...เส้นที่ลากผ่านจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง มองให้ดีภาพนี้นี่คือโลกของเรา มีจุดไฮไลน์ด้วยเรียวเส้นฉวัดเฉวียนสื่อถึงเพลิงสีแดงกำลังลุกโชนบนโลกใบนี้ บ่งบอกชัดเจนว่า โลกร้อน...ใช่แล้ว,นี่คือ สัญลักษณ์หรือโลโก้ ของงานมหกรรมยานยนต์ หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งใหม่ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ แต่ใครจะรู้บ้างว่าโลโก้แทบทุกปีที่จัดงาน ล้วนมาจากฝีมือนักคิดผู้นี้ “พิทักษ์ ปิยะพงษ์”
ศิลปะในเชิงครีเอทีฟ สำหรับ “พิทักษ์ ปิยะพงษ์”แล้ว ถือเป็นสนามทดสอบฝีมือของเขา ตลอดระยะเวลา 25 ปี “พิทักษ์ ปิยะพงษ์” เขาเปรียบเสมือน ครีเอทีพ และอาร์ทไดเร็คเตอร์ คู่ใจของ ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ บิ๊กคนสำคัญในวงการรถยนต์ เพราะนับตั้งแต่ปีแรกของการจัดงาน เขาคือ นักดีไซน์โลโก้ของงานมอเตอร์โชว์ที่ขวัญชัย ไว้วางใจที่สุด
“ผมกับคุณขวัญชัย เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว สมัยอยู่กับบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ซึ่งคุณขวัญชัยเป็นครีเอทีพ และดูแลด้านก็อปปี้ ไรท์เตอร์ ส่วนผมเป็น อาร์ท ไดเร็กเตอร์ หรือพูดง่ายๆว่าอีกคนหนึ่งคิดคอนเซปต์-คำพูด อีกคนคิดภาพ เพราะฉะนั้นครีเอทีพ คอนเซปต์ จะเกิดจากทั้งสองฝ่าย รวมถึงทีมงานที่ต้องเสวนา ระดมมันสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”
พิทักษ์ เล่าว่า คุณขวัญชัยเองไม่ใช่นักธุรกิจอย่างเดียว เพราะนอกจากจะมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นนักวิชาการที่ข้อมูลแน่นมากๆ ส่วนตัวเขาแล้วมีประสบการณ์ด้านงานศิลปะและโฆษณา ดังนั้นเมื่อความละเอียดทั้งสองฝ่ายมาผสมกัน จึงเกิดความแหลมคมทางความคิด
อย่างไรก็ตามงานออกแบบโลโก้งานมอเตอร์เอ็กซ์โป ส่วนสำคัญต้องเกิดขึ้นจากทีมงานเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นเรื่องคนใดคนหนึ่ง คือ ต้องผสมผสานกันเป็น “ครีเอทีพมิกต์”
“หลังจบมอเตอร์เอ็กซ์โปแล้ว บรรดาทีมงานจะมาคุยคอนเซปต์ในปีต่อไปเลยว่า รูปแบบรวมถึงโลโก้ คำขวัญ จะเป็นอย่างไร ที่สำคัญต้องอิงกับสังคมและสถานการณ์โลก อย่างปัจจุบันภาวะโลกร้อนกำลังกลายเป็นวิกฤตร้ายแรง ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งตัวการสำคัญที่ปล่อยมลพิษ ซึ่งงานมหกรรมยานยนต์ก็อยู่ในวงจรดังกล่าว เราจึงพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ และสะท้อนแง่มุมออกมาให้สังคมได้รับรู้ ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าคอนเซปต์การจัดงานปีนี้คือ “มาหยุดโลกร้อนกันเถอะ”
หลังการประชุมครั้งแรกทางฝ่ายก็อปปี้ ไรท์เตอร์จะไปคิดคำอาจจะ 2-3 ประโยค จนที่ประชุมตัดสินใจใช้คำว่า “พันธกิจมนุษย์ หยุดโลกร้อน” (OBLIGATION OF MANKIND TO STOP GLOBAL WARMING) จากนั้นฝ่ายศิลปจะไปคิดว่าหน้าตาของภาพสัญลักษณ์ (Key Visual) จะเป็นอย่างไร แล้วนำมาเสนอขั้นสุดท้ายเพื่อโฟกัสลงไปว่าจะใช้ภาพและคำพูดอย่างไรให้เป็นเอกภาพ อย่างผลงานชิ้นนี้ลงตัวตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เรียกว่าหลังการพูดคุยครั้งแรก 1-2 เดือนผลงานก็เสร็จเรียบร้อย
สำหรับโลโก้ในปีนี้เน้นการสร้างภาพให้ทันสมัย เห็นง่าย จำง่าย สามารถทำให้คนติดตาแล้วฝังไปในความรู้สึก โดยรูปโลกในตราสัญลักษณ์เป็นลายเส้นง่ายๆ พร้อมไฟที่แสดงให้เห็นถึงอุณหภูมิของโลกที่กำลังร้อนขึ้น มือด้านล่างแสดงให้เห็นถึงพันธกิจหยุดโลกร้อน ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
“ถ้ามองด้านคอนเซปต์ โลโก้มอเตอร์เอ็กซ์โป ก็พัฒนาเรื่อยมา ที่สำคัญมันเป็นงานที่ต้องผูกติดกับความทันยุคทันสมัยในแง่เทคโนโลยียนตรกรรม ขณะเดียวกันศิลปะมันมีสไตล์ของมัน ไม่ว่าจะเป็น สี-เส้น ซึ่งจะสะท้อนถึงรูปแบบงานอันเป็นเอกลักษณ์”
ปัจจุบันพิทักษ์ อายุ 67 ปีแล้ว และส่งไม้ต่อให้ลูกสาว “มือนาง ปิยะพงษ์” เข้ามาดูแลงานในบริษัท พับลิค มีเดีย แอนด์ คอมมูนิเคชันส์ จำกัด ที่รับงานออกแบบ งานโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ขณะที่พิทักษ์จะเข้ามาช่วยดูงานออกแบบโลโก้มอเตอร์เอ็กซ์โปปีละครั้งเท่านั้น
“ผมเกษียนแล้ว ซึ่งนอกจากออกแบบโลโก้มอเตอร์เอ็กซ์โป งานประจำตอนนี้ก็สร้างสรรค์งานศิลปะส่วนตัว พร้อมเป็นครูสอนเด็ก ๆ ที่สมาคมสร้างสรรค์ศิลปินน้อยทุกวันเสาร์ โดยผลงานของเด็ก ๆ ก็จะถูกนำมาจัดแสดงในมอเตอร์เอ็กซ์โปทุกปีเช่นกัน”
จากประสบการณ์ในวงการโฆษณากว่า 40 ปี เข้าออกในบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย ส่วนผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักอย่าง “โลโก้ ไวตามิลค์” หรือแคมเปญโฆษณา “การบินไทย” ที่กวาดรางวัลมากมายเมื่อ 20 ปีก่อน อย่างไรก็ตามพิทักษ์บอกว่า แม้จะภูมิใจกับผลงานทุกชิ้นที่ผ่านมา แต่สำหรับการออกแบบโลโก้มอเตอร์เอ็กซ์โปถือเป็นงานที่ชอบสุดแล้ว
“ถ้าเปรียบตรงๆเหมือนคุณขวัญชัยเป็นลูกค้า ผมเป็นคนทำโฆษณา ซึ่งผมว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผมได้ลูกค้าที่เข้าใจความคิด เพราะถ้าเป็นคนอื่นอาจไม่ลึกซึ้ง และไม่ค่อยมองความคิดสร้างสรรค์นัก”
เมื่อถูกถามว่า20กว่าปีที่ผ่านมา ชอบโลโก้ชิ้นไหนมากที่สุด พิทักษ์ตอบอย่างไม่ลังเลว่า ชอบผลงานทุกชิ้น แต่ถ้าจะให้เลือกงาน “มาสเตอร์พีซ” มันยังไม่เกิด รู้สึกว่ามันยังอยู่ในความคิด และเชื่อมั่นว่าจะผลิตงานที่ดีกว่านี้ ซึ่งอาจจะเป็นปีหน้าก็ได้
สุดท้ายพิทักษ์ ฝากว่าหัวใจของงานโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่ที่ ต้องเข้าใจโจทย์ รู้ว่าอะไรคือจุดขายหลัก ขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งคุณค่าทางศิลปะ ผลงานต้องออกมาสอดคล้องกับโจทย์ที่ตั้งมาให้ ส่วนเด็กรุ่นใหม่ต้องเชื่อมั่นในจุดยืน งานต้องเป็นตัวของตัวเอง ใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา จึงจะประสบความสำเร็จ