xs
xsm
sm
md
lg

หอสมุดแห่งชาตินี้ และชาติหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริเวณชั้น 2 ของหอสมุดแห่งชาติที่ได้ทำการปรับปรุงใหม่
ถ้านับอายุหอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) จริงๆ ปีนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 45 แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 45 ปีที่ผ่านมาหอสมุดแห่งชาติก็ยังไม่เคยได้รับการปรับปรุงหรือบูรณะซ่อมแซมอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที

ทั้งๆ ที่มีระเบียบกำหนดให้ปรับปรุงทุกๆ 20 ปี แม้เทคโนโลยีของอารยประเทศจะล้ำหน้าไปไกล แต่ 45 ปีที่ผ่านมาของหอสมุดของชาติไทยก็ยังย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่หอสมุดซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทย จะถูกถอดรูปให้ทัดเทียมเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ถึงที่สุดอีกด้วย

หอสมุดโฉมใหม่ในชาตินี้ และชาติหน้า
หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดของประเทศในการรวบรวมสารนิเทศ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ ทำหน้าที่ในการเผยแพร่สารนิเทศจึงเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการ ควบคุมบรรณานุกรมเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากสารนิเทศที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด

นอกจากนั้นภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติ คือ การอนุรักษ์ซ่อมแซมหนังสือทั่วไปเอกสารภาษาโบราณ หนังสือหายาก โดยการวิเคราะห์สาเหตุการเสื่อมสภาพของวัตถุ และอนุรักษ์โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการซ่อมแซม เพื่อหยุดยั้งหรือชะลอการเสื่อมสภาพของเอกสารให้ช้าลง เป็นการยืดอายุของเอกสารให้มีสภาพแข็งแรง เพื่อให้ทรัพยากรนั้นมีอายุนานที่สุด และเป็นหลักฐานสำคัญอันมีค่ายิ่งต่อการศึกษาของชาติต่อไปในอนาคต

อรพินท์ ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ มอบหมายให้ วันศิริ เลิศภิรมย์ลักษณ์ บรรณารักษ์ 8 ว. สำนักหอสมุดแห่งชาติ เล่าถึงวาระการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของหอสมุดแห่งชาติให้ฟังว่า เพื่อปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติให้ทันสมัย และมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ขณะนี้ได้ทำการปรับปรุงอาคารหอสมุดแห่งชาติชั้นล่างให้ทันสมัย และมีพื้นที่ใช้สอยเพื่อให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้สะดวกสบายมากขึ้น โดยให้บริการวารสารและหนังสือ และมุมการให้บริการสืบค้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทันสมัยกว่าระบบที่ผ่านมาซึ่งใช้มานานหลายสิบปี

นอกจากนี้ จะก่อสร้างอาคารเพิ่มด้านหลัง เป็นอาคารเก็บวิทยานิพนธ์ และอาคารเก็บพระธรรม ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก 2 ชั้น โดยจะทุบ และสร้างอาคารใหม่ที่ทันสมัย ขยายพื้นที่การจัดเก็บหนังสือให้มากขึ้นไปจนถึงอีก 10 ปี คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จปี 2553 จากนั้นจะปรับปรุงระบบเทคโนโลยีหอสมุดแห่งชาติให้ทันสมัย เช่น การให้บริการออนไลน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และการจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

"ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติคับแคบ เพราะต้องจัดเก็บหนังสือเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีหนังสือจัดเก็บไว้ 2 ล้านเล่ม ยังไม่นับรวมวารสาร หนังสือพิมพ์ที่มีอีกมาก ดังนั้น เมื่อปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติเสร็จแล้ว จะรองรับคนมาใช้บริการได้เป็นปีละ 2 ล้านคน จากปีละกว่า 1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงให้หอสมุดแห่งชาติทันสมัยเทียบเท่าหลายประเทศในเอเชียนั้น คงต้องใช้เวลาและงบประมาณอีกมาก เพราะขณะนี้หลายประเทศได้พัฒนาหอสมุดทันสมัยกว่าประเทศไทยมาก

“เวลานี้เราได้ปรับปรุงบริเวณชั้น 1 และชั้น 2 ให้ดูทันสมัย และมอบความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนผู้ที่มาใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น โดยปรับเปลี่ยนโทนสีของแต่ละห้องให้ดูสดใส และแสงสว่างภายในอาคารให้ดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นหอสมุดของชาติ และเพื่อรองรับประชาชน และหนังสือ ที่จะมีเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต

"อยากให้ประชาชนเข้ามาที่หอสมุดแห่งชาติ ที่นี่ไม่ได้มีเฉพาะหนังสือเพียงอย่างเดียว เรายังมีสื่ออื่นๆ อีกมาก ทั้งดนตรี สารคดี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ครบวงจร รวมไปถึงมาชมส่วนที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติ ที่บรรพบุรุษสั่งสมมา ซึ่งหาชมได้ยากมาก เช่น หนังสือโบราณ เอกสารใบลาน หนังสือข่อย ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กๆ และครอบครัวด้วย หากใครมีข้อเสนอแนะก็เสนอมาได้ หอสมุดแห่งชาติยินดีรับฟังและปรับปรุงการให้บริการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนให้ได้มากที่สุด"

หอสมุดสู้กับกูเกิ้ล
ต้องยอมรับว่า การที่เราจะหาข้อมูลจากห้องสมุด หรือสอบถามบุคคล ต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งคนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันในหนึ่งวันก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เอาเวลาตรงนี้ไปทำหน้าที่อย่างอื่น เมื่อเราต้องทำงานในระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เราก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ที่ช่วยย่นระยะเวลาของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด
       
        ในขณะที่หนังสือบางเล่มที่ใช้ประกอบข้อมูลก็อาจจะเก่าเกินไป ข้อมูลไม่ทันสมัย เหมือนการค้นหาใน กูเกิ้ล นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนนิยมพึ่งพาการข้อมูลจากเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิ้ล ซึ่งการปรับปรุงอาคารและระบบสารสนเทศของหอสมุดแห่งชาติในครั้งนี้นั้น ได้เน้นเฉพาะการจัดทำห้องสมุดแบบ e-library เข้าไปด้วยเพื่อให้การสืบค้นหนังสือและข้อมูลต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ยิ่งขึ้น

“เพราะปัจจุบันหากต้องการสืบค้นข้อมูล อันดับแรกที่คนทั่วไปจะนึกถึงเว็บไซต์ค้นหาชื่อดังกูเกิล ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนไม่สนใจเข้ามาใช้บริการที่หอสมุดแห่งชาติ เนื่องจากกูเกิลให้ความสะดวกกว่าการสืบค้นด้วยระบบเก่าของห้องสมุดทั่วไป

“ทำให้หอสมุดแห่งชาติต้องปรับตัวใหม่ ด้วยการให้บริการที่สะดวกแก่ผู้เข้ามาใช้บริการ โดยดำเนินการนำหนังสือที่มีอยู่ทั้งหมดมาจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊ค ซึ่งในอนาคตประชาชนสามารถอ่านหนังสือ หรือสืบค้นข้อมูลหนังสือที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้เลย

“โดยผู้ใช้บริการสามารถค้นหาหนังสือผ่านเว็บไซต์ www.nlt.go.th เพียงแค่คลิกเข้าไปที่เว็บไซต์แล้วพิมพ์ชื่อหนังสือ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อบุคคล หรือข้อความที่เกี่ยวข้อง เพียงข้อความใดข้อความหนึ่ง ข้อมูลของหนังสือเล่มนั้นก็จะแสดงที่หน้าจอทันทีว่า จัดวางอยู่ห้องไหนของหอสมุด สามารถใช้ค้นคว้าได้ทันที

“ถือเป็นมิติใหม่เรื่องแรกที่ต้องดำเนินการ ขณะเดียวกันการบริหารจัดการหนังสือก็ต้องปรับใหม่ โดยให้ห้องสมุดทุกแห่งใช้แค็ตตาล็อกหนังสือเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ เพื่อประหยัดเวลาในการจัดหมวดหมู่หนังสือ แถมยังสะดวกต่อผู้ใช้บริการ เพราะห้องสมุดทุกแห่งจะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้สะดวกต่อการค้นคว้าหาข้อมูล และจัดให้มีเครือข่ายระหว่างห้องสมุดเพื่อจะได้ใช้บริการยืมระหว่างห้องสมุดได้”

หน้าตาสู่อารยประเทศ
เวลานี้บริเวญชั้น 2 ของหอสมุดแห่งชาติได้จะทำเป็นมุมหน้าตาสู่ประเทศเกาหลี เพื่อให้ผู้ที่ต้องการค้นคว้าข้อมูลสามารถ เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างห้องสมุดจีนขึ้นบนชั้น 3 ของอาคาร ทรงไทย เพื่อรวบรวมตำราจีนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และตำราจีน สมัยใหม่ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชาวจีนได้เข้ามาศึกษา โดยจะมีการเชิญบรรณารักษ์จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาร่วมกันจัดระบบห้องสมุดจีนให้เป็นไปตามระบบบรรณารักษศาสตร์และระบบสารสนเทศที่ทันสมัย รวมถึงสามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างห้องสมุดแห่งชาติของไทยกับห้องสมุดแห่งชาติจีนได้ด้วย โดยการจัดสร้างห้องสมุดจีนดังกล่าว จะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท และคาดว่าสร้างแล้วเสร็จในปี 2552

“การจัดสร้างห้องสมุดจีนดังกล่าวเกิดจากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการอนุรักษ์เอกสารจีนที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับ หอสมุดแห่งชาติของจีน เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับอารยธรรมจีนและผู้ที่ต้องการค้นคว้าเอกสารจีนโบราณได้ด้วย เนื่องจากทรงเห็นว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศจีนมานานและปัจจุบันจีนก็มีบทบาทในเวทีโลกอย่างมาก ดังนั้นการจัดสร้างห้องสมุดจีนจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้คนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศจีนได้มาก ยิ่งขึ้น

“ในระยะนี้อาจไม่ได้รับความสะดวกอยู่บ้าง เนื่องจากมีการปรับปรุงซ่อมแซมในบางพื้นที่แต่ยังคงให้การบริการประชาชนอยู่ตามปกติ"

พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป
ผู้ที่มาใช้บริการหอสมุดแห่งชาติเป็นประชาชนจากทุกสาขาอาชีพ เช่น นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ลูกจ้าง พระ ส่วนมากใช้บริการห้องวารสาร หนังสือพิมพ์ มากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ห้องคอมพิวเตอร์ ส่วนนักเรียนนักศึกษาจะมาขอข้อมูลที่ห้องสังคมศาสตร์เพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ ซึ่ง อัมพกา แสวงหา และ พัชราวรรณ รอดแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทาเขตโชติเวช ซึ่งเข้ามามาข้อมูลทำรายงานส่งอาจารย์ เสนอว่า อยากให้หอสมุดเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์และติดเครื่องปริ๊นเตอร์เพื่อให้การบริการที่ครบวงจร รวมทั้งเพิ่มแสงสว่าง มีมุมพักผ่อน เช่น มุมกาแฟ มุมเด็กเล่น

“เวลานี้หอสมุดแห่งชาติมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไป บรรยากาศเริ่มน่านั่งมากขึ้น โต๊ะเก้าอี้ก็นั่งสบายมากขึ้น ทำให้อยากมามากกว่าเดิน เพราะเมื่อก่อนหอสมุดหอชาติดูเก่า และดูเป็นแหล่งวิชาการมากๆ จะเข้ามาหาหนังสืออ่านเล่นก็ยากมาก แต่พอมาเป็นแบบนี้แล้วก็สะดวกสบายขึ้นมาก”

ขณะที่ อดุลย์ วรรณคดี คอลัมน์นิสอิสระ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับวาระการปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติในครั้งนี้ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านหอสมุดให้มีศักยภาพในการให้บริการ โดยจะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเปลี่ยนแนวความคิดของบุคลากรในการให้บริการหอสมุดในรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ยึดติดผูกติดกับการหวงหนังสือ ไม่ยอมให้เปิดดู

“ควรจะต้องพัฒนาบรรณารักษ์ให้อ่านหนังสือ ค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆ มาเผยแพร่ แนะนำให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น จากที่มีหน้าที่ดูแลและให้บริการยืมและคืนหนังสือเพียงอย่างเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ บรรณารักษ์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากที่เคยให้บริการยืมและคืนหนังสือ มาเป็นผู้แนะนำหนังสือที่ควรอ่าน ตลอดจนเรื่องน่ารู้ต่างๆ ซึ่งการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบรรณารักษ์

“ห้องสมุดควรมีรูปแบบการจัดให้น่าสนใจ โดยต้องเชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาว่าต้องการให้เด็กเรียนแบบค้นคว้าหรือท่องจำมากกว่ากัน เพราะการเรียนแบบค้นคว้าเป็นตัวกระตุ้น ส่งเสริมให้เด็กไปห้องสมุด เกิดความรักและหวงแหนเพราะมีความรู้จากการศึกษาค้นคว้า และสนใจห้องสมุดมากขึ้นอีกด้วย โดยจะต้องเริ่มแก้ปัญหาเรื่องพัฒนาบุคลากรหอสมุดให้มีศักยภาพในการให้บริการแบบค่อยเป็นค่อยไป ปรับแนวความคิดของบุคลากรในการให้บริการหอสมุดในรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ยึดติดผูกติดกับการหวงหนังสือไม่ยอมให้เปิดดู”

การพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ ให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีและยุคสมัย เพราะหอสมุดแห่งชาติถือเป็นหน้าตาของประเทศ เนื่องจากในประเทศต่างๆ มีการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติให้มีคุณภาพ มีการนำเสนอที่น่าสนใจ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ ดังนั้นเรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นอย่างนั้น นับจากนี้ไปจะติดตามความก้าวหน้าจากกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลหอสมุดแห่งชาติทุกระยะว่าได้ดำเนินการพัฒนามากน้อยแค่ไหน...

***********

กว่าจะเป็น "หอสมุดแห่งชาติ" ในชาตินี้

"หอสมุดแห่งชาติ" ก่อตั้งเมื่อปี 2448 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นเรียกว่า "หอสมุดพระนคร" ตั้งอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ (ตึกแดง) ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยพระองค์ทรงมองว่า ประเทศที่เจริญแล้วควรมีหอสมุดประจำชาติ และประเทศไทยก็มีภาษาประจำชาติ อีกทั้งมีผู้รู้เขียนหนังสือไว้มากมาย
ต่อมาปี 2506 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จัดสร้างหอสมุดขึ้นที่ท่าวาสุกรี และตั้งชื่อว่า "หอสมุดแห่งชาติ" แล้วย้ายหนังสือจากหอพระสมุดวชิรญาณมาทั้งหมด

หน้าที่หลักคือ เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวม สงวนรักษา จัดระบบ และให้บริการมรดกทางสติปัญญา วิทยากร และวัฒนธรรมของชาติ ที่ปรากฏในรูปศิลาจารึก หนังสือตัวเขียน เอกสารโบราณ สมุดไทย คัมภีร์ใบลาน หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และสื่อทันสมัยต่างๆ ให้บริการแก่ประชาชนที่เข้ามาค้นคว้า วิจัย อ่าน เอกสารที่หอสมุดรวบรวมด้วย
แยกหมวดหมู่หนังสือเป็น 1.ห้องหนังสือพิมพ์ วารสาร 2.ห้องข้อมูลข่าวสาร บัตรรายการ 3.สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ 4.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 5.ทั่วไป ปรัชญา ศาสนา 6.ศิลปะ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ 7.ห้องหนังสือเก่า หนังสือหายาก ห้องดนตรี ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย ห้องสมุดกล้วยไม้ และอื่นๆ
หอสมุดแห่งชาติ เปิดบริการวันจันทร์-วันศุกร์ 9.00-18.30 วันเสาร์และวันอาทิตย์ 9.00-17.00ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ วิธีการค้นหาข้อมูลก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่คลิก www.nlt.go.th แล้วพิมพ์ชื่อหนังสือ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อบุคคลหรือข้อความที่เกี่ยวข้อง เพียงข้อความใดข้อความหนึ่ง จะแสดงที่หน้าจอทันทีว่าจัดวางอยู่ห้องไหนของหอสมุด สามารถค้นคว้าได้ทันที หรือโทร.0-2281-5212, 0-2281-5313

***********

รื่อง : นาตยา บุบผามาศ

ภายนอกอาคารหอสมุด
โต๊ะเก้าอี้ที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้มาใช้บริการ
มุมหน้าต่างสู่ประเทศเกาหลี


ประชาชนที่มารอใช้บริการอินเทอร์เน็ตในการสืบค้น
บรรยากาศทั่วไป



ประชาชนที่มาใช้บริการ

บริเวณชั้น 1 ห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

กำลังโหลดความคิดเห็น