xs
xsm
sm
md
lg

พรรคร่วมฯอุ้มศพ"หุ่นเชิด" พันธมิตรนัดเป่านกหวีดไล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรรคร่วมรัฐบาลห่วงตัวเองมากกว่าประเทศชาติ ไม่กล้าแหกคอก ยอมอุ้มศพรัฐบาลหุ่นเชิดต่อไป "นพดล" ได้เสียงน้อยสุด ขณะที่"หมัก"ยิ้มร่า พับนกสบายใจ ด้าน"อภิสิทธิ์" ไม่แปลกใจผลโหวต เพราะพรรคร่วมรัฐฐาลขาดความกล้าหาญ "บรรหาร" อ้างยอมอุ้มแลกเงื่อนไขปรับใหญ่ ครม. จับตา"หมัก"จะกล้า"โละ "นพดล-มิ่ง-เหลิม-สันติ" หรือไม่ ด้านพันธมิตรฯ ถกเป่านกหวีด เฉ่งป่าหี่พรรคร่วมโหวตอุ้มแก๊งขายชาติ

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ ( 27 มิ.ย.) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธาน โดยได้มีการลงมติในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล โดยประธานได้ชี้แจงขั้นตอนการลงมติ โดยเฉพาะมาตรา 177 วรรคสองในการออกเสียงลงคะแนน หากรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ในขณะเดียวกัน ห้ามใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติหน้าที่ หรือมีการส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้น ดังนั้นรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะลงคะแนนไม่ได้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่านายกรัฐมนตรี และตนได้พิจารณาเพื่อตัดปัญหาในการลงมติตามมาตรา 177 วรรคสอง โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มีส่วนได้ส่วนเสียง อาจมีการตีความได้หลายทาง เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภา และการอภิปรายเกี่ยวข้องกับมติของ ครม. จึงพิจารณาเห็นว่า ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีทั้ง 22 คน จะไม่ขอใช้สิทธิ์ใน 2 ญัตติ ดังกล่าว

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ในการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี มีผลแตกต่าง เพราะถ้าหากพ้นจากตำแหน่งจะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นทั้งคณะ ดังนั้นในส่วนของจำนวนเสียงในสภา จะใช้กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของสภาจะนับอย่างไร จะใช้จำนวนเดิมหรือนับอย่างไร จึงขอให้มีความชัดเจน

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่สภามีอยู่ ขณะนี้เรามี ส.ส.ทั้งหมด 480 คน แต่มีส.ส.ต้องห้ามปฎิบัติหน้าที่ 10 คน เพราะฉะนั้น ส.ส.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 470 คน ดังนั้น เสียงลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล ต้องได้เกินกึ่งหนึ่ง คือ 236 เสียง

จากนั้น ประธานสภาฯได้กำหนดให้มีการลงมติอย่างเปิดเผย ด้วยการเสียบบัตรออกเสียงใน 2 ญัตติ โดยจะให้ลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ได้ถูกส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ท้วงติงการลงมติอภิปรายไม่ไว้วาง จะต้องเป็นการลงคะแนนโดยลับ เพื่อให้ ส.ส.มีอิสระในการตัดสินใจตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าให้ประธานใช้อำนาจตัดสินใจว่า จะลงมติอย่างไร เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคต

ขณะที่นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ยืนยันว่า ให้มีการลงมติโดยเปิดเผย โดยมีการกดบัตร เพราะเคยมีการปฎิบัติมาหลายสมัยแล้ว จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาในข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม การลงคะแนนเฉพาะการเลือกผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมเสนอให้ประธานฯ จะต้องปฎิบัติตามข้อบังคับโดยลงคะแนนเปิดเผยเท่านั้น หากฝ่ายค้านเห็นว่าจะให้ลงคะแนนลับ จะต้องเสนอมา ดังนั้นประธานจึงเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยของสภาให้สมาชิกได้แสดงความเห็น

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ชี้แจงว่า เมื่อผู้นำฝ่ายค้านให้ประธานตัดสิน ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และเห็นด้วยว่าไม่ควรลบชื่อสมาชิกที่ลงคะแนน ขณะที่นายบัญญัติ ได้ท้วงติงว่า หากมีการลงมติเปิดเผยเป็นไปไม่ได้ที่ส.ส.จะไม่ทำตามมติพรรคการเมือง จึงอยากให้ลงคะแนนแบบลับ หากไม่ทำตามมติพรรคการเมืองจะทำให้เกิดปัญหายืดเยื้อต่อไปแน่

หลังจากถกเถียงเรื่องนี้ประมาณ 50 นาที นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชาชน ได้ลุกเสนอให้มีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ทำให้ประธานสภาฯได้กล่าวว่า น่าจะเสนอญัตตินี้ตั้งนานแล้วจะได้ไม่มีปัญหา พร้อมประกาศว่า ตนพร้อมรองประธานทั้ง 2 คนไม่ขอลงมติ เพราะต้องวางตัวเป็นกลาง

จากนั้น ประธานได้ขอมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคลผลปรากฏว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงไว้วางใจด้วยเสียง 280 ต่อ162 จากผู้เข้าประชุม 442 คน หลังทราบผลการลงมติ นายสมัคร ที่กำลังนั่งพับนกกระดาษ ถึงกับนั่งหัวเราะร่า และยิ้มด้วยความสะใจ

ส่วนผลการลงมติรัฐมนตรี อีก 7 คน ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้รับเสียงด้วยคะแนน 279 ต่อ 161 งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าประชุม 441 คน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้รับเสียงไว้วางใจด้วยคะแนน 279 ต่อ 161 งดออกเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าประชุม 441 คน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้เสียงไว้วางใจด้วยคะแนน 279 ต่อ 162 ไม่มีงดออกเสียง จากผู้เข้าประชุม 441 คน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ได้รับเสียงไว้วางใจด้วยคะแนน 280 ต่อ 162 จากผู้เข้าประชุม 442 คน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม ได้รับเสียงไว้วางใจด้วยคะแนน 279 ต่อ 162 จากผู้เข้าประชุม 441 คน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม ได้รับเสียงไว้วางใจด้วยคะแนน 280 ต่อ 162 จากผู้ประชุม 442 คน

ส่วนนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ได้รับเสียงไว้วางใจจากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลน้อยที่สุด คือ 278 ต่อ 162 งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากผู้เข้าประชุม 442 คน

ภายหลังเสร็จสิ้นการลงมติ นายชัย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า เป็นอันว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ยังเป็นคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลตลอดไป

สำหรับ 2 เสียงในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่หายไป คือพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ส.ส.สัดส่วน และนายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา ที่ลาป่วย ส่วน 1 เสียงที่ขาดๆ หายๆ คือนายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ส.ส.กทม. เนื่องจากเครื่องลงคะแนน มีปัญหาขัดข้อง

"นพเหล่" ล่องหนไม่กล้ามาลุ้นผล

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อการลงคะแนนครั้งนี้ พบว่ามีรัฐมนตรี 3 คน ที่มีผลการลงคะแนน ไม่เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่น คือ 1. นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ที่มีผู้งดออกเสียง 1 คน คือนายวัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน คือ นางอนุสรา ยังตรง ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน

2.นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ที่มีผู้งดออกเสียง 1 คน คือนายวัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรมว.คลัง ที่มีผู้งดออกเสียง 1 คน คือนายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ส. 164 คน แต่มีส.ส.เข้าร่วมในการโหวตเพียง 162 คน ขาดไป 2 คน คือ นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา ที่พักรักษาตัวเนื่องจากผ่าตัดไส้ติ่ง พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร ส.ส.สัดส่วน ลาป่วย และนายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ส.ส.กทม. มาร่วมประชุมด้วย แต่เครื่องเสียบบัตรลงคะแนนมีปัญหาไฟไม่ขึ้น ส่วนที่งดออกเสียงคือ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ทั้งนี้มีส.ส.เข้าประชุมทั้งหมด 462 คนจาก 470 คน ดังนั้นมีผู้ขาดประชุมทั้งหมด 8 คน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงมติไว้วางใจ หรือไม่วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายมากันครบ ยกเว้น นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ที่ไม่มาฟังการลงคะแนน และไม่ได้เดินทางเข้ากระทรวงต่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงเช้า ส่วนกำหนดการที่นายนพดล ต้องไปกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนาเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่กระทรวงต่างประเทศ เวลา 16.30 น.ได้มอบหมายให้นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไปแทน แต่ยังคงกำหนดการเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายมูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ได้รับรางวัลโนเบล เวลา 18.30 น.ที่กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ เลขาส่วนตัวนายนพดล เปิดเผยว่า การที่นายนพดลไม่เข้าสภาฯ และไม่ไปกระทรวง เนื่องจากต้องเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงต่อศาลปกครอง กรณีเขาพระวิหาร

ด้านนางอนุสรา ยังตรง เปิดเผยว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ลงคะแนนให้ นายนพดล เพราะเป็นตัวแทนของนายใหญ่ และจากการฟังรัฐมนตรีทุกคน ก็ชี้แจงชัดเจน และตนก็ลงไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคน คงจะเป็นความผิดพลาดของเครื่องลงคะแนน หลังจากนี้จะหารือกับผู้ใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจ และหากเป็นจริงจะแก้ไขด้วยการแถลงข่าว ซึ่งตนก็เป็นวิปรัฐบาลด้วย คอยดูแล ส.ส. 7 คน ในการลงคะแนนตามมติวิปรัฐบาล จึงเป็นไปไม่ได้ที่ตนจะไม่ลงคะแนน ทั้งนี้ ตนมีพยานซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ คือนางนฤมล ธารดำรง ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน

"เติ้ง"อ้างโหวตมีเงื่อนไขต้องปรับ ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมพรรคชาติไทย ก่อนการลงมติ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กล่าวในที่ประชุมว่า พรรคชาติไทยจะโหวตไว้วางใจให้นายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 7 คน แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องมีการปรับครม. และต้องเป็นการปรับใหญ่ ไม่ใช่ปรับเล็ก และที่สำคัญกรณีปัญหาเรื่องการรับรองเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลต้องแก้ไขการลงนามในแถลงการณ์ร่วม ที่สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะเรื่องนี้ยังมีข้อสงสัยหลายประการ ที่นายนพดล ปัทมะ ชี้แจงไม่ตรงประเด็น อีกทั้งประชาชนชาวไทยจำนวนมากไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด และยังมีความแคลงใจในตัวนายนพดล โดยเฉพาะอาจมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ทำเรื่องนี้โดยไม่ผ่านรัฐสภา แต่นายบรรหาร ได้กำชับ ส.ส.ทุกคนไม่ให้เปิดเผยเนื้อหาการประชุมครั้งนี้ โดยแกนนำพรรคคนหนึ่ง ระบุในที่ประชุมว่า เรื่องเขาพระวิหารเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องนี้พรรคชาติไทยต้องเอาประเทศชาติก่อน ไม่ให้ไทยเสียดินแดน แต่การปรับครม. ต้องหารือกันกับนายสมัครคนเดียว

"นายกฯรับปากแล้วว่า หลังการอภิปรายจะปรับใหญ่ และแก้ไขปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร เพราะฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร หลังการอภิปรายวันสุดท้าย นายสมัครได้รับปากกับประชาชนว่า เรื่องเขาพระวิหาร ถ้าประชาชนไม่เอา รัฐบาลก็ไม่เอา พรรคก็ต้องโหวตให้เขาก่อน ในฐานะเราเป็นพรรครัฐบาลหลังจากนั้นค่อยมาคุยรายละเอียดกัน" แหล่งข่าว ระบุคำพูดนายบรรหาร กลางที่ประชุมพรรคชาติไทย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เชื่อว่าจะมีการปรับครม. 3-4 ตำแหน่ง คือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.พาณิชย์ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ มีหลักฐาน และทำทุกอย่างมีเหตุผล

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนการลงมติ ว่าไม่ห่วงว่าเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะแตก เพราะได้มีการประสานกันเรียบร้อยแล้วระหว่างวิปรัฐบาล

ส่วนกระแสข่าวการปรับครม.ชุดใหญ่ อาทิ นายนพดล ปัทมะ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม นั้น ยังตอบไม่ได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และถ้ามีการปรับจริง ก็เชื่อว่าทุกคนจะเคารพในการตัดสินใจ ส่วนกรณีที่มองว่า นายมิ่งขวัญ ชี้แจงไม่ชัดเจนนั้น ก็เพราะกรอบเวลาน้อยไป อาจทำให้ตอบได้ไม่ครอบคลุม แต่ส่วนของนายนพดล ไม่ขอวิจารณ์เพราะกรณีเขาพระวิหาร เป็นประเด็นระหว่างประเทศ

"อภิสิทธิ์"ไม่แปลกใจผลโหวต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลการโหวตก็เป็นไปตามคาดหมาย ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะยกมือให้กับ นายสมัคร และรัฐมนตรี เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลไว้ เป็นขั้นตอนปกติของรัฐสภา เพราะหากไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่า พรรคฝ่ายค้านไม่เคยโหวตชนะในการลงคะแนน เพียงแต่รัฐบาลต้องตระหนักว่าเสียงข้างมากที่ใช้ในการบริหารประเทศ ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้นรัฐบาลต้องรับฟังอะไรที่เกิดขึ้นจาการตรวจสอบของฝ่ายค้าน รวมถึงสาธารณชน เพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง บรรยากาศบ้านเมืองจะดีขึ้นหรือไม่ อยู่ที่รัฐบาล

เมื่อถามว่า การปรับ ครม.จะเพียงพอต่อความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อสภาลงมติไปแล้ว ก็ต้องยอมรับมติเสียงข้างมาก แต่นายกฯ ต้องใช้สภาให้เป็นประโยชน์ คือ ทบทวนดูว่า ข้อเท็จจริงในการอภิปราย มีอะไรบ้างที่นำไปใช้ และมีประโยชน์ เพื่อปรับปรุงการทำงาน ตรงนี้จะเป็นการสะท้อนให้เห็นคุณค่าในการทำงานในระบบรัฐสภา ที่มีรัฐบาล และฝ่ายค้าน ส่วนการลงคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะมีแรงกดดันบ้าง แต่จะบอกว่าไม่เป็นอิสระคงไม่ใช่ ต้องอาศัยความกล้าหาญเท่านั้นเอง

รัฐบาลกำลังดันทุรังพาคนไปตาย

เวลา 18.30 น. วานนี้ ที่หลังเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สะพานชมัยมรุเชฐ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ แถลงข่าวโดยระบุถึงผลโหวตในสภา ที่มีมติไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ว่า พันธมิตรฯไม่ได้หวั่นไหว หรือผิดหวังอะไร เพราะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า มติจะออกมาเช่นนี้ เพราะ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยผลประโยชน์ ทั้งตำแหน่งทางการเมืองและเม็ดเงินก้อนใหญ่ของผู้มีบารมีบางคน และเชื่อว่า 6 พรรคร่วมจะอุ้มกันต่อไป ไม่ได้สนใจวิกฤตบ้านเมือง และเงื่อนไข 5 ข้อ ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างใด

นายสุริยะใส กล่าวว่า แม้ว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมีข้อเสนอให้มีการปรับ ครม. ก็คงไม่มีประโยชน์ และไม่เชื่อว่าจะคลี่คลายวิกฤติทางการเมืองได้ เพราะตำแหน่งที่ควรปรับออก ตำแหน่งแรกคือตัวนายกรัฐมนตรีเอง ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นโมฆะบุรุษไปแล้ว เพราะว่าประชาชนไม่เชื่อถือ ขาดจริยธรรมในการนำพารัฐบาล เพื่อกอบกู้สถานการณ์ หากรัฐบาลโดยพรรคพลังประชาชน ยังดันทุรัง เล่นการเมืองด้วยเสียงข้างมากต่อไป แต่ไม่สนใจความชอบธรรม และปัญหาในความล้มเหลวในการทำงาน อยากเตือนว่ารัฐบาลนี้กำลัง นำพาบ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน และกำลังพาคนไปตาย

เป่านกหวีดครั้งใหญ่ไล่แก๊งขายชาติ

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ถึงจุดนี้แล้ว มีแต่การสถาปนาการเมืองใหม่เท่านั้น ที่จะหยุดวงจรอุบาทว์ทางการเมืองได้คือ การจุดประกายเรื่องการเมืองใหม่ ของพันธมิตรฯ ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันขบคิด ขยายผล และหาโมเดลที่ดีร่วมกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางแปรเปลี่ยนประชาชนที่ว่านอนสอนง่าย ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมือง ตนอยากย้ำว่า อย่าตีความการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ว่าเป็นการเอื้อให้เกิดรัฐประหาร และสร้างทางลัดของประชาธิปไตย รวมทั้งไม่เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การเมืองใหม่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่จัดการกับรัฐบาลหุ่นเชิดเสียก่อน

นายสุริยะใส กล่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เฉพาะหน้าในช่วง 2-3 วันนี้ จะยังคงยึดยุทธศาสตร์ชุมนุมยืดเยื้อเหมือนเดิม จะยังไม่มีการเคลื่อนไหวไปที่ใด โดยหากมีกำหนดการใดๆ จะมีการแจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบเสียก่อน โดยแกนนำจะประชุมกำหนดการเคลื่อนไหวอีกครั้ง (27 มิ.ย.) ซึ่งจะรวมถึงยุทธการ เป่านกหวีดในครั้งต่อไปด้วย

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่การชุมนุมกระทบต่อสถาบันการศึกษาในบริเวณที่ชุมนุม ในเบื้องต้นแกนนำพันธมิตรฯ ได้เจรจากับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยจะมีการปิดลำโพงในช่วงกลางวัน เพื่อที่จะทำการเรียนการสอนได้โดยสะดวก ซึ่งก็ได้รับความเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนในกรณีโรงเรียนราชวินิต ที่ต้องการฟ้องศาล เอาผิดการชุมนุมของพันธมิตรฯ นั้น ก็เป็นสิทธิ์ของเขาเมื่อเจรจาแล้วแต่ทางโรงเรียนรับไม่ได้ แต่ตนแปลกใจเหมือนกันที่ทางฝั่ง ม.ราชมงคลพระนคร กลับยอมเสียสละและพูดคุยกันรู้เรื่อง

สำหรับกรณีที่ พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เตรียมดำเนินคดีกับผู้ปราศรัยข้อหากระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล หรือกบฏในราชอาณาจักร ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น อยากแนะนำให้ พล.ต.ต.อำนวย กลับไปอ่านกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้ละเอียดเสียก่อน เพราะในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญก็คุ้มครองการชุมนุมโดยสันติ และโดยปราศจากอาวุธอยู่แล้ว อย่าลืมว่ามีข้าราชการหลายคนที่ถูกเช็คบิล เมื่อทิศทางลมทางการเมืองเปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น