xs
xsm
sm
md
lg

Parkour & FreeRunning : X-Sport ของคนวัยมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทำอะไรอยู่น่ะ! ปีนแบบนั้น เดี๋ยวก็ตกมาหัวแตกกันพอดี
ฉันร้องเสียงตกใจปนโมโหในพฤติกรรมของน้องชายตัวแสบ ที่กำลังปีนป่ายกำแพงบ้านไปมา แค่นั่นยังไม่พอ เจ้ายังกระโดดข้ามไปเยี่ยมที่กำแพงเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้ขออนุญาตเขาซักคำ
หลังจากคว้าแขนเสื้อตัวแสบมาไว้ในมือได้ จึงรีบถามหาสาเหตุ
"อะไรทำให้นึกอยากเป็นลิงเป็นค่างขึ้นมา!"
โหย...พี่หน่ะสุดเชย ผมกำลังเล่นกีฬาอยู่ต่างหาก
กีฬาอะไรของมัน? ฉันนึกในใจ

.....


มาหยุดยืนอยู่หน้าโรงยิมนาสติกของศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ตามคำเชิญชวนของน้องชายตัวซน
เดินเข้าไปสักพัก จึงได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังกระโดดปีนป่ายอย่างเชี่ยวชาญ เขาคงซ้อมคิวบู๊กันก่อนถ่ายหนัง ฉันนึก จึงเอ่ยปากถามน้องชายว่าที่นี่เขามีถ่ายหนังกันบ่อยไหม?
น้องชายตัวดียิ้มรับ แต่ไม่ได้ตอบอะไร
แต่กลับพาฉันเข้าไปทำความรู้จักกับคนกลุ่มนั้น
นั่นคือฉากเริ่มต้นของฉันกับการทำความรู้จักกีฬาสุดโลดโผน Parkour & FreeRunning

*Parkour & FreeRunning
หลังจากแนะนำตัวเรียบร้อย พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจใหม่ว่าที่นี่ไม่ใช่กองถ่ายหนัง ต่อมช่างสงสัยของฉันเริ่มทำงาน จึงซักถามไปตามประสาคนไม่รู้เรื่อง
"Parkour และ FreeRunning ก็เหมือนกีฬา Extreme อื่นๆ เหมือนกีฬาโดดร่ม ปีนเขา สเก็ตบอร์ด" ธนะ บุญเหมาะ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพะเยา ผู้มีงานอดิเรกสุดผาดโผนคือการเล่น FreeRunning หยุดสปริงข้อเท้าเพื่อมาตอบคำถามให้คนหน้าใหม่อย่างฉันฟัง
เมื่อเอ่ยถามถึงความแตกต่างของเจ้าสองสิ่งนี้ ธนะอธิบายว่า Parkour จะเน้นการเคลื่อนย้ายร่างกายในสถานที่ที่ยากแก่การเคลื่อนที่ โดยเน้นทำด้วยความเร็ว อย่างที่เราได้เห็นจากภาพยนตร์ที่มีฉากการไล่ล่า ฉากกระโดดข้ามตึก Parkour มีต้นกำเนิด และเป็นที่นิยมในประเทศฝรั่งเศส โดยการปลุกกระแสของ David Balle ดารานำแสดงภาพยนต์เรื่อง B13
ส่วน Free Running เป็นกีฬาที่มีพื้นฐานมาจาก Parkour นิยมเล่นกันในประเทศอังกฤษ ซึ่งที่อังกฤษได้รับความนิยมมาก เพราะคลิปวิดีโอ Brothers Journey ของ 2 พี่น้อง Chase and Cole Armitage จากทีม 3Run ซึ่งคลิปวิดีโอนี้โด่งดังไปทั่วโลก การเล่นของ FreeRunning จะไม่เน้นความเร็วของการเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ แต่จะเน้นที่ความสวยงามของการกระโดดมากกว่า คล้ายกับการหยิบเอายิมนาสติกมาออกเล่นนอกสถานที่ อาจมีความเสี่ยงบ้างแต่ก็มีประโยชน์มากในการสร้างสมาธิ ความกล้า และความมั่นใจ ธนะอธิบายให้ฟัง
"Parkour จะเป็นการกระโดดไกลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง จุดสังเกตง่ายๆ ของ Parkour คือจะไม่มีการตีลังกา มีแต่การปีนอย่างเดียว ส่วน FreeRunning จะมีท่าตีลังกาเพิ่มเข้ามา" เชียงมั่น งามกนกวรรณ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี นักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ผู้ชื่นชอบในกีฬาชนิดนี้ช่วยอธิบายเสริม

อาจเพราะแววตาของฉันยังดูมึนงงกับนิยามที่ได้รับ
"น่าจะเคยดูหนังเรื่ององก์บากกับต้มยำกุ้งแล้ว ใช่ไหมครับ?" เสียงของ พิรพัชร เข็มเพ็ชร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพละศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เอ่ยถาม ฉันพยักหน้าตอบ
"ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ฉากที่จาพนมวิ่งหนี กระโดดหลบสิ่งกีดขวางต่างๆ ในเรื่ององก์บาก และต้มยำกุ้ง เราจะได้เห็น FreeRunning ซึ่งเป็นการวิ่งหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่างๆ และจะเน้นท่าทางที่สวยงาม ส่วนเรื่อง B13 นั้นส่วนใหญ่เป็นฉาก Parkour จะเน้นไปที่ความรวดเร็ว ไม่เน้นท่าสวยงามมากนัก" พิรพัชรขยายความ
ธนะช่วยยกตัวอย่างการเล่นของ Parkour เพิ่มเติมว่า มันเหมือนการเดินของแมวบนราวบันได การกระโดดลอดผ่านช่องเล็กๆ ด้วยความรวดเร็ว การกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางระยะไกลๆโดยการใช้มือค้ำ (Kong) การกระโดดข้ามตึก Parkour จะให้เรื่องพละกำลัง และสุขภาพมากกว่า FreeRunning และบางครั้งยังนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่าด้วย

*เหตุเกิดเพราะความซน
ระหว่างที่ฉันนึกภาพตามอยู่ น้องชายฉวยจังหวะถามถึงที่มาที่ไปของการมาฝึกเล่นกีฬาประเภทนี้ของแต่ละคน
"เล่นมา3ปีแล้ว แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากฝึกคือ ภาพยนตร์เรื่ององก์บากและต้มยำกุ้ง ดูแล้วสนใจ เพราะเรามีเป้าหมายอยากยึดอาชีพเป็นสตันต์แมนอยู่แล้ว" พิรพัชรเป็นคนแรกที่เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ชวนให้เล่น
"ตอนเด็กๆ ผมค่อนข้างซนมาก ปีนทุกอย่างที่ปีนได้ พอได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ ยิ่งซนหนักขึ้นเพราะมีต้นไม้ให้ปีนเยอะ กระโดดแข่งปีนข้ามต้นไม้กับเพื่อน ตอนนั้นเหมือนลิงเลย แต่ก็เล่นเพราะสนุก ยังไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไร พอโตมาได้อายุสัก15 ได้ดูหนังเยอะขึ้น จึงเริ่มอยากเป็นสตันต์แมน เอาหนังมาดู ฝึกท่าตีลังกาบนสนามหญ้า ฝึกเองมาตลอดจนเข้ามหาวิทยาลัย ก็ได้แสดงตามงานกิจกรรมต่างๆ จนเป็นที่รู้จักในมหาวิทยาลัย บางคนเรียกผมว่าจาพนม ผมก็อดยิ้มไม่ได้" ธนะเล่าให้ฟังอย่างเขินๆ
"ส่วนผมฝึกเองมาปีครึ่งแล้ว เหตุผลที่สนใจอยากเล่นก็คงคล้ายๆ กัน คือตอนเด็กจะชอบเล่นผาดโผนอยู่แล้ว และมีอยู่ช่วงหนึ่งมีเพื่อนเอาคลิปวิดีโอมาให้ดู เพื่อนบอกเราว่ามันคือ FreeRunning ผมเห็นแล้วน่าลอง เลยลองฝึกดู เวลาฝึกจะใช้วิธีเรียนรู้จากคลิปของต่างประเทศ ดูแล้วจำมาลองฝึกเอง" เชียงมั่นเล่า
พิรพัชรเล่าว่า เขาเองก็ได้เริ่มศึกษาจากเว็บไซต์ Youtube.com บวกกับการที่เขาเรียนเอกพละศึกษา ได้เรียนยิมนาสติก จึงมีความได้เปรียบกว่าผู้เล่นคนอื่นๆ เขาเล่าว่าการมาฝึกเล่น FreeRunning คล้ายกับงานอดิเรก เหมือนเป็นผลพลอยได้ เพราะสิ่งที่ต้องเรียนอยู่ทุกวัน คือพวกยิมนาสติก การผาดโผน มันทำให้เขามีทักษะตรงนี้อยู่แล้ว
"Youtube.com เปรียบเสมือนครูของผมเลย" ธนะเล่าต่อ เนื่องจากย่านที่เขาอยู่ไม่ใช่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หาคนคอเดียวกันได้ยาก ประกอบกับในYoutube มีสอนทุกอย่าง ทุกท่า จากชาวต่างชาติที่มีฝีมือ ส่วนเวลาฝึกจะอาศัยเพื่อนช่วยเซฟความปลอดภัยให้
"เราไม่ควรเล่นแบบบ้าบิ่น ควรจะฝึกซ้อมจนแน่ใจ ก่อนออกไปเล่นนอกสถานที่ ระหว่างที่ซ้อมก็ควรจะมีเพื่อนมาช่วยเซฟความปลอดภัยให้ ผู้เล่นควรให้ความสำคัญกับการซ้อม ควรไปซ้อมในโรงยิมที่มีเบาะ และอุปกรณ์ที่พร้อม ข้อสำคัญอีกข้อคือ ควรจะฝึกยิมนาสติกพื้นฐานให้ชำนาญ" พิรพัชรเสริม

*ชุมชนรวมมนุษย์ผาดโผน
ด้วยความที่เป็นมีอินเทอร์เน็ตอยู่ในชีวิตประจำวัน ฉันเอ่ยถามถึงแหล่งชุมชนออนไลน์ของคนที่มี DNA มันๆแบบนี้มารวมตัวกัน
ThaiFreeRunning.com พิรพัชรตอบนำร่องให้ ก่อนให้ธนะเล่าต่อในฐานะที่เป็นเว็บมาสเตอร์
"ลองนึกภาพดูว่าคุณค้นหาคำๆ หนึ่งใน Google หน้าภาษาไทย แล้วมันแสดงผลว่า 'ผลการค้นหา -ไม่ตรงกับเอกสารใดๆ' นั่นคือ FreeRunning ในสมัยนั้น ประกอบกับการที่เราเองอยู่ต่างจังหวัด โอกาสที่จะแสดงอะไรให้คนอื่นเห็นมันยาก สมัยนี้มันมีเพียงอินเทอร์เน็ต ที่จะช่วยเผยแพร่สิ่งที่เรามีให้คนอื่นดูได้ง่าย บวกกับความคิดที่ว่าน่าจะมีคนที่เล่นแบบผมเหมือนกัน"
"ผมจึงคิดจะสร้างเว็บไซต์ขึ้น พอผมได้เว็บไซต์มาแล้ว ผมตั้งใจที่จะสร้างเป็นที่ส่วนรวม ไว้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ FreeRunning ผมอยากถ่ายทอดให้คนที่สนใจได้รับต่อจากผมไป มันดีกว่าการที่ผมนั่งอยู่เฉยๆ เล่น FreeRunning อยู่คนเดียว แต่ไม่ได้อะไรเลย" ธนะเล่าถึงที่มาของการทำเว็บไซต์ให้ฟัง
"ถ้าเป็นเว็บไซต์ของต่างประเทศที่ผมเข้าไปศึกษาก็มี AmericanParkour.com ในเว็บนี้จะมีพวก Tutorial ที่สอนโดยสตันต์แมนต่างประเทศ มีทั้งท่าเบสิกและอื่นๆ มากมาย" เชียงมั่นเพิ่มข้อมูลให้

พูดถึงท่าเบสิกนี่ มีกี่ท่าครับ? น้องชายตัวซนชิงหาจังหวะถาม
"ท่าบังคับของ FreeRunning จะมีการปีน การข้ามกำแพง มันเป็นลักษณะการประยุกต์ใช้ให้ดูสวย อย่างเช่น Wall Spin เป็นท่ากระโดดกับกำแพง Wall Flip ท่าไต่กำแพงโดยใช้เท้าเหยียบกำแพงแล้วตีลังกาหลัง Palm Flip เป็นการเอามือสองข้างจับกำแพงแล้วตีลังกาหลัง และท่าอื่นๆ อีกเยอะแยะ" เชียงมั่นกล่าวไปพร้อมกับโชว์ Wall Spin ให้ดู
"นอกจากนั้นก็มีท่า Cat leap คือท่าที่กระโดดไปเกาะกำแพงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าที่ง่ายสุด ทำได้ทุกคนอยู่แล้ว ง่ายรองลงมา คือการม้วนหน้า มันสำคัญมากเวลาลงจากที่สูง เพราะจะช่วยผ่อนแรงกระแทกเวลาเราลงถึงพื้น" ธนะเสริม พวกท่าพื้นฐานสำหรับคนเริ่มฝึกหัด อาจเริ่มต้นจากเว็บไซต์ ThaiFreeRunning.com จากนั้นก็ไปหาศึกษาต่อเพิ่มเติมจากคลิปวิดีโอจาก Youtube.com ก็ได้ พิรพัชรเสริมพร้อมๆ กับไป Wall Spin ข้างๆ เชียงมั่น

*ฮีโร่ ต้นแบบความท้าทาย
หลังจากนั่งดูทั้งสามปีน กระโดด ผาดโผนไปมาได้สักพัก ก็นึกสงสัยถึงบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจของพวกเขา จึงเอ่ยถามไป
ไม่ต้องนั่งนึกให้นาน เชียงมั่นตอบเป็นคนแรกว่า ซูเปอร์สตาร์ในสายตาของเขาเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อว่า David Belle ธนะเล่าต่อทันทีว่า "ถ้าเป็นกีฬา TrickZ ฮีโร่ของผมจะมี 2 คนคือ Anis Cheurfa และ Timman ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีที่ผมได้มีโอกาสเจอตัวจริงของเขาทั้งสอง เพราะเขาเคยมาถ่ายภาพยนตร์เรื่ององก์บาก 2 จำได้ว่าตอนนั้นดีใจมาก ได้ขอลายเซ็นต์ ได้ถ่ายรูปกลับมา"
"ถ้าเป็นฮีโร่ในกีฬา FreeRunning จะเป็น Chase Armitage ชาวอังกฤษ เขาคนนี้นอกจากจะเก่ง FreeRunning แล้ว เขายังมีความสามารถในการจัดวางตำแหน่งตัวเองให้สอดรับกับมุมกล้องให้ดูดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ แค่เขาเดินเฉยๆ บนกำแพง ก็สามารถสร้างความรู้สึกชวนติดตามได้" ธนะแจกแจงฮีโร่ออกมาจากแววตาที่เปล่งประกาย "สำหรับผมฮีโร่ในดวงใจก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพี่ จา-พนม ยีรัมย์ หรือโทนี่ จา จากภาพยนตร์เรื่องที่ชอบคือ องก์บากและต้มยำกุ้ง" พิรพัชรตอบด้วยรอยยิ้ม

*สนุก แข็งแกร่ง แถมท้าทาย
น้องชายตัวดีเริ่มคันแข้งคันขา อยากไปร่วมกระโดดปีนป่ายกับเขาบ้าง จึงรีบหาตัวช่วยสนับสนุน พิรพัชรเดินผละออกมาจากน้องชายตัวดี ยิ้มร่ามานั่งคุยกับฉัน พลางเล่าให้ฟังถึงประโยชน์ของกีฬาที่คนทั่วไปอาจมองว่า 'ไม่เข้าท่า น่าหวาดเสียว' "กีฬานี้ให้ความสนุก ความกล้า สมาธิ และความแข็งแรงของร่างกาย ผมมองว่า Parkour และ FreeRunning เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ ปอด เลือดของเราได้สูบฉีดดีขึ้น จากการที่เราวิ่ง เรากระโดด" พิรพัชรสวมหมวกนักพละศึกษาอธิบาย
"ความมันส์ครับ แต่ไม่ได้ไร้สติ เพราะก่อนเล่นผมจะทำสมาธิ กราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ถึงจะเป็นกีฬาฝรั่งก็ตาม" ธนะกล่าวก่อนเล่าต่อว่า หากวันไหนที่เล่นแล้วไม่ได้ทำสมาธิ หรือไหว้ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน เขาจะขาดสมาธิในการฝึก และจะไม่กล้าทำท่ายากๆ นอกจากนั้นแล้วกีฬานี้ ยังช่วยให้กล้าตัดสินใจ มีสมาธิ และสติมากขึ้นอีกด้วย ธนะวิ่งเข้ามาช่วยสนับสนุน
ฟังทั้งสองพูดจบ ฉันทันเหลือบไปเห็นน้องชายที่กำลังฝึกฝนอยู่กับเชียงมั่น แต่สายตากลับมองหาปฎิกิริยาตอบกลับของฉันอย่างมีความหวัง

*Parkour & FreeRunning ในต่างแดน
ด้วยยังตัดสินใจไม่ลงว่าจะสนับสนุนดีหรือไม่ ฉันจึงโยกการตัดสินใจไปยังประเด็นใหม่ก่อน ฉันอยากรู้ว่าในต่างแดนกีฬาประเภทนี้ได้รับความนิยมขนาดไหน ทำไมตอนนี้ฉันเห็นคนไทยเล่นกันเพียงกลุ่มเล็กๆ
ธนะเล่าว่า ที่ประเทศอังกฤษ และรัสเซีย จะเล่นกันแรงมาก เล่นท่าเสี่ยงมาก
"ผมเคยเห็นวิดีโอคลิปที่กระโดดลังกาหลังลงมาจากตึก 4 ชั้น สูงมากๆ แต่เขาลุกขึ้นมาเดินต่อได้เฉยเลย น่ากลัวเป็นผมคงไม่ไหว เพราะมันเสี่ยงเกินไป"
"แต่ชาวต่างชาติ เขาจะสนับสนุนกีฬาชนิดนี้มาก มีการจัดประกวดอยู่บ่อยครั้ง เช่นงาน RedBull Art of Motion ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีการเชิญคนดังๆ ในแวดวง Parkour & FreeRunning จากอินเทอร์เน็ตมาประกวดแข่งขันกัน โดยให้ผู้ชมร่วมเป็นกรรมการโหวตตัดสินหาผู้ชนะ"
"FreeRunning ในประเทศไทย ยังจัดอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ยิมนาสติกยังเป็นเรื่องแปลกสำหรับบ้านเรา โรงยิมนาสติกก็ไม่ค่อยมีให้เห็น หากในบ้านเรามีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนกีฬายิมนาสติกอย่างจริงจัง ต่อไปเราคงได้เห็นวัยรุ่นกระโดดไปมาตามสถานที่ต่างๆ ไม่แน่มันอาจกลายเป็นเทรนด์ใหม่แทนเด็กบีบอยที่เต้นตามห้างก็ได้" ธนะเล่าอย่างมีความหวัง

*มือใหม่หัดปีน
คุยไปคุยมา เริ่มเห็นความตั้งใจจริงของน้องชาย จึงเอ่ยถามถึงวิธีการของมือใหม่หัดปีน เล่นอย่างไรถึงจะปลอดภัย
ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่าเราต้องการจะเล่นถึงระดับไหน ต้องการเสี่ยงไหม? ถ้าไม่ต้องการเสี่ยง การเริ่มต้นก็คงไม่ยากนัก อาจเริ่มต้นด้วยการกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ปีนป่าย ทำให้เป็นประจำสม่ำเสมอ ร่างกายจะปรับตัวได้โดยอัตโนมัติ ที่สำคัญคือ ต้องมีทักษะยิมนาสติกพื้นฐาน
ส่วนสถานที่ฝึกซ้อมที่จะแนะนำคือโรงยิมนาสติกของศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง เพราะมีอุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง ทั้งลานกว้าง เบาะยิม ให้เราฝึกจนมั่นใจก่อนออกไปลองกับสถานที่จริงข้างนอก พิรพัชรเริ่มต้นแนะนำ
"เลือกเล่นตามความชอบ ชอบแบบไหนก็เล่นแบบนั้น ถ้าเล่น Parkour ก็ไม่มีตีลังกา แต่ถ้าเล่น FreeRunning ก็จะมีปีนด้วย ตีลังกาด้วย แต่คนไทยส่วนใหญ่ที่เล่นจะเล่น FreeRunning กันมากกว่า ที่สำคัญคือ ร่างกายของผู้เล่นจะต้องยืดหยุ่น แข็งแรง และใจต้องมีความกล้าหาญ" เชียงมั่นกล่าวเสริมจากประสบการณ์
"ถ้าเล่นเพราะแค่อยากเท่ ผมไม่แนะนำให้เล่น เพราะความตั้งใจอาจไม่พอที่จะยอมเสี่ยง แต่ถ้าใจรักยอมเจ็บ ยอมฝึกและทุ่มเท มันก็มีโอกาสที่คุณจะเก่งได้ ก่อนอื่นคุณจะต้องทำร่างกายให้รับน้ำหนักตัวเองให้ได้ก่อน เช่น การฝึกหกสูง การโหนบาร์ ฝึกกำลังแขน-กำลังขา วิดพื้น ม้วนตัว กระโดด และสมาธิ กีฬานี้มันมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือสามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์การเล่น และท่าทางได้ด้วยตัวของเราเอง ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้อย่างอัตโนมัติ" ธนะผู้นำก๊วนกล่าวสมทบ

ระหว่างทางกลับบ้าน น้องชายตัวซนยังพยายามใส่สเต็ปไปในทุกๆ ย่างก้าว เหงื่อไหลย้อยท่วมไปทั้งหน้าทั้งตัว แต่แววตากลับซุกซ่อนความตั้งใจไว้ท่วมท้นกว่าเหงื่อที่ได้เห็น
อย่างน้อยที่สุด มันก็ทำให้น้องเรามีจุดมุ่งหมาย และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเขาเอง ฉันนึก และค่อยๆ เดินตามไป โดยไม่พูดอะไรอีก

************************************
เรื่อง - วัลย์ธิดา วุฒิยาภิราม

ธนะ บุญเหมาะ FreeRunner และเว็บมาสเตอร์ Thaifreerunning.com
พิรพัชร เข็มเพ็ชร์ FreeRunner
Anis Cheurfa / ธนะ บุญเหมาะ / Timman
Chase Armitage FreeRunner ชาวอังกฤษ
สะสมความแข็งแกร่งให้ร่างกาย
สะสมความแข็งแกร่งให้ร่างกาย









กำลังโหลดความคิดเห็น