xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ตรังเมินเสียงค้านเดินหน้าสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
ตรัง - ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไม่ห่วงกรณีกลุ่ม ส.อบจ.เคลื่อนไหวค้านการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 ที่หน้าศาลาหลางหลังเก่า ย้ำเป็นสถานที่เหมาะสมและได้รับพระบรมราชานุญาติแล้ว

วันนี้ (26 ส.ค.) นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวถึงกรณีการออกมาคัดค้านการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 หรือสมเด็จพระปิยมหาราช บริเวณหน้าเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่าของสมาชิกสภา อบจ.ตรัง นำโดย ว่าที่ร้อยตรีชาญยุทธ เกื้ออรุณ ประธานสภา รวมทั้งสมาชิกสภา อบจ. และนายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง ก็ไม่เห็นด้วย

โดยระบุว่า เห็นด้วยในหลักการและเหตุผลของการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อเป็นราชานุสรณ์ไว้ให้ประชาชนได้สักการะกราบไว้บูชา และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แต่ไม่เห็นด้วยเฉพาะสถานที่ก่อสร้างเท่านั้น เพราะบริเวณเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่า เป็นสถานที่คับแคบ

ขณะเดียวกันยังมีสิ่งปลูกสร้างล้อมรอบเกือบทุกด้าน เป็นสถานที่จอดรถของข้าราชการ ประชาชนที่ไปติดต่อราชการ และยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมชุมชนตลอดเวลา ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม และไม่สมพระเกียรติอย่างยิ่ง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกต้นศรีตรังไว้ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ขณะนี้ถูกขุดไปแล้วทั้ง 2 ต้น และเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่าก็เป็นเสาธงพระราชทาน ซึ่งการจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาต จึงขอให้ทางจังหวัดชะลอโครงการไว้ก่อน ที่สำคัญในการดำเนินโครงการ ณ สถานที่ดังกล่าว ควรที่จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังยืนยันว่า การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นไปตามหลักระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2540 และขณะนี้กรมศิลปากรได้ส่งช่างเข้ามาตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างแล้ว พร้อมมีหนังสือตอบยืนยันมาถึงจังหวัดตรังว่า เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสม และจากประสบการณ์การทำงานพบว่า สถานที่ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะก่อสร้างหน้าศาลากลางจังหวัดทั้งหมด

บางจังหวัดสถานที่คับแคบมาก และคับแคบกว่าของจังหวัดตรังอีก โดยเดิมกำหนดจะวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 6 กันยายน 2552 แต่ได้ทำหนังสือเชิญนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นปูชนียบุคคลของจังหวัดตรัง มาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ แต่เมื่อมีประเด็นการไม่เห็นด้วยออกมา จึงได้เรียนปรึกษานายชวนเพื่อขอเลื่อนกำหนดการวางศิลาฤกษ์ออกไปก่อน

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนงบประมาณการก่อสร้างนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มอบให้กรมศิลปากรปั้นพระรูป โดยถอดพิมพ์จากต้นแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของกรมสรรพสามิต ในพระอิริยาบถทรงยืน (ประทับยืน) ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง วงเงินงบประมาณ 1 ล้าน 9 แสนบาท และการก่อสร้างพระแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์ทั้งหมด ขณะนี้ทำการออกแบบคำนวณค่าใช้จ่ายเสร็จสิ้นแล้ว วงเงินงบประมาณ 7-8 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะประกาศเปิดประมูลราคาด้วยระบบอิเลคทรอนิคส์ในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นวิธีการที่โปร่งใสที่สุดและไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ใครได้

ส่วนที่มีสมาชิกสภา อบจ.ตรัง ติดใจเรื่องของงบประมาณการก่อสร้างว่า เป็นงบเหลือจ่ายได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ในตัวโครงการกำหนดห้วงเวลาก่อสร้าง 1 เมษายน - 30 กันยายน 2552 และมีความเร่งรีบในการก่อสร้างก่อนที่ตนเองจะเกยีษณอายุราชการนั้น นายสมพงษ์ ชี้แจงว่า ตนเองทำงานเน้นความโปร่งใส ซึ่งในการบริหารงานตามงบประมาณพัฒนาจังหวัดนั้น ได้กำหนดเป็นงบประมาณด้านการพัฒนาประมาณ 60% และงบด้านการลงทุน 40%

แต่เพื่อให้งานเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด ทางจังหวัดตรังจึงได้ตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นออกไป เช่น งบอบรมสัมมนา งบศึกษาดูงาน แต่มาเพิ่มในงบการลงทุนเป็น 70% ซึ่งเชื่อว่าหากคราวนี้ยังสร้างไม่ได้ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ทางจังหวัดตรังก็คงไม่ได้สร้างอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น