ผู้จัดการออนไลน์ -- แม้ว่าจะสวมรองเท้าแตะ ถืออาวุธเก่าๆ ออกปรากฏตัวบนเขาพระวิหาร แต่ทหารเขมรพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นนักรบเขมรแดงเก่าที่มีประสบการณ์ในการรบ และ หลายคนในนั้นบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า พวกเขาอยากจะรบกับทหารไทย
ทหารสวมรองเท้าแตะพวกนี้ปะปนอยู่กับบรรดาทหารฝ่ายกัมพูชากว่า 1,000 คน ที่กำลังเผชิญกับทหารไทยราว 500 คนที่วัดเแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเนินเขาบนเส้นทางไปสู่ปราสาทพระวิหาร ที่พูชากล่าวอ้างว่าเป็นดินแดนของตนและไทยก็กล่าวอ้างเป็นดินแดนใต้อธิปไตยของไทยเช่นเดียวกัน เนื่องจากอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย
อดีตนักรบเขมรแดงพวกนั้นบอกว่าอยากจะรบกับทหารไทยมาก และขอทหารไทยอย่าได้เข้าใจผิดๆ เมื่อเห็นรูปลักษณ์ของพวกเขา โดยทุกคนยังสวมรองเท้าแตะ และใช้ปืนกระบอกเก่าๆ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
“พวกเขาบอกว่าเราตัวเล็กและใส่รองเท้าแตะ แต่ใส่รองเท้าแตะทำให้เราเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว เรารู้จักพื้นที่ดี เราตัวเล็กแต่ก็แข็งแรง” ดวงเตย (Duong Tay) วัย 32 ปีกล่าวกับเอเอฟพี เขาเป็นนักรบในกองทัพเขมรแดงมาตั้งแต่อายุ 12
พวกเขมรแดงเก่าบอกอีกว่าทหารไทยนั้นดูดีกว่า เพราะสวมเครื่องแบบและอาวุธทันสมัย.. แต่..
“พวกทหารไทยรู้แต่ทฤษฎีการสู้รบ พวกเขาบอกว่าพวกเราตัวเล็ก แต่ไม่รู้หรอกว่าพวกเราเป็นไก่ป่า” ยานสาน (Yan San) วัย 47 ปี ซึ่งกลายเป็นนักรบเขมรแดงตั้งแต่อายุ 15 กล่าวกับเอเอฟพีอีกคน
“ผมอยากจะรบกับทหารไทย” อดีตเขมรแดงคนเดียวกันกล่าว
พล.จ.เจียแก้ว (Chea Keo) ผู้บัญชาการทหารในพื้นที่ จ.พระวิหาร ที่กำลังเผชิญหน้ากับไทยอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นอดีตทหารเขมรแดงคนหนึ่ง
นายพลผู้นี้ กล่าวว่า กว่า 60% ของกำลังพลภายใต้การบัญชาเคยเป็นนักรบในกองทัพกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดงที่ครองอำนาจในกัมพูชาระหว่างปี 2518-2522 ก่อนที่จะถูกกองทัพเวียดนามเคลื่อนข้ามพรมแดนเข้าขับไล่ออกจากกรุงพนมเปญ
ระบอบเขมรแดงมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการล้มตายของผู้คนเกือบ 2 ล้านในช่วงเวลา 3 ปีเศษที่ครองอำนาจ ในนั้นจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตเพราะถูกทรมาน ถูกสังหารโหด อดอยาก โรคระบาดและทำงานหนัก
ช่วงที่เรืองอำนาจในกรุงพนมเปญ ฝ่ายเขมรแดงได้ก่อกรรมทำเข็ญกับราษฎรไทยหลายครั้ง รวมทั้งกรณีบ้านโนนหมากมุ่น อ.ตาพระยา เมื่อปี 2520 ซึ่งทหารเขมรแดงข้ามพรมแดนเข้ามาสังหารราษฎรไทยรวมทั้งเด็กและสตรี ก่อนจะเผาทั้งหมู่บ้านจนวอดเป็นเถ้าถ่าน โดยอ้างว่าตั้งอยู่ในเขตแดนกัมพูชา
นั่นเป็นช่วงปีที่คอมมิวนิสต์เขมรแดงยินยอมให้กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตอีสานใต้เข้าไปใช้ดินแดนกัมพูชาเป็นแหล่งพักพิง เนื่องจากเป็นคอมมิวนิสต์นิยมลัทธิเหมาเจ๋อตงเช่นเดียวกัน
แต่หลังจากกองทัพเวียดนามยึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 7 ม.ค.2522 กองกำลังเขมรแดงได้ถอยร่นประชิดชายแดนไทย และรัฐบาลไทยในยุคหนึ่งได้อนุญาตให้พวกนี้ข้ามเข้ามาตั้งมั่นลับๆ ในดินแดนไทยได้ โดยได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธ ยุทธปัจจัย ยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งอาหารจากจีนและไทย เพื่อเป็นกันชนป้องกันการรุกรานของทหารเวียดนาม
กองกำลังเขมรแดงตั้งมั่นเรียงรายตามแนวตะเข็บชายแดนติดกับไทย ตั้งแต่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ รวมทั้งในเขตเจาพระวิหาร ไปจนถึง จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ อ.ตาพระยา และ อรัญประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน จ.สระแก้วไปจนถึง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
มวลชนของระบอบเขมรแดงนับหมื่นๆ คนที่ถอยร่นติดตามมาด้วย ได้ถูกจัดให้เข้าอาศัยในค่ายผู้อพยพหลายแห่งที่เรียงรายตามแนวชายแดน ภายใต้การดูแลขององค์การระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่ในนั้นเป็นลูกและภรรยาหรือญาติๆ ของนักรบเขมรแดง
เขาพระวิหารเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่กองกำลังเขมรแดงชุดท้ายๆ ยอมจำนวนต่อรัฐบาลในกรุงพนมเปญของนายฮุนเซน ในปี 2541 แต่อีกส่วนหนึ่งยังคงต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลในเขต จ.อุดรมีชัย จนกระทั่งผู้นำคือนายพลตาม๊อกถูกจับเมื่อปี 2542 และเสียชีวิตเมื่อปี 2549 ขณะถูกจำคุก
อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้สั่งห้ามทหารใช้อาวุธระหว่างเผชิญหน้ากันในดินแดนพิพาทเขตพระวิหาร แม้ว่าในวันพฤหัสบดี (17 ก.ค.) สองฝ่ายหวิดจะได้ปะทะกันในบริเวณวัดดังกล่าว