xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจใต้รอยสัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ในเขตเมืองเชียงใหม่มีแก๊งสารพัด ทั้งกลุ่มเด็กพั้งค์ เด็กมีลายสักเป็นสัญลักษณ์ยกพวกตีกันและใช้ดาบซามูไรไล่ฟันกลุ่มตรงข้าม”

เป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คนทั่วไปและคนที่อยู่เชียงใหม่จึงมองเด็กเหล่านี้ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา ทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเด็กและคนที่มีลายสัก เช่น เด็กที่มีลายสักที่แขนบางคนเล่าว่า เคยไปสมัครงานแห่งหนึ่งแล้วเขาบอกไม่รับ แม้จะไม่ได้บอกเหตุผลตรงๆ แต่สายตาและการแสดงออกก็พอรู้ว่าเหตุผลที่เขาไม่ได้งานนั้นก็เพราะลายสักที่ปรากฏให้เห็นอยู่บนตัวนั่นเอง

ภาพพจน์ของวัยรุ่นชายหญิงเชียงใหม่ที่มีรอยสัก กลายเป็นภาพสะท้อนด้านลบของความรุนแรง การก่อความวุ่นวายและอาชญากรรมที่ติดตามมา ส่งผลให้พวกเขาถูกกีดกันและแบ่งแยกจากสังคม ทั้งที่ลึกลงไปภายใต้รอยสักเหล่านั้น อาจมีหลายหัวใจที่กำลังรอโอกาสแก้ไขสิ่งผิดพลาดอีกสักครั้ง


มีลาย-ไม่มีเหล้า จุดเริ่มต้นในการทำความดี

“โครงการมีลาย ไม่มีเหล้า” หนึ่งในโครงการย่อย ของโครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อการลด ละเลิกเหล้า (สพล.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยมีรัชนี ศรีอ่อนศรี หรือพี่หล้าของน้องๆ เป็นผู้ประสานงาน ดำเนินกิจกรรมกับกลุ่มวัยรุ่นชายหญิงที่นิยมในการสักลวดลายต่างๆ ตามร่างกาย อาทิ กลุ่มเด็กพังค์ เด็กแว้นต์ เด็กเที่ยว ฯลฯ ที่สักเพื่อวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป อาทิเช่น สักเพื่อความงาม เพื่อเสริมกำลังใจ เพื่อเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือเพื่อความเป็นกลุ่มหรือพวกพ้องเดียวกัน ปัจจุบันการสักจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล้ามากขึ้น เช่น ในการสักลาย ผู้สักเชื่อว่าเมื่อดื่มเหล้าแล้ว ทำให้มีสมาธิ ใจกล้าสามารถแสดงความเป็นลูกผู้ชายเพื่อให้เกิดเป็นที่หมายปองต่อเพศตรงข้าม

ดังนั้นโครงการสักลายสร้างเครือข่ายการลดเหล้า ได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มวัยรุ่นที่มีลายสักอันมีวิถีชีวิตที่วนเวียนกับเหล้าอย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การทำแท้ง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ แต่นอกเหนือจากปัญหาทางด้านลบแล้ว กลุ่มวัยรุ่นมีลายสักยังมีจุดเด่นคือเป็นกลุ่มที่มีเพื่อน แก๊ง มีการรวมตัวเป็นเครือข่าย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างเครือข่ายในการลด ละเลิกเหล้าได้ โดยผ่านการกระตุ้นแกนนำผู้มีลายให้เห็นคุณค่าของตนเอง และผลกระทบของการดื่มเหล้า

ที่สำคัญ เป็นการให้โอกาสพวกเขา...วัยรุ่นชาวเชียงใหม่ที่พิสมัยรอยสัก ได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่าแม้จะมีลาย (สัก) พวกเขาก็เอาดีได้

เรียกผมว่า “พังค์”

ประโยคหนึ่งในระหว่างถ้อยคำสนทนา ที่เด็กหนุ่มผู้สักลายพร้อยไม่ต่ำกว่าสิบแห่งทั่วทั้งตัวผู้นี้บอกกับเรา เขาบอกเรียบๆ แต่จริงจังว่า “ผมไม่ชอบให้ใครมาเรียกว่าเด็กพังค์ ถ้าจะเรียกก็เรียกพังค์เฉยๆ”

บิ๊ก คือชื่อของเขา... ภายนอกบิ๊กดูไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่หลงใหลในวิถีของความเป็นพังค์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามันคือการแสดงออกต่อต้านสังคมในรูปแบบหนึ่ง

“นิยามความเป็นพังค์ของผมคือ ประชดทุกอย่างที่เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง”

แต่แน่นอนว่า ไม่มีใครเกิดมาเป็นขบถตั้งแต่ออกจากท้องแม่ บิ๊กก็เช่นกัน...เขาเกิดมาในครอบครัวที่ตระกูลของพ่อเป็นทหารมาตั้งแต่รุ่นปู่ ญาติพี่น้องของเขาหลายคนเป็นนายทหารยศนายพล แต่พ่อของบิ๊กเองกลับเป็นแกะดำของบ้าน เพราะเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เป็นทหารอาชีพ บิ๊กจึงเติบโตมาแบบถูกเลี้ยงให้มีอิสระตั้งแต่เด็ก

อิสระทั้งในเรื่องเรียน การมีแฟน ไปจนถึงการแยกตัวออกมาใช้ชีวิตในหอพักเพียงลำพังกับเพื่อน หลังจากที่เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุยังไม่เต็มถึง 16 เพราะไปต่อยหน้าอาจารย์ฝ่ายปกครอง

“เขาหาว่าผมใส่รองเท้าผิดระเบียบ ให้ผมใส่รองเท้าข้างเดียวเดินเขย่งกลับบ้าน ผมก็เลยต่อยเขา”

การตัดสินใจเพราะอารมณ์วูบเดียวของเขา ทำให้บิ๊กต้องเคว้งคว้างไม่ได้เรียนหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง โชคดีที่เขาได้พบกับรัชนี หรือพี่หล้าที่ชักชวนเขามาเข้ากลุ่มทำกิจกรรม จนทุกวันนี้บิ๊กเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำรุ่นน้อง ขณะที่กำลังเรียนต่อด้านศิลปะในสถาบันแห่งหนึ่งใกล้จะจบแล้ว

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการสักของเขา บิ๊กกล่าวว่า “ผมว่ามันเป็นศิลปะ มันไม่ใช่ดูเป็นขี้คงขี้คุก ผมว่ามันไม่เกี่ยว มันอยู่ที่นิสัย ที่การกระทำของคนมากกว่า สังคมนี้มองคนผิดๆ ตอนนี้ผมว่า ไม่เปิดโอกาสให้คนยอมรับ ไม่เปิดโอกาสให้ใครได้พูดอะไรมากมาย ไม่ยอมรับในตัวตนของคนนั้นๆ ดูเขาแต่ภายนอก ทุกวันนี้ผมก็ยังโดนคนมองแปลกๆ ทุกวัน ไปไหนไปตลาดก็มีแต่คนมอง ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงได้ เขามองผมเป็นยังงั้น แต่เขาอาจไม่รู้เลยว่าพวกผมเป็นยังไง” บิ๊กฝากทิ้งท้ายให้สังคมที่มองคนแต่ภายนอกเข้าใจพวกเขาบ้าง

แซ้บเกิร์ล

นั่นไม่ใช่คำนิยามที่เรายัดเยียดให้เธอ หญิงสาวร่างเล็กผู้ที่แทนตัวเองว่า “อีฟ” เป็นคนบอกกับเราเองว่า ในอดีตพฤติกรรมและการใช้ชีวิตผาดโผนในช่วงวัยรุ่นของเธอ หากจะเทียบกับเด็กวัยรุ่นในยุคนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า เด็กแซ้บ...

แม้ทุกวันนี้อีฟเองกำลังจะจบปริญญาตรีจากสถาบันแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ แต่เมื่อหลายปีก่อนเธอคนเดียวกันนี้กลับโดดเรียนเป็นว่าเล่น ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่จับกลุ่มอยู่กับเพื่อนที่โดดเรียนมาเหมือนกันอยู่ที่ร้านนมบ้าง หรือสวนสาธารณะกลางเมืองเชียงใหม่บ้าง ที่นั่นคือแหล่งนัดพบของวัยรุ่นที่เบื่อหน่ายห้องเรียน

“มันไม่ใช่ว่าไม่ชอบ แต่ลักษณะโรงเรียนพาณิชย์ที่เป็นโรงเรียนเปิด พอเราออกจากบ้านเพื่อนชวนไปเที่ยวก็เลยโดด ส่วนมากก็จะไปเซนเตอร์พอยต์ข้างโรงเรียนยุพฯ ซึ่งเป็นตลาดบุญอยู่ แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นยุคนั้นจะเรียกว่าเซนเตอร์พอยต์ ก็ไม่มีอะไรมันจะมีร้านนมก็นั่งสุมหัวกัน แล้วก็มีร้านเกมก็อยู่กันทั้งวัน ตามประสาวัยรุ่นน่ะพี่ มันก็มีเรื่องมีราวตีกันบ่อยมาก” อีฟเล่าย้อนให้ฟังว่า เธอเองก็ต้องคอยวิ่งหลบตำรวจอยู่บ่อยครั้งเวลาที่มีคนแจ้ง ครั้งหนึ่งเพื่อนของเธอถูกจับไปโรงพักเกือบหมด แต่ก็แค่ถูกตักเตือนลงบันทึกประจำวัน ไม่ได้มีการเรียกผู้ปกครองมาพบทำให้ไม่มีใครเข็ดหรือกลัวตำรวจเท่าที่ควร

“เมื่อก่อนมันจะมีสเปซ เป็นที่ที่เขาไปเล่นโรลเลอร์เบลด เล่นสเก็ต มันมีอบายมุขมีเหล้ามีเบียร์ขายด้วย เหมือนเป็นเธคกลางวัน มันจะมืดๆ เขาก็จะไปสิงเป็นกลุ่มๆ ถ้าเป็นตอนนี้ก็คงจะเรียกว่าแซ้บได้ แต่สมัยนั้นมันยังไม่มีคำเรียกอย่างทุกวันนี้ว่า กลุ่มนั้นแวนต์ กลุ่มนี้สก๊อย ฯลฯ มันเป็นกันหมด เมื่อก่อนพวกที่อายุเยอะกว่าหนู เขาก็คงจะเรียกหนูว่าอย่างนั้นล่ะพี่” อีฟเล่าพร้อมหัวเราะ เพราะเธอเองตอนที่เริ่มทำกิจกรรมโครงการฯ ใหม่ๆ ที่ต้องคลุกคลีกับเหล่าวัยรุ่นสารพัดแบบ ทั้งเด็กแวนต์ แซ้บ สก๊อย ฯลฯ อีฟเองยอมรับว่าเธอก็เคยมองเด็กเหล่านี้ไม่ดี ทั้งที่ครั้งหนึ่งในอดีตเธอเองก็เคยเป็นเหมือนกับพวกเขา

นอกจากเรื่องยกพวกตีกันแล้ว ปัญหาเรื่องยาเสพติด การท้องแล้วทำแท้งก็เริ่มติดตามมา ใครเลยจะเชื่อว่าเด็กที่ดูเรียบร้อยในสายตาพ่อแม่ ครั้งหนึ่งเธอจะเคยถลำลึกถึงขั้นเป็นทั้งผู้เสพและค้ายามาแล้ว

“พวกหนูจะขายมากกว่าใช้ ตอนแรกเพื่อนก็เอามา เฮ้ย! ลองไหม...แฟนให้มา โชคดีที่ไม่ติด เพื่อนมีก็เอามาแบ่งกัน แต่ส่วนใหญ่จะขายมากกว่า ยาบ้าเมื่อก่อนมันถูกพี่ เม็ดนึง 70 สิบเม็ดก็ 700 แล้วเราเอามาขายร้อยหนึ่ง เราก็ได้กำไร 30 วันหนึ่งเราขาย 10-20 หลอด จะเอาใส่หลอดดูดไว้แล้วก็เอาไฟลน แล้วก็แอบเอาใส่กระเป๋า หรือไม่ก็พับดาวเอาใส่ในดาว แล้วก็จะมีขวดโหลเล็กๆ เอาใส่กระเป๋า จากนั้นก็เอาของไปปล่อยแถวสามกษัตริย์เขาก็จะรู้กัน สมัยนั้นมีโทรศัพท์แล้วก็จะโทรนัดส่งของ ถ้าหน้าแปลกๆ มาจะไม่ค่อยให้ เพราะมันเสี่ยง”

“คือเราก็เคยลองมาหมด จนกระทั่งมาเจอพี่หล้า ตอนนั้นโรงเรียนก็จะไล่ออกแล้ว ที่บ้านก็ไม่รู้ พ่อกับแม่ก็เห็นว่าลูกไปโรงเรียนทุกวัน คือบ้านหนูก็อบอุ่นนะคะไม่ได้มีปัญหาอะไร พี่หล้าก็ชวนมาทำกิจกรรม โครงการสอนใช้ถุงยาง ใช้ยาคุม แรกๆ ก็เอาไปขายให้เพื่อนเพราะมันถูกกว่าซื้อตามเซเว่น ตามร้านขายยา”

ไม่อายเหรอ...เพราะเราเป็นเด็กผู้หญิงแต่ไปซื้อถุงยางในเซเว่น? เราย้อนถามเธอ อีฟบอกตามตรงว่า

“ถ้าพูดถึงตอนนี้นะคะ ถ้าเป็นอีฟๆ อาย แต่เมื่อก่อนเราอายุ 18-19 ไม่อาย เฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา”

อีฟย้อนกลับไปถึงวันที่เจอ ‘พี่หล้า’ ให้ฟังว่า “พี่หล้าก็ไปเดินๆ แล้วเข้ามาทักทาย มาชวนเรา มาร่วมกิจกรรมกับปี้เน้อ แรกๆ ก็มีอะหยังวะ? ไผวะ? อีเจ๊นี่...เพื่อนบอกลองดูก็เลยไปกัน แล้วพี่เขาก็โทรหาเราตลอดเหมือนเขาใส่ใจเวลาเรามีปัญหาอะไร”

วันหนึ่งเมื่ออาจารย์โทรศัพท์ไปหาพ่อของเธอที่บ้าน ให้มาเซ็นใบลาออก ครอบครัวของอีฟจึงรับรู้เป็นครั้งแรกว่าลูกสาวไม่ได้ไปเรียนหนังสือ พี่หล้านี่เองที่เป็นคนเข้ามาเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อแม่ของอีฟ โดยเสนอให้เรียนกศน. แทนที่จะเสียเวลาระหว่างนั้นไปเปล่าๆ หนึ่งปี

“พี่หล้าเป็นคนจัดการให้หมดทุกอย่างกับแก๊งของเราครบเซ็ตเลย มีทั้งผู้หญิงผู้ชายไปเรียนด้วยกันที่กศน.วัดศรีสุพรรณ”

วันนี้ที่ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปหลังจากได้เข้ามาทำกิจกรรมในโครงการฯ อีฟบอกว่า “พอทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ พี่หล้าก็ชวนเป็นแกนนำ มาเป็นแกนนำเราก็รู้สึกว่าได้ทำตัวมีประโยชน์ ให้คำแนะนำปรึกษากับน้องๆ เพราะเราเคยผ่านตรงจุดนั้นมาก่อน แล้วเรายังมีรายได้ด้วย เรียนหนังสือไปด้วย”

ทุกวันนี้เพื่อนในกลุ่มของอีฟบางคนบ้างก็เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด เกิดอุบัติเหตุเพราะแข่งรถบ้าง แต่คนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมในโครงการกับพี่หล้าต่างมีอนาคตที่ดีขึ้น แม้บางคนอาจไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้าน แต่ก็ทำงานเลี้ยงตัวเองอย่างสุจริต

“เมื่อก่อนอีฟทำอะไรไม่เคยคิดเลย ไม่เคยคิดถึงพ่อถึงแม่ ไม่เคยคิดถึงคนที่เรารักและเขารักเรา จะคิดถึงแต่ความสนุกวันๆ อยากให้คิดสักนิดหนึ่ง อย่างอีฟโชคดีมาก ไม่งั้นคงแบบ...ยิ่งกว่านี้” อีฟฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังคิดอยากลองเดินในเส้นทางสายที่เธอเคยผ่านมาแล้ว

ความจริงเบื้องหลังข่าว...แก๊งซามูไร

เด็กหนุ่มสวมแว่นสายตากรอบบางสีเขียวตรงหน้า หากใครได้พบเห็นก็คงคิดว่าเขาเป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป แต่ใครจะคิดว่า คอง...หรือคิงคองของเพื่อนๆ คือหนึ่งในหัวหน้าแก๊งป่าตัน แก๊งวัยรุ่นท้องถิ่นแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

อดีตสมาชิกแก๊งซามูไรวัย 21 วัยที่ตามนิยามของยูเอ็นแล้วเขายังเป็นเยาวชนอยู่ แม้ตามหลักกฎหมายไทยเขาจะพ้นวัยช่วงรอยต่อระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่นี้ไปตั้งแต่อายุ 18 ปีแล้วก็ตาม เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่เขาจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าสายในทุกวันนี้ เขาเริ่มต้นจาก “เบ๊” ที่คอยรับใช้ทุกอย่างตามคำสั่งของหัวหน้าและบรรดาลูกพี่ในกลุ่ม
ภาพของแก๊งซามูไรที่เห็นจากข่าว ทำให้เรานึกว่าพวกเขาคงมักก่อแต่เหตุรุนแรง แต่คองบอกว่า

“วันๆ ก็นั่งคุยกันเฉยๆ ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านมารวมตัวกัน ในเชียงใหม่มีอยู่ 30-40 กว่าแก๊ง ตามข่าวเรียกเหมารวมว่าแก๊งซามูไร แต่จริงๆ มีแยกออกไปอีกหลายสาย อย่างป่าตันของผมก็จะแยกออกไปเป็นเด็กแว้นต์ แก๊งหนึ่งจะมีสาขาสัก 2-3 สาขาขึ้นไป มีสมาชิกประมาณ 40-50 คนได้”

ส่วนที่มาของการกำเนิดแก๊งนั้น คิงคองบอกว่ามีหลากหลายบางทีก็สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นน้าจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากนักเลงแต่ละหมู่บ้านกลายมาเป็นแก๊งต่างๆ ในปัจจุบัน ส่วนข่าวที่ดูน่ากลัวของแก๊งซามูไรถือดาบไล่ฟันกันนั้น เขาชี้แจงว่า

“นักข่าวเขียนแบบนั้นทำให้เหมารวม จะให้แก๊งแต่ละแก๊งมานั่งอธิบายก็คงโดนจับกันหมด เวลาใครก่อเหตุก็เรียกเป็นฝีมือแก๊งซามูไรหมด ในเชียงใหม่มีตั้งเยอะ มีเอ็นดีอาร์ ออลเวย์ สันทรายที่แยกออกมา หรือวังเหล็กกับโออิชิที่แยกจากเอ็นดีอาร์ซึ่งเป็นสายใหญ่ที่สุด”

หลักการของแก๊งที่คิงคองบอกก็คือ “หน้าสั่งท้ายตาม” คือ หากหัวหน้าสั่งลุย ลูกน้องที่เหลือต้องทำตามห้ามขัด แต่ทุกวันนี้เขาบอกว่าเมื่อขึ้นมาเป็นหัวหน้าเอง เขาจะใช้อำนาจที่มีไกล่เกลี่ยเจรจามากกว่าจะใช้ความรุนแรง ทุกวันนี้แก๊งซามูไรที่เที่ยวไล่ฟันคู่อริไม่ค่อยมีอยู่อีกแล้ว คิงคองบอกว่า เดี๋ยวนี้วัยรุ่นในเชียงใหม่มีหลายกลุ่มมากขึ้น บางทีก็ไม่สังกัดแก๊ง อย่าง แซ้บที่จะใส่กางเกงขาเดฟ เสื้อรัดรูปหน่อยๆ หรือฮิปฮอปที่ใส่กางเกงตัวใหญ่ ไปจนถึงสก๊อยที่คอยตามซ้อนท้ายเด็กแว้นต์

ทุกวันนี้ นอกจากจะครองตำแหน่งหัวหน้าแก๊ง คิงคองยังเป็นแกนนำที่คอยชักจูงสมาชิกให้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในโครงการอยู่อีกด้วย

“จากข่าวเด็กแว้นต์มักจะถูกมองไม่ค่อยดี แต่ที่ผมตั้งกลุ่มเด็กแว้นต์ขึ้นมาเพราะอยากจะทำให้คำว่าเด็กแว้นต์มันมีค่า พลิกอีกมุมให้สังคมเห็นอีกด้านของเด็กแว้นต์ ทำให้มันดีขึ้น กลุ่มทุกกลุ่มต้องมีทั้งดีและไม่ดี เราอาจจะเคยตีกันเพราะศักดิ์ศรี แต่วันนี้พวกเราก็รวมกลุ่มทำความดีกันได้”

“การสัก” คุณค่าและความหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

ลายสักทุกชนิดย่อมมีความหมายไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความหมายอาจเป็นไปอย่างสากล คือ เป็นที่เข้าใจของคนทั่วไป หรืออาจมีความหมายที่เข้าใจเฉพาะตัวผู้สักก็ได้ รูปรอยที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสัก นอกจากจะเป็นรูปรอยที่มีความหมายแล้ว ยังจะต้องมีความงามในเชิงสุนทรียภาพ มีความสง่าเป็นที่เกรงขามในเชิงจิตวิทยา ดังนั้นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสักจึงต้องเป็นสัญลักษณ์ที่มีสุนทรียภาพ และมีความหมายที่ลึกซึ้งอีกด้วย จึงจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่า

ในอดีตการสักหรือลายสักต่างมุ่งเน้นเพื่อการเสริมความเข้มแข็งในด้านจิตใจ เพื่อความขลัง ความอยู่ยงคงกระพัน แม้ว่าจะมิได้มุ่งที่ความสวยงามเป็นสำคัญ แต่เป็นที่ความขลัง ความขรึม ความศักดิ์สิทธิ์ แต่ความงามของสัญลักษณ์ที่ใช้ก็ยังคงต้องคำนึงถึงเหมือนกัน ลวดลายการสักเป็นลวดลายที่มองด้วยตา หากไม่มีความงามก็จะไม่มีคุณค่า เช่น คนสมัยก่อนหากเป็นชายที่มีลายสัก ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่า มีอำนาจ

ในสมัยก่อนชายไทยในล้านนามีเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นลุกผู้ชายอย่างหนึ่งคือ รอยสัก ซึ่งต่างก็นิยมสักยันต์ตามร่างกายซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ชายแม้แต่ผู้หญิงก็นิยมสักเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นเครื่องรางของขลังอันมีเสน่ห์ เมตตามหานิยม สามารถคุ้มครองภัยพิบัติอันเกิดจากการรบราฆ่าฟันกันได้ หรือภัยจากโรผู้ร้ายที่มาข่มเหงรังแกบุคคลในครอบครัวได้ ประกอบกับในอดีตผู้ที่สักจะเป็นคนดีมีศีลธรรมและเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำรงชีวิตมีผัวเดียวเมียเดียวไม่ผิดลูกผิดเมียใคร ผู้ที่สักจะเป็นคนที่รับความเคารพนับถือจากชุมชนและคนรอบข้างเพราะในอดีตคนที่สักจะมีข้อตกลงซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการสัก เช่น ก่อนทำการสักผู้สักต้องถือศีลกินเจ และหลังจากสักแล้วก็ต้องมีข้อห้ามและต้องยึดถือจริงจัง เช่น ข้อห้ามเรื่องอาหาร ห้ามกินฟักเขียว ห้ามลอดใต้ราวตากผ้า ห้ามกินอาหารที่เป็นขี้ซาก(ของเหลือ)เพราะจะทำให้คาถาอาคมเสื่อม เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันวัยรุ่นทั้งชายและหญิงนิยมการสักลวดลายต่างๆ ตามร่างกาย บางคนสักเพื่อความงาม เพื่อความเป็นพวกเดียวกัน เพื่อเสริมกำลังใจ จากการที่ได้ทำงานคลุกคลีกับวัยรุ่น จะเห็นว่าเป็นการสักเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เช่นหากเข้าไปอยู่ในสถานพินิจก็จะมีการวมกลุ่มกันและแสดงการเป็นกลุ่มด้วยการสักซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะกลุ่ม ในการสักเป็นการสักที่ไม่มีพิธีรีตองแบบดั้งเดิมเหมือนในอดีต


เด็กแก๊งสักลายในโครงการร่วมเข้าวัดทำบุญในวันแม่ที่ผ่านมา
แกนนำโครงการมีลายไม่มีเหล้า

กำลังโหลดความคิดเห็น