xs
xsm
sm
md
lg

a walk to remember ประเทศไทย และปารีสในความทรงจำ ศุภชัย เกศการุณกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภชัย เกศการุณกุล
ยามสายวันหนึ่งที่อากาศกำลังดี ผมนั่งจิบกาแฟดำรสเข้มที่หน้าร้านหนังสือประตูสีฟ้า ย่านเอกมัย ไม่นานผู้ชายใส่แว่นตา หน้าตาเหมือนคนเกาหลีก็เดินเข้ามาทัก... โล่งอกไปทีที่เขาพูดภาษาไทย และเป็นคนเดียวกับช่างภาพที่ชื่อ ศุภชัย เกศการุณกุล ...

"ถ้ายึดอาชีพถ่ายรูป มึงเลี้ยงตัวเองไม่ได้หรอก" ครั้งหนึ่ง, รุ่นพี่คนหนึ่งเคยเตือนด้วยความหวังดี แต่ ศุภชัย เกศการุณกุล ไม่เชื่อ, ตรงกันข้าม เขายิ่งดั้นด้นตะลุยถ่ายภาพไปตามสถานที่ต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นข้างขอบเวทีแฟชั่นอันวูบไหว, เดินไปตามถนนข้าวสารท่ามกลางฝูงคนหลากหลายเชื้อชาติ, เข้าไปในห้องผ่าศพของหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์, ไปเยือนห้องแต่งตัวนักแสดงคาบาเรต์, ตามติดขบวนบางกอก เกย์ เฟสติวัล, วิ่งหนีผู้ชายขายตัวที่สนามหลวง, ตามรอยช่างภาพสัตว์ป่ากลางดงห้วยขาแข้ง ฯลฯ ส่วนใหญ่เขาผจญภัยไปในสถานที่เหล่านี้กับเพื่อนรัก, นักเขียนคู่ใจอย่าง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ โดยมีกล้องคู่กาย และความท้าทายที่มีอยู่เต็มหัวใจ

ศุภชัยตั้งใจจะเป็นช่างภาพอาชีพตั้งแต่เรียนที่คณะวารสารศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอเรียนจบเขาฝึกงานกับช่างภาพสารคดีญี่ปุ่น แล้วไปเป็นผู้ช่วยช่างภาพโฆษณาที่กากี่นั้งสตูดิโอ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพนิตยสาร Gm business ก่อนจะรับหน้าที่บรรณาธิการภาพให้นิตยสาร Open ภาพพอร์ตเทรตขาวดำที่สวยงาม แฝงกลิ่นอายของความดิบ แต่ไม่เถื่อน ของเขามีส่วนอย่างยิ่งต่อการก่อร่างสร้างสรรค์บุคลิกภาพให้นิตยสาร Open ของภิญโญ ไตรสุริยธรรมาโดดเด่นขึ้นมาในระยะบุกเบิก

หลังจากนั้นเขาออกเดินทางไปเรียนปริญญาโทด้านภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ศุภชัยก็ยังพกพากล้องคู่กายออกไปถ่ายรูปอยู่เสมอ...

-- กรุงปารีส, ประเทศฝรั่งเศส

"วันแรกที่ไปถึงฝรั่งเศสผมถ่ายรูปเลย แต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นรูปอะไรบ้าง เพราะถ่ายช่วงแรกๆ เอามาเลือกงานแล้วมันใช้ไม่ได้ มันเหมือนเป็นนักท่องเที่ยวถ่ายรูป"
ในความเห็นของใครหลายคน ฝรั่งเศส, เป็นประเทศที่ถ่ายรูปอะไรออกมาก็น่าจะดูสวยไปหมด แต่ในมุมมองของศุภชัย เขามองว่า มันถูกถ่ายออกมาเยอะเกินไปต่างหาก

"เรารู้สึกว่าเราอยู่แค่พื้นผิวของมัน เราไม่ได้ลงไปในชีวิตของคนฝรั่งเศส ไม่ได้มีชีวิตเหมือนเขา ทำให้เราได้แต่ถ่ายสถานที่ท่องเที่ยว พอเวลาผ่านไปเรามีชีวิตเหมือนเขา เราเรียนเราทำงาน เรามีปัญหาเรื่องความสะดวกในการใช้ชีวิต พอเราเข้าไปอยู่นานเข้า เรารู้ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง คิดอะไร เราก็เริ่มถ่ายภาพ ตรงนี้มันเริ่มเป็นชีวิต มันเข้าไปในเนื้อมากกว่าอยู่ที่พื้นผิว เราก็เลยรู้สึกว่าเริ่มโอเคแล้ว"

ศุภชัยเริ่มมองเห็นฝรั่งเศสมากกว่าเปลือก ถ้าอย่างนั้นเราอาจไม่มีโอกาสเห็นรูปแท่งเหล็กยักษ์ที่มีชื่อว่า หอไอเฟล ในภาพถ่ายของเขา ?

"รูปหอไอเฟลผมก็ถ่ายนะ คือที่ถ่ายก็ส่วนหนึ่ง ส่วนที่คัดออกมาก็ส่วนหนึ่ง ที่บอกว่าไปถ่ายช่วงแรกไง สถานที่ท่องเที่ยวผมก็ถ่ายหมด"

แต่ส่วนที่คัดออกมาแทบจะไม่มีภาพหอไอเฟลเลย ?

"พอหกปีผ่านไปเรารู้ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยว ถ้าสถานที่ท่องเที่ยวไม่มีคนมันก็ไม่มีประโยชน์ ก็เหมือนกับสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีประวัติ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่กับคน หกปีผ่านไปเรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถานที่ แทนที่สถานที่จะกลายเป็นจุดเด่นในงานของเรา แต่มันกลับเป็นเพียงแบ็คกราวนด์"

--นครแห่งศิลปะและวัฒนธรรม

ในส่วนของความเป็นเมืองแห่งแฟชั่นและศิลปะอย่างฝรั่งเศสนั้น ศุภชัยมองว่าฝรั่งเศสสมควรจะเป็น เพราะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีการเรียนรู้ มีสถาบัน มิว เซียม และมีทุกอย่างให้เด็กได้เรียนรู้ ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์

"ผมว่าเขาเหมาะสมมากๆ แล้วเขามีให้ดูตลอดเวลา มีของใหม่ให้ดูตลอด ของเก่าก็มีให้ดู จะดูเมื่อไหร่ก็มี แต่ผมไม่เคยไปที่อื่น ไม่เคยไปนิวยอร์ก แต่ผมรู้สึกว่าปารีสมันเหมาะ เพราะว่ามีทั้งของเก่าและของใหม่ผสมกันอยู่ มีทั้งราก แล้วก็มีทั้งยอดและผลใหม่ๆ"

และการที่ศุภชัยไปอยู่ฝรั่งเศสนานถึง 5 - 6 ปี ไม่ได้เป็นเพราะเงื่อนไขการเรียน แต่ที่อยู่เพราะอยากอยู่ เขาก็เลยต้องเรียน เพราะการเรียนเป็นการแก้ปัญหาเพื่อที่เขาจะได้อยู่ที่ฝรั่งเศส

"จริงๆ ผมจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปารีสตั้งแต่ปีที่สี่ที่ผมไปอยู่ แต่พอดีผมเขียนทีสีสเรื่องหนังไทยกับสังคมไทย แล้วมีสถาบันชื่อ Inalco เป็นสถาบันที่สอนวัฒนธรรม ภาษา และปรัชญาตะวันออก แล้วมีอาจารย์ฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญภาษาไทย ผมเอางานให้ดูแล้วเขาสนใจ เขาบอกว่างานของคุณน่าจะไปอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้มากกว่าที่จะไปอยู่ในมหาวิทยาลัยปารีส เขาก็เลยถามผมว่าสนใจจะเรียนกับเขาต่อไหม เป็นปริญญาโทใบที่สอง"

ศุภชัยตัดสินใจเรียน เพราะมันทำให้เขาได้อยู่ฝรั่งเศสต่อ เขาเรียน และเขียนทีสีสฉบับที่สอง แต่ว่าเขียนไม่เสร็จ เพราะเขาต้องกลับมาประเทศไทย - ทำไม ?

"ผมรู้สึกว่าอายุ 35 แล้ว คิดว่าถ้าเราไม่กลับตอนนี้ แล้วไปกลับอีกทีตอน 40 กลับมาแล้วก็ต้องมาหาพื้นที่ทำงานที่เมืองไทยอีก ความมั่นอกมั่นใจ แรงของเรา ความทะเยอทะยานของเรามันจะน้อยกว่าอายุ 35 ผมก็เลยตัดสินใจกลับ อย่างน้อยอายุ 35 มันก็ยังดูมีแรง แต่ 40 นี่แบบ... (หัวเราะ) มีลูกมีเมีย เราคงต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำหลายอย่างเพื่อที่จะได้เงินเข้ามา แต่อายุ 35 นี่ยังพอสู้ได้ (หัวเราะ) ผมคุยกับแฟนว่าจะช้าจะเร็วมันต้องกลับ เราอยู่มา 6 ปีเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง น่าจะพอแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจกลับ"

-- กรุงเทพฯ, ประเทศไทย

กลางปี 2551 ศุภชัยก็กลับมาสู่อ้อมอกของประเทศไทย... พอกลับมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นาน เขาก็พิมพ์หนังสือออกมาหนึ่งเล่มชื่อ in paris โดยสำนักพิมพ์ Openbooks เล่าเรื่องการใช้ชีวิต เพื่อน และสิ่งที่เห็นกับสิ่งที่คิด ในฐานะคนที่มาจากตะวันออก, มีประโยคหนึ่งที่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผู้เป็นเพื่อนรัก เขียนแสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือ in paris ของเขาว่า "...ยากที่ใครจะเก็บอารมณ์กาแฟ บุหรี่ และบทกวีมาใส่ในเนื้องานได้เหมือนเขา..." -- จะเป็นอย่างที่วรพจน์ว่าไว้หรือเปล่านั้น ก็ลองไปซื้อหามาอ่านกันดู

หลังจากออกหนังสือมาได้ไม่นาน ศุภชัยก็มีโอกาสแสดงนิทรรศการภาพถ่าย 'จากป่าลึกสู่ปารีส' ร่วมกับช่างภาพสัตว์ป่า ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

"แม้ว่าโดยรูปแบบมันคนละแนวกัน แต่เนื้อหาและวิธีการทำงานเหมือนกัน ก็เลยออกมาเป็นแบบในป่ากับนอกประเทศไทย แต่ว่าโดยเนื้อหามันร่วมกันได้ ใช้ภาพเล่าเรื่องเหมือนกัน"

แล้วก็มีอีกงานหนึ่งที่กำลังจัดขึ้นที่เกษรพลาซ่าในวันพฤหัสฯ ที่ 6 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เป็นงานแสดงภาพถ่ายของศุภชัยชื่อ a walk to remember

"มีตึกที่บางลำพู ที่ผมเล็งไว้นานแล้วว่าจะมาถ่าย แล้วพอวันที่ผมไปถ่าย ปรากฏว่าตึกนั้นกำลังโดนทุบ ผมก็เข้าไปขอเขาถ่ายรูป มันมีบางรูปที่พอเราถ่ายแล้ว มันจะไม่มีอีกต่อไป ผมเขียนบันทึกว่าตอนเดินมันมีความสุขที่เราหาบางสิ่งบางอย่างแล้วเราเจอความงาม แต่เราก็รู้ว่าวันหนึ่งมันจะต้องหายไป มันมีทั้งสุขทั้งเศร้าปนกัน"

และนี่ก็คือรูปภาพส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์และความตั้งใจเดินทางถ่ายรูปประเทศไทยของเขา

"สิ่งที่เราบันทึกนี้มันเป็นแค่รูปแบบ มันเป็นแค่สิ่งที่เราเห็นภายนอก แต่ความเชื่อ คุณค่า หรือวัฒนธรรมบางอย่างของเมืองไทยมันกำลังจะกลาย และค่อยๆ หายไป..."

--On Location

ครั้งหนึ่ง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เคยเขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า "คำว่า On Location ของเพื่อนรัก - ศุภชัย เกศการุณกุล มีผลต่อการทำงานของผมเป็นอย่างยิ่ง" ศุภชัยอธิบายสิ่งที่วรพจน์เขียนไว้ว่ามันคือการไปในสถานที่ที่คนคนนั้นคุ้นเคย หรือมีกิจกรรมที่ตรงนั้น ไปดูให้เห็นว่าเขาทำงานอย่างไร เพราะเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อคน คนมีผลต่อสิ่งแวดล้อม

"ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเข้าไปในห้องผ่าศพของหมอพรทิพย์ (โรจนสุนันท์) เราก็เข้าไปดูว่าหมอพรทิพย์ผ่าศพยังไง แทนที่เราจะไปสัมภาษณ์, ถ่ายรูปอยู่ที่บ้าน หรือในห้องทำงานที่มีแต่เอกสาร เราก็เข้าไปดูเลยว่าศพมายังไง แล้วเขาผ่ากันอย่างไร"

คุยกันในห้องผ่าศพ อารมณ์ ความรู้สึกยังไงก็ต่างกับคุยในร้านกาแฟแน่ๆ

"แต่มันก็อยู่ที่คนอีกล่ะ เราต้องดูว่าในบริบทไหนจะน่าสนใจมากกว่ากัน"

การไปเยือนห้องผ่าศพของหมอพรทิพย์ในตอนนั้น ศุภชัยบอกว่าเป็นความตั้งใจ ไม่มีใครบังคับ เป็นความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า แน่นอนว่า พอเข้าไปก็เห็นเขากำลังผ่าศพกันอย่างเอาจริงเอาจัง

"ผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เวลาทำงานถ่ายรูปผมไม่รู้สึกอะไร ผมเห็นทุกอย่างเป็นซับเจ็กต์ เป็นการที่เราจะต้องจัดคอมโพซิชั่น (องค์ประกอบ) ดูเรื่องแสง เล่าเรื่องออกมาให้ได้ ทุกอย่างมันกลายเป็นแบบว่าไม่ได้มีอะไรน่ารังเกียจ ก็แค่เห็นเขาควักตับ ควักสมองกันอยู่เท่านั้น"

โดยไม่มีใครรู้ว่า การได้มีโอกาสเข้าไปพบเห็นการผ่าศพในครั้งนั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและการกินอยู่ของวรพจน์ - นักเขียนที่เข้าไปในห้องผ่าศพด้วยกันในภายภาคหน้า และผลปรากฏว่า วรพจน์บอกลาเครื่องในสัตว์ไปเป็นปีๆ

หลังจากไปเยี่ยมห้องผ่าศพได้ไม่นาน ศุภชัยก็ไปโผล่ที่ข้างขอบเวทีแฟชั่น

"ผมก็ตื่นเต้นนะ เพราะว่าผมยังไม่เคย"

ถามว่ามือที่ถือกล้องอยู่นั้น เมื่ออยู่ข้างๆ เวทีแฟชั่นมันสั่นไหวมากน้อยแค่ไหน ศุภชัยบอกว่า

"ไม่สั่นๆ (หัวเราะ) ก็สวยดี ชอบ จริงๆ เราอยากเข้าไปอยู่หลังเวที แต่เขาไม่อนุญาต เราอยากรู้ว่าเขาทำงานกันยังไง เพราะสิ่งที่อยู่ข้างหน้าทุกคนก็เห็นอยู่แล้ว"

ออกจากเวทีแฟชั่น เขาก็ไปแอบซุ่มถ่ายผู้ชายขายตัว...

"เราอยากเห็นฉากจริงๆ ของสิ่งเหล่านี้ แล้วมันก็เป็นโจทย์ที่เราต้องทำงานมาส่ง เหมือนคนแอบมอง แล้วเขาก็จับได้ว่าเราถ่ายรูปเขาอยู่ เขาก็ตะโกนว่า เฮ้ย! มึงหยุดนะ! อ้าว แล้วเรื่องอะไรกูจะหยุดล่ะ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมก็กลัวนะ กลัวว่าจะโดนตีหัว แล้วตอนที่เขาบอกว่า เฮ้ย มึงหยุดนะ แต่ชัตเตอร์เรายังไม่หมด เพราะว่าเราใช้สปีดต่ำ ก็รอจนชัตเตอร์มันหมดแล้วเราค่อยวิ่ง" (หัวเราะ)

เสร็จแล้วเขาก็เข้าป่า เดินตามรอยช่างภาพสัตว์ป่ากลางดงห้วยขาแข้ง

"ได้เข้าไปเห็นว่าเขานอนยังไง เขากินยังไง เขาซุ่มบังไพรยังไง นานแค่ไหน การทำงานเขาเป็นอย่างไร เขาคิดอะไรอยู่"

ผมสงสัยว่าไปอยู่ในป่าในดงอย่างนั้น ไม่กลัวเสือมาคาบไปกินหรือ ?

"ถ้าเสือมาก็หลบหลังพี่เชน (ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ) ผมไม่รู้สึกกลัวเลย แต่รู้สึกสนุก รู้สึกอยากจะเห็น ตอนนั้นมันไม่มีพันธะ ไม่มีอะไรห่วงด้วยมั้ง"

ประสบการณ์จากการเข้าป่าครั้งนั้น ทำให้ศุภชัยได้มุมมอง วิธีคิด วิธีการถ่ายภาพจาก ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ มาปรับใช้กับการทำงานของตัวเอง

"ถึงแม้เราจะทำงานไม่เหมือนกัน แต่วิธีทำงานใกล้เคียงกัน ก็คือให้ความเคารพต่อระยะห่างระหว่างเรากับสิ่งที่เราถ่าย คือถ้าเราเข้าไปใกล้เกินไปก็ไปรบกวนเขา ถ้าเราห่างเกินไป เราก็ไม่ได้ภาพ ดังนั้นเราต้องคาดคะเนเอาว่าตรงไหนมันเหมาะ ก็จากประสบการณ์ของเรานั่นแหละ มีพี่ฮาเมอร์ (ฮาเมอร์ ซาลวาลา) เขาสอนเราว่า เขาเคยไปถ่ายในกองถ่ายหนัง เขาก็ต้องเข้าไปใกล้จนเข้าไปใกล้มากกว่านี้ไม่ได้ คือมันมีระยะห่างอยู่ แต่เขาก็พลาดเสมอ เพราะกว่าจะรู้ว่าเราเข้าไปใกล้เกินไปก็ต่อเมื่อเราเข้าไปใกล้แล้ว พอเรารู้ว่ามันใกล้เราก็ถอยกลับมาอีกก้าวหนึ่ง พี่ฮาเมอร์ พี่เชน เขาก็สอนเราในเรื่องเดียวกัน"

-- Portrait

รูปถ่ายของศุภชัยส่วนมากเป็นรูปคน ผมอยากรู้เหมือนกันว่าคนมีความสำคัญต่อเขาอย่างไร ในเมื่อมีสถานที่สวยงาม และสิ่งของที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย

"เพราะผมอยากรู้ว่าเขาคิดอะไรยังไง คนแต่ละคนมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน ผมอยากถ่ายทอดคนใดคนหนึ่งผ่านสายตาว่าเรามองเขาแบบนี้ คือผมสนใจแววตา อากัปกิริยา วิธีคิด ผมสนใจอย่างนั้น แล้วทุกครั้งที่ถ่ายก็เป็นการฝึกไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่ามันดีไหม ถ้าดีมันจะอยู่นาน ก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องตัดสินว่ารูปนี้อยู่นานเพราะว่ามันดีใช่ไหม อย่างรูปเช (กูวารา) มันดีเพราะว่ามันดี มันถึงอยู่ได้มานานจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่ามีรูปอื่นตั้งเยอะแยะ ทำไมต้องใช้รูปที่เป็นเฮดชอร์ต แล้วก็ใส่หมวก"
ภาพถ่ายของศุภชัยเป็นภาพถ่ายแนว Documentary, Portrait แต่ที่น่าสังเกตก็คือภาพถ่ายของเขาในตอนนี้กับตอนที่ยังไม่ได้เดินทางไปฝรั่งเศสยังเหมือนเดิม แต่มุมมองที่เขามองนั้นแคบลงเรื่อยๆ โฟกัสมากขึ้นเรื่อยๆ

"สมมุติว่าผมถ่ายคุณ ถ้าให้ย้อนกลับไปผมก็อาจจะถ่ายแบบกว้างๆ แต่ตอนนี้ผมถ่ายลงแค่นี้ (ทำมือเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ) พูดทางเทคนิคก็คือ ก่อนที่ผมจะไปฝรั่งเศสผมใช้เลนส์ 35 เป็นเลนส์ปกติ แต่ตอนนี้ผมใช้เลนส์ 50 คือมีสิ่งแวดล้อมด้วยแหละ แต่สิ่งแวดล้อมมันก็ถูกตัดลงให้คนมีบทบาทมากขึ้น"

-- เสน่ห์ในภาพขาวดำ

เสน่ห์ในภาพขาวดำสำหรับศุภชัยก็คือ ภาพขาวดำไม่ถูกสีหรือว่าถูกอย่างอื่นดึงความสนใจออกไป เห็นเนื้องานจริงๆ เห็นสิ่งที่ต้องสื่อจริงๆ เขารู้สึกว่าภาพสีมันใกล้ความเป็นจริงเกินไป ไม่ทำให้คนดูจินตนาการต่อ ในสมองของคนดูจะทำงานเองว่ามันควรเป็นสีอะไร แล้วเกิดการไม่ปกติกับสิ่งที่เราเห็นทั่วไป มันก็เลยน่าสนใจมากขึ้น ศุภชัยบอกว่าเสน่ห์อยู่ตรงที่มันไม่เหมือนจริงนี่แหละ...
"แต่ตอนอยู่ปารีสผมก็ถ่ายทั้งสีทั้งขาวดำ อย่างงานนิทรรศการครั้งใหม่นี้ (a walk to remember) ก็ภาพสี"

ศุภชัยนิยามภาพถ่ายของตัวเองว่า เรียบง่ายและเล่าเรื่อง ส่วนเคล็ดลับในการถ่ายภาพของเขาก็คือ ถ่ายสิ่งที่เห็นอย่างตรงไปตรงมา

ไม่รู้ทำไม ดูภาพถ่ายของศุภชัยแล้วรู้สึกเงียบๆ ผมจึงถามว่าภาพถ่ายของเขามีเสียงไหม

"ดูแล้วมันพูดอะไรไหม มันเล่าเรื่องอะไรหรือเปล่า ถ้ามันเล่าเรื่องด้วยตัวมันเองมันอาจจะเล่าเรื่องเงียบๆ ก็ได้ เล่าเรื่องแบบกระซิบก็ได้ แต่มันคงไม่ตะโกน เพราะรูปผมไม่แรง รูปผมมันซอฟต์ๆ"

ภาพของเขาดูดิบ แต่ไม่เถื่อน และมีตัวเอกในภาพเป็นคน กระทั่งเคยมีหญิงสาวบางคนเสนอตัวเป็นแบบให้เขาถ่ายภาพนู้ดขึ้นปกนิตยสาร (Open) มาแล้ว...

"ช่างภาพส่วนใหญ่ผมว่าเขาอยากถ่ายนู้ดกันนะ เพราะมันท้าทายว่าจะถ่ายออกมาอย่างไรให้ดูดี ส่วนของผมมันเป็นความบังเอิญ จังหวะมันพอดี ก็เลยได้ถ่าย, คือโดยวัยของเขา (หญิงสาวคนนั้น) เขาอยากเก็บภาพถ่ายปัจจุบันของเขาไว้ เพราะต่อไปเขาก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ส่วนโจทย์ของเราก็คือไม่อยากให้แบบโพสท่า เราอยากให้แบบเหมือนกับว่าเขาอยู่คนเดียวในบ้าน แล้วเป็นคนที่ไม่ค่อยใส่เสื้อผ้า เวลานอนเขาก็นอนไม่ใส่เสื้อ ใส่แต่กางเกง ใส่เสื้อคลุมอาบน้ำ อะไรอย่างนี้ เราก็พยายามอธิบายว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน"

-- ความสมบูรณ์แบบไม่มีในโลก

ผมถามศุภชัยว่าเขาเป็นพวกเพอร์เฟ็กต์ชันนิสม์ ชอบความสมบูรณ์แบบไหม เขาตอบว่าไม่ชอบ, เขาคิดว่าความไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละสวย มันมีเกินบ้าง ขาดบ้าง ชีวิตมันไม่สมบูรณ์แบบขนาดนั้น

"เราจับคนผ่าครึ่งซ้ายขวามันไม่เท่ากันอยู่แล้ว เสาต้นนี้แบ่งครึ่งมันก็ไม่สมบูรณ์ มันก็ไม่เท่ากัน พอเวลาผ่านไป ตะไคร่สองข้างมันก็ขึ้นไม่เท่ากัน ต้นไม้สองข้างมันขึ้นไม่เท่ากันหรอก แล้วความที่มันเคิร์ฟมันสวยกว่า โยจิ ยามาโมโต้ ดีไซเนอร์ญี่ปุ่นบอกว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีในโลก เขาก็เลยออกแบบเสื้อผ้าซ้ายขวาไม่เหมือนกัน"

กล้องตัวแรกของศุภชัยคือนิคอน FM2 เขาใช้มันตั้งแต่สมัยเรียนจนทำงาน พอมีรายได้เขาเปลี่ยนเป็นนิคอน F 90x (กล้องออโตเมติก) ที่ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ แต่ช่างภาพทุกคนก็อยากได้ Hasselblad เขาเหมือนกัน พอมีรายได้มากขึ้นศุภชัยก็ไปซื้อกล้อง Hasselblad มาเป็นกล้องคู่กาย

ผมถามเขาว่ามีปัญหาอะไรกับกล้องดิจิตอลไหม

"มันก็ดี, เร็วดี มันตอบสนองความรวดเร็วในการทำงานได้ดี"

แต่ช่างภาพบางคนเขาไม่ค่อยอินกับกล้องดิจิตอล ?

"แต่ผมไม่สนไง เพราะสิ่งที่สำคัญก็คือถ้าเรารับจ้างคนอื่นเขามาเราก็ต้องทำงานให้เขาได้ภายในกำหนดเวลาที่เขาต้องการ ถ้าเราประเมินว่าใช้ฟิล์ม ถ้าทำได้เราก็ใช้ แต่ถ้าดูแล้วไม่ทันเราก็ใช้ดิจิตอล ความจริงดิจิตอลมันดีมากเลยนะ คืออยู่ไกลคุณก็ส่งงานได้ คุณไม่จำเป็นต้องไปหาร้านล้างฟิล์ม แต่ช่างภาพดังๆ บางคนเขามีทางเลือก เขาไม่จำเป็นต้องไล่ตามเวลา เพราะงานเขายังไงก็ขายได้ เขาอาจรู้สึกอย่างนั้นอยู่ก็ได้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว สมมติเกิดเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา มันต้องส่งงานวันที่ 8 หรือวันที่ 7 ตอนเที่ยงคืน คุณก็ต้องส่งให้ได้"

สำหรับศุภชัย เขาไม่ปฏิเสธว่าต้องเป็นดิจิตอลหรือฟิล์ม ได้เสมอ ทุกอย่าง มันอยู่ที่ว่าโจทย์มาแบบไหน งานเป็นแบบไหน กล้องมันเป็นเรื่องของเครื่องมือ

มันเหมือนเป็นความสงสัย โดยไม่มีเหตุผล คำถามสุดท้ายที่ผมถามเขาวันนั้นก็คือ ในวินาทีที่กำลังกดชัตเตอร์ เขาคิดอะไรอยู่

"ผมนึกถึงพี่เชน ถ้าเกิดเขาไม่ได้ถือกล้อง เขาก็ถือปืน ต้องดูว่ายิงไปชอร์ตนี้ไม่พลาด เวลาสั้นมาก เหมือนเราเป็นมือสังหาร..."

**********************************

*ขอบคุณร้านหนังสือประตูสีฟ้าที่เอื้อเฟื้อสถานที่
** นิทรรศการ a walk to remember จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 - 20 พฤศจิกายน 2551 ชั้น G ศูนย์การค้าเกษร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เคาน์เตอร์คอนเซียจ ชั้น G โทร 0 2656 1149 ต่อ 0


**********************************

เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ











กำลังโหลดความคิดเห็น