“มองดูสิ คนแก่ทุกคน เข้าคิวรอความตายกันแล้ว เพราะฉนั้น ในบางครั้งเราก็ชวนกันมาพูดคุยเรื่องความตาย คือคุยให้ปลง เพื่อให้คุ้นเคยกับมัน”
ได้ยินอย่างนั้น ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เรื่องความตาย จะคุยอย่างไรให้สนุก ไม่เครียด ไม่น่าหวาดหวั่น ทั้งยังช่วยฉุดดึงสติให้กลับมาทำหน้าที่ระลึกรู้ทุกปัจจุบันขณะที่ยังมีลมหายใจ
เป็นไปได้หรือว่า วงเสวนาด้วยประเด็นดังกล่าวจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย พูดคุยอย่างผ่อนคลายด้วยท่าทีสบายๆ ไร้ยศฐาบรรดาศักดิ์ ไร้คำเทศนาจากพระครูผู้ทรงภูมิ ปราศจากคำศัพธ์ธรรมะขั้นสูง กลุ่มเสวนาธรรมที่เกิดจากการรวมตัวของผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่ง เป็นเช่นนั้น
....
-เปิดใจรับ ‘ความตาย’-
อนันต์ กันมะโน ข้าราชการบำนาญผู้ก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุหนองฮ่อ ตำบล ช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมการล้อมวงเสวนาธรรมะมาเป็นระยะ ช่วยขยายความให้เห็นภาพ ว่า เมื่อตัดสินใจจะพูดเรื่องความตาย ตำนานชาดก คือสิ่งที่ดึงความสนใจจากทุกคนได้ไม่น้อย…
“พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง อานนท์ตอบว่า วันละเจ็ดครั้งพระเจ้าค่ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า น้อยไปอานนท์ เธอต้องคิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้า-ออก”
เมื่อเปิดประเด็นขึ้นมาแล้ว จึงตั้งคำถามต่อไปว่า พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนคิดถึงความตายทุกวินาทีเพื่ออะไร? นั่นก็เพื่อให้เราไม่ประมาทในชีวิต พร้อมทั้งยกตัวอย่างเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช พระราชาผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองยิ่งในรัชสมัยของพระองค์ ที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา เนื่องจากสามเณรน้อยองค์หนึ่ง เตือนสติพระองค์เรื่องความประมาท
“สามเณรองค์เล็กๆ องค์หนึ่ง บิณฑบาตรผ่านพระราชวังของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อพระองค์เห็นเข้าก็ทรงเลื่อมใส จึงให้อำมาตย์เรียกเณรมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรเณรบ้าง ที่ถามก็เพราะตอนนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชยังไม่นับถือพระพุทธศาสนา
“เณรน้อยก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า ผู้ใดใช้ชีวิตอย่างประมาท ผู้นั้นเหมือนคนที่ตายแล้ว โอ้โฮ! พระเจ้าอโศกมหาราชสะอึกเลย นึกย้อนถึงตัวเอง ออกศึกฆ่าคนมาเป็นหมื่นเป็นแสน นี่เราใช้ชีวิตอย่างประมาทมาตลอดเลยหรือ เกิดมาไม่เคยมีใครพูดให้ได้ยินอย่างนี้เลย แต่กลับเป็นเณรองค์เล็กๆ นี้ มาเตือนสติ ในที่สุดพ่อก็จะโยงเข้าประเด็นว่า เราเองก็แก่แล้ว อย่ามัวประมาทกันอยู่เลย”
จากคำบอกเล่าของพ่ออนันต์ หลังการเปิดประเด็นของประธานชมรม สมาชิกก็ร่วมวงเสวนากันอย่างคึกคัก แม้ไม่ได้อยู่ร่วมรับรู้เหตุการณ์ในวันนั้น แต่เมื่อภายหลังได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยกับสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ก็ยืนยันได้ว่าสมาชิกชมรมที่มีคนหลายรุ่นไม่ว่า คุณยาย คุณลุง คุณน้า ล้วนพูดคุยถึงธรรมะได้อย่างสนุก ไม่เคร่งเครียด ทั้งมีความสงบ อย่างคนเข้าใจโลกแฝงอยู่ในน้ำเสียง ยามเอื้อนเอ่ยถึง “ความตาย”
-ธรรมะ คือธรรมดา-
“ยายไม่กลัวความตาย กลัวทำไม ถึงกลัวไปก็ต้องตายอยู่ดี จริงไหม? เพราะฉนั้นรอรับมันดีกว่า ทุกวันนี้ยายใช้ชีวิตที่เหลืออย่างเรียบง่าย อย่าไปคิดอิจฉาริษยาใคร อย่าไปคิดทำร้ายคนอื่น อย่าจองเวรจองกรรมใครเขา เมื่อเวลานั้นมาถึง เราก็จากไปอย่างสงบ”
คุณยายเสาร์คำ เขื่อนเพชร เล่าว่าพ่อกับแม่ของคุณยายเป็นคนธรรมะธรรมโมอยู่แล้ว ท่านคอยสอนคุณยายเสมอ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กๆ ว่า ถ้ามีของสวยๆ งามๆ ให้นำไปถวายวัดบ้าง หมายถึงให้ถวายด้วยของดีๆ
“ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่ของยายมักจะพายายไปวัดด้วย ท่านบอกว่าไปวัดแล้วได้บุญ แต่ตอนนั้นยายก็ยังไม่รู้หรอก ว่า ‘บุญ’ หน้าตาเป็นอย่างไร
“ยายก็เลยถามพ่อว่าบุญคืออะไร พ่อยายตอบว่า บุญนี่นะลูก คือความสุข ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นความสุขที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้แบ่งปันให้ผู้อื่น”
สำหรับยายเสาร์คำ ผู้มีความสนใจใฝ่ธรรมะมาแต่เล็กจากการปลูกฝังของพ่อกับแม่ แต่ละถ้อยคำที่บอกเล่า จึงมากด้วยการมองชีวิตที่ผ่านมาอย่างปล่อยวาง ไม่ยึดติด
“คุณจะเชื่อ จะนับถือศาสนาพุทธหรือไม่ ก็ไม่มีใครว่า ไม่มีใครบังคับ ขู่เข็ญ อยู่ที่ใครสนใจก็ศึกษาหาความรู้ให้ตัวเอง แต่ตัวยายเชื่อว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าช่วยคนได้เยอะ ช่วยให้จิตใจสงบ อย่างชีวิตของยาย หัวหน้าครอบครัวคือสามีเสียไปตั้งนานแล้ว แต่ยายก็ดำเนินชีวิตมาได้อย่างสงบ ไม่ทุกข์ร้อน เพราะว่าเรามีธรรมะในใจ มีหลักยึด คนเราเกิดมาก็ต้องตายกันทุกคน หรืออย่างการตายของแม่ของยาย ท่านตายอย่างสงบมาก แล้วก็รู้วันตายของตัวเองด้วย ยายเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ท่านจากไปดี ก็เพราะบุญกุศลที่สั่งสมมา แม่ของยายไม่เคยก่อกรรม ไม่เคยทำร้าย หรือคิดไม่ดีกับใคร ซึ่งยายก็นำเรื่องพวกนี้มาสอนลูกสอนหลาน แล้วก็แบ่งปันเพื่อนๆ ในชมรมด้วย”
“เพื่อนในชมรมเองก็เหมือนกัน ดูสิทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสทั้งนั้น เพราะมีธรรมเป็นที่ยึดเหนี่ยว
ธรรมะ คือธรรมดา เรื่องเกิดแก่เจ็บตายก็เช่นกัน ทำใจยอมรับให้ได้…เป็นคำแนะที่แม่ของยายเสาร์คำพร่ำบอกเสมอ
ขณะที่ ชนิตา ชาติอาษา หญิงวัยราวห้าสิบปี อีกหนึ่งสมาชิกชมรมที่เปรียบได้กับคนรุ่นลูกของพ่อๆ แม่ๆ เสนอความเห็นเรื่อง การตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ไว้น่าสนใจไม่น้อย
“ไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่ควรใช้ชีวิตในทางที่ประมาท การฝึกจิตให้มีสติอยู่เสมอ หรือระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ จะช่วยให้เราก็สามารถแยกจิตกับกายได้ ความหมายก็คือ ไม่ว่าจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้จิตก็ ‘ว่าง’ แล้ว ขอแค่อย่าประมาทท่านั้น ซึ่งการไม่ประมาทก็คือการเจริญสติตลอดเวลา กำหนดลมหายใจเข้า-ออกสม่ำเสมอ แม้วันหนึ่งข้างหน้าเราอาจขับรถไปประสบอุบัติเหตุ เมื่อนั้นจิตเราก็จะยังว่าง สงบ เพราะมีสติ จิตจึงอยู่กับตัวเองตลอดเวลา”
-คุณค่าชีวิต-
นอกจากแม่เสาร์คำ ที่รับความตายของผู้เป็นที่รักได้ด้วยใจที่ไม่ร้อนรน, ชนิตา ผู้เชื่อว่าแม้วินาทีแห่งความตายมาเยือน ก็ไม่อาจทำลายดวงจิตผู้มีใจสงบและรักษาสติได้อย่างมั่นคงแล้ว เรายังได้รับฟังเรื่องราวการ ‘ตายแล้วฟื้น’ จากวงเสวนาเล็กๆ นี้ ที่ช่วยให้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตด้วย
พ่ออินสม ภิระบรรณ สาราณียากรของชมรม คือเจ้าของบทเรียนอันมากค่านั้น
“ครั้งหนึ่ง พ่อเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะจะโดนตัดแขน”
อุบัติเหตุตกจากตึกสามชั้นลงมาขณะทำงานก่อสร้าง คือต้อตอที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยว่า ควรตัดแขนข้างที่ไม่อาจใช้งานได้อีก พ่ออินสมเล่าว่าหลังจากคืนสติ รู้สึกราวกับตนเองตายแล้วฟื้นขึ้นมา แต่ทว่า
“พอฟื้นขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้จักเมียตัวเอง ไม่รู้จักพ่อตัวเอง เหมือนเป็นบ้าไปเลย แต่บ้าที่ว่านี่ คือ บ้าอ่านหนังสือธรรมะ”
หมอที่โรงพยาบาลเห็นดังนั้น ทั้งทราบว่าพ่ออินสมเคยบวชเป็นพระมาแล้ว จึงย้ายพ่ออินสมไปไว้ที่ห้องสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยที่แวดล้อม ไมว่า ความสงบ หรือหนังสือธรรมกองโต ทำให้เขาตั้งหน้าตั้งตาอ่านอักษรธรรมเหล่านั้นอย่างจริงจัง
ในที่สุด จิตใจที่ว้าวุ่นก็สงบลง เขาจึงตัดสินใจเซ็นอนุญาตให้หมอตัดแขนได้
“พอผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมา พ่อก็ไม่ทิ้งธรรมะอีกเลย ยึดถือไว้ตลอดเวลา
ตอนที่อ่านหนังสือธรรมะอยู่ที่โรงพยาบาล พ่อเกิดสติ คิดได้ว่า ชีวิตคนเรานี่ไม่แน่นอนหรอก อยู่ไม่ถึงร้อยปีหรอก แล้วก็ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคงเป็นเคราะห์กรรมของเรา ที่เราทำมาตั้งแต่ปางก่อน จากที่อับอาย ยอมรับไม่ได้ พอใจสงบมันก็ทำให้เราปลงได้ ไม่อายแล้ว เดี๋ยวนี้ ไปไหนไปกัน ทำใจได้ ยอมรับได้ แล้วเราก็เอาประสบการณ์ของเรามาเผยแพร่ในชมรมด้วย เพื่อเป็นบทเรียนให้ทุกคนเขาไม่ประมาท แล้วก็คิดดี ทำดี จะได้ไม่ประสบเคราะห์กรรม”
จากที่เคยท้อแท้กับชีวิต ถึงขั้นอยากตาย สั่งลาภรรยาที่ในตอนนั้นยังสาวยังแส้ ให้ไปหาสามีใหม่ เมียกับลูกจะได้สบาย ส่วนตนเองจะขอตาย เพราะสำหรับช่างไม้แล้ว เหลือแขนเพียงข้างเดียว ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นช่างไม้ได้ หนทางข้างหน้าช่างมืดมน มองไม่เห็นทางหาเลี้ยงปากท้อง
กำลังใจที่ได้รับจากภรรยา ว่าจะอยู่ด้วยกันจนวันตาย ไม่ทอดทิ้งไปไหน ทั้งอ้อนวอนให้พ่อบุญสมมีชีวิตอยู่ต่อไปช่วยกันดูแลลูก คำเตือนสติจากพ่อบังเกิดเกล้าและคนใกล้ชิดว่ายังมีลูกให้ดูแล กอปรกับธรรมะที่ซึมซับเข้าสู่จิตใจอีกครั้งหลังจากเหินห่างไปนาน ทำให้พ่อบุญสมกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง
วันนี้ นอกจากเป็นสาราณียากรชมรม คอยแต่งบทกลอนสอนใจ, นำทำวัตร สวดมนต์, บรรยายธรรม, เล่าประวัติความเป็นมาของประเพณี- ตำนาน-บทเพลงท้องถิ่นแก่ผู้สนใจ, เก็บข้อมูลเรื่องราวข่าวสารที่น่าสนใจมาเล่าสู่สมาชิกในชมรมแล้ว แขนที่เหลือเพียงข้างเดียว และกำลังใจที่เข้มแข็ง ยังส่งให้พ่ออินสมใช้เกิดความพยายามฝึกฝนฝีมือการวาดภาพฝาผนังด้วยตนเอง ในทำนองครูพักลักจำ กระทั่งฝีมือเป็นที่ยอมรับ มีผู้ติดต่อให้ไปเขียนภาพอยู่เสมอ
จากชายผู้พ่ายแพ้แก่ชะตากรรมจนคิดอยากตาย วันนี้ เมื่อเอ่ยชื่อพ่อบุญสม ภาพที่ปรากฏในห้วงนึกของใครหลายคนแปรเปลี่ยนเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปิน กวี ที่รอดพ้นจากความตายแล้วลุกขึ้นยืนหยัดรับมือกับมันได้อย่างไม่หวั่นเกรง
โลกนี้เปรียบ ศาลา ให้อาศัย
ประเดี๋ยวใจ ผ่อนพัก แล้วจักผัน
ทางที่ดี เมื่อพราก ไปจากมัน
ควรสร้างสรร ส่งเสริม เพิ่มคะแนน
เมื่อเราได้ เกิดมา ในอาโลก
ได้พ้นโศก พ้นภัย สบายแสน
จึงควรสร้าง สิ่งชอบ ไว้ตอบแทน
ให้เป็นแดน ดื่มสุข ขึ้นทุกกาล
คุณความดี ของท่าน กาลก่อนก่อน
ที่ท่านสอน ไว้ประจักษ์ เป็นหลักฐาน
เราเกิดมา อาศัย ได้สำราญ
ควรหรือผ่าน พ้นไป ไม่คำนึงฯ
…..
บางคำถามจากสวนโมกพลารามถึงความหมายของการดำรงอยู่ แว่วมาสัมผัสห้วงความคิด ขณะสองเท้าค่อยๆ พาเราก้าวห่างจากวงเสวนาเล็กๆ ในวันนี้ ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นกันเอง ก่อนเลิกราอย่างอิ่มใจ…
…
เรื่อง รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพ ธาตรี แสงมีอานุภาพ