หลังจากที่ชาวกทม. ได้รวมตัวกันขึ้นในนามเครือข่ายต่างๆ เพื่อเรียกร้อง ต่อสู้อย่างเหนื่อยหนักและยาวนานมากว่า 11 ปี จนได้มาซึ่งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่เห็นตั้งตระหง่านอยู่ตรงสี่แยกปทุมวัน อันเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่น ศูนย์การค้า โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้เยาวชน คนหนุ่มสาว และประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัย ได้มีสถานที่พบปะสังสรรค์ ที่สร้างสรรค์ และสร้างเสริมภูมิปัญญา ที่ไม่ได้จำกัดและนัดกันไปแค่โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า และร้านบริโภคนิยมข้ามชาติอื่นๆ
นอกจากไป 'เดินห้าง' แล้วคนกรุงเทพฯ ก็จะได้ไป 'เดินหอศิลป์' กันอีกด้วย
แต่หลังจาก 11 ปีที่ต่อสู้เรียกร้องกันมา จนกระทั่งสร้างเสร็จ และได้หอศิลปฯ มาอย่างที่ต้องการแล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่าทางคณะผู้บริหารได้วางแผนการดำเนินงานของหอศิลป์ไว้อย่างไร ทำอะไรไปบ้างแล้ว มีปัญหาอะไรไหม คงไม่ใช่แค่เอาเงินภาษี 509 ล้านบาทมาสร้างตึกให้ไฮโซเดินเล่น หรือทำตัวเป็นหอคอยงาช้าง และย่างก้าวที่จะก้าวย่างต่อไปในอนาคต... ทั้งหมดที่หลายคนอยากรู้ 'ปริทรรศน์' มีนัดเปิดใจคุยกับ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
*ทางคณะผู้บริหารได้วางแผนการดำเนินงานของหอศิลป์ไว้อย่างไรบ้าง
หอศิลป์เราวางมาตั้งแต่สิบเอ็ดปี พอเปิดปุ๊บ จะเห็นได้เลยว่าความสะดวกมาก่อนเลย จัดภาพยนตร์หนังสั้นก็มีคนมากันเต็ม เพราะความสะดวก รถจะติดที่ไหน นั่งบีทีเอสมาหอศิลป์ได้ และเราก็จะมีร้านอาหารมีร้านค้าต่างๆ มองอย่างนี้ก็ได้ คือเรามีศูนย์การค้าเยอะมากแล้วในกรุงเทพฯ แต่เรากำลังมองกลับกันว่า เราจะเอาศูนย์การค้ามาทำเป็นหอศิลป์ และเรามองว่าเนื้อหาของศิลปะที่เป็นอยู่ในขณะนี้มันไม่ได้อยู่แค่เรื่องของทัศนศิลป์เท่านั้น เราถึงได้มีโรงละครเล็กๆ 222 ที่นั่ง แล้วก็มีห้องสตูดิโอ ซึ่งจะทำทั้งละคร ดนตรี ภาพยนตร์ แล้วก็มีเรื่องของห้องสมุด หมายความว่าคนที่รักดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ละคร และการสร้างสรรค์ในเรื่องของการออกแบบ ก็มีสิทธิมีกิจกรรมมารวมตัวกันในนี้ได้หมด เราจะไม่เป็นหอคอยงาช้าง เราต้องการเป็นที่ที่คนมานัดพบกัน คนที่สร้างสรรค์ คนทั่วไปถึงแม้ว่าไม่เคยเข้าหอศิลป์มาก่อน ตรงนี้สะดวกมากแล้ว เราเปิดตั้งแต่สิบโมงเช้าเหมือนห้าง เข้ามาก็มีอาหารการกิน มีร้านค้า ใช้เวลาได้ทั้งวัน ดูงานศิลปะ กินข้าวกลางวัน แล้วดูหนังดูละคร เข้าห้องสมุด เสร็จแล้วดูดนตรี กว่าจะออกจากหอศิลป์ก็สามทุ่มซึ่งเป็นเวลาปิด ผมคิดว่ามันเป็นพื้นที่เป็นทางเลือกที่ดี
*อยู่ย่านกลางเมืองที่การเดินทางสะดวกสบาย และมีผู้คนสัญจรผ่านไปมามากมายอย่างนี้ แล้วหอศิลป์จะมีความน่าสนใจ หรือมีดีอะไรที่จะดึงดูดให้คนเดินเข้ามาได้
ผมคิดว่าภายในหกเดือนทุกอย่างก็จะเข้าที่พร้อมกัน ถ้าเรามีกิจกรรมเยอะขนาดนี้ก็คิดว่าสำหรับงานศิลปะที่มีคนเป็นพันเข้ามาแต่ละวัน ยังไงมันก็จะเป็นหน้าต่างแห่งความสนใจทางด้านการสร้างสรรค์ ทางด้านศิลปะ ทางด้านวัฒนธรรม และการนันทนาการ แล้วเราก็มีห้องอเนกประสงค์ข้างล่าง ใครอยากแต่งงานก็มาแต่งที่นี่ได้ แล้วก็มีลานข้างหน้าอีก เล่น หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ลานข้างหน้า เพราะฉะนั้นมันจะเป็นที่ชุมนุม ที่นัดพบสังสรรค์สร้างสรรค์กันได้
*คุณคิดว่าจะสามารถดึงดูดบรรดาวัยรุ่นที่รวมกลุ่มและเดินกันอยู่แถวสยามให้มารวมกันแถวๆ หอศิลป์ได้ไหม
ผมคิดว่าไม่น่าจะยากนะ และถ้าถามว่าศิลปะของเราต้องปีนบันไดดูเสมอหรือไม่ ก็คงจะต้องมีการจูนอินกันว่า ศิลปะสำหรับคนที่ไม่เคยดูแล้ว หรือคนที่ชอบความสนุกสนาน เราก็มีศิลปะแขนงที่เรียกว่า อินเทอร์แรกทีฟอาร์ต (งานศิลปะที่ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในตัวชิ้นงาน) ให้ดูกันก่อน แล้วค่อยๆ ปีนกระไดหน่อย ถามว่าทำไมเราต้องมาสร้างหอศิลป์ตรงพื้นที่แห่งนี้ ก็เพราะมันอยู่ใกล้เยาวชน และการเรียนรู้ซึมซาบผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ตั้งแต่ภาพยนตร์จนถึงละครจนถึงศิลปะ ผมคิดว่ามันมีความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมืองเรา ให้วัยรุ่น เด็ก และเยาวชนทั้งหลายได้สัมผัส
*ถ้าเยาวชนคนรุ่นใหม่อยากมาใช้พื้นที่หอศิลป์เพื่อเป็นเวทีแสดงออกหรือสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ทางหอศิลป์จะมีพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามาใช้ไหม หรือว่ามีโครงการอะไรที่จะให้เด็กวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง
นี่แหละครับ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เด็กเขาต้องการพื้นที่ ซึ่งผมว่าหอศิลป์นี้เกิดมาทันเวลาเป๊ะเลย นี่คือจุดประสงค์หลักเลยคือ การเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน อย่างที่บอกว่าเป็นสถานที่นัดพบ การแสดงออก แลกเปลี่ยนความคิดในสื่อต่างๆ ในเรื่องของศิลปะ ความคิดต่างๆ ต้องเอามาแชร์กัน นอกจากจะเป็นเรื่องของศิลปินรุ่นใหญ่แล้ว ผมคิดว่าในเรื่องของนักศึกษาอาจแสดงงานที่สดๆ ใหม่ๆ เป็นเรื่องของความคิด ผมคิดว่าต้องเปิดโอกาสกันแล้วล่ะ มันถึงเวลาแล้ว ถามว่าศิลปะมีไว้เพื่ออะไรในสังคม นอกจากจะทำให้คนรู้จักคิดเป็นแล้ว บางทีมันเป็นสื่อสะท้อนชีวิตด้วย
*นอกจากศิลปินรุ่นใหญ่ที่ดังๆ กันแล้ว หอศิลป์จะให้ความสำคัญกับศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากน้อยแค่ไหน
มันต้องมีแน่นอน หอศิลป์นี้ถูกออกแบบไว้เหมือนเค้กหลายๆ ชั้น มันก็มีวาระของหลายๆ รุ่น ถามว่าคุณมีอะไรที่จะพูดไหม ที่จะสื่อต่อคนอื่น คุณก็มีสิทธิสิ มันไม่ได้อยู่ที่วัย ไม่ได้อยู่ที่ความชำนาญ แต่มันอยู่ที่เนื้อหา แล้วก็เป็นการเปิดโอกาสให้ด้วย ผมว่าหนึ่ง - ในเรื่องของการแสดงออกต้องมีสิทธิ สอง - ในเรื่องของความหลากหลายจะต้องมี อย่างชุมชนอื่นล่ะ สังคมอื่นล่ะ ต่างจังหวัดที่มีวัฒนธรรมต่างจากกรุงเทพฯ ล่ะ จะมีการนำเสนอกันไหม
*แล้วจะมีไหม
ต้องมีการแลกเปลี่ยนสิ เชียงใหม่,ขอนแก่นคิดยังไง กรุงเทพฯ คิดยังไง ผมคิดว่าก็ต้องน่าแลกเปลี่ยนกันแล้ว ถ้าอย่างนี้เราก็ต้องมุ่งไปที่การมีส่วนร่วมในการที่จะมาสนทนา มาคุยกัน มีการเสวนาว่าศิลปะ วัฒนธรรมของเราสมัยนี้มันเป็นอย่างไร ถ้าเรามีส่วนร่วมในการที่จะสนทนา ร่วมสร้าง เราจะได้เรียกมันว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยได้เต็มปากเต็มคำหน่อย เพราะมันเกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรง น้ำลาย และน้ำมือของพวกเรากันเองในสังคมทั้งหมด
*หอศิลป์จะไม่ใช่สถานที่ที่ทำกันเองดูกันเองต่อไปอีกแล้วใช่ไหม
ใช่ครับ หอศิลป์จะเป็นที่นัดพบของคนทำและคนดู คนทำหลายๆ สาขาที่จะมาช่วยกันทำ มาช่วยกันเป็นเจ้าของ มาช่วยกันนิยามว่าศิลปวัฒนธรรมของเราในปัจจุบันควรจะเป็นยังไง จะไปในทิศทางไหน
*อย่างคนไทยเราพอ ได้ยินคำว่าหอศิลป์ หรือได้ยินคำว่าศิลปะ หลายคนมักคิดว่าตัวเองไม่มีความรู้ ไม่กล้าเข้าไป แล้วทางหอศิลป์มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัว และทำให้คนไม่กลัวที่จะเดินเข้ามา แบบว่า... รู้สึกง่ายๆ สบายๆ เหมือนเดินเข้าไปในโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า หรือร้านรวงอื่นๆ
อันนี้เป็นการท้าทายมากเลยครับ อย่างที่เรากำลังจัดแสดงนิทรรศการอยู่ตอนนี้ (นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย 'รอยยิ้มสยาม : ศิลปะ + ศรัทธา + การเมือง + ความรัก') แล้วเป็นอะไรที่เลิศมากเลย แต่ 95 เปอร์เซ็นต์ของคนดูไม่รู้เรื่อง ผมคิดว่าท้าทายนะ ว่าจะทำยังไงให้ลดช่องว่างระยะห่างที่ว่านี้ สิ่งแรกคือสถานที่ สะดวกแล้ว สอง - มีอาหารการกิน มีชอปแล้ว ทำให้ไม่มีความแปลกแยกแล้ว สาม - ในเรื่องของเนื้อหาจะต้องมีอินเทอร์แรกทีฟบ้าง สี่ - มีความท้าทาย มีความแปลกพอที่อาจจะบอกว่าไม่รู้เรื่อง แต่ว่า เออ! มันดูแล้วน่าสนุก ซึ่งศิลปะร่วมสมัยสมัยนี้มันก็มีอะไรที่ไม่ใช่ว่าเป็นแค่รูปเขียนอย่างเดียว แต่มีงานวิดีโอ หรืองานอะไรสารพัด
*ไม่ใช่มีแต่รูปแขวนอยู่ข้างฝาเพียงอย่างเดียว
ใช่ครับ จะมีการแสดง มีแฟชั่น มีเรื่องของการดีไซน์ แล้วก็มาร่วมสนุกด้วย
*ตั้งแต่หอศิลป์เปิดทำการให้ประชาชนได้เข้ามาชมนิทรรศการ ร่วมกิจกรรม และสัมผัสบรรยากาศภายในหอศิลป์นั้น หลายคนให้ความเห็นว่าหลายอย่างในหอศิลป์ยังดูไม่พร้อม ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
มันจะพร้อมได้ยังไงครับ ในเมื่อพอหอศิลป์สร้างเสร็จก็ไม่ได้มีการเตรียมงานมาก่อน ซึ่งหอศิลป์แบบนี้มันต้องมีการเตรียมกันมาเป็นปีสองปี แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นการจูนอิน ร่วมกันระหว่างระบบราชการกับระบบเอกชน และต้องยอมรับว่ามันไม่ได้ราบรื่นมาตลอด และความเข้าใจมันก็ช้าหน่อย ก็เลยสะท้อนมาให้เห็นถึงความไม่พร้อม เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คือเราต้องเข้าใจระบบราชการที่เราเกิดมาในระบบราชการนี้ มันก็มีปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีขึ้น มันก็ดีขึ้นทุกวัน การสร้างความเข้าใจกับราชการว่าที่จริงแล้วการส่งเสริมศิลปะ การส่งเสริมวัฒนธรรม หรือการให้เมืองเรามีสิ่งเหล่านี้มันดี และเราก็ต้องทำอย่างนี้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจระบบราชการว่ามีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย เราจะทำกับมันยังไง เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอะไรที่ต้องมีความช้าอยู่แน่นอน แต่เราจะพยายามทำให้สมบูรณ์ได้ไหม ก็ต้องร่วมมือกัน
*อาจมีความคาดหวัง หรือมีการตั้งคำถามว่าคนที่เข้ามาดูแลหอศิลป์จะสามารถทำหน้าที่ให้เป็นที่พอใจของทุกคนทุกฝ่ายที่เคยร่วมต่อสู้เรียกร้องกันมาได้ไหม และในขณะเดียวกันหอศิลป์ก็ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ คุณรู้สึกหนักใจ หรือมีความกดดันกับการทำหน้าที่ตรงนี้มากไหม
ตอนนี้ผมเป็นรักษาการเท่านั้น แล้วก็เป็นแค่ตัวแทนของคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ช่วยกันทำมาในเรื่องนี้ ก็คงจะมีการคัดเลือกสรรหากันเข้ามา ตอนนี้ก็บอกว่าตรึงสถานการณ์ไว้ก่อน เพราะมันต้องเปิด แต่พอตั้งตัวได้แล้วก็ต้องมาดูกันว่า ใครที่จะมาทำที่นี่ ใครหลายๆ คนที่จะต้องมาช่วยกันทำ ผมคิดว่าการมีส่วนร่วม การเปิดกว้าง ทุกระดับจะต้องมีความสำคัญ มันมีประเด็นของมันเยอะแยะมากมาย ไอ้ความกดดันนี้ก็ช่างมันเถอะ ตอนนี้มีหลายเรื่องมากที่ต้องทำพร้อมๆ กัน ก็ทำทันบ้าง ไม่ทันบ้าง ผมคิดว่าทางฝ่ายราชการก็ต้องช่วย ทางฝ่ายศิลปินที่รณรงค์กันมาก็ต้องช่วยดูเหมือนกันว่าเปิดมาแล้ว มันยังไม่พร้อมหมด ถามว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ก็มันยังไม่พร้อมครับ ก็ต้องใจเย็นๆ เราก็ต้องทำไป แก้ปัญหาไปทีละเปราะๆ มันเป็นของใหม่ของเมืองไทยครับ
*หลังจากตั้งไข่ ลุกขึ้นยืนได้แข็งแรงแล้ว หอศิลป์จะเดินไปในทิศทางไหน
พอตั้งไข่เสร็จแล้ว น่าจะมีกิจกรรมครบ มีร้านค้า มีร้านอาหาร มีทุกวัน เราปิดวันจันทร์ก็จริง แต่วันอังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงสามทุ่ม เราสามารถที่จะมีนิทรรศการได้ไหม เดือนหนึ่งประมาณหกงานที่ซ้อนกันอยู่ แต่ละอาทิตย์เรามีคอนเสิร์ต มีดนตรีประมาณสามรายการ มีภาพยนตร์ฉายต่อกันไปประมาณโหลหนึ่งได้ไหม แล้วก็มีละครมาแสดงทุกเดือนได้ไหม มีการสนทนา มีการอ่านบทกวี มีการถกกันในเรื่องของวรรณกรรม แล้วเราอาจจะเริ่มนิทรรศการสัญจร อาจจะเริ่มสัญจรในเรื่องของกวี นักเขียนไปต่างจังหวัด จากต่างจังหวัดก็กลับมาหาที่นี่ หมุนเวียนกันไป แล้วเราก็เข้าไปในโรงเรียน หรือโรงเรียนต่าง ๆ มาแสดงที่เรา มันก็จะกระหึ่มไปด้วยกิจกรรม หลังจากตั้งไข่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น
*เวลาเรามองมิวเซียมเมืองนอก เราอาจมองแบบโมริอาร์ตมิวเซียม ซึ่งเป็นมิวเซียมที่อาร์ตมากๆ แต่อะไรที่เป็นจารีตประเพณีอาจจะน้อยหน่อย แล้วหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจะเป็นแบบไหน
คงจะเป็นแบบนั้นล่ะครับ คืออาร์ตมากๆ ก็ต้องมีส่วนของเขา มันเป็นการท้าทาย ต้องปีนกระไดกันขั้นสุดท้ายให้ดูกันสุดๆ ไปเลย จะมันส์ หรือจะแสนน่าเบื่อก็ต้องมาคิดกัน และในขณะเดียวกันก็ต้องมองว่าคนดูโดยมากแล้วมีพื้นฐานในเรื่องของวัฒนธรรมของตัวเอง แล้วเราจะต่อยอดอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้เลย ต้องมีทั้งสองแบบ แล้วมีให้เป็นประโยชน์ มีแล้วให้สร้างสรรค์ แล้วก็อย่าทำตัวน่าเบื่อสิครับ คือดูได้อย่างเดียว ดูได้แต่ร่วมสมัยจ๊ะจ๋า แต่ไม่เปิดใจให้กับสิ่งที่น่าสนใจที่มาจากของดั้งเดิม ยกตัวอย่างงานของคุณวสันต์ (สิทธิเขตต์) ซึ่งเป็นศิลปินร่วมสมัยแนวหน้ามาก แต่งานของเขาอาจจะเกี่ยวกับเรื่องของนรก เรื่องของไตรภูมิ เห็นไหมครับ ว่าบางทีมันแยกกันไม่ออกเลย เพราะว่าครึ่งหนึ่งที่เราจะเข้าใจศิลปะได้ ครึ่งหนึ่งมันอยู่ในใจเราแล้ว ที่เราได้เรียนรู้มา แล้วเรื่องอะไรล่ะที่เราจะไม่เอาวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ในใจออกมาใช้
*หรือแทนที่จะมีภาพลักษณ์แบบโมเดิร์น แต่โครงสร้างอาคารนี้ และพื้นที่ทั้งหมดจะถูกใช้ทุกส่วนเลย คือ โมเดิร์นก็มี เชิงจารีตประเพณีก็มี หรือแบบขายของเลยก็มี พอจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม
จับฉ่ายไหมครับ ฟังดูจับฉ่ายนะ แต่ต้องทำให้ดีที่สุดที่จะไม่ให้จับฉ่าย ต้องมีการแบ่งแยกพื้นที่กัน มันมีมุมเยอะ แต่ว่าผลดีก็คือมันจะเข้าไปถึงประชาชนทั่วไป แล้วก็มาเลือกกันเองว่าอยากจะดูแบบไหน
*แต่จะให้ดูเท่แบบเทตโมเดิร์นที่ลอนดอน หรือแบบจอร์จปอมปิดู มันอาจจะไม่มีภาพลักษณ์แบบนั้นใช่ไหม
มีครับ ในอนาคต เพราะว่าถ้าหอศิลป์อย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว ผมคิดว่าในอนาคตผลงานก็จะเท่ขึ้นทุกวันๆ แต่ตอนนี้มันก็เท่แล้วนะ 'รอยยิ้มสยาม' เป็นงานที่เท่มาก เพราะฉะนั้นมันจะมีคิวงานเท่ๆ เข้ามาอีกเยอะเลย เพียงแต่ว่าในเมืองไทยเรายังไม่มีโอกาส ยังไม่มีพื้นที่แบบนี้ที่จะแสดง อย่างปอมปิดูเซ็นเตอร์ ที่จริงแล้วมันเหมือน people palace (ทำเนียบประชาชน) เป็นการผสมผสานตั้งแต่ห้องสมุดไปจนถึงงานศิลปะทัศนศิลป์ และแม้แต่ปอมปิดูเซ็นเตอร์เองตอนนี้ก็เพิ่มในเรื่องของการแสดงแล้ว สมัยก่อนหอศิลป์พีระศรีมีครบทุกอย่าง เป็นการทำงานผสมผสาน เป็นการเชื่อมกันระหว่างผลงานต่างๆ เพราะคนไปดูละครแล้วก็ได้ดูงานศิลปะด้วย ที่ยกตัวอย่างนี้เพราะหอศิลป์กทม.แปลนไว้ตั้งแต่สิบเอ็ดปีแล้ว ผมคิดว่ามันจะเอื้ออำนวยความสะดวก หรือทำให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในครรลองของสังคม
*แล้วถ้ามีเอกชนรายใดสนใจพื้นที่ ต้องการมาถ่ายรูปไปลงหนังสือ หรือมาถ่ายแฟชั่นกับโครงสร้างตึกหอศิลป์ ตอนนี้สามารถทำได้ไหม
ตอนนี้ยังไม่พร้อม เพราะมอบตึกก็ยังไม่ได้มอบมาจากทางการ เพราะฉะนั้นเราต้องขอเบรกไว้ก่อน ตอนนี้หอศิลป์ยังอยู่ในขั้นทดลองอยู่ การจัดระบบต่างๆ ยังไม่ค่อยพร้อม แต่อีกประมาณสองสามเดือนที่มีการมอบตึกแล้ว ก็ต้องมีการทำงานอย่างเต็มที่หน่อย
*สรุปแล้วอีกประมาณหกเดือนทุกอย่างในหอศิลป์ก็จะสมบูรณ์
อีกประมาณสามเดือนหกเดือน มันก็ค่อยๆ พร้อมกันไปเรื่อยๆ แต่เวลานี้น่าจะเข้ามาดูนิทรรศการรอยยิ้มสยามนะครับ เพราะนานๆ จะมีนิทรรศการสมบูรณ์แบบอย่างนี้ ใช้เงินไปตั้ง 20 ล้าน ในการที่จะเอาผลงานมาจากที่ต่างๆ อย่างแมงมุมยักษ์ก็เอามาจากนิวยอร์ก และแม้แต่จะมองในเรื่องของสถาปัตยกรรมก็น่าทึ่ง เข้ามาเดินเล่นก็คุ้มแล้วครับ
*มีหอศิลป์ ดีกว่าไม่มีใช่ไหม
มี, แล้วก็เป็นหน้าเป็นตาแก่ชาวกรุง เป็นหน้าตาแบบสุดๆ ว่าเราแซงหน้าหลายประเทศไปเลย หอขนาดนี้มันไม่ใช่เล็กๆ นะ มันเบ้อเร่อเลย ตอนนี้เราแซงหน้าไปไม่รู้กี่ประเทศแล้ว
*สรุปแล้วหอศิลป์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยใช่ไหม
มันเป็นเรื่องของความจำเป็นเพื่อจะสร้างความสมบูรณ์ในเรื่องของการพัฒนาสังคม มันไม่ใช่สิ่งหรูหรา แต่มันเป็นสิ่งจำเป็น และมันก็ไม่ใช่ว่าแพง เงิน 509 ล้านที่สร้างสถาปัตยกรรมนี้ขึ้นมา สองหมื่นห้าพันตารางเมตร สิบสองชั้น ใจกลางเมือง เดินทางก็สะดวก ผมว่ามันแสนที่จะคุ้ม
************
เรื่อง : สุรชัย พิงชัยภูมิ