xs
xsm
sm
md
lg

Battle of Red Cliff : สามก๊กฉบับเปิดตำนานของ "จอห์น วู"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


By...Feel Lost/So Free

วรรณกรรมเรื่อง สามก๊ก เรียกได้ว่าถูกสร้างขึ้นมาคู่กับแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมๆ กับเรื่อง ไซ่ฮั่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำรัสให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย ๒ เรื่อง ซึ่งหน้าที่ในการแปลพงศาวดารสามก๊กนั้น ทรงมอบหมายให้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) อดีตนายด่านที่เคยร่วมรบด้วยกันมาให้เป็นเป็นผู้อำนวยการแปลเมื่อก่อนปี พ.ศ. ๒๓๔๘ (ปีก่อนอสัญกรรม) ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นเจ้านายในเวลาดังกล่าวเป็นอย่างมาก อันจะเห็นได้จากอิทธิพลที่พบเห็นในงานวรรณกรรมของไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นทั้งในบทละครนอกเรื่องคาวีและพระอภัยมณี และงานประพันธ์อื่นๆ อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของชาวไทยที่มีต่อวรรณกรรมสุดยิ่งใหญ่ของจีนเรื่องนี้เป็นอย่างดี จนกระทั้งทุกวันนี้งานแปลครั้งนี้ก็ยังเป็นฉบับที่มีคนอ้างถึงมากที่สุดฉบับหนึ่งในหลายๆ เล่มที่มีทำกันออกมาในภายหลัง

ซึ่งการสร้างฉบับภาพยนตร์ในชื่อตอนว่า The Battle of Red Cliff โดยปรมาจารย์หนังแอ็คชั่น จอห์น วู ภายใต้ทุนสร้างที่มโหฬารที่สุดของการสร้างภาพยนตร์เอเชียที่ ๘๐ ล้านเหรียญ หรือประมาณ ๒๖๐๐ ล้านบาท ที่นอกจากจะเป็นการออกฉายในปีค.ศ. ๒๐๐๘ เพื่อเฉลิมฉลองพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาของมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ การออกฉายภาคแรกในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ยังถือเป็นการครบรอบ ๘๐ ปีที่สามก๊กฉบับหอพระสมุดโดยสำนวนการแปลของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้รับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๑ อีกด้วย

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า งานดัดแปลงของ ล่อกวนตง นักปราชญ์กวีชาวจีนที่มีชีวิตอยู่ในราวพ.ศ. ๑๘๗๓ ถึง พ.ศ.๑๙๔๓ ผู้ที่นำประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊กช่วงปีพ.ศ.๗๖๓ ถึง พ.ศ.๘๒๓ มาแต่งเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ เป็นผลงานที่รุ่มรวยไปด้วยการนำเสนอเรื่องราวการชิงไหวชิงพริบของตัวละครในเรื่อง ตลอดจนเทคนิคการใช้คนและการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งยุทธศาสตร์ในการรบเพื่อชิงความได้เปรียบคู่ต่อสู้ ทั้งหมดรวมกันเป็นคัมภีร์พิชัยสงครามที่เหล่าแม่ทัพทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันจากหลากหลายวงการยกให้เป็นหนึ่งในยุทธจักรแห่งการวางแผนทั้งปวง จนมีสุภาษิตจีนกล่าวเอาไว้ว่า "หญิงสาวห้ามอ่านความฝันในหอแดงหรือบุปผาในกุณฑีทอง คนหนุ่มห้ามอ่านซ้องกั๋ง เด็กห้ามอ่านไซอิ๋ว ส่วนผู้ใหญ่นั้นห้ามอ่านสามก๊ก" ขณะที่ชาวไทยต่างรู้กันดีว่า "อย่าคิดการใหญ่... ถ้าไม่ได้อ่านสามก๊ก"

อย่างไรเสีย คุณงามความดีที่ส่งให้ตำนานสามก๊กเป็นอมตะในวงการวรรณกรรมมากว่า ๖ ศตวรรษไม่ได้มีอยู่แต่เพียงคำสั่งสอนในการล่อลวงคู่แข่งเพียงอย่างเดียว ยังมีเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความซื่อสัตย์ (กอนอู) และ ความกล้าหาญเสียสละ (จูล่ง) อันเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินเรื่องอีกด้วย ซึ่งคู่ควรกับฐานะที่ปราชญ์ชาวจีนยกให้เป็น ๔ สุดยอดวรรณกรรมคู่แผ่นดินจีนอย่างแท้จริง

แต่นอกจากคุณค่าในทาง "บู๋น" แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าความ "บู๊" ในตำนานสงครามสามก๊กต่างลือลั่นในความเร้าใจที่เหมาะกับการนำมาสร้างเป็นหนังใหญ่ที่มีทุนสร้างมโหฬารมากกว่าเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์ขนาดยาวที่อาจจะให้รายละเอียดของเนื้อเรื่องที่ดีกว่า แต่ขาดซึ่งความสมจริงในฉากสำคัญที่ว่า

ฉากบู๊ ๒ ฉากอันโด่งดังที่แฟนๆ สามก๊กน่าจะชื่นชอบที่สุดได้แก่ กวนอูหักด่านรายทาง และ จูล่งฝ่าทัพที่ทุ่งเตียงบันโบ๋

ซึ่งฉากวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของยอดขุนพลจูล่งนั้น แฟนหนังได้ชมกันปีนี้ถึง ๒ เรื่อง อันได้แก่ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon ฉบับที่ หลิวเต๋อหัว เป็น จูล่ง ที่ออกฉายไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และใน Red Cliff นี้แฟนๆ ที่รอชมสุดยอดฉากบู๊ที่เกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาที่สมรภูมิในศึกผาแดงจะระเบิดขึ้นก็ถูกนำกลับมาบรรยายเป็นการปูเรื่องในตอนนี้ด้วย

ฉากเปิดเรื่องเป็นตอนที่ โจโฉ (จางฟางอี้) ซึ่งเกือบจะยึดอำนาจในราชสำนักของราชวงศ์ฮั่น ที่มีพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายได้สำเร็จอยู่แล้ว คิดการใหญ่ตั้งใจจะปกครองแผ่นดินเสียเอง โดยเริ่มจากการถอดเสี้ยนหนามอย่างก๊กของ เล่าปี่ (ยู่หยาง) ที่มีกำลังอยู่ในเมืองซินเอี๋ย ต่อด้วยการล้มล้าง ซุนกวน (ชางเฉิน) ที่มีอำนาจอยู่ในเมืองกังตั๋งในแดนใต้ แล้วรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง

การเคลื่อนพลของทัพหลวงมาปราบปรามพวกของเล่าปี่นำมาซึ่งฉากอันน่าตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ต้นเรื่องในฉากสมรภูมิทุ่งเตียงบันโบ๋ ซึ่งในฉบับดังเดิมนั้นจะเป็นฉากที่จูล่งและเตียวหุยได้แสดงความสามารถในฐานะ ๒ ใน ๕ ทหารเอกแห่งเสฉวนอย่างชัดเจน แต่ในการเปิดตัวเวอร์ชั่นนี้ความยิ่งใหญ่ดังกล่าวตกเป็นของ จูล่ง (ฮูจุน) และ กวนอู (Ba Sen Zha Bu) ที่แสดงการต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญได้อย่างน่าประทับใจ

เล่าปี่ที่พาราษฎรออกจากซินเอี๋ยหนีการรุกรานของกองทัพอันมโหฬารของโจโฉ ได้เกิดพลัดหลงกับนางบิฮูหยินภรรยาพร้อมกับอาเต๊าทารกวัยแบเบาะในสนามรบ จูล่งผู้เต็มไปด้วยความกล้าและความสื่อสัตย์ได้เสี่ยงชีวิตลุยเดี่ยวเข้าไปยังสมรภูมิรบเพื่อตามหาสองแม่ลูก ที่สุดท้ายแม้จะไม่สามารถช่วยภรรยาของเล่าปี่กลับไปได้ แต่จูล่งยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำตัวอาเต๊าที่ยังคงหลับใหลอยู่ข้างกายเขาให้กลับไปพบผู้เป็นพ่อให้จงได้ ศพแล้วศพเล่าที่ถูกสังหารเพื่อรักษาชีวิตของเด็กคนนี้ เลือดที่ชโลมตัวจูล่งเปรียบดั่งน้ำคร่ำของผู้เป็นมารดา ในวินาทีที่จูล่งกระโดดไปฉวยเอาอาเต๊ามารักษาเอาไว้ที่อ้อมกอดอีกครั้ง พร้อมนอนหลับตาด้วยความอิ่มเอมใจในสัมผัสชีวิตของเด็กน้อย ใบหน้าฉายความปิติดั่งผู้มอบชีวิตให้กับทารก

ขณะที่ตามเนื้อเรื่องเดิม แม่ทัพใหญ่อย่างกวนอูได้รับมอบหมายให้ไปนำกำลังเสริมจากทัพกังแฮมาช่วยนั้น ในภาคนี้กลับยืนหยัดต่อสู้ในแนวหน้ากับกองทัพของโจโฉที่บุกเข้าเหมือนคลื่นซัดฝั่ง ทวยของแม่ทัพฟาดฟันเหล่าศัตรูล้มลงดั่งใบไม้ร่วง ขณะที่เหล่าพันธมิตรที่ตั้งหลักได้ต่างหนีเอาตัวรอดกันไปหมดแล้ว กวนอูซึ่งทำหน้าที่ถ่วงเวลายังเดินหน้าต่อสู้ไปจนถึงตัวโจโฉ ซึ่งการที่กวนอูไม่ยอมทำร้ายโจโฉเมื่อมีโอกาส เพราะยึดมั่นในศักดิ์ศรีไม่ทำคนที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ ที่ซื้อใจโจโฉในครั้งนี้นั้น เป็นฉากที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกวนอูและโจโฉที่กล่าวไว้ในหนังสือเมื่อครั้งที่กวนอูเคยเสียทีอยู่ในอาณัติของโจโฉ และเป็นตอนที่โจโฉแสดงความเป็น "มนุษย์" ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งบุญคุณต่างๆ ที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไปของหนังนั้นน่าสนใจว่าจะออกมาเช่นไร

เมื่อวัดจากฉากในสงครามทุ่งเตียงบันโบ๋ การห่างหายจากวงการภาพยนตร์แอ็คชั่นในบ้านเกิดไปเสียนาน ไม่ได้ทำให้ความชำชองในการนำเสนอของ จอห์น วู หดหายลงไปเลย หากแต่ในการนำเสนอการต่อสู้ในสมรภูมิยุคโบราณ ที่เราได้เห็นภาพการพุ่งแบบเห็นกันจะจะของ "หอก" แทนที่ภาพการพุ่งของ "ลูกกระสุน" ในสไตล์จอห์น วูที่เราเห็นกันจนชินตา มีแต่จะนำมาซึ่งความมันที่สมจริงมากขึ้นเท่านั้น

ขณะที่งานสเปเชียลเอฟเฟคที่ได้ทีมงานระดับฮอลลีวูด และฝีมือของ เอ็ดเวิร์ด ที. ริฟฟ์ จูเนียร์ ที่เคยผ่านงานมาแล้วทั้ง Spider-Man 3, Transformers และ Hancock ก็ช่วยให้การพุ่งรบในสมรภูมิทุ่งเตียงบันโบ๋เป็นหนึ่งในฉากสงครามที่ยอดเยี่ยมที่สุดฉากหนึ่งเท่าที่สร้างกันมา

จากการเปิดใจก่อนมารับหน้าที่ผู้กำกับโปรเจ็คท์มหายักษ์ของพี่น้องชาวจีนทั่วโลกครั้งนี้ ทาง จอห์น วู ได้ออกตัวมาก่อนว่าเวอร์ชั่นของเขาครั้งนี้จะยึดเอาเหตุการณ์ในสมัยสามก๊กเป็นหลัก ดังนั้นเรื่องราวต่างๆ ในผลงานชิ้นนี้จึงมีกลิ่นที่แตกต่างไปจากฉบับนิยายอันเป็นที่คุ้นเคยของแฟนหนังสือเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของ ๒ ตัวละครเอกของเรื่องทั้ง จิวยี่ (เหลียงเฉาเหว่ย) และ ขงเบ้ง (ทาเคชิ คาเนชิโร) นั้นแตกต่างไปอย่างชัดเจน เพราะในฉบับนิยายนั้นจิวยี่ถูกวาดภาพให้เป็นคนขี้อิจฉา และแสดงความหวั่นเกรงในการมาถึงของขงเบ้งอยากออกนอกหน้า ทั้งที่ใจหนึ่งก็อดเลื่อมใสในความปราดเปรื่องของปราชญ์หนุ่มผู้นี้ไม่ได้ แต่อีกใจก็ไม่วายเว้นที่จะลอยสังหารเพื่อนคู่คิดจากต่างแดนผู้นี้เลยซักครั้ง ซึ่งในฉบับภาพยนตร์นี้จิวยี่ดูจะมีเรื่องให้กังวลมากกว่าจะมาหวั่นเกรงในตัวผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็นกุนซือใหญ่ของจ๊กก๊กผู้นี้ เหลือให้คนดูสงสัยแต่เพียงคำกล่าวของทั้งคู่ในตอนท้ายเรื่องที่น่าคิดว่าความสัมพันธ์ของคู่นี้จะตลอดรอดฝั่งจนจบการรบในสมรภูมิผาแดงหรือไม่

แต่ข้อเสียของการยึดเอาตามเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์นั้นเอง ทำให้ "รสชาติ" หลายๆ อย่างที่แฟนๆ สามก๊กเคยคุ้นเคยจากฉบับหนังสือที่จินตนาการเอาไว้ว่าจะได้เห็นในหนังต้องอดลิ้มลองไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะไหวพริบ "การเอาตัวรอด" ขั้นเทพของขงเบ้งเมื่อครั้งที่ต้องมาอยู่ในดงอดีตและอนาคตศัตรูอย่างเมืองกังตั๋งที่ถือเป็นจุดขายของตอนนี้กลับย่อส่วนหรือลบทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

หลังจากเปิดเรื่องด้วยฉากสงครามใหญ่แล้ว หนังพยายามปูเรื่องเพื่อเล่าถึงที่มาของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งเป็นการทดแทนเรื่องราวที่เกิดก่อนการเปิดตัวหนังได้อย่างดี แต่หลายๆ ฉากที่เขียนขึ้นมาใหม่กลับใช้โอกาสตรงนี้กับเวลาในการเล่าเรื่องยาวนานเกินความจำเป็น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมฉบับเวอร์ชั่นเต็มถึงขนาดมโหฬารถึง ๔ ชั่วโมง แต่ก็น่าสนใจว่าเวอร์ชั่นความยาวขนาด ๒ ชั่วโมงครึ่งที่จะออกฉายพร้อมกับภาค ๒ นั้นจะทำให้การเล่าเรื่องตรงนี้มีความกระชับมากขึ้นแค่ไหน

จากหนึ่งในประโยคทองท่อนหนึ่งของสามก๊กที่ว่า "ลูกเมียนั้นดั่งเสื้อผ้า พี่น้องนั้นเปรียบแขนขา" หรือตอนที่เล่าอั๋นชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ได้รับรางวัลเป็นทองร้อยตำลึงจากโจโฉในความดีความชอบที่เขาสังหารภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเพื่อเอาเนื้อที่แขนมาคั่วให้เล่าปี่กินในคืนที่อดีตสหายของโจโฉผู้นี้หนีจากการพ่ายแพ้ของลิโป้มาอาศัยอยู่ที่บ้านอันแรนแค้นของเขา อาจจะไม่ทำให้สามก๊กเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของบรรดาแฟนหนังสือสาวๆ เท่าไหร่นัก แต่ในมหากาพย์ทางสงครามและการปกครองเรื่องนี้ก็มีตัวละครหญิงที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

สำหรับสตรีที่ออกมาขี่ม้าออกรบในสงครามสามก๊กที่หลายคนจำกันได้ดีคือ นางจกหยง ภรรยาของเบ้งเฮ็ก เมื่อครั้งที่สามีถูกขงเบ้งจับตัวไปแล้ว ๕ ครั้ง

ตัวละครหญิงเด่นที่ถูกผลักดันให้ออกศึกของภาคนี้ได้แก่ ซุนฮูหยิน (จ้าวเหว่ย) น้องสาวของซุนกวนที่ภายหลังได้แต่งงานกับเล่าปี่ตามอุบายของจิวยี่ (ที่ตอนหลังโดนขงเบ้งดัดหลังจนเล่าปี่ได้ทั้งเมียและไม่เสียเมือง) อันเป็นการพัฒนาตัวละครที่มีลักษณะแก่นแก้วอยู่แต่เดิมให้มีสีสันมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าคู่นี้จะลงเอยกันเหมือนในหนังสือหรือเปล่า แต่คงเป็นคู่ที่น่ารักน่าชังกว่านี้ถ้า โจวหยุนฟะ ที่เคยถูกวางตัวมาให้รับบทเล่าปี่(หรือจิวยี่) ไม่ถอนตัวออกไปเสียก่อน

อีกคนที่มาแบบเงียบๆ แต่พัฒนาความสำคัญของตัวเองจนเป็นหัวใจสำคัญของเนื้อในตอนท้ายไปจนถึงภาคต่อไปได้แก่ เสี่ยวเกียว (หลินจื้อหลิง) ที่เป็นภรรยาคนสวยของจิวยี่ ที่ถูกขงเบ้งในฉบับหนังสือใช้เป็นอุบายในการหว่านล้อมจิวยี่ให้ประกาศสงครามกับโจโฉ แต่ในภาคนี้เสี่ยวเกียวถูกพัฒนาความสำคัญจนไม่ต่างอะไรกลับเฮเลนในอีเลียดหรือสีดาในรามายณะแม้แต่น้อย

สงครามในสนามรบทางบกอีกครั้งในตอนท้ายเรื่องกับฉากค่ายกล Eight Tiagrams Formation ที่จ๊กก๊กและง่อก๊กช่วยกันคิดช่วยกันรบอย่างสามัคคีถือเป็นการโชว์ผลที่ได้จากความพยายามจากการฝึกซ้อมคิวบู๊ของเหล่าดาราดังแต่ละคนเป็นอย่างดี และแสดงให้แฟนหนังเห็นว่าเงิน ๘๐ ล้านเหรียญสำหรับการถ่ายทำหนังในเอเชียสามารถสร้างภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจได้แค่ไหน

แม้จะไม่มีเรือซักลำในภาคนี้ที่ออกมารบกันอย่างที่หลายคนตั้งใจเข้าไปดู แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือความพยายามเล่าเรื่องตลอด ๒ ชั่วโมงของจอห์น วูนับว่าไม่เสียเปล่า นอกจากจะทำให้การเดินทางไปสู่การฉายภาคจบที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า เต็มไปด้วยความคาดหวังอันใหญ่หลวงของแฟนหนังเป็นเท่าทวี
กำลังโหลดความคิดเห็น