแต่เป็นกล้องถ่ายรูปใช้ฟิล์ม ที่กำลังสร้างตำนานของแฟนพันธุ์แท้ สาวกใหม่ๆของสังคมการถ่ายภาพ ในยุคที่กล้องใช้ฟิล์มกำลังตาย กล้องดิจิตอลเข้ามาแทนที่
ทว่า ความคลาสสิค ของกล้องใช้ฟิล์มชนิดนี้ กลับกลายเป็นมนต์เสน่ห์ของนักถ่ายภาพ และสร้างสังคม หรือ ชุมชน (Society) ขึ้นมาอย่างน่าติดตาม

มนต์เสน่ห์สไตล์ Pop Art>
ด้วยบุคลิกพิเศษ ของกล้องโลโม ที่ออกแบบในสไตล์กล้องโบราณย้อนยุค บางรุ่นดีไซน์ให้ดูสนุกแบบ Toy camera บุคลิกนี้เองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ก่อให้เกิดความสนใจของผู้พบเห็น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบแนว Pop Art เริ่มหลงรักแบบถอนตัวไม่ขึ้น

พลพรรครักโลโม เบ่งบานขึ้นอย่างเงียบๆ ท่ามกลางแรงกระเพื่อมของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกของดิจิตอล แต่ดูเหมือนเสน่ห์ของกล้องใช้ฟิล์มชนิดนี้ มีดีพอที่ทำให้เกิดก๊วน สังคม ชุมชน และคนกลุ่มนี้ มักจะถูกเรียกว่า พวกอาร์ต เด็กแนว มีความเพี้ยน และจัดจ้านพอตัว

แม้ย้อนต้นกำเนิดเกิดขึ้นของกล้องโลโม ซึ่งถูกสร้างขึ้นในประเทศรัสเซีย เมื่อปี 1982 ด้วยจุดประสงค์ทางการทหารและให้ชาวคอมมิวนิสต์ทุกคนมีกล้องติดตัวไว้ ถ่ายรูปแบบง่ายๆเพื่อบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของชาวรัสเซีย และถูกผลิตขึ้นเป็นอุตสาหกรรมจำหน่ายไปทั่วโลกในยุคปี 90 ในรูปแบบของแบรนด์ lomography ประเทศออสเตรเลีย แต่ดูเหมือนว่าสังคมความนิยมโลโม ได้ถูกอุบัติขึ้นมาพร้อมๆกับคำว่า เด็กอาร์ต เด็กแนว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นิยมนำโลโมมาใช้เป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน

“หากเปรียบเทียบ เป็น ดนตรี โลโม คือ เพลงแนวอินดี้ ที่ไม่มีขอบเขต ไร้ขีดจำกัด อิสระ แต่แฝงไว้ด้วยความเรียบง่าย เติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ ขณะที่ เพลงป็อป เพลงร็อค ยังเป็นเพลงตลาด คล้ายกับกล้องดิจิตอล ” มณีแดง กุลทวีทรัพย์ ทูตโลโม ประจำประเทศไทย เปรียบเทียบให้เห็นภาพ

คุณลักษณะพิเศษของกล้องที่ใช้ง่าย อยากถ่ายภาพจุดใดก็กดชัตเตอร์ได้ทันที ปรับซูมใกล้ไกลนิดหน่อย โดยไม่ต้องคำนึงถึงฟังก์ชั่นดิจิตอลให้ปวดหัว ที่สำคัญราคาซื้อขายล้องประเภทนี้เริ่มต้นเพียงไม่กี่พันบาท ทำให้โลโม เข้าได้ถึงทุกกลุ่มตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงผู้ใหญ่

ที่สำคัญ มนต์เสน่ห์ของโลโม ยังมีลูกเล่นที่แพรวพราว สร้างศิลปะในการถ่ายภาพ บางรุ่นอย่าง Actionsampler และ Supersampler มีคุณลักษณะพิเศษสร้างภาพได้หลายเฟรม หลายแอ็กชั่น ในการกดชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว หรือ รุ่น Fisheye ภาพจะนูน มีขอบรูปวงกลม มนเสน่ห์เหล่านี้เองที่ทำให้โลโมถูกเรียกว่า Lomo Style

ปากต่อปาก สู่ โซไซตี้ดอตคอม
จะด้วยความชาญฉลาด ของมิสเตอร์ วูฟกัง เจ้าของแบรนด์โลโมคนปัจจุบัน ซึ่งนำเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาดมาเป็นจุดขาย ด้วยการสร้างตัวแทนขาย ในรูปแบบของทูตโลโม ประจำประเทศต่างๆ ตั้งสถานทูตโลโมกว่า 70 แห่งทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีสถานทูตโลโมตั้งอยู่ที่สุขุมวิท 39
หากแต่จุดเริ่มต้นโลโม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เติบโตขึ้น คือ การร่ำลือกันแบบปากต่อปาก เป็นจุดที่ค่อยๆสร้างโลโมเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก แม้จะเป็นยุคกล้องฟิล์มตาย กล้องดิจิตอลเบ่งบาน แต่โลโมก็อาศัย โลกออนไลน์แบบ คลิกต่อคลิก สร้างชุมชนโลโมบนเว็บไซต์ ทำให้สาวกกล้องชนิดนี้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
“โลโม เข้ามาเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยได้รับความนิยมจากกลุ่มทำงานด้านครีเอทีฟ หรือ นักโฆษณา ความนิยมเติบโตขึ้นอย่างเงียบๆ มีดาราจำนวนมาก เข้ามาเล่นกล้องสไตล์นี้ ปัจจุบันน่าจะมีแฟนขาจร และขาประจำ ประมาณหลักหมื่นคนแล้ว ในเมืองไทย เท่าที่สังเกตจากลูกค้าโลโม มีตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ มากไปถึง 60 กว่าปี”
บางคนเรียกว่า เป็นแฟชั่นของเด็กแนว เพราะสังเกตได้จากเด็กเดินสยามสแควร์ทุกวันนี้ มีกล้องโลโม แขวนคอ ติดตัวไว้ เป็นเทรนด์อย่างหนึ่งของการแต่งตัวไปแล้ว
ทูตโลโม ประจำประเทศไทย เล่าถึงความนิยมอีกว่า สมาชิกโลโมในเมืองไทยรวมตัวกันหลายกลุ่ม มี กลุ่มใหญ่ๆคือที่ www.lomography .com มีการโพสต์ข้อเขียน แลกเปลี่ยนภาพ ในเอเชียมี lomographyasia.com สำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง มีกิจกรรมจัดประกวดภาพถ่ายโลโมทั้งในไทย และระดับโลกเป็นระยะๆ ล่าสุดงาน รวมพลสาวกระดับโลก Lomo World Congress จัดขึ้นที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ภาพนี้ ต้องขยาย
ด้วยสไตล์ของผู้ใช้กล้องโลโม จะต้อง “คิดก่อนกดชัตเตอร์” เพื่อให้ได้ภาพที่มีจินตนาการสุดเก๋ เอกลักษณ์ของกล้องโลโมที่ว่า เน้นการถ่ายภาพที่มีเรื่องราว ไร้ขอบเขต เช่น การถ่ายภาพคน อาจถ่ายเพียงแขน ขา อวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเล่าเรื่อราว แทนที่จะถ่ายแบบเต็มตัว หรือ การใช้สีจัดจ้านมีลูกเล่น สร้างจุดตำหนิอย่างจงใจ ภาพที่เบลออาจเป็นภาพที่ดี บางภาพเกิดจากความฟลุ๊ก เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นศิลปะ เป็นนามธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ที่นักถ่ายภาพโลโมนิยมชมชอบ
“ฟิล์มที่หมดอายุสามารถนำมาถ่ายภาพได้ ยิ่งได้ภาพสีเพี้ยนๆ หรือ เทคนิคการล้างฟิล์มแบบคอร์ส ข้ามน้ำยา เป็นเทคนิคที่ทำให้ภาพดูเพี้ยนๆ เป็นวิธีหนึ่งที่ชาวโลโมนิยมนำมาใช้กันในผลงานการถ่ายภาพ”
ไม่น่าแปลกใจนัก ถ้านักถ่ายรูปโลโม จะถ่ายรูป 100 รูป แต่ใช้ได้ ถูกใจเพียงไม่ถึง 10 ภาพ แต่ภาพที่ได้มาส่วนใหญ่ต้องขยาย บางคนภูมิใจกับผลงาน นำมาติดบนฝาผนังห้องบ้าง สร้าง Space ในพื้นที่เว็บไซต์ให้เพื่อนๆได้ชมผลงาน
ทูตโลโม ทิ้งท้ายว่า บุคลิกของแฟนโลโมในแต่ละประเทศในการนำเสนอภาพ จะแตกต่างกัน เช่น เมืองไทยเน้น เรื่องราวสนุก สีจัดจ้าน ญี่ปุ่นจะเน้นสีเรียบง่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และ คาแร็กเตอร์ของแต่ละประเทศ
...สังคมโลโม กำลังขยายความนิยมในซอกเหลือบเล็กๆของสังคม แม้เทคโนโลยีของกล้องจะก้าวไปไกลอย่างใดก็ตาม แต่กล้องใช้ฟิล์มชนิดนี้ก็ยังเป็นตำนาน และความคลาสิกที่ชาวโลกยังแสวงหา

ประวัติความเป็นมา
กล้องโลโมเดิมทีถูกสร้างขึ้นครั้งแรกที่ประเทศรัสเซีย เพื่อให้ชาวคอมมิวนิสต์ทุกคนมีติดตัวไว้เป็นเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์ชีวิตชาวรัสเซีย และบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเวลานั้น กล้องตัวแรกที่ผลิตขึ้นของ LOMO คือ รุ่น LC-A จากนั้นมันก็ได้ถูกผลิตออกมามากมาย และจำหน่ายให้แก่สมาชิกคอมมิวนิสต์ทุกคน ทั้งในรัสเซีย และที่อื่นๆ เช่น เวียดนาม,คิวบา, เยอรมันตะวันตก ฯลฯ ช่วงปี 1980 เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ LOMO LC-A ก็ว่าได้
เมื่อสงครามและคอมมิวนิสต์เริ่มหายไปทำให้กล้องโลโมถูกเลือนหายไปด้วย จนกระทั่งในปี 1990 โลโมกราฟีได้กลับมาอีกครั้ง เมื่อนักศึกษาชาวเวียนนาไปซื้อกล้องโลโมในร้านขายของเก่าแล้วนำไปถ่ายภาพ ทำให้ภาพออกมามีความแปลกและแตกต่าง จนกลายเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้กล้องโลโม LC-A ถูกสั่งผลิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เรื่อง วัฒนะชัย ยะนินทร














กำลังโหลดความคิดเห็น