xs
xsm
sm
md
lg

จังหวะดนตรี คลื่นความถี่พิชิตโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใคร ๆ ก็เครียด ยิ่งสถานการณ์ในสังคมไทยในภาวะช่วงนี้ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง อาการเครียดจึงเป็นปัญหาโรคภัยชนิดหนึ่ง ที่กำลังสร้างปัญหาให้คนไทยจำนวนมาก หากแต่ความเครียดนี้แก้ไขได้ไม่ยาก และไม่ต้องยาเคมี ด้วยวิธีการใช้พลังของดนตรีบำบัด ศาสตร์ของ “ครู่ตุ่น” อดีตสมาชิกพิงค์ แพนเตอร์ ที่นำมาศึกษาและใช้ได้ดีอย่างมหัศจรรย์

สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดภาวะเครียดสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะความตรึงเครียดทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งซ้ำเติมให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดอาการเครียดหนัก กรมสุขภาพจิต เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง (Political Stress Syndrome: PSS) โดยมีรายงานตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่า  โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องรับผู้ป่วยที่มีอาการเครียดทางการเมือง โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200 คนต่อวัน

ผู้จัดการรายวัน LITE ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอทางเลือกหนึ่งเพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับคอการเมือง โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ เรียกว่า ดนตรีบำบัดจิต ปรับความคิด ปรุงอารมณ์ (Musical Psychotherapy) ที่คิดค้นโดยอาศัยประสบการณ์ล้วน ๆ ของนักดนตรีคนหนึ่งที่หมั่นสังเกตอาการของผู้ฟังมาหลาย 10 ปี ซึ่งเขาพบว่าตัวโน้ตแต่ละตัวให้ความรู้สึกกับคนแตกต่างกัน และเข้าใจว่าจังหวะดนตรีแบบไหนที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข

ในแวดวงดนตรีบำบัดจิต รู้จักเขาคนนี้เป็นอย่างดี เรียกกันในวงการสั้น ๆ ว่า “ครูตุ่น” หรือ รุ่งรดิศญ ไวอาษา อดีตสมาชิกวงดนตรีชื่อดังในอดีต “พิงค์ แพนเตอร์” นักดนตรีที่ผันตัวเองมาศึกษาทางจิตอย่างเอาจริงเอาจัง

ครูตุ่น บอกว่า ดนตรีบำบัดจิตไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่ในวงการแพทย์ใช้กันมาอย่างยาวนาน เรียกว่าเป็น “Musical Therapy” โดยมีแพทย์คอยดูแล และใช้กันมากในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลจิตเวท แต่ทุกวันนี้เริ่มนำมาใช้กันอย่างหลากหลาย แม้แต่ในคลินิกหมอฟัน ก็ยังใช้ดนตรีเพื่อให้คนไข้เกิดความผ่อนคลาย ลืมความเจ็บปวด ลืมความรู้สึกเวลาที่หมอเจียฟัน

แต่วิธีการของครูตุ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป มีการผสมผสานหลาย ๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน ศาสตร์หลัก ๆ คือ ดนตรีกับพระพุทธศาสนา เรียกว่า “หลักธรรมมะคีตา” นั่นคือใช้ดนตรีและใช้หลักของพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน ทั้ง การทำสมาธิ สวดมนต์ เดินจงกลม ฟังเพลง และ เล่นดนตรี ส่วนศาสตร์สาขาอื่น ๆ ที่นำมาใช้ผสมผสานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็อย่างเช่น โยคะ จิตวิทยา หรือ การใช้แสงและกลิ่น แต่ทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การบำบัดจิตใจ ผ่อนคลายความเครียด และปรุงแต่งอารมณ์ให้ดีขึ้น

ครูตุ่น บอกว่า หลักการสำคัญที่มีการนำดนตรีมาประยุกต์ใช้ในเรื่องนี้ก็คือ ดนตรี มี 2 แบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์หรือให้เกิดโทษ ถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะช่วยผ่อนคลายความเครียดหรือช่วยล้างใจให้มีจิตใจที่ดีได้

“ถ้าเราฟังเสียงสวดมนต์หรือเสียงเพลงที่ดีสภาพจิตใจเราก็จะแตกต่างจาก การฟังเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงหรือมีคำด่าคำสาปแช่ง สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตใจเราหยาบกระด้าง แม้แต่การพูดถ้าเราพูดด้วยถ้อยคำที่อ่อนหวาน ก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการดุด่ากันอย่างรุนแรง” ครูตุ่นให้ข้อสังเกต

สำหรับกลุ่มคนที่เข้ามาหาครูตุ่นเพื่อใช้ดนตรีบำบัดจิต เป็นกลุ่มคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น คนธรรมดาไปจนถึงเศรษฐี ครูตุ่น ย้ำว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่คนป่วย ไม่ใช่คนที่เป็นโรคจิต แต่เป็นคนที่ต้องการผ่อนคลายจากความตึงเครียด ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการในการบำบัดจิตแตกต่างกันออกไปตามอาการ

ปัญหาที่ครูตุ่นประสบมามีอยู่เยอะแยะมากมายตามสภาพปัญหาทางสังคม ตั้งแต่อาการเบา ๆ อย่างเช่น ปัญหาเด็กสมาธิสั้น ก็จะใช้ดนตรีมาช่วยผ่อนคลาย เพื่อไปปรับคลื่นความถี่ในสมองเขา ทำให้เขามีสมาธิที่มั่นคงขึ้น

หรือแม้แต่ปัญหาสังคมทั่วไป ปัญหาที่พบเยอะคือปัญหาครอบตัวแตกแยก อกหัก หรือ ปัญหาเด็กตั้งท้องไม่พึงประสงค์ ปัญหาการล่าแต้มของเด็กผู้หญิง ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดทั้งกับผู้ปกครองและต่อตัวเด็กเอง ส่วนคนวัยทำงานก็จะมีปัญหาเรื่องงาน คนสูงอายุขึ้นมาหน่อยก็จะมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจทางอ้อมให้เกิดการท้อแท้สิ้นหวังเป็นต้น

แม้แต่ปัญหาเรื่องเซ็กก็เคยมี เช่น ดนตรีบำบัดเซ็กได้ไหม มีปัญหาเซ็กเสื่อม หลั่งเร็วทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้ดนตรีช่วยได้เพราะบางคนเซ็กเสื่อมไม่ใช่อาการทางกายเพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเครียดสะสมทำให้หมดอารมณ์ทางเพศ

วิธีการบำบัดนั้นมี 2 แนวทางหลัก ๆ คือ คือ การบำบัดจริง กับ การบำบัดปลอม การบำบัดจริง คือ การเล่นดนตรีสดๆ ให้ฟัง ส่วนวิธีการบำบัดปลอมคือเล่นดนตรีผ่านเครื่องเสียงที่จัดเตรียมไว้แล้ว ซึ่งดนตรีที่นำมาใช้ในการบำบัดก็ยังแบ่งออกได้ตามวัยของผู้ฟัง คนวัย 20 อาจเป็นดนตรีแบบหนึ่งแต่วัยมากกว่านี้ก็อาจจะเป็นอีกแบบ

ในเบื้องต้นคนที่เข้ามาบำบัด จะมีการสอบอารมณ์ก่อน โดยการพูดคุยในเรื่องทั่วๆ ไป มอบสมุดโน้ตให้เล่มหนึ่งแล้วขีดเส้นแบ่งครึ่ง ให้เขาระบายออกมา สิ่งที่คิดดี กับ สิ่งที่คิดไม่ดี เราก็จะพบว่าเขามีความคิดอะไรบ้าง บางคนมีเรื่องดีอยู่แค่ข้อเดียว แต่คิดไม่ดีเยอะแยะเลย ก็จะทำให้รู้เบื้องต้นว่าเป็นคนเช่นไร คิดอะไรหรือมีความเครียดในเรื่องอะไร

เมื่อทราบอาการแล้ว จากนั้นก็จะจ่ายยาไปตามอาการ ถ้าจิตตกขนาดหนักก็ต้องจ่ายยาหนัก ซึ่งการจ่ายยาในที่นี้จ่ายเป็นดนตรี จ่ายเป็นบทเพลง จ่ายเป็นธรรมมะ การดำเนินการก็จะต้องใช้จิตวิทยาที่สูงเพื่อโน้มน้าวจิตใจเขา

วิธีการหลักๆ คือ ให้ฟังเพลงตามอาการ หรือว่า ใช้ถ้อยคำมาพูดประกอบการบำบัด อาการหนักก็คือพวกที่เป็นพวกขี้หลงขี้ลืมหรือจิตตกก็อาจจะต้องรักษานานหน่อย หรืออาการเบา ๆ เครียดจากการงาน หรือ นอนไม่หลับ ก็จะต้องเปิดเพลงที่ทำให้เขาอยากนอนหลับ

“คำพูดของครู โทนเสียงที่พูด ความอ่อนนุ่ม อันดับแรกคนที่มาที่นี่ แสง ภาพ มีผลต่อสายตา ให้ความรู้สึกน่านั่ง น่าอยู่ หรือแม้แต่พัดลม ทำไมต้องเปิดพัดลมทั้งที่มีแอร์ เพราะว่าลมพัดมันทำให้มีความรู้สึกถึงผัสสะของลม หู ได้ฟังเสียงดนตรี และการได้ดมกลิ่นที่หอมดี สิ่งเหล่านี้ช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายเราอาจจะเรียกว่าดีท็อกซ์ใจก็ได้”

ครูตุ่น กล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่เข้ามา ความศรัทธา มาเป็นอันดับแรก ทะเลาะกับสามี ใครพูดก็ไม่ฟัง แต่เขามาหาเรา เขาพร้อมจะพูดหมด มันเหมือนได้ระบายออกมา ดังนั้น ทุกคนที่เข้ามาจึงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าการใช้ดนตรีบำบัดของคุณครูตุ่น ทำให้ชีวิตเขามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“เราไม่ได้เป็นคนเก่ง แต่ทำไมถึงทำได้ หนึ่ง ผมเข้าใจถึงดนตรี สามารถนำเอามาใช้กับคนบนโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติใดเชื้อชาติใดใช้ได้หมด ทุกคนที่มาแล้วแฮปปี้หมด”

ติดต่อครูตุ่น : 086-8889097, phantommusic
กำลังโหลดความคิดเห็น