xs
xsm
sm
md
lg

สวนศิลป์บ้านดิน สถานศึกษาศิลปะของชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


งานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวาด การเต้นรำ หาใช่องค์ความรู้ ที่ผู้เป็นศิลปิน เป็นนักแสดงเท่านั้นถึงจะจับต้องได้ และไม่จำเป็นเสมอไปที่คนที่อยากเข้าถึงงานศิลปะ จะต้องร่ำรวยมีเงินเป็นถัง
“จุดเริ่มต้นคือ ผมอยากจะมาสอนศิลปะการเต้นรำ พวกรำ พวกเต้น ดนตรี พอดีได้รู้จักกับศิลปินวาดภาพต่างๆ จึงมีสอนเกี่ยวกับการวาดภาพ การปั้นโดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ เอาขยะมาบด แล้วนำมาทำเป็นงานศิลปะ” นั่นคือคำบอกเล่าของชายที่ชื่อว่า มานพ มีจำรัส ชายที่มีศิลปะอยู่ในสายเลือด เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ปี 2548 กับอีกบทบาทใหม่คือผู้อำนวยการ สวนศิลป์บ้านดิน อำเภอเจ็ดเมียน จังหวัดราชบุรี อันเกิดจากความคิดที่ว่า ‘อยากเชื่อมโยงชุมชนด้วยงานศิลปะ’


* ‘ต้องรู้จักตัวเอง’ ปราการด่านแรกของศิลปิน
มานพเล่าว่า ศิลปะของเขาเป็นศิลปะเพื่อการดำรงชีวิต ให้รู้ว่าเราอยู่กับสังคมได้อย่างไร เพราะศิลปะจะสอนเรื่องความสะอาด ปลอดภัย สะดวก ระเบียบวินัย เราจึงพยายามสอนคนว่าเรามีวัด มีบ้านมากมาย แต่เราจะจัดอย่างไรให้เรียบร้อย เพราะศิลปะเมื่อได้จัดวางระบบอย่างดีแล้ว งานทุกอย่างมันก็จะสวยงาม การสอนจะเป็นลักษณะการสอนทั่วๆไป จุดประสงค์ก็เพื่อนำองค์ความรู้ที่เราได้เรียนมาสอนให้คนต่างจังหวัดได้เห็นได้เรียนรู้ ว่าศิลปะที่มันกำลังเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนั้น มันเป็นอย่างไรบ้างแล้ว
“ไม่อยากให้เด็กต่างจังหวัดโดนหลอกไปเข้าเรียนคลาสต่างๆ ที่ต้องเสียเงิน 30,000-50,000 บาท เรียนแล้วจะได้เล่นหนังเล่นละครโน่นนี่ เพราะคนต่างจังหวัดเขาจะกระเสือกกระสนไปเรียนกัน ฝึกหนึ่งคอร์สถึงได้เล่นทีวี แต่มันคือได้เป็นแค่ตัวประกอบ”
“จริงๆ แล้วผมอยากมาเล่าให้ทุกคนฟัง ว่าศิลปะที่แท้จริงมันคืออะไร เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเด็กต่างจังหวัดเห็นอะไรก็อยากจะเข้าที่กรุงเทพฯ ตลอด เหมือนคนรู้มากหลอกคนรู้น้อย เด็กก็จะตื่นเต้นได้เรียนแอ็กติ้ง ได้ไปอยู่ในค่ายต่างๆ แต่เขาไม่ได้เป็นนางเอกพระเอกเพราะมันยาก ผมเลยอยากมาบอกเล่าอะไรกับเด็กรุ่นใหม่ ว่าถ้าคุณอยากทำงานศิลปะได้ คุณต้องรู้จักมองตัวเองก่อน ว่าความเป็นจริงรูปร่างหน้าตา ศักยภาพความสามารถของเรา ณ ตอนนี้ มันเป็นได้ถึงขั้นไหน ที่มีคนมาบอกว่ามาเรียนแล้วจะได้เป็นพระเอก นางเอก มันเรื่องโกหก” มานพกล่าว

*โรงเรียนศิลปะของชุมชน
ชายหนุ่มเจ้าของรางวัลศิลปาธรเล่าถึงความตั้งใจของการทำสวนศิลป์บ้านดินว่า จุดสำคัญคืออยากให้คนเรียนรู้งานศิลปะจากธรรมชาติ ในเรื่องของโครงสร้างเขาไม่ต้องการให้มันโตไปมากกว่านี้
“ผมต้องการให้มันแน่นด้วยสาระของคนที่มา ด้วยองค์วิชาความรู้ ด้วยปราชญ์ต่างๆที่มาแลกเปลี่ยน งานทุกงานไม่จำเป็นต้องเพนติ้งอย่างเดียว เต้นระบำอย่างเดียว การแสดงอย่างเดียว เราสามารถจะเสวนาถึงเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องการปลูกข้าว การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม”
สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย มานพเล่าว่าที่ทำอยู่ตอนนี้คือ สอนให้ฟรีมีลูกศิษย์อยู่หลายสิบคน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมาทำกิจกรรมกับเทศบาล เพราะเทศบาลก็ดูแลในส่วนหนึ่ง
“เราเหมือนลูกหลานคนแถวนี้ จึงอยากให้โอกาสเด็กๆ เพราะหากเป็นเรื่องศิลปะคนจะจ่ายเงินให้มันค่อนข้างยาก ผมเลยบอกไปว่าถ้าใครมาร่วมโครงการกับเทศบาล แล้วอยากจะมาเรียนต่อก็จะสอนให้ฟรี บางคนที่ครอบครัวสนับสนุนอยากจะเรียนเป็นคอร์สก็มี ในตอนแรกกเก็บค่าเรียน 2,000 บาทต่อ 2 เดือน แต่ช่วงหลังไม่ได้ทำบัญชีแล้ว จึงเก็บเป็นครั้งละ 250 บาท”
เมื่อถามถึงความอยู่รอด ชายหนุ่มไม่มีแววตากังวลให้ได้เห็น กลับตอบมาพร้อมรอยยิ้มว่า
“ถ้าไม่บวกเรื่องค่าก่อสร้างที่กำลังทำไปเรื่อยๆต้องบอกว่าอยู่ได้ เพราะผมอยู่แบบพอเพียง ไม่ได้หวังกำไรเดือนละเป็นแสนเป็นล้าน” ชายหนุ่มตอบ ก่อนเล่าถึงบรรยากาศโดยรอบให้ฟังว่า ด้วยตัวสถานที่ ที่เป็นแบบเกสต์เฮาส์ สามารถจะมาทำแค้มป์ได้ รับคนได้จำนวนหนึ่ง มีร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ ไว้บริการแบบเป็นกันเอง”

*มรดกแผ่นดิน คือเลือดแห่งศิลปิน
ชายหนุ่มผู้คร่ำหวอดในศิลปะการแสดงกล่าวว่า อำเภอเจ็ดเสมียน จัดเป็นแหล่งเรียนรู้เก่าแก่ เป็นบ้านของนักดนตรี บ้านของลิเก บ้านในเรื่องการแสดง ที่เจ็ดเสมียน ที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อยู่ในเวิ้งที่ผลิตศิลปินไม่ว่าจะเป็นงานวาด งานปั้นไห ปั้นตุ่ม ดินแดนตรงนี้เป็นแหล่งของศิลปินเก่า
“จริงๆ แล้วเด็กแถวนี้จะได้มรดกตกทอดคือเลือดนักแสดง เขามีเลือดของการเป็นศิลปิน เพียงแต่ว่าการสืบทอดต่อมาอาจจะขาดหายไปบ้างตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ เขายังรอโอกาสที่จะมีใครมาจุดประกายเท่านั้น ถ้ามีใครมาสะกิดเขานิดเดียว เขาก็พร้อมจะลุกขึ้นเต้นระบำ เหมือนกับพี่สอนน้อง ครูสอนศิษย์ พ่อแม่สอนลูก พี่ป้าน้าอาสอนหลาน มันเป็นการสืบทอดงานศิลปะ ซึ่งนี่คืองานของผมและครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน จะทำอย่างไรให้ศิลปะเข้าไปในวิถีชีวิต เข้าไปในหัวใจของเขาได้ ไม่ใช่ว่าฝึกเขามาให้เป็นนางระบำที่เก่งกาจ เป็นนักดนตรีมือหนึ่งของโลก เป็นเพนเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นนักแสดงที่ชื่อเสียงโด่งดังมากมาย ส่วนนั้นคือผลพลอยได้จากพรสวรรค์ของเด็กแต่ละคน”
“ผมกับครูเล็กจะมององค์รวมมากกว่า ถ้าเราทำงานได้แบบองค์รวม อย่างเช่น เด็กหนึ่งคนที่มีพรสวรรค์นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าให้คุณมาแล้ว คุณแค่แสวงหาอะไรอีกนิดหน่อย คุณก็สามารถทำอะไรได้เยอะแยะ เพราะคนที่เก่งจะเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว แต่เด็กที่เหลือจะทำอย่างไรกับเขา ผมเลยมานั่งคิด นั่งคุยกับครูเล็กว่าเราน่าจะกลับมาทำอะไรกับชุมชน ทำอะไรกับจำนวนคนที่เหลืออยู่”

*รวมชุมชนเข้ากับศิลปะ
มานพเล่าว่า All About Art เกิดขึ้นเพราะเขามาทำสวนศิลป์บ้านดิน แล้วเนื่องจากมันอยู่ไกลจากกลุ่มคนมาก และชาวบ้านยังดูเกรงใจสถานที่ คิดจะเดินเข้าไปกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท ต้องเดินเข้าไปถึงในบ้าน เขาจะมีความเกรงใจสูงมาก
“เราเลยอยากจะเอาศิลปะเข้าไปในชุมชน และให้มันมีบทบาทต่อชุมชน ประชาชนทุกเพศทุกวัย บังเอิญได้ขับรถมาเที่ยว ได้เห็นต้นโพธิ์ต้นนี้ รู้สึกว่าสวยมาก อยากจะมาเต้นระบำ มาเล่นดนตรีใต้ต้นโพธิ์ จึงเข้าไปหาครูเด๋อ ซึ่งเป็นรองนายกเทศบาลที่เจ็ดเสมียน ผมก็ขอยืมสถานที่ใช้ อยากจะมาเต้นหลังสถานีรถไฟ เพราะรถไฟสถานีนี้อายุ 130 กว่าปีแล้ว เป็นอาคารบ้าน 2 ชั้นธรรมดา ไม่ได้มีอะไรมหัศจรรย์ แต่อยู่มาได้ตั้ง 130 กว่าปี ต้นโพธิ์นี้ก็เกือบร้อยปี ตัวหมู่บ้านก็มีอายุ 119 ปี ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่เรียบง่ายมาก เงียบสงบ และเหมือนมีจิตวิญญาณแทรกอยู่ตามแผ่นดิน ตามตัวอาคาร แทรกอยู่ตามประชาชน ผมรู้สึกได้ มันเหมือนความรู้สึกครั้งแรกที่เดินไปหาครูเล็กที่โรงละคร ผมรู้สึกว่าแผ่นดินตรงนั้นผมต้องอยู่ เช่นเดียวกันกับที่กำลังรู้สึกกับแผ่นดินตรงนี้”
หลังจากได้รับอนุญาต จึงเอาเรื่องไปคุยกับครูเล็ก ได้คำแนะนำว่าถ้าจะทำอะไรทำครั้งเดียวไม่เวิร์กต้องทำให้เป็นประจำ ถึงจะมีคนดู หากไม่มีคนดูเราก็ต้องทำให้เป็นประจำเพราะมันเป็นเรื่องของอาชีพ เราเลยทำเป็นประจำด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่งอยากให้คนทั่วไป ชาวบ้านได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าศิลปะหรือเป็นบทเรียนตามที่รู้สึก สองอยากจะฟื้นฟูเทศบาลตำบลเล็กๆ ที่หลายคนมองว่าเป็นเมืองลับแล เป็นแค่ทางผ่านของคนที่จะไปประจวบคีรีขันธ์ หรือไม่เที่ยวอยู่แค่นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เหลือแต่ราชบุรีซึ่งทุกคนคิดว่าเป็นเมืองผ่าน เราเองชอบอะไรที่ไม่ใหญ่โตมากมาย ราชบุรีเป็นเมืองเล็ก สงบ มีภูมิปัญญา มีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ตรงนี้ถือเป็นเสน่ห์ คือสิ่งที่เป็นต้นทุนเดิม เป็นทรัพย์สมบัติเดิมของที่นี่

*ศิลปะพื้นบ้านกับศิลปะร่วมสมัย
พูดถึงเรื่องงานศิลปะพื้นบ้านกับศิลปะร่วมสมัย มานพให้ความเห็นว่า มันคือเนื้อเดียวกัน ถ้าถามว่าศิลปะมันแยกตรงไหน มันแยกเพราะมนุษย์ มนุษย์ชอบจัดแบ่งหมวดหมู่ เพื่อให้การทำความเข้าใจ และเป็นสัญลักษณ์ที่จะบอกและเชื่อกันแบบง่ายๆ แต่สำหรับศิลปะทุกประเภท พอคุยไปคุยมาแล้ว มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันหมด มีรากของบรรพบุรุษ แต่ในพ.ศ.นี้สมองเราเป็นอีกแบบหนึ่งมันมีเรื่องของอินเทอร์เน็ต วิดีโอ โปรเจกเตอร์ คือสื่อต่างๆ เข้ามาช่วยขยายใหญ่ในความคิดของบรรพบุรุษ
“อย่างเมื่อก่อนบรรพบุรุษอยากจะทำเทวดาลอยต้องดึงต้องขึ้นสลิงกัน เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง แค่ฉายวิดีโอเข้าไปก็มีนางฟ้าลอยไปมาในจอ จริงๆแล้วการร่วมสมัย คือการทำเพื่อขยายความเข้าใจ มาช่วยเรื่องขยายความคิดของบรรพบุรุษเท่านั้นเองไม่ใช่ว่าร่วมสมัยมาจะต้องเอาบรรพบุรุษหายไป เอางานเก่าทิ้งไป ไม่ใช่เลย”

*All About Art
เรื่อง All About Art จะดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ว่าเดือนหน้าจะเล่นอะไร ครูเล็กจะช่วยในเรื่องของศิลปินต่างประเทศ ตอนนี้เรามีฟินซ์คลับที่ฮ่องกงเขาเป็นเพื่อนกับครูเล็ก เขาจะส่งศิลปินจากฮ่องกงมา ครูเล็กคอยติดต่อประสานให้ ต่อไปจะมีฟินซ์คลับส่งศิลปินมาเป็น International
ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กว้างขึ้น และเราจะดูแลว่าจะทำอะไรต่อไป
อยากจะให้ศิลปินเข้ามามีส่วนร่วม ใครอยากจะทำงานตรงนี้ให้กับชุมชน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ชุมชนของคนใดคนหนึ่ง อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาก็เป็นเจ้าของที่นี่เหมือนกัน ให้เขามาแชร์ความรู้ความเข้าใจ แชร์ศิลปะซึ่งกันและกัน มานพเล่า

*ทำไป จนกว่าแรงจะไม่มี
ชายหนุ่มมองการณ์ไกลให้ชีวิตเขาว่า
“รู้สึกว่าการเรียนรู้งานศิลปะของผมกับละครเวที ที่เดินทางแบบครูเล็กมา 20 กว่าปี ผมรู้สึกว่าครั้งนี้มันเป็นการตกตะกอน พอมันเริ่มตกตะกอนแล้ว เริ่มรู้สึกว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ครั้งหนึ่ง เราควรจะทำอะไรที่มีประโยชน์ ถึงเขาจะไม่จดจำเรา แต่เราก็มีความสุขในสิ่งที่เราทำ มีความรู้สึกว่าชีวิตเราที่เดินทางมามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมคิดว่าตรงนี้คือบทสรุปในการเดินทาง 20 กว่าปีของผม ซึ่งผมไม่เคยคิดอยากจะให้อะไรใครเลย ผมไม่เคยคิดว่าอยากจะทำดีเพื่ออะไรทั้งสิ้น วันหนึ่งมันก็รู้สึกเอง พอรู้สึกแล้วจึงอยากทำ ผมคงทำไปเรื่อยๆ จนกว่าไม่มีแรงทำ และผมก็คิดว่ามันคงจะเป็นมรดกชิ้นหนึ่งสำหรับพื้นที่ตรงนี้ หลังจากนั้น 5-10 ปี ในอนาคตอาจจะเป็นภูมิปัญญาอีกภูมิปัญญาหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น และเป็นต้นฉบับของที่นี่ซึ่งมันก็คือผลของการเดินทาง ผลของการเรียนรู้”
อย่างที่ แม่ชีศันสนีย์ เคยบอกว่า “คบเด็กสร้างโลก ไม่ใช่คบเด็กสร้างบ้าน เดี๋ยวนี้เด็กต้องสร้างโลกแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้โลกเราสวย ให้โลกเราสุขสมบูรณ์ ผู้ใหญ่ที่มีโอกาสในวันนี้เราน่าจะให้โอกาส ในการสร้างเด็กให้เป็นเด็กที่ดีให้ได้ เมื่อเราได้เด็กที่ดี เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีแล้วเขาจะกลับมาสร้างโลก ถึงวันนั้นเมื่อเราแก่ เราจะได้อยู่ในโลกที่สวยงาม”

*****************************

สวนศิลป์บ้านดิน อำเภอเจ็ดเมียน จังหวัดราชบุรี
มานพ มีจำรัส กับอีกหนึ่งบทบาท ผู้อำนวยการ สวนศิลป์บ้านดิน







กำลังโหลดความคิดเห็น