xs
xsm
sm
md
lg

"วัดประดู่" แหล่งเรียนรู้ชุมชนที่อัมพวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายในพระอุโบสถที่ดูหลากสีสวยงาม
ในอดีตวัดถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชน แต่วันนี้ชุมชนดูเหมือนจะห่างไกลวัดมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับที่วัดก็ดูเหมือนจะแปลกแยกจากชุมชนมากขึ้นเช่นกัน

และนั่นย่อมเป็นผลทำให้สังคมในทุกวันนี้ไร้ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมมากขึ้น ซึ่ง จุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนขาดแหล่งอบรมปลูกฝังด้านคุณธรรมจริยธรรม ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้จัดโครงการ "วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน"ขึ้น เพื่อพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกๆด้าน โดยวัดจะต้องประสานความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียนและราชการ หรือที่เรียกว่า "บวร" ให้ได้
พระรูปรัชกาลที่ 5 ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา
โดยโครงการวัดเป็นศูนย์กลางชุมชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คือบ้าน วัด โรงเรียน หน่วยราชการและชุมชน ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมบทบาทของเจ้าอาวาสวัด คณะสงฆ์ ในด้านการปกครอง การศาสนาศึกษา การแผนแพร่ การสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งเป็นหลักการที่จะทำให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้หน่วยงาน องค์กร ชุมชน ในการช่วยกันพัฒนาวัดให้มีสภาพความพร้อม และเป็นศูนย์กลางชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากวัด เช่น ในด้านการอบรม การเรียนรู้ หลักธรรม วิชาชีพ ความสามัคคี เป็นต้น และเป็นการสร้างเครือข่ายของวัด ให้มีการเกื้อกูลสนับสนุนแนะนำช่วยเหลือต่อกันสร้างความเข้มแข็งและขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นการพัฒนาวัดไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เลือก"วัดประดู่" ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ให้เป็นวัดตัวอย่างนำร่องในโครงการ เนื่องจากวัดประดู่เป็นวัดที่กล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางชุมชนอย่างแท้จริง มีความโดดเด่นในด้านเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชม และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการส่งเสริมการศึกษาคณะสงฆ์ และงานสาธารณสงเคราะห์และงานสาธารณูปการ โดยมี พระมหาสุรศักดิ์ อติสกโข เจ้าอาวาสวัดประดู่เป็นผู้วางรูปแบบในการพัฒนาวัดให้เกิดความสะอาด สวยงาม ร่มรื่น และเป็นแหล่งเรียนรู้สู่ความยั่งยืน

สำหรับ "วัดประดู่" เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และเมื่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชศรัทธาต่อหลวงปู่แจ้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ในสมัยนั้น จึงได้เสด็จประพาสต้นทางชลมารค และทรงเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่ และยังทรงได้ถวายเครื่องราชศรัทธาที่สำคัญๆอันทรงคุณค่าไว้ที่วัดประดู่จวบจนทุกวันนี้
ในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราชสามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้
โดยทางวัดประดู่ได้เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธาทั้งหมดไว้เป็นอย่างดี จนกระทั่งใน พ.ศ.2543 จึงได้จัดตั้งเป็น "พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5" ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังคาแฝด ปิดทองฝาสกลทั้งหลัง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเครื่องราชศรัทธาและเป็นสมบัติของชาติสืบต่อไป และเพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมและพัฒนาเยาวชนให้เป็นยุวมัคคุเทศก์อีกด้วย

ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธาได้เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธาต่างๆมากมายอาทิ พระแท่นบรรทม ตาลปัตรนามาภิไธยย่อ จปร. และตาลปัตรนารายณ์ทรงครุฑพร้อมปอกหลังสำหรับคลุม ตู้เล็กและตู้ทึบ ปิ่นโต บาตรพร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกตัวย่อ สพปมจ. ซึ่งย่อมาจากคำว่า สมเด็จพระปรมินทรามหาจุฬาลงกรณ์ กาน้ำทองแดงมีตราสัญลักษณ์ กี่ใส่ยาฉุน ถาดใส่ของ ตะเกียงเจ้าพายุ นาฬิกาปารีส เป็นต้น
ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
นอกจากนี้ยังมีการแสดงผลงานศิลปะงานปั้นด้วยดินสอพอง รูปปั้นหลวงปู่แจ้งและรูปปั้นพระเกจิชื่อดังในจังหวัดสมุทรสงคราม และยังมีรูปแกะสลักรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

นอกจากนี้ภายในวัดยังมี "ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5" ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2541 ลักษณะเป็นทรงไทยชั้นเดียว ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาเก๋งเรือพระราชทาน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าฟ้าหลายพระองค์ และสมเด็จข้าราชบริพารได้เสด็จทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นเรือดมาด 4 แจว ขุดจากซุงไม้สักหรือตะเคียน พระองค์ได้จอดแวะพักและผูกเรือพระที่นั่ง ณ ต้นสะเดา เพื่อทำครัวเสวยพระกายาหารเช้า เก๋งเรือพระราชทานนี้ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะซ่อมแซมจากของเดิมที่ชำรุดให้สมบูรณ์สวยงาม
รูปปั้นหลวงปู่แจ้ง ตั้งเด่นอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา
นอกจากนี้ภายในวัดยังมี "พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก" สร้างใน พ.ศ.2548 ลักษณะเป็นทรงไทย 2 ชั้น 4 หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทอง ฝาสกล สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยมวัดประดู่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ได้เสด็จทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

โดยเหตุในการเสด็จครั้งนั้น พระองค์ได้เคยเสด็จวัดประดู่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยได้เสด็จมาพร้อมกับพระบิดาของพระองค์ท่าน ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นปลัดอำเภออัมพวา และพระองค์ได้ทอดพระเนตรวีซีดีประวัติวัดประดู่อีกครั้ง เพื่อย้อนรำลึกถึงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ที่พระองค์ได้เคยเสด็จมาวัดประดู่แห่งนี้
 พิพิธภัณฑ์อาคารทรงไทยวางภูมิทัศน์ที่สวยงาม
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวรฯ แห่งนี้นอกจากจะเป็นอนุสรณ์ให้กับชุมชนชาววัดประดู่แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้รู้จักพระสังฆราชตั้งแต่องค์แรกจนถึงองค์ปัจจุบันผ่านหุ่นปั้น ตลอดจนสิ่งของต่างๆที่ทางสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พระราชทานถวายให้กับวัดประดู่

สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญในวัดประดู่ก็คือ "ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู(หอศิลป์)" สร้างเมื่อ พ.ศ.2548 ด้วยเล็งเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมต่างๆถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน ซึ่งหอศิลป์แห่งนี้เปิดให้ชุมชนและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาขั้นตอนการทำและการฝึกทำหัวโขนและเศียรครู โดยมีหลักสูตรการเรียนรู้จากผู้ชำนาญของผู้ดูแลศูนย์ ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชนวัดประดู่ที่ได้เล่าเรียน ศึกษา จากผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการทำหัวโขนและเศียรครูโดยตรง
ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู หรือหอศิลป์, รูปวาดสีฝุ่นดินสอพองบนเพดานศาลาการเปรียญ
สำหรับ "พระอุโบสถ" วัดประดู่ ภายในสวยงามด้วยภาพเขียนผนังสีสันสดใสสวยงาม ตรงกลางด้านหลังพระประธานเป็นภาพเขียนต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระประธานในพระอุโบสถตรัสรู้พร้อมอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา บริเวณด้านข้างหน้าต่างทั้งซ้ายและขวามีเทวดาหุ่นปั้นมากมายแสดงความยินดี

ด้านศาลาการเปรียญใกล้ๆกับพระอุโบสถ มีภาพวาดบนผนังเพดานแบบดั่งเดิมที่วาดด้วยสีฝุ่นดินสอพอง สมัย รัชกาลที่ 2-รัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับอารยธรรมมาจากจีน อาทิ รูปชุมนุมเทวดา รูปชุมนุมเทพ รูปหนุมานเหินหาว รูปพุทธประวัติ เช่น พระเจ้าสุทโธทนะอภิเษกกับพระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นต้น
ชุมชนริมคลองรอบวัด
นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ด้านหลังของพระอุโบสถ ซึ่งติดกับท่าน้ำอัมพวาได้นำมาใช้ประโยชน์ให้ชาวบ้านนำสินค้ามาจำหน่าย เช่น อาหารและสินค้าชุมชนต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นภายในวัด และจะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น