xs
xsm
sm
md
lg

“ออลไลท์” จากโอลิมปิกหวนสู่ต้นกำเนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลงานของออลไลท์ ในปักกิ่งเกมส์
นับตั้งแต่ เซอร์ โจเซฟ สวอน ชาวอังกฤษ เริ่มประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าส่องสว่างสำเร็จเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2421 ปีเดียวก่อนอดีตพนักงานโทรเลขนามว่า โธมัส อัลวา เอดิสัน จากสหรัฐอเมริกา จะพัฒนาหลอดไฟฟ้าของตัวเองขึ้นมา พร้อมประกาศความเป็นนักประดิษฐ์เกทับนักประดิษฐ์จากเมืองผู้ดีไปในตัวจนเป็นข้อถกเถียงถึงการเป็นผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้ารายแรกของโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ ทว่าสาระสำคัญคือ "แสงสว่าง" ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่มิอาจขาดได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคนี้ไปแล้ว
ซึ่งตลอดเวลานับร้อยปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของหลอดไฟฟ้าส่องสว่างก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จากหลอดไส้ เป็นหลอดนีออน หลอดตะเกียบ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนอาจจะลืมนึกถึงคือ "สวิตช์" เปิด-ปิด ไฟฟ้า ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของแสงสว่างอีกชั้นหนึ่ง


1.
ในยุคสมัยที่คนทั่วโลกกำลังพูดถึงภาวะโลกร้อน การประหยัดพลังงาน ดังนั้นเรื่องของระบบควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งเรื่องนี้ “ออลไลท์” (All Light) บริษัทเอกชนของคนไทย ที่ให้พัฒนาและวิจัยความสำคัญเรื่องระบบควบคุมไฟฟ้ามานานกว่า 30 ปี และนับเป็นวิทยาการซึ่งก่อเกิดด้วยมันสมองของคนไทยล้วนๆ ที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรบุคคลน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพมาก ในทางกลับกันยังช่วยควบคุมการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองในทางอ้อมได้อีกด้วย

โดย ณพล ธีรรัตนสถิต หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ “ออลไลท์” เปิดเผยถึงผลงานอันน่าภาคภูมิใจในนามคนไทย ที่มีชื่อจารึกอยู่ในสนามกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึง 4 สนาม ประกอบไปด้วย สนามวอลเลย์บอลชายหาด สนามฝึกซ้อม 2 สนาม และสนามแข่งกีฬาหลัก อันได้แก่ ฟุตบอล ยิงปืน ขี่ม้า ซึ่งการติดตั้งทั้งหมดนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัท คาวามูระ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายและมีสำนักงานประจำอยู่ที่ปักกิ่ง

"จริงๆ เราต้องบอกว่าเทคโนโลยีที่ควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าของสนามกีฬาโอลิมปิก 2008 นั้น เดินทางมาจากที่สนาม 700 ปี ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งระหว่างที่เราเสนอตัวจัดการเรื่องนี้ ทางฝ่ายจีนก็ขอเดินทางมาดูสนามกีฬาที่เชียงใหม่ อันเป็นผลงานของเราด้วย ว่าเทคโนโลยีของเราใช้ได้จริงหรือเปล่า ซึ่งมันก็เป็นความจริง และเขาพอใจมาก"

"สิ่งที่เราทำมาตลอดคือ การสร้างระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟฟ้า เรื่องนี้สำคัญมาก ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาควบคุมเทคโนโลยีอีกชั้นหนึ่ง โดยระบบเปิดปิดไฟฟ้าของเราเชื่อมโยงจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถรวมให้การทำงานสามารถเสร็จสิ้นเพียงจุดเดียว เป็นนับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดทั้งทรัพยากรบุคคล และ พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด โอลิมปิก ไฮเทค ของประเทศจีน ผลงานของเราจึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ด้วย"

2.
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการเปิดปิดไฟฟ้าในสนามกีฬาของ “ออลไลท์” จะนับ 1 ที่สนามกีฬา 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนก้าวเดินทางไกลสู่ 4 สนามกีฬาโอลิมปิก 2008 ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่สุดท้ายก็ได้เวลาที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะคืนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดย ณพล กล่าวเปิดเผยว่า "หลังจากที่เราติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าที่สนาม 700 ปี ในจังหวัดเชียงใหม่มาร่วม 10 ปี ถึงวันนี้ก็ต้องกลับสู่จุดเดิมอีกครั้ง"

"แม้ว่าอุปกรณ์ที่เชียงใหม่ในปัจจุบันจะยังใช้งานได้อยู่ แต่เมื่อผ่านเวลาไป 10 ปี สายไฟฟ้าต่างๆ ก็อาจจะมีเรื่องของการเสื่อมคุณภาพตามกาลเวลา ซึ่งประจวบกับอุปกรณ์ของเราได้พัฒนาไปมากขึ้น ทางฝ่ายผู้ดูแลสนามก็แสดงความสนใจที่จะได้เทคโนโลยีชิ้นใหม่ไปทำหน้าที่แทนของเดิม"

"ความแตกต่างของเทคโนโลยีชิ้นใหม่ของเราคือ ความสะดวกที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างสนามกีฬาที่เชียงใหม่ ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าไปออกกำลังกายกัน ซึ่งบ่อยครั้งก็ต้องรอให้คนออกกำลังกายเสร็จก่อน เพื่อปิดไฟ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ดูแลสนามก็ต้องรอว่าเขาจะเล่นเสร็จกันเมื่อไร เพื่อที่จะปิดไฟ ซึ่งมันเป็นเรื่องของการเสียเวลา"

"แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เจ้าหน้าที่แค่เดินไปบอกกับคนที่ออกกำลังกายอยู่ว่า เอาหละ คุณออกกำลังกายกันเสร็จเมื่อไร ให้โทรศัพท์มาบอกผมด้วย เพราะเขาสามารถกลับไปนั่งดูละครที่บ้านได้แล้ว ไม่ต้องมารอคนออกกำลังกาย เนื่องจากสามารถสั่งการปิดไฟ หรือเปิดไฟ จากโทรศัพท์มือถือได้เลย นี่คือเทคโนโลยีตัวใหม่ของเรา นอกจากจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลืองด้วยการควบคุมการเปิดปิดไฟได้แล้ว เรายังทำให้สามารถเปิดปิดไฟฟ้าจากจุดไหนของประเทศไทยก็ได้" หัวเรือใหญ่ของออลไลท์กล่าวยืนยัน

นอกจากนี้ผู้แทนจากบริษัทซึ่งคิดค้นนวตกรรมทางการไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดทั้งพลังงานและพลังงานคนยังกล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า "เราสามารถที่จะทำให้สนามกีฬาที่มีอยู่ในเมืองไทย เป็นระบบเดียวกับโอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีนได้ทุกสนาม เพราะระบบเราเน้นที่การควบคุม ซึ่งปลอดภัยกว่าสำหรับการเปิดปิดด้วยคนในการทำงานกับไฟฟ้าแรงสูงของสนามกีฬา ถ้าวันหนึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทยสนใจที่จะทำให้การเปิดปิดไฟของสนามกีฬาทั่วประเทศเป็นไปอย่างพร้อมเพรียง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ไหนก็ได้ ก็สามารถทำได้ทันที คือสามารถควบคุมจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งแน่นอนว่านอกจากสะดวกในการควบคุมแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย"

ขณะที่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งต่อไปในปี 2009 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพนั้น มีการก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาในหลายจุด ซึ่ง “ออลไลท์” บริษัทของคนไทยบริษัทนี้ ก็แสดงความสนใจที่จะเข้าไปรับงานในส่วนที่ตัวเองถนัดเช่นกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน โดยมีการยืนยันว่าหากได้รับงานดังกล่าวจริง เทคโนโลยีที่จะนำไปใช้บนแผ่นดินฝั่งขวาแม่น้ำโขงก็จะเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับ "ปักกิ่งเกมส์" แน่นอน

3.
เมื่อมีเทคโนโลยี ย่อมมีการพัฒนา ซึ่งล่าสุด All Light ก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีชิ้นใหม่ คือระบบ “ยามที่ไม่เคยหลับ” หรือ (Sensor Man) โดย ณพล กล่าวถึงผลงานชิ้นล่านี้ว่า "ระบบที่เราใช้กับสนามกีฬานั้น ยังเป็นระบบที่ต้องติดตั้งสายอยู่ ติดต่อกันด้วยสาย แต่ในระบบของผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้สายน้อยที่สุด"

"ต่อไปในอนาคต แทนที่เราจะต้องเดินสายไฟหมดทั้งบ้าน จะเปลี่ยนมาเป็นเทคโนโลยีแบบใช้สายในการเชื่อมต่อน้อยมาก อย่างตัว “เซนเซอร์แมน” จะลดปริมาณการเดินสาย 70-80 เปอร์เซนต์ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้งสวิตช์ไฟสำหรับเปิดปิด เรามีอุปกรณ์ที่สั่งการทำงานด้วยรีโมทคอนโทรลเพียงตัวเดียว ก็สามารถควบคุมการทำงานของระบบไฟฟ้าทั้งบ้านได้เลย"

"สำหรับ “เซนเซอร์แมน” คืออุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการควบคุมระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวควบคุมการเปิดปิดไฟได้แล้วยังสามารถเตือนภัยเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมผ่านมาในพื้นที่ซึ่งติดตั้งเซนเซอร์ไว้ได้อีกด้วย หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ สามารถกันขโมยได้นั่นเอง"

ทั้งนี้ ผู้บริหารหัวคิดสร้างสรรค์กล่าวขยายความถึงการทำงานของระบบ “ยามที่ไม่เคยหลับ” ว่า "เราจะมีอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหว วางไว้ในจุดที่จะมีการเคลื่อนไหวเมื่อมีผู้บุกรุก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวเดียวกับการควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้า เราสามารถตั้งค่าการทำงานได้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และการเคลื่อนไหว โดยจะให้เปิดไฟ หรือให้ร้องเตือน พร้อมทั้งยังสามารถส่งข้อความมายังโทรศัพท์มือถือของเจ้าของบ้านได้อีกด้วย" นอกจากอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถติดตั้งในบ้านได้แล้ว ยังสามารถนำ “เซนเซอร์แมน” ดังกล่าวไปติดตั้งภายในรถ เหมือนเป็นสัญญากันขโมยได้อีกเช่นกัน

"ระบบของ “เซนเซอร์แมน” นั่น เป็นเทคโนโลยีที่เราพัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีตัวเดียวกับที่เราใช้ในสนามกีฬาโอลิมปิก 2008 ซึ่งนับเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากทีเดียว" ขณะเดียวกัน ณพล ยังยืนยันด้วยว่า มีหลายหน่วยงานสนใจนำเทคโนโลยีชิ้นล่าสุดไปติดตั้งเพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยกับทรัพย์สินแล้ว "มีโชว์รูมรถยนต์หลายแห่งสนใจอุปกรณ์ของเราติดต่อเข้ามาในจำนวนพอสมควร เพราะเมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่ามาก ในราคาทั้งเซตเพียง 6 พันกว่าบาทเท่านั้น"

"แน่นอนว่ามันไม่ใช่เซนเซอร์ธรรมดา ซึ่งนอกจากสามารถสั่งให้เปิดปิดไฟฟ้าในอาคารได้โดยเราไม่ต้องอยู่บ้าน ยังส่งสัญญาณฉุกเฉินได้อีกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีมากที่มีโชว์รูมรถในประเทศไทย หรือเต็นท์รถมือ 2 จะนำเทคโนโลยีตัวนี้ไปติดตั้งให้ลูกค้าได้เลย เนื่องจากไม่ต้องไปปรับแต่งอะไรภายรถเลย"

"บางคนบอกไปดูระบบกันขโมย ราคา 2-3 พันก็มีเยอะแยะ แต่ผมอยากอธิบายว่านี่ไม่ใช่ระบบกันขโมย มันเป็นระบบเปิดปิดไฟอัตโนมัติแบบไร้สาย มันตั้งโปรแกรมได้ มันทำงานได้มากมาย เหมือนคอมพิวเตอร์ย่อส่วนทั้งหมดมาเป็นเทคโนโลยีของเรา แม้ว่าราคาอุปกรณ์ของเราจะแพงกว่า อุปกรณ์แบบเดิมๆ อย่างปลั๊กไฟ สายไฟทั่วไปที่เราใช้กันอยู่แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ แต่หากลองคิดดูว่าเราได้ความสะดวก ปลอดภัย เมื่อนำมาใช้ในบ้าน หรือลดการใช้พลังงานในการใช้กับสนามกีฬาใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานคนไปเดินปิดไฟฟ้าทีละดวง ทีละโซน ซึ่งกว่าจะปิดหมดก็ใช้เวลาไม่น้อย"

ในยุคสมัยที่คนทั่วโลกกำลังพูดถึงภาวะโลกร้อน การประหยัดพลังงาน นวัตกรรมของระบบควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าของ “ออลไลท์” นั้นได้รับการพัฒนาจนมิได้เป็นเพียงแค่สวิตช์ไฟ หากแต่เป็นวิวัฒนาการของการควบคุมที่ช่วยให้การใช้งานให้เกิดไฟฟ้าเกิดประโยชน์สูงสุด

โดย ณพล ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าประทับใจว่า "มันเป็นความภูมิใจของคนไทย ที่ตอนนี้เวลาใครไปเปิดตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าในสนามกีฬาโอลิมปิก 2008 จะเห็นแบรนด์ “ออลไลท์” ของเราปรากฏอยู่ และในอนาคตถ้าคนไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการใช้ไฟฟ้าอย่างมีคุณค่า และเพื่อความปลอดภัย เราจะได้เห็น “เซนเซอร์แมน” ในบ้านเรือนทั่วไป"

**********************
เรื่อง เชษฐา บรรจงเกลี้ยง

ณพล ธีรรัตนสถิต หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ “ออลไลท์”



นวตกรรมใหม่ เซ็นเซอร์แมน ยามที่ไม่เคยหลับ
นวตกรรมใหม่ เซ็นเซอร์แมน ยามที่ไม่เคยหลับ
กำลังโหลดความคิดเห็น