เชื่อหรือไม่ว่า? ‘การซ้อนแก้ว’ ก็จัดเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง
อย่าเพิ่งออกอาการงงบนใบหน้า ถึงขั้นลามไปเป็นปมขมวดกันที่คิ้ว
แก้ว 12 ใบ บวกด้วยวิธีการวางสลับซ้อนทับที่ท้าทายกับเวลาชนิดนี้
เป็นกีฬาจากแดนมะกัน ที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่า ‘Sport Stacking’
...
หลังจากนั่งงงอยู่นานสองนาน หน้าแก้วทั้ง 12 ใบและวิธีการเล่นกีฬาท้าทายประสาทสัมผัสชนิดนี้
ทนงศักดิ์ ประดิษฐ์ นายกสมาคมกีฬาสแต็คแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า WSSA Thailand คงเห็นอาการของเราที่ดูอึดอัดใจ จึงอาสาพาทัวร์โลกของกีฬาสแต็คด้วยตัวเอง
ยังไม่ทันพูดพร่ำทำเพลง เราก็เริ่มบรรเลงคำถามใส่...
กีฬาสแต็คคืออะไร?
กีฬาสแต็ค (Sport Stacking) เป็นกีฬาเรียงแก้วพลาสติก ซึ่งแก้วที่เรียงจะมีทั้งหมด 12 ใบ ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับกีฬาชนิดนี้โดยเฉพาะ กีฬาสแต็คจะมีวิธีการเล่นทั้งแบบ Stack Up คือการเรียงขึ้น และการ Stack Down คือการเรียงลง โดยผู้ที่เล่นกีฬาสแต็คนี้เราจะมีชื่อเรียกกันว่า ‘Stacker’
เวลาทำการแข่งขันจะใช้การตัดสินโดยดูจากกระบวนการเล่นที่ถูกต้อง และดูจากการทำเวลาในการเล่นที่เร็วที่สุด ใครทำได้ คนนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ
ต้นกำเนิดของกีฬาสแต็คมาจากไหน?
กีฬาชนิดนี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มันเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้วตั้งแต่ปีค.ศ.1980 ตอนนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในหลายๆ ประเทศแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และโคลัมเบีย อีกทั้งมันยังถูกบรรจุให้เป็น Physical Education Program วิชาพลศึกษาของหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนด้วย
และในตอนนี้กีฬาสแต็คเริ่มมีคอมมูนิตี้เกิดขึ้นในหลายๆ แห่งแล้วเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้มี สมาคมกีฬาสแต็คโลก หรือ WSSA (World Sport Stacking Association) เป็นผู้ดูแล
อุปกรณ์ที่ใช้เล่นต้องมีอะไรบ้าง?
หลักๆ จะมีอยู่ 3 อย่างคือ แก้วพลาสติก 12 ใบ Stack Mat ซึ่งเป็นแป้นที่ใช้รองแก้ว และอุปกรณ์ตัวสุดท้ายคือ Timer เป็นตัวนาฬิกาจับเวลาที่เป็นระบบสัมผัสซึ่งมันจะอยู่คู่กับตัว Stack Mat อุปกรณ์เซตนี้จะไว้สำหรับผู้เล่นที่เน้นการฝึกฝน ทำเวลาด้วยตัวเอง
แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีการแข่งขัน เราจะใช้เป็นดิสเพสคือ Timer ที่ตัวใหญ่ๆ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เล่นทั้งหมดนี้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน แก้วพลาสติกต้องผลิตจากพลาสติกชนิดพิเศษ มีการเจาะรู คือมันจะเป็นมาตรฐานที่กำหนดไว้เหมือนกันทั่วโลก
วิธีการเล่นเป็นยังไง?
วิธีการเล่นหลักๆ จะมี 3 รูปแบบคือ 3-3-3, 3-6-3 และแบบ Cycle ที่จะเป็นการเล่นในแบบหลักๆ แต่นอกจากการเรียงแก้วพลาสติกแล้ว มันยังสามารถนำไปประยุกต์เล่นกับกิจกรรมอื่นๆได้ด้วย
ช่วยอธิบายรูปแบบการเล่นให้ฟังหน่อย?
แบบ 3-3-3 คือการใช้แก้วสามใบในการเรียง เรียงซ้อนกันแบบ 3 ใบ 3 ใบ และ 3 ใบ ส่วนแบบ 3-6-3 ก็คือจะเรียงซ้อนแบบ 3 ใบ 6 ใบและ3 ใบ คือจะเป็นการเล่นแบบเรียงซ้อนขึ้นซ้อนลง
นอกจากนั้นจะมีการจัดเป็นทีม คืออาจจะให้ผู้เล่น เล่นแบบ 3-3-3 เล่น 3-6-3 ต่อกัน เล่นกันเป็นทีม ซึ่ง การแข่งขันจะมีทั้งการแข่งขันประเภทเดี่ยว เพื่อเก็บสถิติ และการแข่งขันประเภททีม
ตัดสินแพ้-ชนะ ดูจากอะไร?
ดูจากการทำเวลาในการเล่น แต่ถ้าแข่งแบบทีมจะดูจากการทำฟาวล์ คือกรรมการจะตัดพ้อยต์จากการเล่นผิดเป็นหลัก เพื่อหักลบคะแนนออกไป
แต่ถ้าเป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยวจะต้องเล่นให้ถูกต้องและรวดเร็ว โดยการแข่งขันทั้งสองประเภทนั้น จะมีคณะกรรมการคอยนั่งดูอยู่ด้านหน้าโต๊ะของผู้เล่น คอยยกใบแดงใบเหลืองว่าเล่นผิดขั้นตอนมั้ย? ทำแก้วล้มมั้ย?
สรุปให้ฟังง่ายๆ ก็คือดูจากความถูกต้องของกระบวนการเรียงแก้วและความรวดเร็วเป็นหลัก
แล้วคิดยังไง ถึงได้ลองเอากีฬาชนิดนี้เข้ามาเผยแพร่ในบ้านเรา?
คือเรามองว่ามันเป็นกิจกรรมที่สนุกและน่าสนใจ เล่นได้ไม่ยาก เล่นได้ทุกเพศทุกวัย อีกอย่างคือเดี๋ยวนี้เด็กไทยเป็นโรคสมาธิสั้นกันเยอะมาก เด็กติดเกมก็มีมาก สิ่งเหล่านี้มันทำให้เขาเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เยอะ แต่ถ้าได้ปรับเปลี่ยนหันมาเล่นกีฬาสแต็คมากขึ้น ก็เชื่อว่าเด็กจะหมกมุ่นกับสิ่งไร้ประโยชน์กันน้อยลง
ตอนนี้ในบ้านเราอาจเรียกว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น คือเพิ่งมีการจัดตั้ง สมาคมกีฬาสแต็คแห่งประเทศไทย (World Sport Stacking Associations Thailand) ยังอยู่ในช่วงดำเนินการ ซึ่งตอนนี้ก็จะมีสมาคมฯจากทางประเทศสิงคโปร์เข้ามาช่วยเทรนด์ให้ ช่วยประสานกับสมาคมฯหลักของทางอเมริกาให้อีกที ตอนนี้เรายังอยู่ในขั้นวางแผนงานกัน ต่อไปเราจะทำให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักให้มากขึ้น
แล้วที่เคยไปจัดงานที่อุทยานแห่งการเรียนรู้ (TK PARK) ตอนนั้นผลตอบรับเป็นยังไง?
ดีมากๆ หลายคนสนใจ คือตอนนั้นเราเน้นไปที่การเผยแพร่กีฬานี้ให้เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย อีกทั้งเพื่อเพื่อดูฟีดแบ็กของทางโรงเรียน และทางกระทรวงต่างๆ ว่าเขามองกีฬาสแต็คยังไง
เด็กที่ให้ความสนใจ เป็นเด็กในช่วงอายุไหนบ้าง?
เท่าที่ดูตอนนี้เด็กที่สนใจจะเป็นกลุ่มเด็กที่อายุ 6 ขวบเป็นต้นไป จะจัดอยู่ในช่วงประถมถึงมัธยมต้น แต่จริงๆ แล้วเคยพบเด็กที่อายุ 17-18 ปีเล่น คือเขาได้รู้จักกีฬานี้จากเว็บไซต์ของทางสมาคมฯเรา เขาก็เอาไปเล่นเผยแพร่ที่โรงเรียนของเขาต่อ ได้รู้อย่างนี้เราก็ดีใจที่ตอนนี้เริ่มมีคอมมูนิตี้ในเว็บไซต์ขึ้นบ้างแล้ว
ถ้ามีบางคนถามขึ้นมาว่า เล่นกีฬาสแต็คแล้วได้อะไร?
ถ้าในแง่ทาง Physical มันช่วยพัฒนาร่างกาย 2 ซีกพร้อมกับสมองทั้ง 2 ด้านไปด้วยกัน มันจะใช้การประสานงานกันระหว่างประสาทสัมผัสตากับมือ อีกทั้งการเล่นกีฬาชนิดนี้มันต้องใช้มือซ้ายและมือขวาสลับกัน เพราะถ้าเล่นโดยใช้มือแค่ข้างเดียว มันจะทำให้เล่นได้ช้าลง
นอกจากนั้นมันยังช่วยสอนการใช้ความคิดของผู้เล่นให้มีตรรกะมากขึ้น เพราะการเล่นกีฬาสแต็คมันจะต้องเล่นให้ถูกต้องตามขั้นตอน ไม่อย่างนั้นก็จะฟาวล์ไปเลย กีฬานี้จะช่วยให้ความคิดของผู้เล่นเป็นระบบมากขึ้น ทำอะไรตรงตามขั้นตอนมากขึ้น
อันที่จริงมันมีผลการวิจัยโดยความร่วมมือจาก 4 สถาบันได้แก่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล ลาครอส ประเทศสหรัฐอเมริกา วิทยาลัยแห่งรัฐเมสา ประเทศสหรัฐอเมริกา กองทุนลาจอลล่า เพื่อกีฬาและกระดูกสันหลัง รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยไซราคัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เคยทำวิจัยถึงประโยชน์ของกีฬาสแต็คแล้ว
แต่เพื่อความมั่นใจ เราจึงทำเรื่องไปยัง นายแพทย์ยุทธนา ภาระนันท์ ซึ่งเป็นคุณหมอที่ดูแลเรื่องจิตวิทยาครอบครัวให้นำกีฬาชนิดนี้ไปวิจัยเพื่อรับรองจากแพทย์ของไทยอีกครั้ง
นอกจากนั้น ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการประสานไปยัง สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ คือเราพยายามผลักดันให้มันถูกบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาพละศึกษาตามโรงเรียน เพราะตอนนี้ในโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนอินเตอร์หลายๆ ที่ก็มีกีฬานี้บรรจุอยู่แล้ว แต่มันยังเป็นในลักษณะของคลับ หรือชมรมอยู่
เพราะกีฬานี้มันยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก ทำให้ตัวบุคลากรในส่วนนี้ยังมีน้อยอยู่ ทางสมาคมฯของเราก็เพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน แต่ก็วางแผนไว้ว่าจะจัดหาบุคลากรที่จะมาฝึกสอนให้สำหรับผู้ที่สนใจในเร็ววัน
ทางสมาคมฯ มีโครงการจะจัดกิจกรรมอะไรบ้างต่อจากนี้?
เร็วๆ นี้จะมีการจัดแข่งขันในโครงการ Thailand Sport Stacking Championship 2008 เพื่อค้นหาเด็กไทยเข้าแข่งขันระดับเอเชียในรายการ Asian Sport Stacking Championship ที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
โดยในงานนี้ทางสมาคมฯ จะเปิดโอกาสโดยการจัดกิจกรรมให้เด็กทุกคนที่สนใจในกีฬาสแต็คได้มีส่วนร่วมฟรี ไม่มีข้อจำกัดอะไร เด็กที่สนใจสามารถมาฝึก มาเล่นได้เลย
ในเรื่องการคัดสรรตัวแทนครั้งนี้ เราจะทำกันเป็นทัวร์นาเมนต์เลย เริ่มจากในวันที่ 3-7 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ เราจะไปจัดแข่งขันในงาน Kids of the World 2008 ที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งงานนี้เป็นงานการศึกษาเกี่ยวกับเด็ก เราจึงไปขอใช้พื้นที่ตรงนั้นในการเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ให้แก่เด็กด้วย
ต่อจากนั้นก็จะมีการเดินสายไปจัดกิจกรรมในห้างเดอะมอลล์อีกหลายๆ สาขา เพื่อค้นหาตัวแทนเยาวชนที่จะไปร่วมแข่งขันระดับเอเชียครั้งที่จะถึงนี้
โดยเราจะค้นหาตัวแทนจากที่ต่างๆ มาจำนวน 20 คน จากนั้นเราจะทำการคัดเลือกรอบสุดท้ายกันที่ห้างสยามพารากอนในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ต่อจากนั้นจะมีการเก็บตัวเพื่อให้ตัวแทนที่จะไปร่วมแข่งขันได้ฝึกซ้อมและพัฒนาฝีมือก่อนออกไปประลองเวทีในระดับเอเชียต่อไป
แต่ก่อนหน้าที่เราจะพาเด็กไปทัวร์สิงคโปร์นั้น เราจะจัดกิจกรรมอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือรายการ Stack Up ที่จะเชิญเหล่านัก Stacker จากทั่วโลกมาร่วมสแต็คพร้อมๆ กัน โดยงานนี้ไม่ได้ดูว่าใครเร็วกว่าใคร แต่จะดูที่ว่าประเทศไหนพาคนมาสแต็คได้เยอะกว่ากัน และเราจะจัดเก็บเป็นสถิติไว้ว่าปีนี้มีนัก Stacker เข้าร่วมงานทั้งหมดกี่คน ซึ่งงานนี้จะจัดในวันที่ 13 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
การคัดตัวเข้าแข่งขัน มีการกำหนดโควต้าจำนวนคนยังไง?
มันแล้วแต่ว่าในแต่ละประเทศจะจัดส่งไปกี่ทีม เพราะส่วนใหญ่จะส่งกันไปเป็นทีม คือ 1 ทีมจะมี 4 คนและอาจมีตัวสำรองอีก 1 คนรวมเป็น 5 คนก็ได้ โดยที่ผู้เล่นแต่ละคนก็สามารถลงแข่งขันในประเภทเดี่ยวได้ด้วย
เส้นทางของ Stacker ที่อยากแข่งขัน มีระดับไหนบ้าง?
มีหลายระดับ จะมีทั้งที่จัดแข่งขันทัวร์นาเมนต์ในประเทศ มีในระดับเอเชีย และถ้าขนาดใหญ่ที่สุดก็จะเป็นการแข่งขันกีฬาสแต็คโลก ที่ชื่อว่ารายการ World Sport Stacking Championship 2008 ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยรายการนี้จัดมาตั้งแต่ปีค.ศ.2002 แล้ว ใช้วิธีคัดเลือกตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าไปร่วมแข่งขันกันได้เลย ไม่ต้องมีการจัดลำดับชั้น
ถ้ามีการจัดแข่งระดับโลก ก็น่าจะมีเจ้าของสถิติ World Record?
เจ้าของสถิติ 6 วินาทีซึ่งตอนนี้จัดเป็น World Record ของโลกนั้นเป็นของ Steven Purugganan เด็กชายเชื้อชาติฟิลิปปินส์วัย 10 ขวบ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีฬาสแต็ตโลกประจำปี 2008 (World Sport Stacking Championship 2008) โดยเขาทำลายสถิติการเล่นทั้ง 3 ประเภทได้อย่างขาดลอย
อยากชวนให้คนมาลองเล่น
อยากให้เด็กๆ เข้ามาเล่นกันเยอะๆ เพราะกีฬาสแต็คน่าจะช่วยแก้ปัญหาความก้าวร้าวในเด็กที่เกิดจากการเล่นเกมที่มีความรุนแรง หรือการเปิดรับสื่อที่มีความรุนแรงในปัจจุบันได้ อีกทั้งมันยังได้ประโยชน์ในเรื่องพัฒนาการทางสมองและร่างกายด้วย สร้างให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น อดทน มีเป้าหมายของตัวเอง และได้ทักษะการทำงานเป็นทีมด้วย
ใครสนใจก็สามารถเข้ามาศึกษาได้ที่เว็บไซต์ www.thaistack.com/wp/ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคนเล่นกีฬาสแต็คในประเทศไทย
******************************
เรื่อง – วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม