xs
xsm
sm
md
lg

From Farm to Table จากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร เส้นทางสีเขียวปลอดสารเคมี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กว่าจะมาเป็นอาหารที่ปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานบนโต๊ะนั้น เหล่าผู้บริโภคอย่างเราทราบหรือไม่ว่า เส้นทางลำเลียงของอาหารนั้นมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด?

ในแต่ละวันผู้ผลิตจำเป็นต้องผลิตอาหารเป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่เป็นอาหารหลักสำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย การทำเกษตรแบบดั้งเดิมทำให้พืชโตช้า ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทำให้ต้องมีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเร่งให้ผลผลิตเติบโตได้ทันและมีรูปร่างที่สวยงามส่งผลให้เกิดสารเคมีตกค้างในพืชผักและผลไม้จำนวนมาก

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอาหารแปรรูปที่วางขายเกลื่อนตามท้องตลาด อาหารบางชนิดมีสีสันและรูปร่างที่สวยงาม สะดวกต่อการซื้อ รสชาติถูกปากถูกลิ้น แต่กลับมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยมาก อีกทั้งยังไม่ใช่อาหารที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่า อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยรวมทั้งก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมาเช่นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร การขับถ่าย รวมทั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับคลอเลสเตอรอลในเส้นเลือด และระบบไหลเวียนโลหิตร่างกาย โรคเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ทั้งสิ้น

“อาหาร” คือ ปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานของชีวิต สุขภาพ ความปลอดภัยของอาหารจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ เนื่องจากเกี่ยวพันโดยตรงกับการมีสุขภาพที่ดีของทุกคน นับตั้งแต่ฐานการผลิตจากไร่ นา สวน ฟาร์ม ผู้ขนส่ง ผู้แปรรูป ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ตลาด ร้านอาหาร และผู้บริโภค กล่าวคือ “จากไร่นา ถึงโต๊ะอาหาร ” (From Farm to Table) นั่นเอง การที่จะได้มาซึ่งอาหารปลอดภัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยจิตสำนึกที่ดีของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตนับตั้งแต่เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้ปรุงอาหาร แปรรูป จนถึงผู้บริโภคที่จะมีบทบาทในการร่วมตรวจสอบดูแล

รัตนา สมบูรณ์วิทย์ ผอ.สถาบันพัฒนาประชาคมภูมิภาคจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า “อาหารปลอดภัย” คืออาหารที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย สะอาดไม่มีสารพิษและสารปนเปื้อนตกค้างเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เอื้อประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งนี้ อาหารจะปลอดภัยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเลือกบริโภคอย่างเหมาะสมกับวัยและความต้องการของร่างกายด้วยหรือไม่

อาหารที่ปลอดภัยจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ที่ส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจและด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อาหารถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญด้านสุขภาพและให้ความสุขใน 2 ลักษณะด้วยกันคือ ความพอใจในรสชาติและประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีหรือสารชีวภาพที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งในลักษณะเฉียบพลันหรือส่งผลเกิดการสะสมทำให้เกิดโรคในอนาคต

อาหารจะดีและปลอดภัยหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับเส้นทางของอาหารด้วยว่ามาจากไหน?

เส้นทางอาหาร จากฟาร์มเกษตรกรถึงคนเมือง

“ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับเส้นทางอาหาร” ได้กลายเป็นประเด็นที่จุดประกายให้ภาคีสร้างเสริมสุขภาพภาคกลางเกิดการตื่นตัวและลุกขึ้นมาร่วมมือกันเพื่อกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้มีการหยิบยกประเด็น “อาหารดี ปลอดภัย กายใจมีสุข” มาเป็นประเด็นสำคัญในการเสวนาผ่านเวทีสร้างสุขภาคกลาง ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้แนวคิด “สุขอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานพอเพียง” เป็นงานที่จัดขึ้นโดยการสนับสนุนจาก สมัชชาสุขภาพภาคกลางทั้ง 26 จังหวัด อบจ.สุพรรณบุรี สถาบันพัฒนาประชาสังคมฯ จ.สุพรรณบุรี และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้ร่วมเสนอแนวคิดเพื่อกำหนดเส้นทางอาหารปลอดภัยร่วมกัน

อาจารย์วิเชียร เจนตระกูลโรจน์ ประธานชมรมอาหาร จ.สุพรรณบุรี ได้กล่าวถึง บทบาทของผู้ประกอบการกับการมีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทางอาหารปลอดภัยว่า โครงการอาหารสะอาดรสชาติอร่อยเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเห็นถึงความสำคัญของอาหารปลอดภัย โดยกล่าวว่าวงจรอาหารเป็นวงจรที่กว้างมาก ซึ่งมีกระบวนการเริ่มต้นจากการผลิต จากนั้นส่งไปยังตลาด นำไปแปรรูป และสุดท้ายเข้าสู่กระบวนการประกอบอาหาร ห่วงโซ่อาหารทั้งหมดสุดท้ายก็จะได้ย้อนกลับมาสู่ผู้บริโภค

ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารเมื่อเข้าสู่ตลาดก็ต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการตรวจสอบตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่โรงงานแปรรูปด้วย ส่วนร้านอาหารก็ต้องมีการตรวจสอบในเรื่องของวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารด้วยถ้าใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมาประกอบอาหารหากได้รับการตรวจสอบ ทั้งในเรื่องของขั้นตอน อุปกรณ์ สถานที่ฯรวมทั้งรสชาติอาหาร เมื่อผ่านมาตรฐานก็จะได้รับป้าย “โครงการอาหารสะอาดรสชาติอร่อย” โดยที่งานส่วนนี้จะมีหน่วยงานของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขคอยควบคุมดูแลตลอด หากทุกองคาพยพมีการควบคุมป้องกันที่ดี อาหารเหล่านี้ก็จะปลอดภัยและเหมาะสมที่จะนำมาบริโภคและจำหน่าย จึงอยากจะเสนอว่า ถ้าจะให้เกิดผลที่ดีมากขึ้นควรมีสักหน่วยงานหนึ่งเข้ามาคิดค้นวิธีการตรวจสอบวัตถุดิบที่ซื้อมาจากตลาด ว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด รวมทั้งให้ความรู้กับเจ้าของร้านอาหารต่าง ๆ ด้วย

“ตลาดนัด” แหล่งช็อปแม่บ้าน ตจว.

สุกัญญา สาแสง อาสาสมัครสาธารณสุข ต.บ้านขวาง อ.บ้านฉาง จ.ฉะเชิงเทรา ได้เล่าถึงประสบการณ์จากการที่ได้ไปตรวจสอบอาหารในตลาดว่า ปัจจุบันชาวบ้านจะซื้ออาหารจากตลาดนัดเป็นหลัก เพราะตลาดนัดเป็นตลาดของคนยากจน อาหารทุกอย่างมีราคาถูก แม่บ้านส่วนใหญ่จะซื้ออาหารที่ปริมาณและราคาเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ทางอสม.ได้เข้าไปตรวจสอบและให้ความรู้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในการเลือกซื้ออาหารที่มีความปลอดภัย โดยได้ยกตัวอย่างให้ชาวบ้านได้รับรู้และเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการซื้ออาหารที่ไม่ได้คุณภาพมาบริโภคเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าความสวยงามของพืชผักและอาหาร ไม่เลือกซื้อเฉพาะผักหรืออาหารที่มีความสวยงามจนลืมนึกถึงความปลอดภัย และยังได้ให้ความรู้และคำแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมูและผักผลไม้เพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างด้วย

นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับรู้พฤติกรรมของพ่อค้าหัวใส ที่ฉวยโอกาสจากความเชื่อของผู้บริโภคที่มีความเชื่อว่าผักที่มีหนอนจะเป็นผักที่ปลอดภัยด้วยการนำหนอนมาใส่ไว้ในผักเพื่อหลอกคนซื้อ จากเหตุการณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องลุกขึ้นมาจัดการและเอาจริงเอาจังกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดให้มากขึ้น

“เราไม่ควรเป็นฝ่ายที่นั่งรอบริโภค อาหารปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภคมาเป็นผู้ที่คอยสอดส่องเป็นหูเป็นตา เพื่อให้เราได้มีบทบาทในการกำหนดเส้นทางอาหารปลอดภัยให้ตัวเราเองเพื่อให้ตัวเราเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้ผู้ขายผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้ประชาชนทั่วประเทศได้บริโภคกัน”

การเกษตรแบบ “คุณธรรม” ไร้สารเคมี

แมน ภูผา ปราชญ์ชาวบ้าน จ.สุพรรณบุรี ในฐานะผู้ผลิตในภาคเกษตรได้กล่าวว่า หากย้อนมาดูเส้นทางอาหารจากผู้ผลิตในภาคเกษตร อาหารที่ไม่ปลอดภัยมักเกิดจากตัวเกษตรกรเองที่ขาดคุณธรรม ขาดความรับผิดชอบ จากเศรษฐกิจพอเพียงกลายมาเป็น “เศรษฐกิจตาโต” คือต้องการแต่เงินทองเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและหลักคุณธรรม คือนำเอาสารเคมีมาเลี้ยงพืช เมื่อเอาพืชไปเลี้ยงคนสารเคมีที่อยู่ในพืชก็จะไปทำลายคน ทำลายสุขภาพ การใช้สารเคมีในการเกษตรทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ดินน้ำ และอากาศ จากพืชที่ไม่เคยใช้ปุ๋ยเคมีไม่เคยใช้ยาฆ่าแมลง แต่กลับต้องเพิ่มปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในการผลิต มีการใช้สารเคมีในผักผลไม้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สวยงามและทันต่อความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่นผักคะน้า เกษตรกรฉีดยาฆ่าแมลงเพียงแค่ 3 ชั่วโมงก็เก็บขายโดยไม่คำนึงว่าถ้ามีคนที่ซื้อไปกินจะได้รับสารเคมีนั้นหรือไม่

“ที่ผ่านมานั้นเราหลงเชื่อว่าการใช้ปุ๋ยเคมีจะทำให้ผลผลิตเจริญงอกงามการปฏิวัติเขียวทำให้เราถูกหลอก สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ประชาชนกำลังจะล้มตายเพราะสารเคมี แนวทางการแก้ไขคือการให้ดินกลับสู่ธรรมชาติ ให้หลักเกษตรอินทรีย์เลี้ยงดิน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืช และพืชก็จะมาเลี้ยงคน เมื่อดินอุดมสมบูรณ์พืชก็ต้านทานโรคได้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เราก็จะปลอดภัยจากโรคและสารเคมีตกค้าง”

ทางด้านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี สหัส คำบู่ ได้พูดถึงเส้นทางอาหารปลอดภัยใน มุมมองของภาคการตลาดที่เข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคว่า ตลาดกลางเพื่อการขายส่งสินค้าภาคการเกษตรในประเทศไทยมีทั้งหมด 16 แห่ง และหนึ่งในจำนวนนั้นก็มีชื่อของตลาดศรีเมืองอยู่ด้วย โดยปัจจุบันมีสินค้าที่ถูกนำเข้าตลาดศรีเมืองมีปริมาณถึง 3,000 – 4,000 ตันต่อวัน การจัดการตลาดจะมีนโยบายอยู่ 2 ข้อ คือต้องการให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงและยั่งยืนและให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้เลือกอาหารที่มีความปลอดภัย ตลาดกลางมีบทบาทในการให้บริการกับผู้ประกอบการค้าเพราะเปิดเสรี ในขณะที่ต้นน้ำหรือต้นทางการผลิตสินค้าจริงๆ จะดีหรือไม่อยู่ที่เกษตรกรผู้ผลิต

ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกฝ่ายควรใส่ใจไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภคและในความเป็นจริงเกษตรกรสามารถใช้สารเคมีได้แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี เมื่อฉีดสารเคมีแล้วควรเว้นระยะไว้สักพักก่อนนำผักมาขายเพื่อลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างในผักและผลไม้ ทางด้านตลาดศรีเมืองเองก็ได้กำหนดมาตรการในการตรวจสารเคมีตกค้างก่อนที่จะซื้อผลผลิตทางการเกษตรด้วยเช่นกัน โดยทางตลาดจะมีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน หากตรวจสอบแล้วพบสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ก็จะสอบถามถึงแหล่งที่มาของผลผลิตนั้น ๆ และทางตลาดก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังเกษตรจังหวัดนั้นๆเพื่อให้มีการตรวจสอบและเร่งแก้ไขปัญหา

“บทบาทของตลาด คือสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างนักวิชาการเพื่อออกไปให้ความรู้กับประชาชน มีการจัดตั้งกรรมการตรวจสอบขึ้นมาเพื่อเข้าตรวจสอบหาสารปนเปื้อน ซึ่งการทำอยู่แค่ภายในตลาดเพียงอย่างเดียวคงทำงานไม่ได้ ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือกับภาครัฐอีก 6 หน่วยงาน จัดตั้งศูนย์บริการประชากรขึ้นที่ตลาดศรีเมือง มีหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกแก่เกษตรกร โดยการเข้าไปให้ข้อมูล และตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นคือหาสารตกค้างในผักจากนั้นนำผลการตรวจสอบมาวิเคราะห์ รวมทั้งให้ข้อมูลเชิงตลาดแก่กลุ่มเกษตรกร อย่างไรก็ตามการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรที่จะทำการค้าขายในอนาคต แนะนำว่าถ้าผู้ผลิตผลิตสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีตรารับรองคุณภาพ โอกาสที่จะขยายผลไปยังตลาดต่างประเทศก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน” สหัส กล่าว

แม้ความต้องการของผู้บริโภคและความไม่รับผิดชอบของผู้ผลิตได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นทางอาหารในวันนี้มีความปลอดภัยน้อยลง… ทว่า การสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลอดจนสนับสนุนการตรวจสอบและการใช้สิทธิของผู้บริโภคเพื่อการสร้างเส้นทางอาหารปลอดภัยนั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดี ในยุคสมัยที่กระแสการบริโภคกำลังครองเมืองเช่นทุกวันนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น