xs
xsm
sm
md
lg

“สุทิน วรรณบวร” คู่ปรับ นายกฯหอกหัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เขาคือนักข่าวรุ่นเก๋าคู่ปรับตลอดกาลของ‘สมัคร สุนทรเวช’ ตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 จนกระทั่งลมเพลมพัดส่งนายสมัครขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังมีการเผชิญหน้าอย่างท้าทาย ตามแบบลูกผู้ชายที่ชื่อ ‘สุทิน วรรณบวร’ ยิ่งกว่านั้นการปะทะคารมของคนทั้งคู่ยังนำไปสู่ที่มาของฉายา ‘นายกฯ หอกหัก’

การตั้งคำถามแบบถึงลูกถึงคนซึ่งทำให้นักการเมืองใหญ่และนายทหารหลายคนไม่พอใจดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวีรกรรมเสี่ยงตายเมื่อครั้งเข้าไปทำข่าวกลุ่มกองกำลังต่างๆในช่วงสงครามอินโดจีน หลายครั้งที่แหล่งข่าวถือกระบอกปืนยืนข่มขู่ให้เขางดเสนอข่าว แต่เขาก็ยืนกราน ปฏิเสธ พร้อมทั้งยืนยันว่านี่คือการทำหน้าที่ของ ‘สื่อมวลชน’ ที่ต้องนำเสนอความจริง มิใช่ซุกกายแอบอิงอยู่ใต้ร่มเงาผู้มีอำนาจ


ในยุคที่สื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่ตีค่าตนเองให้เป็นเพียงกระบอกเสียงของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจทางการเงิน แต่นักข่าวผู้นี้กลับยืนหยัดอหังการกับการทำหน้าที่‘สื่อ’ที่ถือว่าการเปิดโปงความจริงคือสิ่งที่ต้องยึดถือสำหรับสื่อมวลชน ตลอดระยะเวลา 30 ปีในการทำงานเขาผ่านมาทั้งดงระเบิด ควันโขมงจากปลายกระบอกปืน การข่มขู่คุกคามของผู้มีอำนาจ รวมถึงบรรยากาศตึงเครียดขณะปะทะคารมกับนักการเมืองระดับประเทศ แต่เขาก็หาได้ยี่หระ

ณ วันนี้ ‘สุทิน วรรณบวร’ แห่งสำนักข่าวเอพี ยังคงมุ่งมั่นกับการทำหน้าที่‘คนข่าว’ ที่พร้อมจะเดินหน้าท้าชนเพื่อค้นหาความจริง และบอกกล่าวให้ผู้คนได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านนี้เมืองนี้

30 ปีที่หยัดยืน

สุทินเริ่มชีวิตการทำข่าวเมื่อ 30 ปีที่แล้วกับสำนักข่าวยูพีไอ (UPI- United Press International) ในช่วงที่สงครามอินโดจีนกำลังคุกรุ่น เขาจึงถูกส่งตัวไปคลุกคลีหาข่าวตามตะเข็บชายแดน และหลายครั้งที่ข้ามฝั่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อติดตามสถานการณ์การสู้รบ จึงนับเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมากที่สุด หลายครั้งที่ถูกฝ่ายรัฐบาลและนายทหารคุกคามห้ามเสนอข่าว เขาและช่างภาพเคยถูกทหารเวียดนามกักตัวเพื่อต่อรองให้มอบฟิล์มที่บันทึกภาพกองกำลังเวียดนามที่ซ่องสุมอยู่ในกัมพูชา ชื่อของสุทินจึงเป็นที่รู้จักของกลุ่มกองกำลังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเขมร 3 ฝ่าย , โจรจีนมลายู , กลุ่มพูโล , กองกำลังแบ่งแยกดินแดนในพม่า ไปจนถึง‘ขุนส่า’ราชายาเสพติด

“ ผมทำข่าวกับสำนักข่าวต่างประเทศมาตลอด ที่แรกคือสำนักข่าวยูพีไอซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สนุกและตื่นเต้นที่สุดเพราะกำลังเกิดสงครามอินโดจีน การต่อสู้ตามแนวชายแดนกำลังคุกรุ่นทั่วทั้งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย รวมทั้งตามแนวชายแดนในประเทศไทยด้วย เราได้เข้าไปอยู่กับกองโจรเขมรแดง บางทีก็ลงไปอยู่กับกองโจรจีนมลายา เข้าไปอยู่กับเขา 7-8 วัน บางทีก็เป็นเดือน แล้วไม่ใช่ว่าเราแอบเข้าไปทำข่าวนะ แต่เขาเชิญเราเข้าไป คือสงครามยุคใหม่ในช่วงหลังจากสงครามเย็นมันไม่ใช่สงครามที่ต่อสู้กันด้วยอาวุธหรือสู้กันในสนามรบอย่างเดียว แต่มันต่อสู้กันด้วยสงครามข่าวสารด้วย

การเผยแพร่ข่าวสารออกไปจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่ให้เงินสนับสนุนเขา สมมติว่ากองกำลังเขมรแดงเข้ายึดหมู่บ้านหนึ่งได้ก็ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเขาพาผู้สื่อข่าวเข้าไป ไปเห็นว่าเขายึดได้จริง มีการถล่มหมู่บ้าน มีผู้อพยพ ข่าวนั้นเมื่อเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ ข่าวมันก็จะออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน อาเซียน หรือประเทศในแถบตะวันตก มันเป็นอำนาจการต่อรองทางการเมืองเวลาเจรจาตกลงสันติภาพกัน อย่างขุนส่าซึ่งเป็นราชายาเสพติด ช่วงที่ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกหมายจับ ตั้งค่าหัวถึง 2 ล้านดอลล่าร์ ตลาดการค้าของขุนส่าก็ปั่นป่วนไปหมด เขาก็ให้นักข่าวเข้าไปทำข่าว ไปถ่ายโรงงานของเขา พอข่าวออกไปลูกค้าก็มั่นใจว่าขุนส่ายังมีชีวิตอยู่ ยังมีเพาเวอร์ (หัวเราะ) คือกลุ่มที่เป็นกองโจร พวกนักปฏิวัติ หรือผู้ก่อการร้ายระดับสากล ระดับโลก เขาจะรู้วิธีติดต่อสื่อ คนที่เป็นมือเป็นไม้ของผู้ก่อการร้ายเนี่ยเขาไม่ได้อยู่ในป่าอย่างที่เราเข้าใจกันหรอก ถ้ารู้แล้วจะแปลกใจว่าโรงแรมใหญ่ๆในไทยบางแห่งเป็นของผู้ก่อการร้าย” สุทิน เล่าถึงเบื้องหลังในการเข้าไปทำข่าวกลุ่มกองกำลังตามแนวชายแดน

วินาทีเสี่ยงตาย

หลายห้วงเวลาที่สุทินและทีมงานต้องท้าทายกับความเป็นความตายที่อยู่ตรงหน้า เพราะแน่นอนว่ามิใช่ทุกข่าวที่แหล่งข่าวเต็มใจให้เผยแพร่ นักข่าวมาดเข้มหยิบยกบางส่วนของช่วงเวลาระทึกขวัญมาเล่าขานให้ฟังว่า

“ มีอยู่ครั้งหนึ่งรัฐบาลทหารกัมพูชาเชิญผมและนักข่าวไทยอีก 2-3 คนไปทำข่าว เพราะเห็นว่าช่วงนั้นมีแต่ข่าวของฝ่ายเขมรแดงออกมา ระหว่างที่นั่งเรือจากตราดไปเกาะกง เรือเราก็ถูกทหารเขมรปล้น รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารที่นั่งมาด้วยเขาก็อาย เขาก็คุยกันเป็นภาษาเขมรว่าตอนนี้มีนักข่าวอยู่ในเรือ ถ้าจะเอาเงิน ค่อยไปเอาบนบก ให้ไปติดต่อที่บ้านผู้ว่าฯ (หัวเราะขำ) ทหารที่มาปล้นมันก็โมโห ยิงปืนลงน้ำชุดใหญ่ พอเห็นทหารยิงปืนพวกรัฐมนตรีก็รีบโยนกระเป๋าสตางค์ โยนของมีค่าลงในเรือ พอเรือของทหารพวกนี้ออกไปผู้ว่าฯเกาะกงซึ่งแกพูดภาษาไทยได้แกก็บอกว่า...คุณสุทิน นี่มันเป็นพวกทหารนอกแถวนะ อย่าถือเป็นสาระ อย่าเอาไปลงข่าวเลยนะ ผมก็บอกว่า..ผู้ว่าฯครับ ตั้งแต่เรามากัน 8 ชั่วโมงเนี่ย นี่เป็นข่าวชิ้นเดียวที่ผมรายงานได้ ผมก็รายงานไป ปรากฏว่าเขาโกรธผมใหญ่ แล้วก็ทิ้งผมกับช่างภาพไว้ที่แซมปึน

พอเราถูกทิ้งด้วยสัญชาตญาณของนักข่าวเราก็หาข่าวทำไปเรื่อย ก็รอว่าวันไหนมีเรือประมงหรือเรือผู้อพยพผ่านมาเราก็จะขออาศัยเขาไปด้วย ก็ไปเจอทหารเขมรคนหนึ่ง พูดภาษาไทยได้ เขาจะรับจ้างพาไปที่ค่ายใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งยืนยันว่ายังมีทหารเวียดนามอยู่ คือตอนนั้นรัฐบาลเขมรเขาประกาศว่าทหารเวียดนาม 250,000 คนที่เข้ามายึดกัมพูชาออกไปหมดแล้ว ไปถึงช่างภาพก็ถ่ายรูปรถถัง อาวุธยุทโธปกรณ์ เราก็ได้คุยกับทหารที่พอพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ได้เค้าว่ากองทัพเวียดนามยังอยู่ เราคุยไปสักพักหนึ่งได้ ก็มีทหารซึ่งเราเข้าใจว่าน่าจะเป็นทหารเวียดนามาเชิญไปคุยที่สำนักงานในค่าย เขาก็บอกว่าผมจำเป็นต้องขอฟิล์มคุณนะ เราก็ไม่ให้ คุยไปสักพักบรรยากาศเริ่มเครียดแล้ว ก็เจรจาต่อรองกัน เขาก็บอกว่าถ้าไม่ให้ฟิล์มเขาก็จำเป็นต้องกักตัวเรา ไม่รู้ยังไงอยู่ๆช่างภาพก็ยอมให้ฟิล์ม แต่ผมไม่รู้ว่าช่างภาพเขาสลับฟิล์มเก็บไว้ก่อนแล้ว (หัวเราะ) ผมเองก็แอบอัดเทปตอนที่คุยกันเอาไว้ พอกลับมาถึงที่พักช่างภาพก็บอกว่า พี่...ยังไงวันนี้ก็ต้องออกไปจากที่นี่ให้ได้ เพราะผมแอบเปลี่ยนฟิล์ม เดี๋ยวทหารมันไปเปิดดูล่ะตายเลย(หัวเราะร่วน) คือเราก็รู้ว่ามันอันตรายนะ แต่อะไรที่เป็นข่าวก็ต้องนำเสนอ ซึ่งสิ่งนี้ต้องมีอยู่ในสื่อทุกคน” สุทินพูดถึงปรัชญาในการทำงานที่เขายังคงยึดมั่นมาถึงทุกวันนี้

ที่มาของฉายา‘นายกฯ หอกหัก’

สุทินทำข่าวอยู่ที่สำนักข่าวยูพีไอได้ 12 ปีก็ย้ายไปสังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์(Reuters) และล่าสุดเขามีสถานะเป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวเอพี(AP- The Associated Press) โดยข่าวที่เขานำเสนอนั้นเป็นข่าวระดับมหภาค ทั้งข่าวสงคราม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม สุทินในวัย 59 ปี ยังคงเส้นคงวากับสไตล์การทำข่าวแบบถึงลูกถึงคนชนิดยอมหักไม่ยอมงอ เขากล้าที่จะต่อกรกับแหล่งข่าวระดับบิ๊ก ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลในสังคม และหนึ่งในนักการเมืองที่เข่นเคี่ยวและปะทะคมรมกันมาหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งเรียกว่าเป็นคู่ปรับกันก็ว่าได้ก็คือ ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทยนั่นเอง ว่ากันว่าการปะทะคารมระหว่างนักข่าวหัวแข็งกับนักการเมืองฝีปากกล้ากลายเป็นที่มาของฉายา ‘นายกฯ หอกหัก’ ที่นายสมัครถูกเรียกขานมาถึงทุกวันนี้

“ จริงๆแล้วผมเคยปะทะคารมกับคุณสมัครมาตั้งแต่ผมยังไม่ได้เป็นนักข่าว แต่เขาจำผมไม่ได้ ผมเจอคุณสมัครครั้งแรกที่สนามเสือป่า ตอนนั้นประมาณปี 2519 คุณสมัครไปพูดว่าคนตรังไปรู้เลือก ส.ส.มายังไง ส.ส.เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่ง ส.ส.ที่คุณสมัครพูดถึงตอนนั้นก็คือคุณชวน หลีกภัย ทีนี้เขาก็ไปปลุกระดมว่าทั้งประเทศเขามีลูกเสือชาวบ้านกันแล้วแต่จังหวัดตรังไม่มี ผมเองเป็นคนจังหวัดตรัง ก็เลยเกิดการปะทะระหว่างผมกับคุณสมัคร ผมก็ยืนยันว่าจังหวัดตรังมีลูกเสือชาวบ้าน ส่วนเขาจะเลือก ส.ส.มายังไงนั้นถือเป็นวิจารณญาณของเขาที่เขาเห็นว่าเป็นคนดี ไม่ใช่คนเลวทรามบัดซบอย่างนี้ จากนั้นก็มีการเผชิญหน้าและถกเถียงกันมาตลอด

ครั้งที่ 2 คือหลังเหตุนองเลือดช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 นักข่าวก็ไปดักสัมภาษณ์คุณสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร คุณสุจินดามาถึงทำเนียบฯแกเห็นนักข่าวเยอะ แกก็เผ่นแน่บไปเลย นักข่าวก็วิ่งไปดัก คุณสมัครซึ่งเป็นรองนายกฯก็วิ่งมาขวางแล้วบอกว่าจะแถลงข่าวเอง ผมก็ถามว่าคุณสมัครเมื่อเกิดเหตุนองเลือดขึ้นแล้วเนี่ย พรรคประชากรไทยของคุณจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลไหม แกก็บอกว่า เออ..ทีจอร์จบุชมันฆ่าคนในเหตุจลาจลในอเมริกาไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย ผมก็บอกว่ามันคนละเรื่องกัน ผมถามว่าคุณจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลไหม แกก็เห็นนักข่าวฝรั่งเยอะแกก็บอกให้ฝรั่งถามบ้าง ปีเตอร์ซึ่งเป็นนักข่าวฝรั่งเขาก็บอกว่าผมก็จะถามเหมือนที่คุณสุทินถามน่ะแหล่ะ ผมก็ถามย้ำว่าจะถอนตัวหรือเปล่า แกหันขวับมาบอกว่าคุณหุบปากได้แล้ว ผมก็เลยสวนไปว่ามึงก็หุบปากสิวะ แกก็บอกว่าถ้างั้นคุณมาถามผมทำหอกอะไร ผมก็บอกว่าแล้วคุณมาเป็นรองนายกทำส้น....อะไร เท่านั้นแหล่ะวงแตกเลย ตอนนี้พอแกมาเป็นนายกฯก็เลยมีคนตั้งฉายาแกว่า ‘นายกฯหอกหัก’ (หัวเราะขำ)

ล่าสุดก็เถียงกันอีกตอนแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ผมก็ถามคุณสมัครว่าทุกพรรคยืนยันหรือเปล่าว่าจะเลือกคุณสมัครเป็นนายกฯ แกก็บอกว่าเป็นคำถามที่ไม่น่าถาม ผมก็บอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลถ้าไม่ให้ถามเรื่องบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯแล้วจะให้ถามเรื่องอะไร หรือทุกคนอายที่จะให้คุณสมัครเป็นนายกฯถึงไม่ให้ถาม นักข่าวคนอื่นเขาก็ถามทำนองเดียวกันว่าพรรคร่วมรัฐบาลยอมรับในคุณสมบัติของคุณสมัครหรือเปล่า แกก็โมโหใหญ่ สุดท้ายก็ยกเลิกการแถลงข่าว (หัวเราะ)” สุทินเล่าถึงการปะทะคารมระหว่างเขาและนายสมัคร

สาวไส้สื่อ

สุทินยังแสดงความวิตกต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันว่า สิ่งที่น่าห่วงคือสื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอข่าวเข้าข้างผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง อำนาจการทหาร หรืออำนาจทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังนำมาสู่ ‘วิกฤตสื่อ’ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายสังคมไทย

นักข่าวส่วนใหญ่ไม่กล้าถามคำที่รู้ว่าถามแล้วนักการเมืองจะไม่พอใจ ทั้งๆที่มันเป็นสิ่งที่สังคมควรรู้ รวมถึงไม่กล้าเสนอข่าวที่เป็นลบต่อนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจด้วย ที่น่าเศร้าคือนักข่าวที่ว่าเนี่ยล้วนแต่เป็นนักข่าวอาวุโส ซึ่งแนวคิดแบบนี้มันเป็นสิ่งที่สั่งสมมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรม เท่าที่เห็นนักข่าวใหม่ๆหลายคนก็พยายามลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่ว่าถูกกดดันจากนักข่าวระดับเจ๊ ระดับ 18 อรหันต์ ซึ่งมักแสดงความไม่พอใจนักข่าวรุ่นน้องที่ถามคำถามที่นักการเมืองขัดเคืองใจ

อย่างตอนที่มีปัญหาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ สุทิน คลังแสง พากลุ่ม นปก.เข้าไปแถลงข่าวในรัฐสภา และมีการถ่ายรูปนักข่าวในลักษณะข่มขู่คุกคาม นักข่าวก็ไม่พอใจ คุณเหวง โตจิราการ ก็บอกว่าเอาล่ะ เรื่องนี้ขอกันกินมากกว่า ก็มีนักข่าวรุ่นใหม่ๆเขาย้อนมาว่าใครไปขอคุณกิน แสดงให้เห็นว่านักข่าวเริ่มลุกขึ้นมาสู้ แต่การสู้ของเขาไม่สามารถทัดทานกับนักข่าวระดับบนที่มีอำนาจตัดสินใจในการนำเสนอข่าว แม้นักข่าวในพื้นที่จะรายงานว่าบนเวทีพันธมิตรฯ มีการแฉเรื่องการทุจริตของนักการเมืองในรัฐบาลนี้ แต่บรรณาธิการข่าวไม่เอาข่าวนี้มาออกอากาศ กลับเสนอแต่ข่าวเชิงบวกของรัฐบาล ตอนนี้มันจึงเกิดปรากฏการณ์สื่อทำร้ายสังคม ซึ่งตรงนี้นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง” สุทินกล่าวตบท้ายด้วยน้ำเสียงที่หดหู่
 
* * * * * * * * * * *
 
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
เมื่อครั้งเข้าไปทำข่าวกองกำลังเขมรแดง

กำลังโหลดความคิดเห็น