xs
xsm
sm
md
lg

อุแมกรือซง สะระมุติ แม่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องราวของ "อุแมกรือซง สะระมุติ" หญิงชาวมุสลิมจากจังหวัดยะลา เจ้าของรางวัล "แม่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นประจำปี 2551" จากการพิจารณาของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในงานมหิดล – วันแม่ เมื่อ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาอาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของ "แม่" ที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียง และรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด ทั้งยังอาจเป็นหนึ่งเรื่องราวของ "แม่" ที่อุทิศชีวิตเพื่อครอบครัวและชุมชนมาตลอด 50 กว่าปี จนนำมาซึ่งรางวัลและการยอมรับจากสังคมในที่สุด

เรื่องราวของอุแมกรือซง สะระมุติ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 ในจังหวัดยะลา อำเภอรามัญ เธอใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวชาวมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จึงทำให้สื่อสารได้เฉพาะภาษายาวี แต่นั่นก็ไม่ใช่อดีตที่จะทำให้ลูก ๆ ทั้ง 7 คนของเธอต้องประสบปัญหาด้านการสื่อสารเหมือนกันกับเธอ เพราะอุแมกรือซงตั้งใจว่า จะสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับลูก ๆ ทุกคน ทั้งหญิงและชายให้ได้เล่าเรียนในสาขาที่ต้องการ เพื่อที่จะได้นำวิชาความรู้มาทำประโยชน์ให้กับสังคม และชุมชนที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่ และทุกวันนี้ลูก ๆ ของเธอจบการศึกษาแล้วถึง 6 คน เหลือเพียงลูกคนสุดท้องที่ยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอีกเพียงคนเดียวเท่านั้น

สมาน โดซอมิ ลูกชายของอุแมกรือซง ซึ่งเดินทางมาร่วมรับรางวัลด้วย และทำหน้าที่เป็นล่ามสื่อสารเล่าถึงชีวิตของมารดาให้ฟังว่า "แม่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างปู่ย่าตาทวดของเรา และไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะแม่เป็นผู้หญิงจึงต้องอยู่บ้าน ช่วยงานครอบครัว ส่วนเรื่องวิชาความรู้ก็อาศัยครูพักลักจำจากคุณตาแทน"

เมื่อถามถึงความเป็นมาที่ทำให้วันนี้ ชื่อของเธอได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เธอบอกว่า มาจากการที่เธอและครอบครัวใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ผนวกเข้ากับหลักคิดทางศาสนาอิสลาม

“เราจะทำอะไรก็ยึดหลักศาสนา หลักของศาสนาอิสลามคือการแบ่งปันกัน ถ้าเราไม่มีทุนทรัพย์ เราก็ใช้แรงกาย แรงใจมอบให้แทน” แต่เมื่อเธอมีทุนทรัพย์ นั่นก็คือที่นา จึงทำให้เธอเลือกที่จะแบ่งปันที่นาที่เป็นมรดกตกทอดของตนเองให้กับครอบครัวอื่น ๆ ในชุมชน ได้ใช้ประกอบอาชีพ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้มีหลายครอบครัวสามารถก่อร่างสร้างตัวได้จากผืนดินทำกินผืนนั้น ซึ่งถือเป็นคุณูปการต่อคนในพื้นที่อย่างมาก

สมานเล่าเพิ่มเติมด้วยว่า "นอกจากให้ใช้ที่ดินแล้ว เรายังเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน มีของโบราณของคุณตาให้เด็ก ๆ มาเรียนรู้ บางครั้งก็ใช้บ้านเป็นที่ประชุมชาวบ้าน ใช้สอนทำปุ๋ยชีวภาพ สอนการเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ต้องใช้สารเคมี ฯลฯ หรือเวลาจัดพิธีแต่งงาน เราก็ให้ยืมข้าวของ พวกเครื่องทองเหลือง จานชาม ไปใช้ได้ แล้วเมื่อจบงานเขาก็เอามาคืน เราอยู่กันแบบนี้ อยู่แบบช่วยเหลือแบ่งปันกัน การลักขโมยมันก็ไม่เกิด"


แนวคิดที่ยึดถือการแบ่งปันและการช่วยเหลือคนอื่นอยู่เป็นนิตย์ของอุแมกรือซง ได้กระจายแตกกิ่งก้านสาขาออกไปยังครอบครัวอื่น ๆ ทำให้ชุมชนแห่งนี้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ ช่วยเหลือและแบ่งปันซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น เธอยังได้ปลูกฝังแนวคิดการทำประโยชน์ให้กับชุมชนกับลูก ๆ ทุกคนด้วย ปัจจุบัน ลูกชายทั้งสองของเธอ ซึ่งได้แก่ สุดิง โดซอมิ กับตำแหน่งเลขานุการองค์การบริหารส่วนตำบลอาซ่อง อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา และสมาน โดซอมิ ครูพิเศษของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอรามัญ ผู้สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านหลายแขนง กลายเป็นกำลังสำคัญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของตำบลอาซ่อง อำเภอรามัญ จังหวัดยะลาด้วย เป็นผลให้แหล่งทรัพยากรทั้ง 3 ของบ้านกือเม็งคือ บึงโต๊ะแนแว พื้นที่ทุ่งหญ้า และพื้นที่วังปลา ยังคงมีสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารสำคัญให้ชาวบ้านจวบจนปัจจุบัน

สมานเปิดเผยว่า "แม่จะสอนให้ลูก ๆ ทุกคนยึดประโยชน์ส่วนรวมไว้ก่อน แล้วก็ไม่ต้องคิดมาก ถ้าทำเพื่อส่วนรวม อยากทำอะไรก็ทำไปเลย ผมเองเมื่อมีความรู้ เรียนจบมาก็ถ่ายทอดต่อให้เด็ก ๆ รุ่นหลัง ไม่คิดมากว่า การที่เรามาสอนจะต้องได้ค่าเบี้ยเลี้ยงจาก กศน.ตอบแทน ทำเพื่อคนอื่นไปก่อนแล้วสิ่งดี ๆ จะตามมาเองครับ"

แม่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนนี้ยังส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีงานทำในวันหยุด เพื่อให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้ใช้เวลาว่างไปในทางที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์ โดยได้อุทิศบ้านของตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ และมีการจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำตลอด เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แข่งขันขี่ม้า ซึ่งไม่เพียงเป็นที่โปรดปรานของเด็กในพื้นที่เท่านั้น เยาวชนจากจังหวัดใกล้เคียงก็เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สมาน เล่าเพิ่มเติมว่า "บ้านเราคนพุทธคนมุสลิมไปมาหาสู่กัน เป็นเพื่อนบ้านกัน งานบุญของพุทธ เราก็ไปช่วย เวลาเรามีงาน เขาก็มาช่วย อยู่กันแบบนี้ก็สงบดี ส่วนเด็ก ๆ ที่ยากจนในละแวกนี้ เราก็หางานให้เขาทำ มาช่วยงานที่บ้านก็ได้ ปลูกผลไม้ หรือพืชเกษตรก็ได้ แล้วก็จะมีค่าขนมให้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กไม่ว่าง ถ้าเราไม่หากิจกรรมให้เด็กทำ ก็อาจทำให้เขาไปมั่วสุมเสพยาได้ เพราะตอนนี้มีคนนอกพื้นที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้านมากขึ้น และคนเหล่านี้ก็นำยาเสพติดเข้ามาขายด้วย โดยเฉพาะใบกระท่อม กัญชา จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยมี เราจึงต้องหาทางป้องกันเด็ก ๆ ลูกหลานของเราไว้"

สิ่งสำคัญที่สุดที่แม่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมองเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ก็คือเรื่องของการศึกษา เธอเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยลดช่องว่าง ลดปัญหา สร้างความเข้าใจ และทำให้มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอเองเสียโอกาส ไม่ได้เรียนเหมือนลูกชายคนอื่น ๆ ดังนั้น กับลูก ๆ ทั้ง 7 คน เธอจึงส่งให้เรียนทั้งสายสามัญและเรียนโรงเรียนศาสนาโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นลูกหญิงหรือลูกชาย

และจากการจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ยากจนในพื้นที่ได้มีรายได้ รวมถึงเปิดพื้นที่ในบ้านเพื่อทำการเรียนการสอนก็ยังทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้หลากหลายและตรงต่อความต้องการของคนในท้องถิ่นมากขึ้นด้วย

“การเรียนทั้งสองสายจะทำให้เข้าใจความเป็นไปต่าง ๆ ได้มากขึ้น จะเรียนแต่สายสามัญอย่างเดียวก็ไม่ดี เพราะเราอยู่ในชุมชนมุสลิม แต่ถ้าจะเรียนแต่ศาสนาอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ทั้งหมดต้องเริ่มจากการเรียน แล้ววิชาความรู้มันจะพาเราไปเอง” อุแมกรือซงกล่าว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางภาคใต้ที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้การดำเนินกิจกรรมของชุมชนไม่ราบรื่นเหมือนเช่นในอดีต การจัดกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมที่จะถูกเพ่งเล็งจากทางการ พร้อมสายตาที่ระแวดระวังสงสัย ในส่วนนี้ สมานเล่าว่า "ตอนนี้มันเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ เราจึงไม่อยากจัดการประชุม หรือจัดกิจกรรมสอนชาวบ้านมากนัก เดี๋ยวทางการจะว่าเอาได้ว่า พาชาวบ้านมาซ่องสุม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทางการเขาก็ไม่มีเวลามาดูแลเราเหมือนแต่ก่อน เราก็เลยต้องอยู่ด้วยตัวเอง พึ่งพากันเองมากขึ้น แต่เราก็จะยังคงยึดถือในอุดมการณ์ของแม่ และทำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมเช่นนี้ต่อไปครับ"

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
มหาวิทยาลัยมหิดล
กำลังโหลดความคิดเห็น