หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Music & Lyrics จะพบว่า สองตัวเอกของเรื่องหยิบความสามารถด้านดนตรีและการประพันธ์เนื้อร้องมาถ่ายทอดเป็นเพลงรักได้อย่างงดงาม ในชีวิตจริงก็คงไม่แตกต่างกัน เพราะวงการดนตรีเองก็จำเป็นต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านการแต่งเนื้อร้องและทำนองให้สอดประสานกันได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดนตรีสำหรับ "เด็ก" ซึ่งเปรียบเหมือนผ้าขาว และต้องการบทเพลงที่สามารถเติมแต่งจินตนาการให้เติบโตขึ้นเป็นคนคุณภาพ
จากการตอบรับของอัลบั้มเพลง "ฉันเป็นคนพิเศษ" ต่อเนื่องมาจนถึงเสียงปรบมือกราวใหญ่ในงานแสดงดนตรี Interactive Concert ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานการันตีความสามารถทางด้านดนตรีของคู่หูเพื่อนซี้ ดร.แพง ชินพงศ์ และ ดร.สุภาพร เทพยสุวรรณ ที่ MGR Lite ขอเอ่ยถึงในวันนี้ ไม่แน่ว่า ทั้งสองคนอาจเป็นอีกหนึ่งคำนิยามที่ลงตัวลงตัวระหว่างดนตรีกับเนื้อร้องด้วยก็เป็นได้
หลังจากเริ่มต้นชีวิตวัยเรียนที่วัฒนาวิทยาลัย ความทรงจำในวัยเด็กของ ดร.แพงบอกกับเราว่า ตนเองนั้นเป็นคนที่ซนมาก ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้เหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ แต่จากผลของความซนในครั้งนั้น ทำให้ชีวิตได้เข้ามาคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีในที่สุด
"ตอนเด็กเป็นคนที่ซนมาก ซนจนคุณครูอ่อนใจ เพื่อนของคุณแม่เป็นหมอเลยแนะนำให้ลองฝึกเล่นดนตรีดู ซึ่งสมัยนั้น เครื่องดนตรีมีให้เลือกเรียนไม่มากนัก คุณแม่พาไปเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จากนั้นอาจจะเป็นเรื่องของพรสวรรค์หรืออะไรก็ไม่แน่ใจ แต่รู้สึกว่าเราเล่นได้ และเล่นได้ดี ในส่วนของความประพฤติ คุณครูก็บอกว่า เรานิ่งได้นานขึ้น มีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น เมื่อเล่นไปสักพักก็ได้แสดงคอนเสิร์ตของทางโรงเรียน และที่วัฒนาวิทยาลัยมีการเล่นเปียโนทุกเช้า คุณครูก็ให้เราไปแสดง ทำให้เราเกิดความภูมิใจ และเชื่อมั่นในตัวเอง จากนั้นก็เล่นเปียโนมาตลอด จนถึงระดับปริญญาเอก"
ขณะที่ ดร.เดือน - สุภาพร เทพยสุวรรณ อีกหนึ่งเพื่อนซี้ ซึ่งใช้เวลาวัยเด็กอยู่ในรั้วของโรงเรียนราชินี และได้รับเลือกเป็นตัวแทนของชั้นปีในการร้องเพลงอยู่บ่อยครั้ง เล่าว่า "ถามถึงความคุ้นเคยกับเสียงเพลง คงต้องบอกว่าเริ่มตั้งแต่สมัยเด็ก ครอบครัวจะเปิดเพลงสุนทราภรให้ฟังเสมอ ๆ ประกอบกับโรงเรียนที่พี่เรียนมีการขับร้องเพลงไทย-ดนตรีไทยอยู่เป็นประจำ ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความไพเราะของภาษาที่ใช้เป็นเนื้อร้องได้เป็นอย่างดี"
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนหันมาทำงานร่วมกัน ดร.เดือนเล่าว่า "เริ่มขึ้นในช่วงที่เรียนปริญญาโทด้านปฐมวัยด้วยกันที่ มศว.ประสานมิตร ตอนนั้นติดเรื่องวิทยานิพนธ์ และมันค่อนข้างเครียด เลยชวนกันทำเทปเพลงเด็ก ชื่ออัลบั้ม ฉันเป็นคนพิเศษ พี่เป็นคนแต่งเนื้อร้องเพราะมีความถนัดและเรียนมาทางด้านเด็กโดยเฉพาะ ส่วน ดร.แพงถนัดด้านดนตรี ก็รับหน้าที่แต่งทำนอง ปรากฏว่าเทปชุดนั้นขายดีมาก จากนั้นเลยทำงานด้วยกันมาตลอดค่ะ เพราะเรารู้ว่า เราสามารถพึ่งพากันและกันได้"
แม้จะตัดสินใจเลือกวงการตัวโน้ตเป็นหลักในการขีดเส้นทางเดินให้ชีวิต แต่ ดร.แพง - ดร.เดือน กลับเลือกที่จะกำหนดชี้ชัดลงไปอีกว่า ต้องเป็นเพลงสำหรับเด็กเท่านั้น
"คิดว่า ดนตรีมีบุญคุณกับเรานะ ตลอดเวลาที่ผ่านมา กระทั่งเรียนจบ ปริญญาเอก รู้สึกเลยว่าชีวิตเราเป็นหนี้บุญคุณดนตรี เลยอยากเอาวิชาที่เราเรียนมาช่วยพัฒนาสังคม ที่ตั้งใจทำเพลงสำหรับเด็ก เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่สมองเติบโตอย่างรวดเร็ว และเด็กเองก็ต้องการฟังเพลงเพราะ ๆ เหมือนผู้ใหญ่ แต่ในท้องตลาดตอนนี้ ถามว่ามีเพลงสำหรับเด็กไหม ตอบได้ว่ามี แต่ไม่มาก และไม่หลากหลาย หรือไม่ก็เป็นเพลงที่เด็กร้องแต่ให้ผู้ใหญ่ฟัง ไม่ใช่เพลงสำหรับเด็กจริง ๆ ที่บอกอย่างนั้นเพราะพี่เห็นว่า เพลงสำหรับเด็กควรจะต้องใส่คุณธรรม จริยธรรมลงไป แล้วก็ต้องส่งเสริมจินตนาการของเด็กด้วย"
พร้อมกันนั้น ดร.แพงยังกล่าวถึงคุณสมบัติที่จำเป็นของคนที่รักในอาชีพนักแต่งเพลงสำหรับเด็กด้วยว่า "คนที่จะทำงานด้านเพลงเด็กต้องมีความละเอียดอ่อน ไม่มองข้ามข้อผิดพลาดจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ความแตกต่างทางสังคม คนแต่งเพลงที่ละเอียดอ่อนมากพอจะเข้าใจว่า ถ้าแต่งเพลงสำหรับเด็กในศาสนาอิสลาม เราก็ไม่ควรนำหมูมาเกี่ยวข้อง หรือถ้าเคยได้ยินเพลงเกี่ยวกับเด็กชาวเขาที่พูดไม่ชัด บางคนที่ฟังแบบหยาบ ๆ ก็อาจจะตลกดี แต่ถามว่า เพลงนั้นให้อะไรกับสังคมบ้าง ก็อาจจะว่างเปล่า เราน่าจะแทรกลงไปด้วยไหมว่า การที่ชาวเขาพูดไม่ชัดไม่ใช่เรื่องตลกขบขัน หรือทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าเขาต่ำต้อยกว่าเรา พี่มองว่า เพลงสำหรับเด็กที่ดีนอกจากฟังสนุกแล้วยังต้องได้ในด้านจริยธรรมด้วย ไม่ใช่เพลงอะไรก็ได้"
บริบทของสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญ จากโอกาสที่ได้ทำงานร่วมกับคุณครูจากทั่วประเทศ ดร.แพง และดร.เดือนต่างเห็นพ้องกันว่า งานวิจัยที่ระบุว่าเพลงบรรเลงของศิลปินก้องโลกอย่างโมสาร์ทช่วยทำให้เด็กฉลาดนั้น อาจไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างอย่างประเทศไทย
"จากที่มีงานวิจัยว่า ถ้าให้เด็กฟังเพลงของโมสาร์ทแล้วเด็กจะฉลาดนั้น จริง ๆ แล้ว อยากบอกว่า เพลงไทยเดิมของเราก็มีลักษณะดนตรีที่สามารถนำมาพัฒนาเด็กได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของเพลงเป็นสำคัญ เพลงที่จะพัฒนาเด็กได้ ต้องเป็นเพลงที่มีเสียงดนตรีเยอะ มีจังหวะหลากหลาย ใช้ตัวโน้ตหลายตัว เพลงที่ตรงตามลักษณะนี้ ก็สามารถใช้ได้ไม่แตกต่างกันค่ะ ในความคิดของพี่ ดนตรีคือทางลัดในการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจได้โดยง่าย ทั้งในเรื่องของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ฯลฯ มากกว่า"
"การนำเพลงโมสาร์ทไปเปิดในโรงเรียนของบางพื้นที่ เราพบว่า เด็กไม่ค่อยฟัง แต่ถ้าเปิดเพลงหมอลำ เด็กจะลุกขึ้นมาเต้นเลย ในจุดนี้ เราเลยมองว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากในการใช้ดนตรีเป็นสื่อเพื่อบูรณาการเด็กนั้น ต้องเลือกใช้ดนตรีให้เหมาะกับบริบทของสังคมนั้น ๆ ด้วย"
จากการทำงานมายาวนานบนถนนสายดนตรี แม้จะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายบนสังคมไทย แต่มุมมองของสองเพื่อนซี้ในเรื่องการทำดนตรีเพื่อเด็กก็ยังคงสวยงาม โดย ดร.เดือนกล่าวปิดท้ายว่า "อยากให้ดนตรีเป็นเหมือนขนมอร่อย ๆ กินแล้วอยากกลับมากินอีก ถ้าเด็กไม่ชอบ คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าบังคับฝืนใจ มิเช่นนั้น แทนที่เด็กจะสนุกกับดนตรีกลับกลายเป็นความเครียดไป ยิ่งระยะหลังโรงเรียนดนตรีจะบูมมาก มีการแข่งขันสูง คุณพ่อคุณแม่บางท่านก็มีความคาดหวังกับตัวเด็กสูง ซึ่งถ้าคาดหวังมากจนเกิดความเครียดจะกลายเป็นการทำร้ายเด็กไป แนะนำให้เลือกดนตรีให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อตัวเด็กในอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ"