xs
xsm
sm
md
lg

‘สุชาดี มณีวงศ์’ ตำนาน 26 ปีของ‘กระจกหกด้าน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนคงคุ้นเคยกับน้ำเสียงที่ฟังดูทุ้มนุ่มกังวานและมีเอกลักษณ์ของผู้หญิงคนนี้ สุชาดี มณีวงศ์ ผู้ผลิตรายการ ‘กระจกหกด้าน’ รายการสารคดีที่มีอายุยาวนานถึง 26 ปี อะไรที่ทำให้รายการนี้ยืนหยัดมาได้กว่า 2 ทศวรรษ และเหตุใดเจ้าของรายการจึงต้องลงทุนลงแรงลงเสียงพากษ์ด้วยตัวเองมากว่า 20 ปี

ที่มาของ‘กระจกหกด้าน’

สุชาดี เปิดใจบอกเล่าถึงเรื่องราวอันเป็นตำนานของรายการสารคดีเก่าแก่ของเมืองไทยว่า ที่มาของชื่อรายการ‘กระจกหกด้าน’ นั้นเกิดจากการที่เธอได้รับฟังพระธรรมเทศนาของสมเด็จพุฒธาจารย์โต พรหมรังสี ซึ่งท่านสอนศิษยานุศิษย์ถึงการปฏิบัติตนต่อผู้คนรอบข้างซึ่งเปรียบเสมือนทิศทั้ง 6 เช่นเดียวกับการส่องกระจกที่ต้องส่องดูทุกด้าน ไม่ใช่ดูแต่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว จึงเป็นที่มาของรูปแบบรายการกระจกหกด้านที่มุ่งเสนอเรื่องราวต่างๆอย่างรอบด้าน

“จำได้ว่าพี่เริ่มทำรายการนี้มาตั้งแต่อายุ 30 กว่า ก็เป็นเจ้าของรายการเองตั้งแต่แรกเลย พี่เองไม่ได้จบด้านการผลิตรายการโทรทัศน์มานะ แต่ด้วยความที่เราเคยเขียนสารคดีส่งเข้าประกวดแล้วปรากฏว่าได้รับรางวัลที่ 1 ได้เงินรางวัลมา 7-8 หมื่นบาท ซึ่งเมื่อสมัย 30 กว่าปีก่อนถือว่าสูงมาก เทียบกับปัจจุบันก็น่าจะตก 7-8 แสนบาท เราก็เลยมั่นใจว่าน่าจะทำงานตรงนี้ได้ รายการที่เรานำเสนอนั้นก็เป็นแนวสารคดีที่เสนอเรื่องราวต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เหมือนกับระจกที่สะท้อนภาพในหลายแง่มุม

รายการกระจกหกด้านจะออกอากาศทุกวัน ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์เนี่ยแต่ละวันจะมี theme ที่แตกต่างกัน เช่น วันหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต วันหนึ่งเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม วันหนึ่งเป็นเรื่องศิลปวัฒนธรรม วันหนึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยี อีกวันเป็นเรื่องของธรรมะ อีกวันเป็นเรื่องของสุขภาพ ซึ่งเราจะปรับเปลี่ยน theme ของเราอยู่เรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วรายการของเราซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ก็มีทั้งรายการ 1 นาที 2 นาที 5 นาที และ 15 นาที”

ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมานั้นสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปของรายการนี้ก็คือเสียงพากย์อันเป็นอมตะ ด้วยน้ำเสียงที่ทุ้มนุ่มและก้องกังวานอยู่ในทีดูจะเป็นเสน่ห์ที่สามารถตรึงคนดูให้อยู่หน้าจอทีวีได้อย่างไม่รู้ตัว และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สุชาดียอมเหน็ดเหนื่อยลงเสียงพากย์ด้วยตัวเองในทุกเทปที่ออกอากาศ

“บางคนสงสัยว่าทำไมตลอดเวลา 26 ปีที่ทำรายการนี้มาพี่ถึงลงเสียงเองตลอด มันมีเหตุผลหลายอย่างนะ ข้อแรกคือถ้าเราลงเสียงเองเราจะแก้ไขตรงไหน เมื่อไรก็ได้ ข้อสอง เรามีศักยภาพที่จะทำเองได้ คืออดีตพี่เคยเป็นนักจัดรายการเพลงมาก่อน เป็นนักจัดรายการรุ่นแรก ๆ ที่ได้ใบผู้ประกาศ และข้อสาม สำคัญมาก.. มันช่วยประหยัดงบ (หัวเราะ) เพราะค่าลงเสียงแพงมาก ขนาดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาคิดนาทีละ 1,000 บาท ถ้ารายการ 10 นาที ก็ปาเข้าไปเป็นหมื่น เดี๋ยวนี้ราคาขึ้นไปถึงนาทีละ 5,000 บาท แล้วรายการของเราต้องออกอากาศทุกวัน” สุชาดีกล่าวยิ้ม ๆ

ทุ่มเทใจด้วยไฟศรัทธา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายการกระจกหกด้านสามารถยืนหยัดมาได้ถึง 20 กว่าปีนั้นล้วนเกิดจากการทุ่มเททำงานด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาของคุณสุชาดีและน้อง ๆ ทีมงานที่ต่างมุ่งมั่นผลิตรายการสารคดีที่มีคุณภาพโดยมิได้มีผลตอบแทนของเงินตราเป็นตัวตั้ง หากแต่มีความภาคภูมิใจที่จะยืนหยัดในอุดมการณ์ของคนทำงานสารคดีที่ต้องการหยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้แก่ผู้ชม

“หน้าที่ของพี่นอกจากลงเสียงบรรยายเนื้อหาของเรื่องแล้ว ก็จะคอยควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่ theme เรื่อง การเขียนบท ไปจนถึงการตัดต่อ อย่างบทเราก็จะดูว่าข้อมูลที่ลูกน้องไปหามามันครอบคลุมไหม ถ้ายังไม่แน่นพอก็จะให้เขาไปค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ก่อนพี่จะออกไปดูแลการถ่ายทำด้วยแต่หลัง ๆ นี่ให้ลูกน้องเขาทำกันเอง โดยเราเป็นคนกำหนดว่าอยากให้ภาพออกมาแบบไหน องค์ประกอบภาพเป็นอย่างไร ต้องการจะสื่ออะไร เราก็จะดูว่าภาพที่เขาถ่ายมาใช้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ต้องส่งเขาออกไปใหม่

แต่ละเรื่องแต่ละตอนจึงต้องใช้เวลานานเป็นเดือน แล้วเวลา 1 เดือนเนี่ยทีมหนึ่งออกกองถ่ายได้ 8 ครั้ง เสร็จสรรพเอามาออกอากาศแค่ 10 นาทีเท่านั้น (หัวเราะ) เราจึงต้องมีทีมงานหลาย ๆ ทีม ซึ่งแต่ละเรื่องที่ทำเราจะพิถีพิถันมาก อยากให้คนดูเต็มอิ่มกับสิ่งที่เรานำเสนอ อย่างตอนนี้กำลังทำเรื่องวัง เราก็คิดว่าถ้าเสนอแค่ 1 - 2 วัง คนดูไม่อิ่ม เราก็ทำกัน 7 - 10 วัง ทั้งวังพญาไท วังจักรพงษ์ วังเล็กวังใหญ่ทำหมด หรืออย่างเมื่อต้นปีเราทำเรื่องข้าวแช่ เราก็ไปดูการทำข้าวแช่ในวังสวนจิตรฯ ข้าวแช่เพชรบุรี หลากหลายมาก บางคนถามว่าลงทุนขนาดนี้แล้วคุ้มเหรอ...ก็บอกว่าไม่คุ้มหรอก แต่โดยรวมแล้วก็พออยู่ได้ คือถ้าพออยู่ได้ เลี้ยงพนักงานทั้ง 40 กว่าชีวิตได้ ไม่ต้องกำไร มันก็คือกำไร แต่ถ้ามันได้กำไรเป็นตัวเงินก็ถือว่าเป็นโบนัส” สุชาดีพูดถึงเป้าหมายในการทำรายการด้วยหัวใจพองโต

ขั้นตอนที่หนักหนาที่สุดในการผลิตรายการกระจกหกด้านนั้นเห็นจะเป็นในส่วนของการหาข้อมูล ซึ่งแม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะพัฒนาก้าวหน้าไปมาก แต่คุณสุชาดีมักย้ำกับทีมงานทุกคนว่าข้อมูลจากเว็บไซต์เพียงอย่างเดียวนั้นย่อมไม่ใช่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เพิ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ไม่นานนัก อีกทั้งบางเว็บไซต์ก็อาจให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสืบค้นจากหอสมุด สารานุกรม รวมทั้งวิทยานิพนธ์ต่าง ๆ เป็นหลัก

“กระจกหกด้านเป็นรายการสารคดีดังนั้นความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก นอกจากหอสมุดแห่งชาติซึ่งเราใช้เป็นฐานข้อมูลหลักของเราแล้ว บริษัทเราก็มีห้องสมุดของเราเอง ปัจจุบันมีหนังสืออยู่ประมาณ 6,000 เล่ม ซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือที่จำเป็นต้องใช้ในการสืบค้นข้อมูลทั้งนั้น แล้วก็ยังมีสารานุกรมและพจนานุกรม ซึ่งมีทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการอ้างอิงต่าง ๆ มีแม้กระทั่งพจนานุกรมภาษาปักษ์ใต้ คือเรามีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศอยู่หลายท่าน ซึ่งท่านเหล่านี้ช่วยเราได้มาก อย่างราชบัณฑิตยสถานเราก็โทร.ไปปรึกษาประจำ”

ที่สุดแห่งความภูมิใจ

ตลอดระยะเวลา 26 ปีกับสารคดีที่ทำออกมาเกือบ 1,000 ตอนนั้นสิ่งที่ทำให้สุชาดีปลาบปลื้มใจที่สุดก็คือการได้มีโอกาสทำสารคดีเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องเพราะรายการกระจกหกด้านนับเป็นรายการสารคดีรายการแรกของไทยที่มีโอกาสได้นำเสนอเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดสารคดีในลักษณะดังกล่าวตามมาอีกมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

“ต้องบอกว่าสารคดีเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้นรายการของเราเป็นคนบุกเบิกเลยนะ เราทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งรายการกระจกหกด้านได้แค่ 2 - 3 ปี คือเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเนี่ยเรื่องราวของราชวงศ์แทบจะไม่เคยเปิดเผยออกมาสู่สายตาภายนอก เพราะสมัยนั้นสถาบันกษัตริย์ของเราเป็นเหมือนสถาบันปิด ไม่มีใครกล้านำเสนอเรื่องราวของพระองค์ท่านเพราะไม่รู้จะไปติดต่อกับทางวังอย่างไร มีแต่ข่าวในพระราชสำนักที่ออกมาทางทีวีเท่านั้น แต่พี่เห็นว่าพระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เรื่องราวเหล่านี้ ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ เลยคิดว่าเราน่าจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมา

พอดีสืบรู้มาว่าคุณแก้วขวัญ วัชโรทัย ท่านเป็นเลขาธิการพระราชวัง เลยไปขอคุยกับท่าน ตอนนั้นประมาณปี 2528-2529 ท่านก็เห็นถึงความตั้งใจจริงเลยอนุญาต แล้วก็ช่วยประสานเรื่องต่าง ๆ ให้ อย่างพระราชประวัติ พระบรมสาทิศลักษณ์และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นผู้ที่ดูแลและเก็บรักษาคือคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ซึ่งเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง คุยกับท่านหลายครั้งแต่ท่านไม่ตกลง คือคุยกับคุณแก้วขวัญน่ะผ่านแล้ว แต่คุณขวัญแก้วไม่ผ่าน (หัวเราะ) เราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ท่านต้องระมัดระวัง จำได้ว่าคุยกันอยู่ 9 ครั้ง จนเราท้อ ครั้งที่ 10 ท่านจึงอนุญาต พี่ก็เริ่มทำสารคดีเรื่องโครงการส่วนพระองค์ของในหลวง และเรื่องโครงการพระราชดำริ หลังจากนั้นพอเห็นสารคดีชุดแรกออกมาดีทางสำนักพระราชวังก็ไว้วางใจ คุณแก้วขวัญก็ให้ทำอีกหลายเรื่อง ได้ไปถ่ายพระราชวังต่าง ๆ และพระราชนิเวศน์ในประเทศไทยทั้งหมด ตั้งแต่พระราชวังภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระราชวังภูพานราชนิเวศน์ พระราชวังทักษิณราชนิเวศฯ ไปจนถึงพระราชวังไกลกังวล

ต่อจากนั้นโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในความดูแลของ กปร.(สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) เราก็ได้ไปทำสารคดีตลอด แล้วก็ทำสารคดีเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถด้วย ถือเป็นบุญอย่างมากที่ในช่วงที่ถ่ายทำเราได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ ด้วย ตอนนั้นพระองค์ท่านทำโครงการส่งเสริมศิลปาชีพที่บ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร เราก็ตามถ่ายพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านตั้งแต่ต้นจนจบ หลังจากสารคดีเราออกไปสักพัก ก็เริ่มมีผู้ผลิตรายการรายอื่นกล้าที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำสารคดีเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถกันมากขึ้น ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เราเป็นผู้บุกเบิกในการถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านให้ปวงชนชาวไทยได้รับรู้” สุชาดี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

สำหรับเป้าหมายในปีที่ 27 ของรายการกระจกหกด้านนั้น สุชาดีในฐานะผู้ผลิตรายการบอกว่าเธอก็ยังคงยืนหยัดในปรัชญาเดิมคือไม่ว่าปีนี้หรือปีไหนเธอก็ยังทุ่มเททำรายการที่มี ‘คุณภาพ’ ให้ประชาชนได้รับชมต่อไป
 
* * * * * * * * * * * *
 
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - วารี น้อยใหญ่

กำลังโหลดความคิดเห็น