xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “สมัคร” จะใช้ “ปาก” ลบประวัติศาสตร์ (6 ตุลาฯ) หรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

แม้ขณะนี้จะไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 แต่เพราะ “ปาก” ของนายกฯ อย่าง “สมัคร สุนทรเวช” ที่อยู่ดีไม่ว่าดี ดันลุกขึ้นมา “บิดเบือน” ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวว่ามีแค่ “คนเดียว” โดยไม่สนว่า “ประวัติศาสตร์หน้าไหน” จะเคยบันทึกไว้อย่างไร? คำพูดและท่าทีของนายสมัครครั้งนี้ ช่างทำราวกับตนเป็นผู้ที่สามารถกำหนดประวัติศาสตร์ได้ อยากจะ “ลบ” หรือ “บิดเบือน” อย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องสนความรู้สึกของนักศึกษา-ปชช.ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ล้อมปราบในครั้งนั้น รวมถึงญาติของวีรชนที่สูญเสียลูก-สามี-ภรรยา ไปกับการฆ่าที่ “ป่าเถื่อน” ...บางที ต่อให้มีภาพเหตุการณ์สักกี่ร้อยภาพ ก็อาจไม่ช่วยให้คนอย่าง “สมัคร” เข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสีย จนกว่าจะถึงวันที่ตนต้องเป็นผู้สูญเสียเอง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

อยู่ๆ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในสายตาคนเดือนตุลาฯ มาตลอดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ก็ทำราวกับต้องการ “ปลุก” วีรชน 6 ตุลาฯ ให้ลุกขึ้นมายืนยันว่า นักศึกษา-ประชาชนที่ต้องสังเวยชีวิตไปกับการกระทำอัปยศของผู้มีอำนาจผู้ปกครองในครั้งนั้น หาได้มีแค่ 1 คนตามที่นายสมัครให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมาไม่!

หลายคนสงสัยว่า สติสัมปชัญญะของนายสมัครยังสมบูรณ์ดีหรือไม่ หรือว่าเป็นอัลไซเมอร์สมองเสื่อมไปแล้ว เพราะหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น นายสมัคร ซึ่งได้ดิบได้ดีเป็นถึงรัฐมนตรีมหาดไทย ได้เดินทางไปชี้แจงนักศึกษาไทยในฝรั่งเศสเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เมื่อ 4 มิ.ย.2520 (อ้างอิงจากหนังสือ “โหงว นั้ง ปัง : Gang of Five สันดานรัฐบาลหอย : เราสามารถจะเรียนรู้จากความผิดพลาดได้มากกว่าจากความสำเร็จ” เขียนโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และผู้บริหารพีทีวี) และ นายศิระ ดีระพัฒน์) โดยนายสมัคร พูดชัดว่า มีคนตาย 48 คน ถูกเผาตาย 4 คน แต่วันนี้กลับบอกต่อชาวโลกผ่านซีเอ็นเอ็นว่า “สำหรับผม ไม่มีการตาย คนหนึ่งโชคดีแค่ถูกแทง ส่วนอีกคนถูกเผาที่ท้องสนามหลวง มีแค่คนเดียวที่ตายในวันนั้น” ไม่เพียงนายสมัคร จะอ้างว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียว แต่นายสมัครยังยืนยันกับซีเอ็นเอ็นด้วยว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว!?!

ไม่น่าเชื่อว่า คนเดือนตุลาฯ ที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ (เช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง) จะนิ่งเฉย-ไม่รู้สึกรู้สากับคำพูดที่ “บิดเบือน” ประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรงของนายสมัครดังกล่าว ผิดกับคนเดือนตุลาฯ อีกจำนวนมาก รวมทั้งญาติวีรชนที่ตกเป็นเหยื่อของการล้อมปราบครั้งนั้น ที่ทนวาจาบิดเบือนของนายสมัครไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นมาย้อนประวัติศาสตร์เพื่อเรียกสตินายสมัครให้กลับมาอีกครั้ง เช่น

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตนายกสโมสรนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวมีเป็นร้อย แม้ตัวเลขทางการจะมีเพียง 46 คนก็ตาม ขณะที่อีกหลายคนยังสูญหาย ซึ่งญาติยังคงตามหากันทุกปี นายเอนก ชี้ด้วยว่า “สิ่งที่นายสมัครพูดออกมาถือว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์มากที่สุด นายสมัคร ไม่ควรนำเรื่องนี้มาพูดให้เป็นกระแส และถ้าจะพูด ก็ควรพูดด้วยการขอโทษต่อคนที่สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่า

ขณะที่ นายสมัคร ยังออกอาการยืนยันว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นถูกต้องแล้ว ไม่สนใจว่าประวัติศาสตร์หน้าไหนจะบันทึกไว้อย่างไร โดย นายสมัคร พูดกับผู้สื่อข่าวไทยที่ถามเรื่องนี้ว่า “ผมก็พูดตามที่ผมรู้ คุณเอาประวัติศาสตร์มา ใครเขียนผมไม่รู้ แต่ผมรู้ และผมยังมีชีวิตอยู่” ไม่เท่านั้น นายสมัคร ยังการันตีว่าตนเป็นคนดี โดยบอก “ถ้าผมทำอะไรผิด คงไม่ได้มาไกลถึงขนาดนี้ ผมคิดว่ามือผมสะอาด คนประเทศนี้รู้จักว่า ผมเป็นใคร ดังนั้น ผมไม่กลัว”!?!

ท่าทีและตัวตนของ นายสมัคร ไม่ได้ทำให้คนเดือนตุลาฯ รู้สึกแปลกใจ เพราะต่างรู้ว่านายสมัครเป็นคนแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว 1 ในคนเดือนตุลาฯ ที่เชื่อว่า นายสมัครจะไม่พูดความจริง ก็คือ นายโอริสสา ไอราวัณวัฒน์ อดีตประธานสภานักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และเลขาธิการแนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาชนแห่งประเทศไทย

“เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ถ้าจะเรียกร้องให้นายสมัครพูดความจริง เขาไม่พูดหรอก เขาก็จะยืนยันอย่างที่เขาพูดว่ามีตายแค่ 1 คน อ้างว่าเขาเห็นอย่างนั้น เป็นลักษณะส่วนตัวของเขา แต่ถึงยังไง คน 6 ตุลาฯ ควรจะนิ่งเฉยหรือเปล่า? ปล่อยให้นายสมัครอยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พูดไป หรือจะมีปฏิกิริยาอะไรออกมาบ้างกรณีที่นายสมัครบิดเบือนประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ แล้วเขาจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆ อีกหรือไม่ในอนาคต ก็น่าคิด ที่สำคัญที่สุด คน 6 ตุลาฯ ที่ทำงานกับนายสมัครจะสะกิดอะไรนายสมัครได้หรือเปล่า ก็น่าคิด”

ด้าน นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งได้ร่วมประชุมกับคนเดือนตุลาฯ และเครือข่ายญาติวีรชน 6 ตุลาฯ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา(เมื่อ 13 ก.พ.) เผยบรรยากาศการประชุมดังกล่าว ว่า คนตุลาฯ บางคนเสนอว่า นายสมัครต้องขอโทษที่ให้ข้อมูลที่บิดเบือนต่อสาธารณะแบบนี้ เพราะการอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียว ถือว่าส่งผลกระทบต่อญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย และว่า คนเดือนตุลาฯ บางคนรู้สึกสะเทือนจิตใจมากกับคำพูดของนายสมัคร ถึงกับบอกว่า “ถ้านายสมัครไม่ขอโทษหรือบอกความจริงกับประชาชน คงต้องใช้ระเบิดพลีชีพแน่

นพ.กุศล บอกด้วยว่า คนเดือนตุลาฯ และญาติวีรชน จะจัดเสวนาเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงกรณี 6 ตุลาฯ อีกครั้งวันที่ 17 ก.พ.นี้ นพ.กุศล ยังให้ข้อคิดเพื่อเตือนสตินายสมัครด้วยว่า ควรทำอย่างไรกับคำพูดของตัวเองในครั้งนี้

“เรารู้ดีว่าท่านคือใคร ท่านทำอะไรไว้ ไม่ใช่ว่าท่านทำอะไรไว้ในอดีตตอนที่เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย หรือก่อน 6 ตุลาฯ แต่ตอนที่ท่านเป็นผู้ว่าฯ กทม.ท่านทำอะไรไว้ก็มีคนรู้ตั้งเยอะแยะ เพราะฉะนั้นผมก็เลยคิดว่า ตัวท่านเองนั่นแหละ ท่านควรจะรู้ว่าท่านทำอะไรลงไป อันแรกๆ เลยขอให้ (นายสมัคร) นึกถึงใจของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นนักศึกษาสมัยนั้น แล้วถูกเอาไปแขวนคอ จับไปเผา มันเป็นชีวิตจริงนะ เป็นชีวิตจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกม ว่า ความเจ็บปวดของคนที่ถูกฆ่าอย่างไม่ยุติธรรม ไม่ได้รับการไต่สวน ไม่ได้รับการเยียวยา พ่อแม่ที่เขาอยู่เนี่ย บางคนต้องเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุลไปเลย ด้วยเหตุผลที่ว่ากลัวภัยการเมือง มันเป็นเรื่องที่ขอให้คุณสมัครย้อนกลับไปนิดหนึ่งและคิดถึงสิ่งเหล่านี้ แล้วคุณสมัครจะตอบได้เองว่า ควรจะทำยังไง ไม่ว่าจะเป็นคำขอโทษหรือการที่จะไปเยียวยาหรือการที่จะไปชำระประวัติศาสตร์ก็แล้วแต่”

ขณะที่ หงา คาราวาน อดีตคนเดือนตุลาฯ ก็รู้สึกไม่ดีเช่นกันที่นายสมัครอ้างว่ามีคนตายแค่คนเดียวในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ โดยเชื่อว่า การที่นายสมัครอ้างอย่างนั้น เพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่หาคิดไม่ว่า คำพูดอย่างนั้นจะเป็น “ดาบ” ที่ย้อนกลับไปแทงตัวเอง

“คิดว่าเขาพูดด้วยความไม่ให้ความสำคัญน่ะ และตัวเขาเองก็เป็นปฏิปักษ์ต่อคนเดือนตุลาฯ อยู่แล้ว เป็นมานานแล้ว เขาจะไม่ชอบพวกนักศึกษาอะไรในอดีต แต่การที่เขาพูดออกมาอย่างนั้นมันเหมือน “ดาบ” ที่จะต้องกลับไปย้อนแทงเขาเอง ซึ่งผมไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมเขาต้องพูดอย่างนั้น มันเหมือนกับดูถูกตัวเอง ถ้านายกฯ คนปัจจุบันพูดในเรื่องราวของ 6 ตุลาฯ ว่ามีคนตายเพียงเท่านั้น นายกฯ ก็ดูถูกภูมิปัญญาของตนเอง (ถาม-รู้สึกยังไงที่คนเดือนตุลาฯ ในพรรคพลังประชาชนไม่มีปฏิกิริยาต่อคำพูดของคุณสมัคร พยายามเลี่ยงการให้สัมภาษณ์?) ผมคิดว่าพวกเขาก็คงเกรงใจหัวหน้าพรรค และให้เกียรติหัวหน้าพรรคของเขา เขาคงไม่อยากแสดงว่าในพรรคมีความเห็นที่แตกต่าง หรือมีความเห็นที่ผิดจากกัน เพราะช่วงนี้เริ่มมี “กลิ่นหอม”ของการเป็นรัฐบาล ซึ่งผลประโยชน์มากมายมหาศาล มันรออยู่ ผลประโยชน์มากมายเหล่านี้ทำให้หลายๆ คนต้อง “ปิดปากเงียบ” ผมคิดว่าผลประโยชน์โผล่มาปั๊บ มันทำให้นักการเมืองมัน “เปลี่ยนสีแปรธาตุ” ไป (ถาม-คิดว่าคำปฏิเสธของคุณสมัครที่ว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เลย ฟังได้มั้ย?) ฟังไม่ได้ เพราะตัวเขาเองบทบาทสูงมาก ทุกคนก็รู้ ประวัติศาสตร์มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ ทุกคนก็รู้ว่าสมัครอยู่ข้างไหนในสมัยนั้น”

ด้าน นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และอดีตคนเดือนตุลาฯ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่และกลุ่มที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ทุบตีด้วยไม้และเหล็กระหว่างล้อมปราบ มองว่า คำพูดของนายสมัคร ที่อ้างว่า มีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียวนั้น เป็นคำพูดที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพราะผู้พูดอยู่ในฐานะนายกฯ อย่างไรก็ตาม นายสมชาย มั่นใจว่า สำนักข่าวต่างประเทศอย่างซีเอ็นเอ็นย่อมมีข้อมูลและภาพในสตอกของตนเองอยู่แล้วว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีผู้เสียชีวิตกี่คนแน่ ไม่ใช่ว่าฟังนายกฯ ของไทยพูดแล้ว ซีเอ็นเอ็นจะต้องเชื่อตามนั้น

นายสมชาย ยังชี้ด้วยว่า คำพูดของนายสมัครถือเป็นการบิดเบือนอย่างโจ่งแจ้งและกลางวันแสกๆ ดังนั้น คนเดือนตุลาฯ คงจะต้องมีการประท้วงหรือเรียกร้องให้นายสมัครแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง

ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้ (6 ตุลาฯ) เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงทางประวัติศาสตร์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยก็ได้ และผมคิดว่าเรื่องประวัติศาสตร์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป เพราะถ้าผ่านมาและผ่านไปแล้วเนี่ย คนจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เลย นั่นหมายความว่า เมื่อสังคมไม่ได้เรียนรู้ความถูกต้อง ความดีความงาม หรือความเลวความร้ายในอดีตแล้ว การที่จะก้าวไปสู่อนาคตนั้นก็คงเป็นไปได้ยาก ในแง่นี้เองมีความพยายามอย่างมากของคนเดือนตุลา ของนักวิชาการที่เรียกร้องให้มี “การชำระประวัติศาสตร์” ในเรื่องนี้ แต่ความพยายามตรงนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากหน่วยงานของรัฐ หรือจากรัฐบาล ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็น “การบิดเบือนอย่างโจ่งแจ้ง กลางวันแสกๆ และกลางเมือง” คนเดือนตุลาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาหรือเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น ก็คงจะต้องมีการประท้วงกันและเรียกร้องให้ท่านแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง”

“(ถาม-รู้สึกยังไงที่คุณสมัครจะออกตัวตลอดว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่อย่างใด?) อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ต้องชำระประวัติศาสตร์ แต่เป็นที่รับรู้ของนักวิชาการ ของสังคม ของคนที่ตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คุณสมัครเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์นั้น แต่จะมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็คงต้องเป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์ต้องเปิดเผย ปัญหาคือประวัติศาสตร์ในแง่มุมนี้ถูกเอาไป “ซุก” อยู่มุมไหนก็ไม่ทราบ โดยกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับล่างและระดับสูงของเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่เป็นผู้เข่นฆ่านิสิตนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ”

พูดถึงการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้ว คนเดือนตุลาฯ หลายคนอยากให้ชำระทั้งในแง่ว่า ใครฆ่านักศึกษาและประชาชน รวมทั้งอยากให้ประวัติศาสตร์บันทึกให้ชัดเจนด้วยว่า การแสดงละครล้อเลียนของนักศึกษาช่วง 6 ตุลาฯ เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงกรณีช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐมหลังติดป้ายต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร นั้น ไม่ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามที่กลุ่มอำนาจเก่า-ฝ่ายขวาในขณะนั้นกล่าวหาแต่อย่างใด นายอภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่แสดงละครล้อเลียนดังกล่าว น่าจะยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด

“การแสดงละครนี้ไม่ได้ผิด ความผิดมันอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งที่ไปเห็นฟิล์มนี้ แล้วแต่งฟิล์ม …แล้วก็เอาอันนี้ไปขยายความ นึกออกมั้ย ถ้าเราเห็นรูปๆ หนึ่ง เอ๊ะ! รูปนี้คล้ายๆ …พูดขึ้นมาปั๊บ มันก็มีคนมาขยายตรงนี้ต่อไป ขยายไปเรื่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดมันไม่ไหว การขยายความนี่มันอยู่ที่ “หนังสือพิมพ์ดาวสยาม” พาดหัวเป้งลงไป แล้วมีคนอย่างท่านสมัคร สุนทรเวช มีคนอย่างท่านอุทาร สนิทวงศ์ มีคนอย่างทมยันตี ใครต่อใครออกมาปั่นต่อทางสถานีวิทยุ มันเร้าอารมณ์คน (ให้เกลียดชังนักศึกษา) สิ่งที่ผิดคือ คนที่มองภาพนี้ แล้วก็แต่งเติมให้มันเหมือนมากขึ้น คือขั้นตอนที่มันผิด คือขั้นตอนที่ขยายตรงนี้ออกมาสู่ประชาชนเนี่ยผิดทั้งขั้นตอนเลย มันทำให้คนไทยฆ่ากันเองโดยไม่รู้ตัว ผมว่าคนที่ผิดก็คือ คนที่ฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปขยาย”

นายอภินันท์ ยังเคยเปิดใจ (กับวิทยุผู้จัดการ) ด้วยว่า แม้กรณี 6 ตุลาคม 2519 จะมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายไปแล้ว แต่หากเป็นไปได้ ตนขอให้มาขึ้นศาลกันใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่า ใครถูกใครผิด เพราะนักศึกษาไม่ได้ผิด ไม่ได้แสดงละครหมิ่น และไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่คนผิดคือ คนที่เข้าไปฆ่านักศึกษา

“จริงๆ แล้วมันมีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา นิรโทษกรรมให้แก่ทุกคนที่กระทำผิดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม อยากจะบอกว่า จริงๆ แล้ว พวกเรานักศึกษาหรือประชาชน ไม่ได้ทำผิด อยากจะให้มาขึ้นศาลกันใหม่เลย แล้วพิจารณากันไปตามตรงเลย คนที่ทำผิดคือคนที่เข้าไปฆ่านักศึกษา แม้แต่ละครเรื่องนั้น (ก็ไม่หมิ่นฯ) นักศึกษาก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ อยากให้มีการพิจารณาตรงไปตรงมา เอานิรโทษกรรมออกไปเลย การนิรโทษกรรมนี่ มันเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่กระทำความผิดจริงๆ แต่ความผิด-ถูกยังไม่ได้รับการตัดสินอย่างแน่ชัด”

น่าติดตามอย่างยิ่งว่า ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะมีวันได้ชำระอย่างที่คนเดือนตุลาฯ ต้องการหรือไม่ และอยากฟังคำตอบจากปากของผู้ที่ปฏิเสธมาตลอดว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างนายสมัคร ว่าจะยินดีให้มีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ หรือไม่? ...อย่างน้อย เมื่อได้คำตอบทุกอย่างชัดเจนว่า ใครฆ่านักศึกษา-ประชาชน ใครอยู่เบื้องหลัง ใครมีบทบาทบ้าง ท่านนายกฯ สมัครจะได้ไม่หลงลืมหรือบิดเบือนประวัติศาสตร์แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้อีก!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย 6 ตุลา..วันล้อมปราบนักศึกษาประชาชน!!











กำลังโหลดความคิดเห็น