xs
xsm
sm
md
lg

โพลไม่ไว้วางใจรัฐบาลแนะชะลอเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีเขาพระวิหารและบทบาทของกองทัพในสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,260 ตัวอย่าง ระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน พ.ศ. 2551
สำหรับผลสำรวจพบว่า ประชาชนเพียงร้อยละ 5.0 ที่ติดตามการถ่ายทอดสด การอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่ต้นจนจบ รองลงมาคือร้อยละ 16.9 ติดตามระดับมาก ร้อยละ 31.1 ติดตามระดับปานกลาง ร้อยละ 28.8 ติดตามการถ่ายทอดสดบ้าง เพียงเล็กน้อย และร้อยละ 18.2 ไม่ได้ติดตามการถ่ายทอดสดเลย แต่ติดตามจากข่าวสารประจำวัน
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ คือความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลในการตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งพบว่า ตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 คือร้อยละ 65.5 ระบุว่า ควรชะลอไว้ก่อน เนื่องจากเกรงว่า ถ้าตัดสินใจผิดพลาดจะต้องเสียดินแดน/ มีผลประโยชน์ทับซ้อน/ รอค้นหาข้อมูลให้มากที่สุดก่อน/ รอความเห็นจากส่วนต่างๆ / ข้อมูลยังไม่ชัดเจน
นายนพดล กล่าวว่า อย่างไรก็ตามประมาณ 1 ใน 3 คือร้อยละ 34.5 ระบุรัฐบาลควรดำเนินการต่อไป โดยให้เหตุว่า ต้องการให้ดำเนินการทุกอย่าง อย่างโปร่งใส/อยากให้เราได้เขาพระวิหารกลับคืนมา/จะได้ยุติปัญหาระหว่างประเทศ/ปัญหายืดเยื้อนาน/จะได้แบ่งเขตแดนให้ชัดเจนเสียที ตามลำดับ
เมื่อถามถึงความไว้วางใจให้รัฐบาลทำงานต่อหลังจากติดตามการอภิปราย ไม่ไว้วางใจแล้ว พบว่า ก้ำกึ่งกันระหว่างประชาชนที่ไว้วางใจและไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยพบว่า ร้อยละ 49.7 ไว้วางใจรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 50.3 ไม่ไว้วางใจรัฐบาลให้ทำงานต่อหลังจากฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายนพดล กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า ชายร้อยละ 53.5 ไว้วางใจ ในขณะที่ร้อยละ 46.5 ไม่ไว้วางใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิงร้อยละ 46.9 ไว้วางใจ แต่ร้อยละ 53.1 ไม่ไว้วางใจ
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มคนที่อายุมากตั้งแต่ 50 ปีขึ้นส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.0 ไว้วางใจรัฐบาล แต่กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.1 ไม่ไว้วางใจรัฐบาล
และหากจำแนกตามพรรคการเมืองที่ประชาชนเคยเลือกใน ส.ส. แบบสัดส่วน พบว่า กลุ่มที่เคยเลือกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 77.5 ระบุไว้วางใจ ในขณะที่ คนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 73.4 ไม่ไว้วางใจ สำหรับในกลุ่มที่เลือกพรรคอื่นๆ นั้น พบว่า ร้อยละ 51.5 ระบุไม่ไว้วางใจ
นอกจากนี้เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงความพึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้นั้น พบว่า ร้อยละ 60.6 ระบุพอใจมาก-มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 27.7 ระบุปานกลาง และร้อยละ 11.7 ระบุน้อย-ไม่พอใจเลย
นายนพดล กล่าวว่าเมื่อสอบถามตัวอย่างถึงสิ่งที่อยากให้ทหาร (กองทัพ) ทำมากที่สุดในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 46.1 ระบุอยากให้ทหารวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ร้อยละ 30.9 ระบุให้ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนและบ้านเมือง ร้อยละ 9.7 ระบุควบคุมสถานการณ์อยู่วงนอก ร้อยละ 6.8 ระบุสลายการชุมนุม และ ร้อยละ 6.5 ระบุติดตามการบริหารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด/ดูแลด้านความมั่นคง/ดูแลปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น