xs
xsm
sm
md
lg

“เครื่องคั่วอเนกประสงค์” ฝีมือ นศ.เทคนิคนครปฐม ผลผลิต Fix it center

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 คนเก่งจากวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม
“เมี่ยงคำ” เป็นอาหารที่คนภาคกลางนิยมรับประทานเป็นอาหารว่าง ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้นชะพลูออกใบ และยอดอ่อนมากที่สุดและรสชาติดีแต่จริงๆ แล้วเมี่ยงคำสามารถรับประทานเป็นอาหารว่างได้ตลอดทั้งปี แล้วแต่ว่าจะมุ่งรับประทานเพื่อความอร่อยหรือจะรับประทานเพื่อการดูแลสุขภาพ (การปรับสมดุลธาตุในร่างกาย)

เมื่อเอยถึง เมี่ยงคำ หลายๆ คนคงนึกถึง “เมี่ยงคำสูตรโบราณ” อันเลื่องชื่อของชาวบ้านในละแวกชุมชนวัดลำพญา ความหอมของมะพร้าวคั่ว และรสชาติกลมกล่อมของน้ำเมี่ยงคำที่คงความอร่อยมาแต่อดีต ทำให้เมี่ยงคำที่นี่สามารถสร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเป็นสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล(OTOP) ของตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

เรียกได้ว่า ใครมาถึงตลาดน้ำวัดลำพญา ไม่ได้ลองลิ้มชิมรสเมี่ยงคำคงจะมาไม่ถึงเป็นแน่ และจากความนิยมอย่างต่อเนื่อง ความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นขึ้น ชาวบ้านในชุมชนวัดลำพญาจึงจำเป็นที่จะผลิตให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยกรรมวิธีการทำเมี่ยงคำมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะการคั่วมะพร้าวและถั่วคั่วต่างๆ ให้หอมน่ารับประทาน ต้องอาศัยทั้งกำลังคนในการขูด-หั่น-ซอยมะพร้าวในปริมาณที่มาก และการคั่วให้มะพร้าวทั้งหมดให้สุกทั่วกันพอดี ต้องอาศัยระยะเวลานานเป็นวัน ครึ่งวันเลยทีเดียว

ด้วยแนวคิดที่มีความต้องการแก้ปัญหาความยากจน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ประกอบกับการได้รับโอกาสที่ดีจากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีนโยบายส่งเสริมการดำเนินการพัฒนาการวิจัยวิชาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ซึ่งดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผลิตเครื่องมือช่วยอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่าน 4 คำหลัก 4 แนวทางการปฏิบัติ คือ ซ่อม สอน สร้าง และส่งเสริม
 “เครื่องคั่วอเนกประสงค์”
ด้วยเหตุนี้นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ระดับ ปวช.ปีที่ 3 แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จึงช่วยกันคิดค้น “เครื่องคั่วอเนกประสงค์” ส่งเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท สิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในโครงการสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดประจำปีการศึกษา 2549 และรางวัลชนะเลิศ ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์เพื่อชีวิตพอเพียง ประจำปีการศึกษา 2550 จากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา กระทรวงศึกษา

“อานนท์ เกตุมอญ” นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปีที่ 3 แผนกวิชาช่างกำลังไฟฟ้า หนึ่งในสมาชิกที่ร่วมกันคิดการประดิษฐ์เครื่องคั่วอเนกประสงค์ และยังเป็นสมาชิกในโครงการขยายบทบาทศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ให้ข้อมูลว่า แนวคิดของการคิดสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนนี้ มาจากการที่สมาชิกเล็งเห็นถึงปัญหาจากการทำงานภายในชุมชนของตนเอง และมีแนวคิดที่ต้องการจะช่วยเหลือชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มพูนผลผลิตให้แก่ชาวบ้านสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพของสินค้าตนเองได้ อีกทั้งนำมาแก้ปัญหาการทำหากิน ช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงานได้เป็นอย่างดี

“เครื่องคั่วอเนกประสงค์นี้ ใช้กระบวนการคิดและออกแบบประมาณ 1 เดือน โดยเริ่มศึกษาจากการคั่วโดยใช้แรงงานคน แล้วนำมาดัดแปลงให้ออกมาเป็นเครื่องคั่วอเนกประสงค์ โดยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของมอเตอร์ประเภทต่างๆ การทำงานชุดเกียร์เฟืองและเพลา การทำงานของสายพานและการแผ่กระจายความร้อน อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกนอกจากการคั่วมะพร้าว นับเป็นการนำเอาความหลากหลายสาขาอาชีพ มาสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างครับ”

สำหรับหลักการทำงานของเครื่องคั่วอเนกประสงค์นั้น สามารถคั่วมะพร้าวได้ถึง 5 กิโลกรัมต่อหนึ่งรอบ โดยแยกส่วนการทำงานในส่วนของการคั่ว ซึ่งมีการทำงานให้ความร้อนในการคั่วโดยการใช้แก๊ส โดยมีส่วนควบคุมของมอเตอร์และใช้เฟืองทอรอบเพื่อให้เครื่องคั่วหมุนช้าลง เพื่อที่จะสามารถคั่วได้อย่างทั่วถึงและประหยัดพลังงานแก๊สในการคั่ว ข้อดีอีกข้อหนึ่งของเครื่องคั่วอเนกประสงค์ คือ มีการออกแบบโครงสร้างให้มีรูปทรงกะทัดรัดสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก ใช้สอยได้ในพื้นที่ที่จำกัด

เมื่อถามถึงความภูมิใจที่มีต่อสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ชิ้นนี้ อานนท์ บอกว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนของตนเอง ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัว และการได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในโครงการขยายบทบาทศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center ถือเป็นว่าเป็นโอกาสที่ดีครั้งหนึ่งที่จะช่วยเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนได้ฝึกทักษะวิชาชีพและฝึกการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง ทำให้เกิดความมั่นใจ และมองเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพในอนาคตภายหลังเรียนจบได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม แผนกวิชาช่างกำลังไฟฟ้ากำลัง โทร.0-34395093-5 ต่อ 116

กำลังโหลดความคิดเห็น