xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตชายแดนใต้...แสงไฟในพายุร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสียงร่ำไห้ระงมบริเวณโรงพยาบาลอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ดังขึ้น ขณะที่ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์กำลังสัมภาษณ์ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปลพยาบาลที่บรรทุกร่างของชายได้รับบาดเจ็บเลือดโชกถูกเข็นเข้ามาอย่างเร่งด่วน ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์
วินาทีนั้น ในหัวใจใครหลายคนคงคิดว่า...นี่คงเป็นหนึ่งของเหยื่อไฟใต้ที่ลุกโหมอีกรายที่ต้องล้มหายราวกับใบไม้ร่วง ชาวบ้านที่มาหาหมอหลายคนจูงมือกันเข้าไปดูเหตุการณ์ ขณะที่ญาติของคนเจ็บ...ซึ่งมารู้ในตอนหลังว่าเป็นภรรยาของชายผู้นั้นกำลังตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด เธอร้องไห้ฟูมฟายประหนึ่งว่าจะขาดใจตามสามี เจ้าหน้าที่ทั้งหมอและพยาบาลต่างช่วยกันปฐมพยาบาลทางด้านจิตใจแก่เธอเท่าที่จะสามารถทำได้
เสียงบอกแว่วๆ ทำให้โล่งใจขึ้นเล็กน้อย-ว่าเป็นอุบัติเหตุรถชน ไม่ใช่การลอบทำร้าย หากแต่เมื่อหันมาเห็นใบหน้าของชาวบ้านอีกหลายคน ทำให้เรารู้ว่าบาดแผลในใจของพวกเขาไม่เคยหายสนิท นั่น "ม๊ะ" หญิงสาวที่เป็นแม่ของเด็กชายวัย 11 ปีที่เกือบต้องเสียขาไปในเหตุการณ์ลอบยิงโต๊ะครู ขณะที่เขาไปเรียนหนังสือที่บ้านของโต๊ะอิหม่ามผู้นั้น กระสุนฝังเข้าไปในต้นขาของเด็กชายจนต้องผ่าตัดหลายครั้ง ทุกวันนี้เขาเดินได้ แต่ไม่สามารถวิ่งเล่น หรือเตะฟุตบอลได้อย่างเพื่อนร่วมรุ่นวัยเดียวกัน ทั้งคู่หน้าซีดสลด แม้ภายหลังเด็กชายจะยิ้มได้ แต่ความหวาดกลัวยังเหลือจางๆ อยู่ในแววตา
โน่น...ชายวัยกลางคนในชุดโสร่ง นั่งซุกมุมอยู่เงียบๆ มองดูผู้สื่อข่าวอยู่ห่างๆ เขาเป็นพ่อของเด็กชายอีกคนที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันกับคนแรก แต่โชคร้าย...ลูกชายของเขาช็อกอย่างหนักจากการถูกอาวุธสงครามกระหน่ำยิงในคราวนั้น ทุกวันนี้เด็กชายเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ไปโรงเรียน ก่อนนอนทุกคืนแกจะต้องใส่รองเท้าและถือผ้าขนหนูชุบน้ำเปียกๆ ติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ
ไม่มีใครรู้ว่าภายในหัวใจเล็กๆ นั้น คิดและรู้สึกเช่นไร...แต่หัวใจของคนเป็นพ่อก็แตกสลายตามลูกชายผู้ที่เป็นความหวังเดียวของเขาไปในคืนที่มืดหม่น เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น

*เมื่อมนุษย์กลายเป็น "ภัยพิบัติ"
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติในหลากหลายรูปแบบ ไล่เรียงมาตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิที่ได้สร้างความสูญเสียให้กับจังหวัดในแถบฝั่งทะเลอันดามันทางตอนใต้ของประเทศ ด้วยเวลาไม่ถึง 20 นาทีนับจากคลื่นลูกแรกถึงลูกสุดท้าย หรือจะเป็นเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม - น้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นกับภาคเหนือ รวมไปถึงเหตุการณ์น้ำท่วมภาคกลางที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เหล่านี้ล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามคำว่า "ภัยพิบัติ" ในความหมายไม่ได้เจาะจงเฉพาะว่าเป็นภัยที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึง "ภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์"
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้แก่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เป็นคำตอบที่สามารถขีดเส้นใต้ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์หรือผู้ก่อเหตุร้ายนั่นเอง ทั้งนี้ในความหมายของคำว่า "การก่อเหตุร้าย" หมายถึงความพยายามที่จะข่มขู่หรือใช้กำลังอย่างผิดปกติธรรมดา ต่อกลุ่มคน ชุมชน หรือรัฐ ให้เกิดความหวาดกลัว บาดเจ็บ ถึงเสียชีวิต โดยอาจมีแรงผลักดันมาจากเรื่องทางการเมือง ความเชื่อความคิดที่แตกต่างกัน
ผลจากการกระทำได้สร้างความสูญเสียมากมาย ทั้งชีวิตทรัพย์สิน เลือดเนื้อ น้ำตา และผลกระทบที่ตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ก็คือ สภาพจิตใจที่บอบช้ำของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ การติดตามให้ความช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้เข้าสู่กระบวนการทางสาธารณสุข จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวในการประชุมวิชาการวิกฤตสุขภาพจิตระดับชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2551 "ฝ่าวิกฤตชายแดนใต้ : เพื่อสร้างแรงใจและสันติสุข" ว่าจากข้อมูลสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเดือน ม.ค.2550 - มี.ค.2551 พบเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 1,391 ครั้ง
สถานที่เกิดเหตุการณ์สูงสุด 3 อันดับ คือ บนถนน บ้านที่อยู่อาศัยส่วนตัว และสถานที่ขายสินค้าและบริการ มีจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 2,763 ราย เสียชีวิต 735 คน แต่ถ้ารวมตัวเลขผู้เสียชีวิตตั้งเกิดเหตุการณ์ปี 2547 ถึงเดือน มิ.ย.2551 จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 3,100 ราย จังหวัดที่มีอัตราการบาดเจ็บและตายสูงสุด 3 อันดับ คือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี กลุ่มอายุที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์สูงสุด คือ กลุ่มอายุ 45-59 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง นับถือศาสนาพุทธ
อาชีพที่เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับ คือ ทหาร เกษตรกร และตำรวจ โดยถูกทำร้ายด้วยอาวุธปืนสูงที่สุด จำนวน 1,135 ราย เสียชีวิต 556 ราย ถูกทำร้ายโดยวัตถุระเบิด 921 ราย เสียชีวิต 65 ราย และใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 5,895 วัน เป็นค่าใช่จ่ายรวม 15,503,186 บาท
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าความถี่ของการเกิดเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง โดยเฉพาะในเดือนมี.ค. 51 มีคนเสียชีวิตน้อยที่สุดตั้งแต่เกิดเหตุต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 แม้ว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจะลดลง แต่ความรุนแรงทางจิตใจกลับเพิ่มมากขึ้น คงเป็นเพราะผู้ก่อการร้ายต้องการให้เกิดความรู้สึกว่ามีภัยตลอดเวลา
นอกเหนือจากความสูญเสียในภาพรวมแล้ว ผลพวงจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้มีกลุ่มบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาทั้งทางด้านจิตใจและสังคม ข้อมูลถึงเดือน ก.พ.2551 มีสตรีผู้สูญเสีย ต้องกลายเป็นหญิงหม้าย 1,403 คน เด็กกำพร้า 2,561 คน ซึ่งจำนวนของเด็กกำพร้าเป็นตัวเลขจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่ในความเป็นจริงหากรวมกรณีเหตุการณ์กรือเซะและตากใบที่ทางเอ็นจีโอได้ส่งตัวเลขมา ประมาณว่าน่าจะมีเด็กกำพร้าประมาณกว่า 6,000 ราย โดยมากที่สุดคือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานีและสงขลา ตามลำดับ
"เด็กที่สูญเสียครอบครัว ซึ่งบางคนอยู่ในเหตุการณ์และเห็นภาพความรุนแรง เช่น เห็นพ่อถูกยิง ส่วนหนึ่งต้องการแก้แค้น กลุ่มนี้เป็นเด็กโตอายุประมาณ 13-17 ปี โดยเด็กบางคนได้ซื้อปืนของเล่น และบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นตำรวจ และอยากแก้แค้น รบกับผู้ร้าย" พญ.เพชรดาว เล่าถึงกรณีตัวอย่างและตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น จากการศึกษาสามารถชี้วัดได้ว่าจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจตามมาอีกในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางความสูญเสีย และเด็กบางคนซึ่งไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลย จะทำให้มีจิตใจที่ย่ำแย่ ถ้าไม่มีใครเข้าไปดูแลอาจจะส่งผลต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ งานเยียวยาจิตใจจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต้องทำอีกยาวนาน
สำหรับการเยียวยาของกรมสุขภาพจิต ในระดับพื้นที่ได้มีการจัดนักจิตวิทยา พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 74 คนเข้าไปประจำ รพ.ศูนย์-จังหวัด รพ.ทั่วไป จำนวน 37 แห่ง เพื่อเยี่ยมเยือนผู้ได้รับผลกระทบและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาสุขภาพจิตที่พบจากการเยี่ยมบ้านและเข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาในพื้นที่ พบว่าประมาณ 60% มีอาการฝันร้ายเห็นเหตุการณ์ซ้ำๆ นอนไม่หลับทั้งคืนติดต่อกัน, 30% สะดุ้งตกใจง่าย, 22% หวาดกลัวไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ 7 % , วิตกกังวล 7% และเบื่อหน่าย 6%
"ความคิดเรื่องฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองมีอยู่บ้างแต่น้อยมาก เหตุผลเพราะมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทางด้านศาสนา นอกจากนี้การเยียวยายัง ครอบคลุมไปถึงการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านสังคม เงินทอง อาชีพ ทุนการศึกษา การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยต้องทำควบคู่กันไป ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง"
พญ.เพชรดาว ยังได้กล่าวถึงประสบการณ์การลงพื้นที่เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุความรุนแรงว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้ง ทางเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตจะไปแบบพลเรือน ไม่มีการประสานขอความคุ้มครองจากตำรวจหรือทหาร เนื่องจากที่ผ่านมาเคยลงพื้นที่โดยมีตำรวจและทหารอำนวยความสะดวกให้ ปรากฏว่า ไม่ได้รับความร่วมมือและชาวบ้านไม่ให้ข้อมูลกับเราเลย เพราะไม่ไว้วางใจเรา
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ทีมเจ้าหน้าที่จะต้องออกจากพื้นที่ก่อน 15.00 น. มีบ้างในบางวันที่ทีมเยียวยาไม่ได้ลงพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ เพราะได้รับการเตือนจากชาวบ้านถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น สำหรับในบางพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเข้าไปได้จำเป็นต้องอาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ และผู้นำชุมชน ช่วยกันดูแลจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิตสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต ให้สามารถปรับตัว ดำเนินชีวิตอยู่ได้และมีความมั่นคงทางจิตใจท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น

*ในวันที่ไร้หัวหน้าครอบครัว
ตลอดระยะเวลาสองวันหนึ่งคืนในการลงพื้นที่ เราได้เห็นหยดน้ำตามากมายทั้งจากเด็กๆ และผู้หญิงที่สามีถูกฆ่าอย่างทารุณ เด็กไร้เดียงสากลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง บางคนกลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งที่เกิดมามีทั้งพ่อและแม่อยู่พร้อมหน้า แต่แล้ววันหนึ่ง...เสียงปืน กระสุน และระเบิดก็พรากทุกอย่างจากเขาไป
สุทธิดา ศาสน์ประดิษฐ์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เล่าว่า เคยมีเหตุเด็กชายไทยมุสลิมวัย 7 ปี นั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปกับพี่ชาย ซึ่งมีพ่อเป็นผู้ขับ เมื่อถึงที่เกิดเหตุมีคนร้ายใช้อาวุธยิงใส่พ่อจนเสียชีวิต ส่วนเด็กและพี่ชายได้รับบาดเจ็บ
ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ตามมาก็คือในช่วงแรกเด็กไม่ยอมพูดแม้จะถามหรือพูดคุยเป็นภาษามาลายูก็ตาม ซึ่งทางพยาบาลต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและปลอบอยู่เสมอ ซึ่งเป็นแนวทางในการปฐมพยาบาลจิตใจในเบื้องต้นเพื่อให้สามารถปรับตัวกับความตื่นตระหนกได้ดีขึ้น จากนั้นเมื่อเด็กกลับบ้านไปแล้วก็จะมีการติดตามดูอาการเพื่อประเมินคัดครองปัญหาโรคเครียดหลังเหตุการณ์ และภาวะซึมเศร้า รวมถึงการสังเกตพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยติดตามข้อมูลจากญาติ จะมีบางช่วงที่ไม่ลงพื้นที่ก็จะโทรศัพท์สอบถามจากทางคุณแม่ ซึ่งปัจจุบันเด็กมีอาการที่ดีขึ้นมากแล้ว ถ้าเป็นรายที่มีความเสี่ยงจิตแพทย์จะเป็นผู้ดูแลโดยตรง และต้องทำการบันทึกในแบบประเมินเด็กเพื่อเก็บข้อมูลไว้ทำการติดตามในระยะต่อไป
ทางด้านจำนงค์ แก้วนาวี พยาบาลงานสุขภาพจิต รพ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เปิดเผยถึงผลการศึกษาเรื่องการเผชิญความทุกข์ของหญิงที่สูญเสียผู้นำครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ว่า หลังเกิดเหตุการณ์หญิงหม้ายจะรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง รู้สึกไม่มีแรง หมดกำลังใจเหมือนครอบครัวแตกสลายขาดที่พึ่ง ต้องรับภาระหน้าที่แทนผู้ที่จากไป ขาดคู่คิดและกำลังใจเกี่ยวกับอนาคตของบุตร
การปรับเปลี่ยนวิธีคิดเชิงบวกไม่จมอยู่กับอดีต จึงเป็นเส้นทางของชีวิตใหม่ โดยใช้หลักความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนทางสังคมและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เช่น ทุนการศึกษาบุตร การส่งเสริมอาชีพทำกิน เป็นต้น
ปัญหาเรื่องเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ได้พบ บางครอบครัวในบางพื้นที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือที่ควรได้ เพราะการตกหล่นในการสำรวจ, ความไม่รู้ และขาดการติดตามอย่างใส่ใจจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานนั้น มีการขาดช่วงในการประสานงานระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในพื้นที่ จึงได้ยินเสียงตัดพ้อจากเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ต้องการให้รัฐหันมาสนใจปัญหาไฟใต้มากขึ้นกว่านี้ เพราะไม่ใช่มีแค่ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของคนในเมืองเท่านั้นที่กำลังลุกลามอยู่ในขณะนี้

*จนท.รัฐ-ทหารเครียดหนัก ครูขวัญผวาเกือบ 100%
นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่เองแล้ว สภาพจิตใจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทหาร ตำรวจ และครู ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งค่อนข้างจะมีความเครียด เนื่องจากมีความหวาดระแวงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา...
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านมาทางกรมสุขภาพจิตได้จัดให้มีการดำเนินโครงการฟื้นคืนสภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ เช่น โครงการชีวิตสดใสพลังใจเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในภาพรวม ส่วนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงได้ให้การช่วยเหลือเป็นรายๆ เช่น ให้บริการปรึกษา ให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ
สำหรับสิ่งที่เน้นย้ำเมื่อเกิดเหตุการณ์และเจ้าหน้าที่ต้องควรรู้ก็คือการดูแลจิตใจเบื้องต้นทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้ว เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อนอื่นต้องพาคนเจ็บไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย จากนั้นให้พยายามติดต่อญาติผู้เจ็บ และคอยอยู่ใกล้ๆ ปลอบโยนเพื่อให้คลี่คลายจากการตื่นกลัวก่อนหรือระหว่างนำส่งโรงพยาบาล เป็นต้น
ขณะที่วัฒนะ พรหมเพชร และผศ.สุวิมล นราองอาจ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอผลงานวิจัยกลุ่มตัวอย่างครูในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 26 อำเภอ 60 โรงเรียน 685 คน ซึ่งมีข้อสรุปในภาพรวมว่า ครูร้อยละ 95.93 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ 3 อันดับแรกคือ ประเด็นความปลอดภัยในการเดินทาง ประเด็นความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และประเด็นด้านจิตใจ เช่น มีความวิตกจริตไม่กล้าออกนอกบ้าน หวาดกลัวเมื่อได้ยินเสียงปืน หรือ ไฟฟ้าดับ ไม่ไว้ใจบุคคลในชุมชนและคนที่ไม่รู้จัก
แต่สิ่งที่ทำให้ครูยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ได้คือ อุดมการณ์ความเป็นครู การมีภูมิลำเนาและครอบครัวอยู่ในพื้นที่ ความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นที่อยู่เนื่องจากปฎิบัติงานในพื้นที่มานาน โดยเสนอแนะว่า รัฐบาลควรมีความจริงใจ เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่านี้ และควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กระบวนการยุติธรรมและคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาควรเป็นคนที่เข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นอยู่วิถีชีวิตของคนใน 3 จังหวัดที่สำคัญควรแก้ปัญหาอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ปัญหาผู้มีอิทธิพล ปัญหาคนว่างงาน และปัญหาเยาวชนมัวเมายาเสพติด
แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาที่จุดต้นเหตุได้ แต่การติดตามแก้ไขปัญหาด้วยการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาจิตใจแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่กรมสุขภาพจิตและหน่วยงานเครือข่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายและอุดมการณ์ที่ยึดมั่นนั่นก็คือ การเยียวยาจิตใจทุกคน ทุกครอบครัวที่สูญเสียโดยไม่แบ่งฝ่ายเขาหรือแบ่งฝ่ายเรา เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งสิ้น
การมีพลังใจที่เข้มแข็งจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถยืนหยัดและอยู่ได้ในสถานการณ์รุนแรงเช่นนี้...เฉกเช่นดวงไฟส่องสว่างกลางใจท่ามกลางลมพายุโหมกระหน่ำ จนกระพือประกายไฟแห่งความขัดแย้งให้ลุกโหมทั่วชายแดนภาคใต้ในตอนนี้

*********************************




กำลังโหลดความคิดเห็น