หากพูดถึงปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีต่อชาวบ้านที่อยู่รอบข้าง เชื่อว่าทุกคนคงนึกถึงเรื่องเสียงเป็นอย่างแรกแน่นอน เพราะอย่างที่ทราบว่า กว่าที่เครื่องบินจะขึ้นหรือลงนั้น ต้องใช้เวลานาน แถมยังมีเสียงดังทำลายโสตประสาทเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวบ้าน หรือสถานศึกษาที่อยู่ใกล้ๆ พากันร้องโวยวายว่า ทำไมสนามบินถึงยอมปล่อยให้ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ยอมแก้ไขสักที
ไม่เพียงแค่นั้น นอกจากเรื่องเสียงแล้ว ยังมีปัญหาอีกเรื่องซึ่งน้อยคนจะรับรู้ นั่นคือ ปัญหาละอองคราบน้ำมันซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันในช่วงที่เครื่องบินกำลังทำงานอยู่ และเมื่อเจ้าละอองพิษตัวนี้เองล่องลอยออกไป มันก็จะตกอยู่ตามจุดต่างๆ ของพื้นที่ใกล้ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน บ้านเรือน จนนำมาสู่ปัญหามากมาย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ
1.
ธนทศ ปรีเปรม แกนนำชาวชุมชนเคหะนคร 2 ซึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากละอองน้ำมันเครื่องบินเล่าว่า ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ นั้น จะมีอยู่ 2 ชุมชนคือ ชุมชนเคหะนคร 2 และชุมชนหลังสวน ซึ่งจะอยู่ติดกับสนามบินที่สุด เพราะห่างจากรั้วของสนามบินเพียงแค่ 200-500 เมตรเท่านั้น
ช่วงเวลาที่มีลมพัดเข้าทางชุมชนก็จะมีละอองน้ำมันปนเปื้อนมาด้วย ชาวบ้านก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยพร้อมกัน เป็นร้อยๆ ราย โดยส่วนมากมักจะเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้ต่างๆ ทั้งทางผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ
“ตอนแรกจะรู้สึกแสบระคายเคือง และคันบริเวณผิวหนังก่อน เมื่อไปเกาก็ยิ่งลุกลามจนกลายเป็นภูมิแพ้ ครั้งหนึ่งเขาถึงกับเคยถูกส่งไปรักษาตัวยังสถาบันโรคผิวหนังมาแล้ว ซึ่งทางโรงพยาบาลก็บอกว่า มีความเป็นไปได้ถ้าหากอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณสนามบิน
“ที่รุนแรงที่สุดจะมีน้องคนหนึ่งที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว เขาก็จะเป็นผื่นทั้งตัว ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำยังไง เวลาจะตากผ้าก็ต้องเอาด้านนอกออก เพื่อไม่ให้เวลาใส่แล้วละอองน้ำมันที่ตกค้างอยู่ตามเสื้อผ้าสัมผัสกับผิวโดยตรง รวมถึงระบบทางเดินหายใจที่จะมีอาการแสบคอ แสบจมูก บางคนก็ถึงกับไซนัสอักเสบ ซึ่งเมื่อก่อนที่จะมีสนามบินไม่เคยมีอาการป่วยอย่างนี้มาก่อน”
ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น อีกปัญหาที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องกลิ่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ตรงบริเวณคาร์โก ซึ่งทำให้ชาวบ้านแสบจมูก ซึ่งปัญหานี้ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน จนกระทั่งเปิดใช้สนามบิน
2.
สำหรับสาเหตุของปัญหา ธนทศเล่าว่า ในช่วงแรกนั้น ชาวบ้านก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่เด่นชัด เพราะไม่มีใครออกมายืนยันแน่นอน แต่ภายหลังชาวบ้านก็จับสังเกตได้ เนื่องจากว่าจะมีคราบน้ำมันให้เห็นติดตามใบไม้หรือต้นไม้ เวลาที่ฝนชะออกมา หรือแม้แต่ติดตามเสื้อผ้าของชาวบ้านที่ตากเอาไว้
“จากที่เราเคยทำแบบสำรวจคร่าวๆ พบว่าครั้งนั้นที่เราทำการสำรวจมีคนถึงประมาณ 300 คนที่ป่วยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แล้วก็อาการแบบเดียวกัน ซึ่งเราเรียกว่าปรากฏการณ์นั่นแหละครับ เมื่อก่อนจะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย มีการร้องเรียนไปทางสนามบิน และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งก็ได้คำตอบออกมาไม่ค่อยจะตรงประเด็นเท่าไหร่ เขาบอกว่าก็เป็นไปได้เนื่องจากมียานพาหนะอย่างอื่นด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เครื่องบินอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องของการจราจรทางบกด้วย เพราะว่าที่ชุมชนเองก็มีทางเชื่อมเข้ากับสนามบิน และทางที่เป็นถนนตัดหน้าก่อนที่จะเห็นตัวรันเวย์”
ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ลงพื้นที่โดยใช้รถโมบายล์มาตรวจอากาศ และตรวจพบสารอินทรีย์ไอระเหย หรือค่า VOCs ที่เกินมาตรฐาน แต่ทว่าหลังจากนั้นก็ไม่มีกระบวนการติดตามใดๆ อีก นอกจากต้องรอผลสรุปการวิจัยและอยู่ในระหว่างกระบวนการทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA
“ตอนนี้ชาวบ้านก็อยากจะได้ข้อมูลทางวิชาการ เพื่อจะต่อสู้ในจุดนี้ ที่ชาวบ้านกังวล คือกลัวเรื่องของโรคมะเร็ง เพราะค่าการตรวจอากาศครั้งล่าสุดที่ออกมา มลพิษมันใกล้เคียงกับที่มาบตาพุด อธิบายง่ายๆ เวลาหนังยางไหม้เราได้กลิ่นก็รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยกับตัวเอง อาหารปิ้งย่างอาหารไหม้ๆ เราก็จะไม่กินเพราะกลัวมะเร็ง แต่ถามว่าเครื่องบินนี่ล้อมันทำจากอะไร ล้อมันก็ทำจากยาง แล้วเครื่องหนึ่งมีกี่ล้อ แล้ววันหนึ่งกี่เที่ยว แล้วที่มันพัดเข้าสู่ชุมชนแล้วทุกคนถูกบังคับให้หายใจเข้าไปมันคืออะไร” ธนทศตั้งคำถาม
ด้านอาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะอดีตนักวิจัยที่ปรึกษาสมัชชาด้านสร้างปัญหาสุขภาวะของชาวบ้านรอบสุวรรณภูมิ เล่าว่า ที่ผ่านมาปัญหานี้ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์อย่างจริงจังเลยสักครั้ง แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะเคยส่งทีมงานมาตรวจวัดคุณภาพอากาศบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยมีผลยืนยันออกมาจากที่ไหนกันแน่
“ผลการตรวจวัด มีการเจอน้ำมันค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราก็สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากแหล่ง 3-4 แหล่ง นั่นคือในสนามบินเอง แล้วก็แท็กซี่ที่วิ่งอยู่ในสนามบิน และบริเวณข้างคาร์โกที่เครื่องบินจอดอยู่ มันมักจะมีการเร่งเครื่องบิน กลางวันบ้าง กลางคืนบ้าง แล้วลมส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นจะพัดจากตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทางเหนือ แล้วพัดจากสนามบินขึ้นมาด้วย อันสุดท้ายก็น่าจะเป็นรถที่วิ่งไปวิ่งมาข้างนอกด้วย แต่จากที่ตรวจจับเขาคิดว่าแนวโน้มน่าจะมาจากเครื่องบินในสนามบินนั่นแหละ แต่อย่างไรก็ต้องดูว่าเป็นสารตัวไหนกันแน่”
3.
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมปัญหาถึงเกิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่ตรงสนามบินดอนเมืองกลับดูไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
“รู้ได้ยังไงว่าดอนเมืองไม่เดือดร้อน ผมว่าเขาคงเจอเหมือนกันแหละ เพราะหากไปดูจะเห็นเลยว่าสนามบินแทบไม่มีการป้องกันอะไรตรงนี้เลย แต่ว่าคนก็จะคิดไปเองว่าดอนเมืองไม่เป็นไร แล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็จะพูดว่า สนามบินมาก่อนชาวบ้าน แต่อย่างสุวรรณภูมิไม่เหมือนกัน เพราะชาวบ้านเขามาก่อนสนามบิน เขาก็เลยโวยได้” อาจารย์กรินทร์อธิบาย
ที่ผ่านมาเขาเคยดูรายการโทรทัศน์ซึ่งไปสัมภาษณ์คนดอนเมือง ก็พบว่ามีคนเดือดร้อนเต็มไปหมด คนที่เป็นภูมิแพ้ คนที่ผื่นขึ้น คนที่แสงส่องเข้าไปในห้องนอน ฯลฯ แต่ที่น่าแปลกเรื่องเหล่านี้กลับไปปรากฏเป็นข่าวสักเท่าใด
“ผมเคยไปซักคนที่บอกว่าไม่เป็นไร ผมก็ไปถามเขาเรื่อยๆ จนมาถึงคำถามสุดท้ายว่า ที่ผ่านมา พี่ไม่เคยเดือดร้อนเลยนะ เสียงก็ไม่ดัง สุขภาพก็ไม่เป็นไร แล้วตอนเปิดสนามบินสุวรรณภูมิพี่ก็ไม่ได้โกรธ แล้วพี่โกรธใคร กลายเป็นว่าเขาโกรธคนสุวรรณภูมิที่ออกมาเรียกร้องว่ามีปัญหา ผมก็ถามกลับว่า ถ้าพี่ไม่เดือดร้อนแล้วพี่ไปโกรธเขาทำไม เขาก็อึ้ง อย่างนี้หมายความว่าเขาโคตรเดือดร้อนเลย แต่พูดไม่ได้ไง”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์กรินทร์ก็ยอมรับว่า โอกาสที่สุวรรณภูมิจะมีปัญหาด้านมลพิษมากกว่าที่ดอนเมืองก็เป็นไปได้ เนื่องจากที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นมีเครื่องบินเยอะกว่า เพราะฉะนั้น มลพิษที่ออกมาก็น่าจะหนักกว่าแน่นอน
4.
สำหรับแนวทางการแก้ทางออกเบื้องต้นของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ธนทศกล่าวว่า ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก
“เวลาที่ได้กลิ่นน้ำมันหลายคนก็จะต้องปิดบ้าน แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่มันมากับอากาศมันก็ไม่สามารถปกป้องอะไรได้หรอก ก็กินยาไปตามเรื่อง กินยาแก้แพ้อะไรพวกนี้ อย่างน้ำฝนที่ชาวบ้านเคยรองไว้กินไว้ใช้นั้นก็หมดสิทธิ์ ชาวบ้านในชุมชนติดกันที่เรียกว่าหลังสวน จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้น้ำประปา จะใช้น้ำฝนในการอุปโภคบริโภค ซึ่งตอนหลังก็ใช้ไม่ได้แล้ว ชาวบ้านเองก็เป็นชาวบ้านในระดับรากหญ้า ก็ต้องเสียเงินซื้อน้ำเพิ่มขึ้นเป็นภาระค่าใช้จ่ายอีก
“ชาวชุมชนที่ผมอยู่ เราอยู่กันมา 30 ปีแล้ว แล้วก็อยู่กันแบบชาวบ้านเลย เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็จะไม่ค่อยเลี้ยงปลากันแล้ว ส่วนต้นไม้ที่มันโดนมากจริงๆ ส่วนมากก็จะตายซะเยอะ เพราะว่าจะมีไลน์ที่มันอยู่ใกล้กับสนามบินมาก ตอนนี้ชาวบ้านที่ทนไม่ไหวก็ย้ายออก ปล่อยบ้านให้เช่า ซึ่งพอเป็นบ้านเช่าก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีกเป็นปัญหาสังคม เพราะว่าเรื่องของประชากรแฝงเองก็มีปัญหากับชุมชนเองไม่ใช่น้อย รวมถึงปัญหาอาชญากรรม สถิติก็เพิ่มขึ้น”
ขณะที่หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบแบบ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ไม่เคยแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
อาจารย์กรินทร์ยกตัวอย่าง กรณีของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เคยไปทำวิจัยว่า เคยมาดูแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งบอกตามตรงว่าไม่ได้มาตรฐาน เพราะถ้าตั้งใจจริงก็ต้องทำเป็นการวิจัยระยะยาว ต้องวัดมลพิษทางอากาศทุกเดือน แล้วมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อทำแผนที่ยั่งยืน
“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาการเดือดร้อนของชาวบ้านที่ทำสำเร็จ มันไม่มี แม้แต่คนที่ได้สตางค์แล้ว ผมถามว่าได้เท่าไหร่ และได้ด้วยเงื่อนไขอะไร เป็นธรรมไหม มันไม่เป็นธรรมเลยนะ อย่างชาวบ้านที่ได้เงินรอบหลังๆ เขาไม่ให้เงินชดเชย ซึ่งต้องได้ตลอดชีพนะ แต่ให้เป็นเงินค่าติดวัสดุ ซึ่งมันช่วยอะไรไม่ได้ กันเสียงก็ไม่ได้ แต่ชาวบ้านก็ต้องยอม เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นเขาไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถ้าเขาขายบ้านเขาก็ขายได้แต่บ้าน ส่วนที่ดินเป็นของวัด แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาก็ต้องยอม
“แล้วอย่างเวลาออกไปข้างนอก เขาก็ต้องเจอกับอันตราย แล้วรัฐทำไง จ่ายให้สองหมื่นมันคุ้มไหม ชีวิตเขามีค่าแค่นี้เหรอ ผมจะบอกว่าเรื่องของสุวรรณภูมิทุกเรื่องมันมีเงื่อนงำ อย่างตอนที่เปิดสุวรรณภูมิ อธิบดีกรมสุขภาพจิตคนที่แล้วก็บอกว่า ไม่เคยมีงานวิจัยออกมาว่าเสียงทำให้คนป่วยจริงหรือเปล่า แต่บอกว่าให้คนสุวรรณภูมิค่อยๆ ปรับตัว คนดอนเมืองไม่เห็นเป็นอะไร มันถือเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ถึงจะแก้ปัญหาได้”
ขณะที่ธนทศเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยนำน้ำที่ได้รับการปนเปื้อนมลพิษจากคราบละอองน้ำมันนั้นสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่ามาส่งให้นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลองดม แต่หลังจากตรวจผล กลับออกมาว่าน้ำดังกล่าวนั้นปลอดภัยปกติไม่มีสารใด
ทุกวันนี้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ ‘ความจริงใจ’ ในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านกังวลและสังคมก็พิพากษาออกมาเลยว่าชาวบ้านรู้อยู่แล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ หน่วยงานที่ออกมาพูดว่าชาวบ้านรู้อยู่แล้ว แสดงว่าตัวหน่วยงานก็ต้องรู้อยู่แล้ว ทำไมหน่วยงานเองไม่ป้องกันปัญหาไว้ก่อน ทำไมยังปล่อยให้ชาวบ้านเข้ามาปลูกที่อยู่อาศัย ทำไมชาวบ้านยังขอเลขที่บ้านอยู่ได้ ทำไมสถานบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ถึงก่อตั้งขึ้นมาได้ อันนี้มันก็เป็นปัญหาที่ซับซ้อนซึ่งต้องใช้ในเรื่องของเอกสาร อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าตอนนั้นคุณเห็นแปลน คุณช่วยบอกหน่อยว่ารูปร่างสนามบินเป็นยังไง รันเวย์มันอยู่ตรงไหน ไม่มีใครตอบอะไรได้เลย มันก็เป็นแค่ข้อกล่าวอ้างเพื่อให้พ้นไปเท่านั้นเอง” ธนทศกล่าว
……….
ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศนี้ อาจจะดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กน้อยของคนไม่กี่คน แต่แท้ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทย เพราะมันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐว่าเป็นอย่างไร
จากเวลาที่ผ่านมา คงเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ารัฐไม่เคยใส่ใจกับการแก้ปัญหาอะไรเลยสักครั้ง ไม่ใช่แค่เรื่องเรื่องสุขภาวะหรอก แม้แต่เรื่องการคอร์รัปชั่นทุจริต ก็ไม่เคยมีสักครั้งที่จะมีคำตอบออกมาอย่างกระจ่างชัด สิ่งที่ทำได้ก็คงมีแต่รอและสวดมนต์อ้อนวอนให้ผู้รับผิดชอบที่ไร้คุณภาพเหล่านี้หมดไปจากประเทศเร็วๆ เพื่อที่อะไรๆ จะได้ดีขึ้นกว่านี้สักที
**************
เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน