xs
xsm
sm
md
lg

“อภิชาติ ภูมิศุข” สร้างรถด้วย...Blue Pencil

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“…เห็นความสมบูรณ์ของพื้นผิวชิ้นงาน ที่ออกแบบนี่ไหมครับ? ซึ่งชิ้นงานจะอยู่ในระดับ Class A surface ได้หรือเปล่า? ดูได้จากการสะท้อนแสงของพื้นผิวชิ้นงานรถยนต์คันนี้...”

ไม่ใช่เสียงของฝรั่งนักออกแบบรถยนต์ชื่อดังที่ไหน แต่เป็นนักออกแบบรถยนต์ชาวไทย ที่ได้ก้าวเข้าไปยืนร่วมกับนักออกแบบชื่อดัง ของบริษัทรถยนต์เบรนด์เนมระดับต้นๆ ของโลก และในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2008 ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเห็นผลงานของเขาจัดแสดงถึง 3 ยี่ห้อเลยทีเดียว

และเขาคนนี้ คือ... “อภิชาติ ภูมิศุข” นักออกแบบรถยนต์ และอาจารย์พิเศษ วิชาออกแบบรถยนต์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ส่วนที่มาของเสียง เกิดขึ้นขณะที่อาจารย์อภิชาติกำลังอธิบายความสมบูรณ์ของการออกแบบและผลิตรถยนต์ต้นแบบคันหนึ่ง ของบริษัทรถยนต์ชื่อดังระดับแถวหน้าของโลก (ถูกขอร้องให้ปิดชื่อและรายละเอียดไว้ เพราะยังไม่เปิดตัวสู่สาธารณชน) ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกในโลก ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2008 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ “ASTV ผู้จัดการ Lite” ได้เข้าใจถึงหลักสำคัญของการออกแบบรถยนต์ โดยที่ตัวเขาได้รับโปรเจกต์มาในฐานะผู้ควบคุมการผลิตรถต้นแบบคันดังกล่าว

แต่นั่นไม่ใช่ผลงานแรกของอาจารย์อภิชาติ เพราะกว่าจะมาร่วมทำผลงานระดับบิ๊กโปรเจกต์นี้ เขาผ่านการทำงานออกแบบรถยนต์ชื่อดัง และมีวางขายในตลาดมาพอสมควร ฉะนั้นชายคนนี้จึงถือว่าไม่ธรรมดา และน่าเข้าไปสัมผัสชีวิตนักออกแบบรถยนต์ ที่ครั้งหนึ่งคนทั่วไปหรือแม้แต่พ่อแม่ของเขาเอง ก็ไม่เข้าใจว่า... จะเป็นอาชีพได้?!

“ผมจบสาขาการออกแบบ จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อปี 1989 แต่เนื่องจากเป็นคนชอบขีดเขียนรูปรถยนต์ และในความคิดเห็นว่าการเป็นนักออกแบบรถยนต์ ถือเป็นสุดยอดของอาชีพการออกแบบ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการลงทุนสูง ราคาแพง และมีความซับซ้อนในตัวผลิตภัณฑ์สูง ผมจึงตัดสินใจที่จะเลือกเรียนต่อปริญญาโท ในสาขาออกแบบรถยนต์ ที่ประเทศออสเตรเลีย”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เส้นทางนักออกแบบรถยนต์ของอาจารย์อภิชาติ แต่นั่นใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว... “พอผมไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัย R.M.I.T ปรากฏว่าที่โน้นเขาจะไม่รับนักศึกษา ที่ไม่ได้เรียนด้านรถยนต์มาโดยตรง แต่ในการสัมภาษณ์ผมยืนยันที่จะเรียนสาขานี้ ซึ่งอาจารย์คงเห็นความมุ่งมั่นของผม จึงอนุญาตให้เรียนได้ แต่มีเงื่อนไขผมต้องทำคะแนนให้ได้ 80% ในเทอมแรก ขณะที่นักศึกษาที่เรียนมาโดยตรงทำเพียงแค่เกณฑ์มาตรฐานธรรมดาก็ผ่านแล้ว และหากผมไม่ผ่านจะต้องกลับไปเรียนสาขาการออกแบบอุตสาหกรรมเหมือนเดิม”

อาจารย์อภิชาติยอมรับว่า เป็นการยากที่คนไม่ได้เรียนมาโดยตรงจะทำได้ ที่สำคัญหากทำไม่ได้ต้องเสียเวลาและเงินทอง ในการเรียนที่ออสเตรเลียไปเทอมหนึ่งเต็มๆ แต่เมื่อตั้งใจแล้วจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้

“วิธีของผมคือตั้งเป้าว่า จะต้องสเกตซ์ภาพรถยนต์วันละไม่ต่ำกว่า 30 ภาพ เพื่อให้เกิดความชำนาญในการวาดลายเส้น แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น เพราะต้องใช้กระดาษมากทีเดียว แต่อุปกรณ์ทุกอย่างในออสเตรเลียแพงหมด ซึ่งเงินผมก็ไม่ได้มีมากมายอะไร ผมจึงแก้ปัญหาโดยไปที่โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีกระดาษเหลือที่ต้องทิ้งอยู่ท้ายม้วนติดอยู่ ผมจึงไปขอเขาและแบกกลับมาที่พัก เพื่อใช้เป็นกระดาษสเกตซ์ภาพ ขณะที่ปากกาวาดภาพก็ใช้ Ball Paint แทนหมึกสีที่แพง”

ที่สุดความพยายามของอาจารย์อภิชาติก็สำเร็จ สามารถผ่านเกณฑ์ได้ตามเงื่อนไข ได้เรียนปริญญาโทสาขาออกแบบรถยนต์ตามที่ตั้งใจ และมีผลงานติดโชว์บอร์ดที่ภาควิชาอยู่เสมอ จนวันหนึ่งผลงานไปเข้าตาของบรรณาธิการนิตยสารรถยนต์ชื่อดัง “TRUCK MAGAZINE” จึงได้รับการติดต่อให้เขียนภาพลายเส้นรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ให้กับทางนิตยสาร

“ภาพที่เขียนจะเป็นรูปรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นภาพ Spy Short ที่ทางนิตยสารได้ถ่ายมา ซึ่งบางครั้งมีการพรางจุดสำคัญไว้ หน้าที่ผมจะต้องดูเค้าโครงของรถ และจินตนาการว่ารถยนต์จะออกมาเป็นแบบไหน แล้วจึงวาดภาพรถรุ่นนั้นๆ ออกมา เพื่อลงในนิตยสารเล่มดังกล่าว หากผลงานของผมได้รับการตีพิมพ์จะได้รับค่าจ้าง 28 เหรียญออสเตรเลียต่อภาพ นับเป็นเงินก้อนแรกในการทำงานนักออกแบบรถยนต์ และภูมิใจมากที่สามารถหาเงินในสาขาวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาได้ แต่ไม่นับรวมงานในร้านอาหารไทย ที่ทำเป็นปกติของผมอยู่แล้ว”

อาจารย์อภิชาติรับเขียนภาพรถยนต์ จนกระทั่งเทอมสุดท้ายของการเรียน จึงได้เริ่มส่งประวัติการศึกษาและผลงานไปยังบริษัทรถยนต์ทั่วโลก และดูเหมือนเขาจะตัดสินใจไปทำงานยังประเทศเกาหลี เพื่อร่วมงานกับ บริษัทรถยนต์สัญชาติเกาหลี ที่ให้โอกาสเขาแสดงฝีมือ 3 เดือน เพื่อตัดสินใจว่าจะรับเป็นพนักงานประจำหรือไม่?

“พอดีวันหนึ่งมีโทรศัพท์มาที่ที่พักในออสเตรเลีย เป็นเสียงของคุณวุฒิชัย เผอิญโชค ผู้บริหารของไทยรุ่งยูเนียนคาร์ฯ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ดัดแปลงอีซูซุ ภายใต้ชื่อ ‘ทีอาร์’ ซึ่งกำลังจะขยายและต้องการทีมออกแบบ และเห็นประวัติของผมที่ส่งไปจึงได้ชวนให้กลับมาทำงานด้วย ทำให้ผมต้องปรึกษากับทางบ้าน และต่างก็เห็นด้วยที่จะกลับมาอยู่บ้าน ที่สุดผมเลยตัดสินใจมาทำงานกับไทยรุ่งฯ เมื่อจบการศึกษาปริญญาโทสาขาออกแบบรถยนต์ โดยได้ร่วมทำโครงการออกแบบและผลิตรถยนต์ทีอาร์ แกรนด์ แอดเวนเจอร์ ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จอีกรุ่นของไทยรุ่งฯ”

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของอาจารย์อภิชาติ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะเมื่อทำโครงการทีอาร์ แกรนด์ เอดเวนเจอร์เสร็จ จึงได้เดินออกไปร่วมงานกับ “ARRK (Thailand)” และที่นี่อาจารย์อภิชาติ ได้ร่วมออกแบบรถยนต์ “เชฟโรเลต ซาฟิร่า” ของบริษัทรถยนต์ GM ในส่วนของอุปกรณ์ตกแต่งรอบคัน จากเดิมที่จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
การทำงานที่อาร์คไทยแลนด์ แม้จะมีงานออกแบบหลากหลาย ซึ่งไม่เพียงออกแบบรถยนต์ ยังมีสินค้าอื่นๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ แต่นั่นยังไม่ใช่ความต้องการของอาจารย์อภิชาติ พอดีทางยนตรกิจได้เพิ่มหน่วยงานออกแบบ เพื่อทำการออกแบบภายใน “โฟล์คสวาเกน คาราเวล” เพื่อทำตลาดในไทย และส่งออกไปต่างประเทศด้วย ในฐานะที่ปรึกษาการออกแบบของ YDC (Yontrakit Design Center) ซึ่งถึงขณะนี้ก็เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

“ช่วงออกจากไทยรุ่งฯ ผมไปเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาออกแบบรถยนต์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จนถึงปัจจุบันนี้ก็สอนมาเป็นปีที่ 13 แล้ว และมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของผม เวลาผมสอนหรือทำงานจะใช้ดินสอสีฟ้าสเกตซ์ภาพ จะไม่ใช่สีดำ เนื่องจากเวลาเขียนบนกระดาษขาวจะดูสะอาด แต่สีดำมีส่วนผสมของคาร์บอนมากไป ทำให้เลอะดูสกปรก ตรงนี้เลยทำให้ภาพลายเส้น Blue Pencil กลายเป็นเอกลักษณ์ของผมไป และส่งผลให้ลูกศิษย์ของผมพลอยใช้สีฟ้าไปด้วย”

อาจารย์ยังเล่าถึงเรื่องติดตลก เกี่ยวกับภาพสเกตซ์สีฟ้าว่า... “มีนักศึกษาออกแบบรถยนต์จากศิลปากร ไปสมัครงานบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง พอทีมสัมภาษณ์เห็นภาพร่างรถยนต์เป็นสีฟ้าก็พูดว่า...ลูกศิษย์อาจารย์อภิชาตินี่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องรับรู้กันโดยทั่วไป เพราะลูกศิษย์ผมปัจจุบันมีถึง 13 รุ่นแล้ว โดยกระจายทำงานอยู่บริษัทรถยนต์ต่างๆ แทบทุกยี่ห้อ”

เมื่อถามถึงหลักในการทำงาน หรือสิ่งที่จะสอนลูกศิษย์ในการเป็นนักออกแบบรถยนต์ที่ดี อาจารย์อภิชาติบอกว่า “สิ่งสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้...รู้แจ้ง...รู้จริง (เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง)... และเราต้องเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้นั้น เวลามีปัญหาเราถึงจะแก้ไขปัญหาของงานได้ถูกต้องรวดเร็ว หรือเวลาเราทำงานนั้นๆ ก็จะถูกต้องตามผลที่เราตั้งไว้ ซึ่งเป็นการดำเนินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว ที่ได้ทรงพระราชดำรัสไว้”

ส่วนหลักออกแบบรถยนต์ ผมจะย้ำกับลูกศิษย์เสมอว่า “หากอยากจะประสบความสำเร็จในเส้นทางนักออกแบบรถยนต์ อันแรกจะต้องการเข้าใจสัดส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบว่า ควรจะเป็นรูปทรงแบบใด ตรงตามแนวความคิดที่วางไว้หรือไม่ ข้อสองสามารถสร้างความสมบูรณ์ของพื้นผิวชิ้นงาน ที่ออกแบบมาทุกชิ้นในระดับ Class A surface ได้หรือเปล่าทั้งการทำต้นแบบจาก Clay Model หรือการใช้เครื่องมือโปรแกรมในคอมพิวเตอร์เขียนพื้นผิวก็ตาม และสุดท้ายคือส่วนประกอบรายละเอียดของรถยนต์ที่ออกแบบต้องสอดคล้องกับแนวคิดที่ตั้งไว้ให้ได้ตามแบบที่กำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งหน่วยวัดคุณภาพต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นจุดแสดงหรือมาตรวัดคุณภาพของรถยนต์ที่ถูกออกแบบว่า มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน? แตกต่างกันอย่างไร?”

นั่นคือเคล็ดที่ไม่ลับของอาจารย์อภิชาติ ที่บอกว่าเป็นสิ่งที่นักออกแบบรถยนต์ชื่อดังทุกคน ไม่ว่าจะเป็น พอล กิ๊บสัน ของฟอร์ด หรือคริส แบงเกอร์ จากบีเอ็มดับเบิลยู ต่างก็พูดเหมือนกันหมด

เหตุนี้เมื่ออาจารย์อภิชาติได้ยึดถือปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ตลอดมา เมื่อบวกกับการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ทำให้ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ร่วมรับผิดชอบโปรเจกต์ออกแบบและผลิตรถยนต์ระดับบิ๊กๆ หลายงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบภายในรถโฟล์คสวาเกน คาราเวล รุ่นใหม่ และทำหน้าที่รับผิดชอบการออกแบบภายนอกและภายใน “Cobra Bizzarrini P538” รถสปอร์ตซูเปอร์คาร์รุ่นล่าสุด ที่จะเปิดตัวในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2008 นี้
รวมถึงโครงการล่าสุด คือ...Project Manager โครงการทำรถยนต์ต้นแบบยี่ห้อดังระดับแถวหน้าของโลก (โดยการทำรถยนต์ต้นแบบชิ้นส่วนทั้งหมด ถูกทำขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และภายใต้การควบคุมคุณภาพการผลิตรถยนต์ต้นแบบระดับสากล) ซึ่งจะเปิดตัวในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2008 นี้เช่นกัน

“ผมคิดว่า...ผมไม่ใช่นักออกแบบที่มีชื่อเสียงหรอกครับ.....แต่ผมเป็นเพียงแค่คนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ชอบออกแบบรถยนต์ และได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมออกแบบรถยนต์ที่ดีที่สุดเท่านั้น”... นั่นคือบทสรุปปิดท้ายตัวตนของอาจารย์อภิชาตินี้
(สามารถดูผลงานการออกแบบ ที่ผ่านมาได้ที่ www.royalmotor.co.th)



กำลังโหลดความคิดเห็น