นับถอยหลังไป 175 ปี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้ถูกเริ่มต้นขึ้น ภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพและการค้า ณ วันนั้น ไม่มีใครสามารถล่วงรู้อนาคตได้ว่า ในปี พ.ศ. 2551 สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่เป็นประเทศมหาอำนาจของโลก หากยังคงมีบทบาทในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นอย่างสูง
ขณะที่ประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาของกระแสโลกาภิวัฒน์ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นบททดสอบที่ดีสำหรับการกำหนดนิยามของคำว่า "มิตรภาพ" ที่สองประเทศมีให้แก่กันด้วย
แม้จะมีอุปสรรคมากมายเกิดขึ้นบนเส้นทางของความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐอเมริกา แต่วันนี้ ทางเดินของ "มิตรภาพ" เส้นนี้ก็มาถึงช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งนอกจากจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมแล้ว ก็ยังมีชื่อของ "สกล ซื่อธนาพรกุล" บัณฑิตไทยวัย 23 ปีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาเกี่ยวข้องกับโอกาสนี้ด้วย ในฐานะผู้ได้รับคัดเลือกสำหรับทุนพิเศษ "ฉลอง 175 ปี ความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐ" ของมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (มูลนิธิ Fulbright) และกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโปรแกรม Second langugae Studies ด้วย
จากความสนใจในเรื่องการศึกษาเป็นทุนเดิม ผนวกกับความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ สกลตั้งใจว่า จะเดินทางไปศึกษาต่อในด้านการเรียนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะ เพื่อขยายมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเรียนภาษาต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของประเทศไทยอีกมาก
"ตัวสาขาวิชาที่เลือกไปเรียนนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ศึกษาศาสตร์ - ครุศาสตร์ แต่มันเป็นการข้ามศาสตร์กัน ดังนั้น มันจึงมีมุมมองใหม่ ๆ อีกมากเกี่ยวกับการเรียนภาษาต่างประเทศที่ในเมืองไทยยังไม่ปรากฎ ผมจึงอยากนำมุมมองใหม่ ๆ เหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยบ้าง เพื่อที่ว่ามันจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนของไทยได้อีกทางหนึ่งครับ"
นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทแล้ว เขายังต้องทำกิจกรรมพิเศษในฐานะที่เป็นทูตเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทย - สหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลา 1 ปีด้วย ซึ่งในจุดนี้ สกลบอกว่า เขาจะนำมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับการศึกษาที่เขาถนัดเป็นตัวชูโรงในการเผยแพร่ โดยจะเชื่อมโยงทั้งในด้านของการศึกษา และวัฒนธรรมความเป็นไทยเข้าด้วยกัน ซึ่งการเดินทางเชื่อมความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐฯ นี้ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ได้รับทุนดังกล่าวเลยทีเดียว ในจุดนี้เขาเล่าว่า มีการเตรียมตัวในหลาย ๆ ด้าน โดยจะพุ่งเป้าไปที่ด้านการศึกษาเป็นหลัก
พรทิพย์ กาญจนนิยต ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน เปิดเผยว่า "เชื่อว่างานนี้เป็นงานที่หนักสำหรับผู้ที่ได้รับทุน 175 ปีฯ แต่เป็นโอกาสดีของวงการการศึกษาไทย - สหรัฐ ที่จะได้รับการหยิบยกไปพูดถึงในเวทีโลกบ้าง เพราะประเด็นด้านการศึกษามักไม่ค่อยสร้างความฮือฮาได้มากนักเมื่อเทียบกับการประดิษฐ์คิดค้นอื่น ๆ แต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ขณะเดียวกัน โอกาสที่สกลได้รับตลอด 1 ปี และประสบการณ์จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะติดตัวเขาตลอดไป และจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตของเขาอย่างแน่นอนค่ะ"
เมื่อถามไถ่ถึงจุดมุ่งหมายในชีวิต สกลเล่าว่า "อยากกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ครับ แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็นครูมาจากอาจารย์ในคณะ อาจารย์หลายท่านเป็นตัวอย่างที่ดีของการใฝ่หาความรู้ และมักจะนำเรื่องใหม่ ๆ มาเล่า หรือแนะนำหนังสือน่าอ่านตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่าการเป็นครูไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อเลย แต่เป็นเหมือนผู้จุดประกายด้านการศึกษามากกว่า ทำให้เราเข้าใจว่าครูที่ดี นอกจากทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียนแล้ว ยังต้องสามารถกระตุ้นให้เขาค้นหาต่อด้วย ไม่ใช่สอนแบบอัดเนื้อหา เรียนจบ 10 บทแล้วก็จบกัน นอกจากนั้น ตอนปี 3 ได้เรียนวิชาด้านการสอน รู้สึกว่ามันท้าทายและสามารถพลิกแพลงได้ เข้ากับบุคลิกของเราที่ชอบทำกิจกรรม ทำให้ตัดสินใจเลือกเส้นทางของการเป็นอาจารย์ครับ"
"เหตุผลที่อยากกลับมาเป็นอาจารย์ในคณะครุศาสตร์อีกประการหนึ่งคือ โอกาส โอกาสในที่นี้คือโอกาสในการสร้างบุคลากรที่จะมาเป็นครู ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการศึกษา ถ้าเราสามารถผลิตครูที่ดีได้ ครูเหล่านั้นก็จะออกไปทำหน้าที่สร้างเด็กที่ดีให้กับสังคมไทยอีกมากมายหลายร้อยคน ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างครูที่ทำให้เด็กดีขึ้นได้ เราสร้างครูดีกว่าครับ"
พร้อมกันนี้ ทางผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิฟุลไบรท์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า "เราต้องการนำเสนออีกหนึ่งมุมมองต่อการมอบทุนการศึกษาด้วยว่า ทุนการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่มอบให้คนเก่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนคิดดี และเป็นคนที่คิดตอบแทนคืนกลับสู่สังคมด้วย กรณีของสกล ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง เพราะเขาอยากเป็นครู ในขณะที่คนเก่ง ๆ ในปัจจุบันไม่อยากเป็นครูกันแล้ว ทัศนคติของเขาในจุดนี้ค่อนข้างดีมากที่ต้องการตอบแทนสังคมค่ะ"
เมื่อขอให้นักเรียนทุนเจ้าของดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยมเหรียญทอง ครุศาสตรบัณฑิต จากรั้วจามจุรี ฝากทิ้งท้ายถึงสังคม และวงการการศึกษาบ้านเรา สกลบอกว่า
"อยากฝากถึงคนที่อยากเข้ามาเรียนครูว่าขอให้ตั้งใจทำสิ่งดี ๆ ให้กับวงการนี้ดีกว่าครับ ถ้าครูทุกคนทำเต็มที่จะมีประชาชนอีกมากที่ได้ประโยชน์ ผมเข้าใจว่ามีบางคนที่เข้ามาเพราะอยากเรียน แต่พอได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นอยู่แล้วกลับหันหลังให้วงการนี้ และออกไปบอกคนภายนอกว่าวงการนี้ไม่ดี ทั้ง ๆ ที่เรายังมีปัญหาอีกมากให้แก้ไข แต่ถ้าเราหันมาร่วมมือกันพัฒนา ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดลง และมีสิ่งที่ดีเกิดกับวงการการศึกษาของบ้านเราได้อีกมากครับ"
แม้ว่าการฉลองครบรอบ 175 ปีความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐอเมริกาจะจบลงใน แต่เชื่อว่าหลังจากกิจกรรมนี้ผ่านไป ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ทั้งสองประเทศต้องสร้างความเข้าใจในทางที่ถูกต้องร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดพันธุ์พืช ถ้าหากได้รับการเพาะในทางถูกต้องและต่อเนื่องแล้ว เราคงมีต้นไม้ใหญ่เป็นที่กำบังจากพายุร้ายได้มากมาย ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตอันใกล้ "สกล ซื่อธนาพรกุล" จะกลับมาเป็นอีกหนึ่งต้นไม้ที่แข็งแกร่งให้กับวงการการศึกษาไทยอย่างแน่นอน