xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะบนวีลแชร์ ศักดิ์ศรีที่ต่างของผู้พิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประวัติ วะโฮรัมย์ ยอดนักวีลแชร์เรซซิงเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ 3 สมัย
ถ้าเหรียญทองของลูกผู้ชายที่ชื่อ สมจิตร จงจอหอ คือความภูมิใจของคนทั้งชาติ เป็นเลือดเนื้อและหยาดน้ำตาของนักมวยในวัยกว่าสามสิบที่อดทนฝึกซ้อมผ่านอุปสรรคนานัปการมาถึงหนึ่งทศวรรษ เหรียญทองของ ประวัติ วะโฮรัมย์ ยอดนักวีลแชร์เรซซิง หรือ สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักฟันดาบวีลแชร์ที่ผ่านสังเวียนมามากมายนับไม่ถ้วน ก็มีค่ามิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันและถ้าจะมองตามสภาพร่างกายแล้ว นักกีฬาวีลแชร์ หรือ นักกีฬาคนพิการนั้นมิได้ใช้เพียงความอุตสาหะที่มากกว่า หากหัวใจของคนเหล่านี้ยังเกินร้อยเสียด้วยซ้ำ

หลังการแข่งขันพาราลิมปิกที่ปักกิ่ง จบลงพร้อมกับผลงานที่นักกีฬาผู้พิการไทยคว้าเหรียญรางวัลมาคล้องคอได้ไม่น้อยหน้านักกีฬาชาติอื่น ความสำเร็จดังกล่าวได้สร้างรอยยิ้มให้แก่แฟนกีฬา รวมไปถึงบรรดาผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐที่ใช้โอกาสนี้เดินเข้ามาแสดงความยินดีในจังหวะที่พอเหมาะยิ่ง แต่ท่ามกลางช่อดอกไม้และรอยยิ้มแสดงความยินดีนั้น จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กว่าจะมีวันแห่งความสำเร็จเช่นนี้ได้ เส้นทางที่พวกเขาต่อสู้ทั้งที่สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยนั้น มันหนาวเหน็บชนิดที่หันไปทางไหนก็แทบจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ เมื่อก้าวมาถึงจุดสำเร็จ มูลค่าเหรียญรางวัลของพวกเขาก็ยังถูกจัดลำดับความสำคัญน้อยกว่านักกีฬาปกติชนิดที่ต้องเรียกว่าห่างกันจนน่าใจหาย

บรรทัดต่อจากนี้มิใช่เพียงแค่การย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของเหล่านักกีฬาผู้พิการ หากแต่เป็นคำพูดจากใจที่พวกเขาอยากจะบอกคนไทยทั้งประเทศว่า แม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย แต่การได้ติดธงไตรรงค์บนหน้าอกในฐานะนักกีฬาทีมชาตินั้นเป็นความภูมิใจที่ทำให้นักกีฬาบนวีลแชร์อย่างพวกเขารู้สึกได้ว่า ผู้พิการมิได้เป็นภาระของสังคม หากแต่อยู่ร่วมกับคนปกติได้อย่างเท่าเทียมโดยขอเพียงคำว่า 'โอกาส' เท่านั้นก็พอ

1

ในช่วงสายของวันที่อากาศภายนอกร้อนอบอ้าวทีมข่าวกีฬาผู้จัดการรายวัน มีนัดพบกับ 2 นักกีฬาที่สร้างชื่อในกีฬาพาราลิมปิกมาอย่างโชกโชนอย่างประวัติ วะโฮรัมย์ เจ้าของ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จาก 'ปักกิ่งเกมส์' พร้อมด้วย 'น้องแวว' สายสุนีย์ จ๊ะนะ 1 เหรียญทองแดงจากทัวร์นาเมนต์เดียวกัน

การพบกันในครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้าที่จะได้มานั่งพูดคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทีมข่าวกีฬาต้องติดตามความเคลื่อนไหวของประวัติและสายสุนีย์ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่พวกเขากลับมาถึงบ้านเกิด จนกระทั่งกระแสงานเลี้ยงขอบคุณจากภาครัฐและเอกชนเริ่มจางลง สองนักกีฬาที่มาพร้อมกับเสื้อ 'คนหัวใจสิงห์' ก็ได้มีโอกาสมาเปิดใจถึงเส้นทางเดินชีวิตที่ลิขิตให้พวกเขากลายเป็นฮีโร่เหรียญรางวัลพาราลิมปิก โดยมีห้องประชุมของบริษัทบุญรอดฯ เอกชนรายใหญ่ที่ให้ความสนับสนุนนักกีฬาผู้พิการไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็นที่นัดหมาย

สายสุนีย์เดินทางมาถึงเป็นคนแรก แม้ว่าจะอยู่บนรถเข็นแต่น้องแววก็สามารถมายังที่นัดหมายได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนหนึ่งเพราะทางลาดของอาคารที่อำนวยความสะดวก แม้ต้องออกแรงมากกว่าปกติ แต่ใบหน้าของเธอยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ต่อจากนั้น ประวัติ ฮีโร่เหรียญทองก็เดินทางมาถึงพร้อมกับ 'น้องโอ๋' ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก

หลังจากทักทายกันพอหอมปากหอกคอ ประวัติเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองเมื่อครั้งอดีตว่า

"ผมมีอาการพิการมาตั้งแต่เกิด กระทั่งเมื่ออายุ 14 ปี มีหนังสือจากโรงเรียนศรีสังวาลให้มารักษาตัวพร้อมทั้งศึกษาต่อ จึงได้เจอกับ อาจารย์สุพจน์ เพ็งพุ่ม โค้ชคนแรกในการเป็นนักกีฬาวีลแชร์เรซซิง ตอนนั้นเห็นเห็นรุ่นพี่ซ้อมวีลแชร์กัน เราก็อยากเป็นนักกีฬาเหมือนเขาบ้าง แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร อาจารย์จึงแนะนำให้ผมไปว่ายน้ำก่อน 1 ปี เพื่อที่จะได้มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น"

ความที่ต้องลงสระว่ายน้ำนี่เอง สร้างปัญหา และความลำบากให้กับประวัติพอสมควร

"มองดูก็รู้ว่าผมไม่เหมือนคนอื่น แล้วต้องไปว่ายน้ำที่เราว่ายไม่เป็นเลย มันยากลำบากพอสมควรสำหรับผม แม้จะมีครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ผมก็จมน้ำไปหลายครั้งเหมือนกัน เพราะมันยากมากที่ให้ผมไปหัดว่ายน้ำตอนนั้น น้ำเข้าปาก เข้าจมูก ทรมานมาก แต่ผมก็ยังอดทนว่ายน้ำอยู่ 1 ปีเต็มๆ ก่อนจะได้เข้ามาซ้อมกับนักกีฬาวีลแชร์รุ่นพี่

"พอได้ไปซ้อมกับรุ่นพี่วันแรก ผมก็ต้องลงไปปั่นระยะ 20 กิโลเมตรบนท้องถนนจริงๆ ทีนี้เราไม่เคยต้องมาปั่นระยะไกลมาก่อน ตอนนั้นพอเริ่มออกตัวนักกีฬารุ่นพี่เขาก็ออกตัวทิ้งผมไปหมดเลย 7-8 คน ทิ้งผมที่เพิ่งเล่นไว้ข้างหลังคนเดียว ถึงกับน้ำตาไหลเลย เพราะมันทั้งปวดเมื่อย ทั้งมีอาการตะคริว ปั่นไปก็ร้องไห้ไป ท้อแท้มาก คิดในใจแต่ว่าเลิกแน่ ไม่เอาแล้ว มืดแล้วด้วย แต่อีกใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่าเราอยากเป็นนักกีฬา เราต้องทำได้ สู้หน่อย ไปอีกหน่อย มันเจ็บที่ตัว มือก็แตกหมดเลย แต่หยุดไม่ได้ ยอมไม่ได้ สุดท้ายเราก็ไปถึงเส้นชัย แม้จะเป็นคนสุดท้ายก็ตาม"

2

ด้านน้องแวว-สายสุนีย์ จ๊ะนะ เส้นทางของเธอนั้นแตกต่างกับประวัติอยู่พอสมควร เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้พิการมาแต่กำเนิด ทว่าความพิการเกิดจากอุบัติเหตุถูกรถชนเมื่ออายุ 18 ปี ซึ่งนักกีฬาสาวบอกเล่าถึงชีวิตในช่วงเวลานั้นด้วยน้ำเสียงไม่สดใสนัก

"รับตัวเองไม่ได้เลยที่รู้ว่าต้องเป็นคนพิการ รู้สึกเหมือนแทบจะเป็นบ้า เรากำลังอยู่ในวัยรุ่นอยู่แท้ๆ อีกทั้งเพิ่งมีหน้าที่การงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน หลังจากเพิ่งจบการศึกษานอกโรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องออกจากโรงเรียนให้น้องเรียน"

โดยสาวเชียงใหม่รายนี้ยอมรับว่าเคยคิดมากขนาดอยากจะฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกความคิดในท้ายที่สุด

"ชีวิตเราพยายามดิ้นรนจนชีวิตมีงานมีการทำได้แล้ว กลับรู้สึกแย่กว่าเดิมอีก เคยขนาดลองฆ่าตัวตาย โชคดีที่ไม่สำเร็จ ด้วยฐานะที่ยากจนอยู่แล้ว เราจึงเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการที่อำเภอแม่แตง ในจังหวัดเชียงใหม่"

ซึ่งที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่แววได้ค้นพบแววแห่งการเป็นนักกีฬา

"ในหัวไม่ได้มีเรื่องอยากเป็นนักกีฬามาก่อนเลย แต่ในศูนย์ฯ มีการคัดนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล เพื่อไปแข่งขันกันที่กรุงเทพฯ เราก็แค่อยากไปกรุงเทพฯ เท่านั้นเอง เลยไปลองเล่นดูกับเขา ก็ติดขึ้นมาด้วย

"พอติดทีมได้มาแข่งขันกันที่กรุงเทพฯ มีรุ่นพี่ที่เขาเป็นทีมชาติมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าได้ไปต่างประเทศเพราะติดทีมชาติ เราก็ อุ้ย!...อยากไปต่างประเทศเหมือนเขาบ้าง ทีนี้เริ่มฝันว่าอยากติดทีมชาติบ้างแล้ว ก็พอดีมีการอบรมนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ เพื่อแข่งขันในกีฬาเฟสปิกเกมส์ที่กรุงเทพฯ แล้วหลังจากนั้นเราก็ติดทีมชาติอีก ซึ่งคราวนั้นก็คว้ามาได้ถึง 2 เหรียญทอง ดีใจมาก"

3

แม้จะมีร่างกายที่ไม่ปกติ แต่ทั้งประวัติและสายสุนีย์ต่างก็มีสิ่งหนึ่งที่คนปกติหลายคนไม่มี คือ 'ความมุมานะ' โดยสายสุนีย์กล่าวถึงการเดินทางไขว่คว้าโอกาสของตัวเองว่าต้องพบประสบการณ์เลวร้ายเพียงใด

"ช่วงที่เป็นนักกีฬาทีมชาติแล้ว ปัญหาที่เราพบมากคือเรื่องสถานที่ฝึกซ้อม ก่อนหน้านี้ แววเองต้องไปซ้อมอยู่ที่ใต้ถุนของสนามกีฬา ขณะที่นักกีฬาฟันดาบปกติได้ซ้อมอยู่ในยิมเนเซียมที่มีเครื่องปรับอากาศ มันเห็นได้ชัดว่าต่างกัน

"ที่เล่าเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะมาฟ้องร้องใคร แต่อยากให้ทุกคนได้ทราบว่านักกีฬาผู้พิการนั้นได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันมานานแล้ว ตัวเราเองไม่ได้อยากสบาย หากคนอื่นเขาลำบากเหมือนกันก็ไม่ว่ากัน แต่ชุดนักกีฬาฟันดาบนั้นทั้งหนาและก็ร้อนมาก การไปซ้อมในพื้นที่ใต้ถุนของสนามกีฬานั้น อาจจะไม่โดนแดด ทว่ามันอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาก ซึ่งตอนนี้เขาก็เริ่มให้เราเข้าไปซ้อมในซิมเนเซียมเหมือนกันแล้ว มันก็ดีขึ้นมาอีกหน่อย"

ขณะที่ประวัติเองนั้นเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายกว่า เมื่อต้องไปซ้อมในสนามเดียวกับนักกีฬากรีฑาทีมชาติ

"คือในสนามกีฬา เรามีการแบ่งลู่วิ่งกันไว้ สำหรับนักกีฬาวีลแชร์กับทีมกรีฑาที่ซ้อมในเวลาเดียวกัน ทั้งๆ ที่มีการแบ่งครึ่งกันแล้วว่า นักกีฬาวีลแชร์ให้ 4 ช่องวิ่ง ส่วนนักกีฬาปกติก็ใช้ไป 4 ช่องวิ่ง แต่มันก็ยังเกิดปัญหาขึ้นเมื่อเขาเบียดลู่มาวิ่งในช่องที่เรากำลังฝึกซ้อมอยู่ จนมีการกระทบกระทั่งกัน

"ส่วนตัวผมไม่ชอบมีปากเสียงกับใครอยู่แล้ว แต่ผมก็รู้สึกเจ็บปวดเหมือนกันที่วันนั้นผมถูกนักกีฬาทีมชาติพูดให้ได้ยินชัดเจนเลยว่า เกะกะจริงๆ คือเรามีการแบ่งช่องวิ่งกันแล้ว เขากลับมาเบียดเบียนช่องวิ่งที่เรากำลังซ้อมอยู่ แล้วเราพลาดเข็นรถไปโดนเขาขึ้นมา แล้วกลับพูดจาแบบนี้ผมเองก็รู้สึกน้อยใจเหมือนกัน ทำไมเขาถึงเป็นคนแบบนี้"

นอกจากปัญหาเรื่องสนามซ้อมแล้ว นักกีฬาผู้พิการยังต้องเครียดหนักกับเรื่องงบประมาณสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ โดยสายสุนีย์บอกเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังว่า

"ก่อนพาราลิมปิกที่ปักกิ่ง ตอนนั้นตัวเองยังมีคะแนนสะสมไม่ครบ คือจะไม่สามารถไปแข่งขันได้แน่ เพราะเราไม่มีงบประมาณสำหรับเดินทางไปแข่งขันเก็บคะแนนที่ต่างประเทศมากนัก สุดท้ายก็ต้องกัดฟันควักเงินตัวเองออกไปเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปแข่งที่เยอรมนี เพื่อคว้าโควตามาให้ได้ ซึ่งเราก็ทำได้จริงๆ แต่ใครจะมาสนใจช่วยเหลือเราในส่วนนี้บ้าง"

4

สำหรับหนึ่งคนที่คลุกคลีกับนักกีฬาผู้พิการมาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนรู้ซึ่งและเข้าใจอย่าง จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการทีมนักกีฬาไทยในพาราลิมปิก 2008 กล่าวเปิดใจถึงการแข่งขันในครั้งนี้ว่า

“เรามีอยู่ 3-4 อย่าง ซึ่งผมได้เรียนให้ รมต.กีฬา และปลัดกระทรวงฯ ทราบไปแล้ว คือเรื่องสถานที่ฝึกซ้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และท่านก็เห็นชอบแล้ว ที่ผ่านมาเราต้องไปแชร์กับนักกีฬาปกติ มันต้องแบ่งกันตลอดเวลา กว่าจะได้ซ้อมเต็มที่ก็ต้องรอเขาไปแข่งโอลิมปิก

“นักกีฬาของเราที่ไม่ได้ไปแข่งพาราลิมปิกครั้งที่ผ่านมากลับมีสถิติดีกว่าหลายคนที่เดินทางไปแข่งขันในต่างชาติ แต่ทำไมเขาไม่ได้ไปแข่งในการคัดเลือก เนื่องจากนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขันพาราลิมปิก เขาต้องได้รับคะแนนสะสมในรอบคัดเลือกที่ประเทศต่างๆ แต่พอเขาไม่มีทุนทรัพย์หรือสมาคมกีฬาฯ ไม่มีทุนส่งไปแข่งขันในต่างประเทศเพื่อสะสมคะแนน นักกีฬาเราก็จะขาดคะแนน ทำให้ไม่ได้ไปแข่งขัน

“ดังนั้น งบประมาณที่ภาครัฐจะมอบให้ต้องมองในระยะยาว คือ 4 ปี 6 ปี ไม่ใช่มองแค่ว่าจะเก็บตัวแล้ว 3 เดือน มีเงินมาให้ แล้วพอมีผลงานก็นำเงินมาอัดฉีด ผมคิดว่าไม่พอ ตอนนี้งบประมาณต้องออกแล้ว เพราะปลายปีจะมีปิงปอง จะมีฟันดาบที่นักกีฬาต้องไปเก็บคะแนนสะสม งบประมาณต้องมีรองรับ ถ้าเราส่งได้มากกว่านี้ โอกาสที่เราจะได้เหรียญเพิ่มขึ้นก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน”


นอกจากนี้ บิ๊กบอสใหญ่แห่งค่าย 'สิงห์' ยังกล่าวต่อไปด้วย

“เรื่องอุปกรณ์ก็สำคัญ อย่างวีลแชร์ระดับที่ใช้ในการแข่งขันเรซซิงหรือเล่นบาสเกตบอลก็ดี ตัวละเป็นแสนบาททั้งนั้น คันธนูก็เกือบแสน ผมคุยกับนักกีฬายิงธนูของเรา เขาบอกว่าวันสุดท้ายต้องไปยืมอุปกรณ์จากประเทศคู่แข่ง เพราะว่าของเรามันเสีย ขณะที่ทุกคนที่แข่งขันจะมีธนูคนละ 2 คัน คันละแสนนะครับ ผมคิดว่าภาครัฐต้องมองว่าจะทำอย่างไรจึงจะมาช่วยเหลือในส่วนนี้ได้บ้าง”

ขณะเดียวกันปัญหาในเรื่องของเงินอัดฉีดเหรียญรางวัลจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ที่มี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีดูแลอยู่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้กับนักกีฬาผู้พิการ เนื่องจากยอดเงินอัดฉีดระหว่างนักกีฬา 'โอลิมปิก' และ 'พาราลิมปิก' ต่างกันอย่างลิบลับ ซึ่งจุตินันท์ขอโอกาสพูดแทนเหล่าบรรดาลูกทีมว่า

“ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าใช้เกณฑ์อะไรมาเป็นตัววัดจำนวนเงินอัดฉีดสำหรับนักกีฬาพาราลิมปิกที่ได้เหรียญทอง 2 ล้านบาท แต่นักกีฬาโอลิมปิกที่ได้เหรียญทองรับ 10 ล้านบาท มันดูต่างกันมากเกินไปเมื่อเราจะบอกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน”

ก่อนจากกันในวันนั้น ประวัติเองยอมรับว่า 'เสธ.หนั่น' เคยรับปากว่าจะเพิ่มเงินอัดฉีดให้ก่อนเดินทางลุยพาราเกมส์ที่ปักกิ่ง ทว่ากลับทำไม่ได้อย่างที่เคยรับปากกันไว้

“ผมมีโอกาสเข้าพบกับท่านก่อนเดินทาง ตอนนั้นก็ได้เสนอปัญหาในส่วนของเงินอัดฉีด ท่านก็บอกว่าไม่ต้องห่วงรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเรื่องการกีฬาเต็มที่ และพร้อมจะเพิ่มเงินอัดฉีดขึ้นจากเดิม แต่พอแข่งเสร็จทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม นักกีฬาได้มาหลายเหรียญ กลับรับเงินอัดฉีด 5.5 ล้านบาท น้อยกว่าคนที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกเหรียญเดียวเกือบเท่าตัว มันก็น้อยใจเหมือนกัน หากทำไม่ได้พลตรีสนั่นก็ไม่ควรรับปากผมในวันนั้น เพราะทำให้ผมเสียความรู้สึกในวันนี้”

********************

เรื่อง เชษฐา บรรจงเกลี้ยง



สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทยกับเหรียญทองแดงปักกิ่งเกมส์

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการทีมนักกีฬาพาราลิมปิก 2008
กำลังโหลดความคิดเห็น