xs
xsm
sm
md
lg

“จุฬาฯเอฟซี” บริหารลูกหนังแบบมืออาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากนับเวลาย้อนกลับไปเมื่อ 108 ปีก่อน อันเป็นวันที่สยามประเทศมีการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการนัดแรกในศึกชิงโล่ของกรมศึกษาธิการ เวลานั้นประวัติศาสตร์วงการลูกหนังไทยได้บันทึกชื่อทีม “โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” หรือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในปัจจุบัน ให้เป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลรุ่นก่อตั้งซึ่งมีการทำงานมาอย่างสืบเนื่องกว่าหนึ่งร้อยปี

จากวันวานที่เป็นจุดเริ่มต้นปัจจุบันเวลาผ่านไป 108 ปี สโมสรฟุตบอลจุฬาลงกรณ์ ในวันนี้มีอันดับอยู่ในลีกสูงสุดของประเทศ หรือ “ไทยลีก 12” ด้วยอันดับที่ 6 นับว่าเป็นผลงานที่น่าพอใจมิใช่น้อยสำหรับทีมฟุตบอลน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นมาจากดิวิชั่น 1

แม้เป้าหมายของสโมสรแห่งนี้จะอยู่ที่ 1 ใน 5 หลังจบฤดูกาล ทว่าทีมลูกหนังจากถิ่นสามย่าน ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายในการไปให้ถึงคือการพัฒนามาตรฐานให้เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพดังเช่นในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าว “กษิติ กมลนาวิน” ในฐานะผู้อำนวยการสโมสรเก่าแก่แห่งนี้ผุดไอเดียที่สร้างความฮือฮากับวงการลูกหนังไทย นั่นคือ นโยบายจำหน่าย “ตั๋วปี” พร้อมกับสิทธิพิเศษเฉกเช่นกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำในยุโรปปฏิบัติ

“มีคนถามผมว่า ขายตั๋วปีทำไม ไม่เห็นมีใครเขาทำกัน ผมบอกได้เลยว่ามัน 12 ปีแล้วที่มีไทยลีก มันก้าวเดินเตาะแตะมาตลอด ฟุตบอลไทยก็ไม่เคยไปฟุตบอลโลก คุณภาพฟุตบอลก็ต่ำ วิธีหนึ่งที่จะทำให้ฟุตบอลไทยอัพเกรดขึ้นมาได้ ก็คือแฟนบอล ถ้าแฟนบอลสนับสนุน นักฟุตบอลก็ฮึกเหิมสามารถพัฒนาการเล่นไปได้อีก ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่เล่นกันเองดูกันเองเสียเป็นส่วนใหญ่”

“ถ้าเราอยากจะพัฒนาสู่สโมสรระดับอาชีพ ผมเชื่อว่าแฟนบอลคือจุดเริ่มต้นสำคัญ และการขายตั๋วปีก็เป็นแนวความคิดหนึ่ง ที่เรานำมาใช้เพื่อต้องการให้ทีมมีแฟนประจำที่แสดงตนอย่างชัดเจน สำหรับสิทธิพิเศษหากแฟนบอลจุฬาฯยอมควักกระเป๋าซื้อตั๋วปีของสโมสรฯจะได้รับ วีไอพี การ์ด เป็นบัตรห้อยคอแล้วเข้าออกสนามในพื้นที่อัฒจันทร์ฝั่งกองเชียร์จุฬาได้เลยตลอด 15 นัดที่ทีมของเราเป็นเป็นเจ้าบ้าน และสามารถเดินขึ้นไปนั่งทานอาหารว่าง เครื่องดื่มที่ ในวีไอพีเลาน์จได้อีกด้วยซึ่งสนนราคาอยู่ที่ 3,000 บาทเท่านั้น”

ทั้งนี้ผู้อำนวยการหนุ่มกล่าวถึงที่มาของแนวความคิดดังกล่าวว่า “เมื่อผมได้รับเชิญมาเป็นผู้อำนวยการสโมสร ผมก็มองเห็นถึงสิ่งที่จุฬามี แต่สโมสรอื่นไม่มี คือสนามฟุตบอลที่พิเศษกว่าสนามกีฬาอื่นๆ จะเห็นว่าการแข่งขันเทนนิสรายการดังๆ หรือตามสนามฟุตบอลระดับสโมสรในยุโรปเขามีเลาน์จ สำหรับรองรับแขกวีไอพี ขณะที่สนามฟุตบอลจุฬาสเตเดียม เราก็มีห้องพักวีไอพีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ใหญ่กว่าที่สนามศุภชลาศัย และ ราชมังคลากีฬาสถาน เราเลยนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อผู้ที่ต้องการสนับสนุนทีมฟุตบอล”

“ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าสโมสรฟุตบอลนั้นต้องมีคนดู ต้องมีกองเชียร์ จึงจะอยู่ได้ แต่ที่ผ่านมาฟุตบอลสโมสรของไทยมีคนดูน้อยมาก บางนัดแค่ 70 - 80 คน ดังนั้นจะมาคิดแค่ขายตั๋ว100 บาทต่อนัดอย่างเดียวมันอยู่ ไม่พอแม้แต่ค่าบุคลากรที่ต้องมาทำงานในสนาม แต่เราต้องการผู้ชม ต้องการกองเชียร์ สิ่งนี้สำคัญมาก คือหากมีคนดูเต็มสนาม นักฟุตบอลก็มีการประชันกัน มีกำลังใจเล่นเต็มที่ ฟุตบอลมันก็มีคุณภาพมากขึ้น”

ทั้งนี้ผู้อำนวยการไฟแรงได้ตั้งเป้าหมายดึงแฟนคลับของสโมสรเข้ามาร่วมชมการแข่งขันให้ได้ถึง 7,000 คนต่อนัด ภายในระยะเวลา 3 เดือนนี้ โดยวางแผนการไว้ว่า “พื้นที่นั่งชมฝั่งตรงข้ามที่นั่งประธานจุคนได้ 8,000 คน เราเปิดให้ฟรีเลยให้แฟนบอลที่สนใจเข้าชม ซึ่งก็ได้ประโยชน์หลายอย่าง คือได้คนดู ได้บรรยากาศ กองเชียร์ก็มี แต่เราก็ต้องมีรายได้ ใครอยากมาดูในที่นั่งดีๆ มีเก้าอี้ หรูเลย ก็ซื้อบัตรต่อนัด 100 บาท ซึ่งไม่แพงเลย ถูกกว่าตั๋วดูหนังบางโรงอีก หากอยากสนับสนุนทีมก็ขอให้ซื้อตัวปี 3,000 บาท นับว่าช่วยทีมได้มาก”

“เป้าหมายของเราต้องยอมรับว่าเราขายความเป็นจุฬา ทำให้การจำหน่ายตั๋วปีต้องเน้นไปที่ศิษย์เก่าที่เรามีเป็นแสนก่อน ต่อไปจุฬาแข่งเมื่อไหร่ศิษย์เก่านอกจากมาเชียร์แล้วยังได้เจอคนสีเดียวกันด้วย คือสีชมพู ได้เจอเพื่อนเก่า เจอรุ่นพี่ เจอรุ่นน้อง แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้คิดแค่การเป็นสโมสรฟุตบอลของจุฬาลงกรณ์เท่านั้น หากแต่มองไกลกล่านั้น เพราะเราต้องการเป็นทีมฟุตบอลของชุมชนย่านนี้ เป็นการขยายกลุ่มแฟนบอลที่ให้การสนับสนุนมากขึ้น”

ทั้งหมดนี้คือแผนการเบื้องต้นของ กษิติ กมลนาวิน ในฐานะ ผอ.จุฬาฯเอฟซี แม้จะเป็นก้าวเล็กๆของทีมที่เพิ่งขึ้นมารักษาอันดับในไทยลีกแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้บริหารที่ต้องการเห็นพัฒนาการฟุตบอลไทยให้มีการบริหารจัดการที่เป็นฟุตบอลอาชีพจริงๆ

ส่วนจะสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับสโมสรฯเพียงฝ่ายเดียวหากแต่ยังหมายถึงแฟนบอลเลือดสีชมพู ที่ต้องให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะการอยู่รอดของทีมฟุตบอลอาชีพสักทีมไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือเมืองไทย มิใช่ว่าจะมาจากเม็ดเงินแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ศรัทธาจากแฟนบอลคือสิ่งสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าการมีอยู่ของสโมสรนั้นจะยั่งยืนได้นานสักเพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น